ฐากูร บุนปาน : ยังอยู่ในเทศกาลขายหนังสือครับ

ยังอยู่ในเทศกาลขายหนังสือครับ

ตอนที่ “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้วางตลาด งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติยังเหลือเวลาอีก 3 วัน (นับวันศุกร์ที่หนังสือวางแผงด้วย)

มีเวลาถมเถพอจะไปเดินเลือกหาหนังสือเล่มที่รักชอบ อยากอ่าน อยากเก็บ

 

ตั้งใจว่าจะพูดถึงหนังสือ 3-4 เล่มที่อ่านแล้ว ทั้งแบบเอาจริงและแบบเปิดผ่าน

ส่วนเล่มอื่นๆ ในงาน ทั้งที่หิ้วมาแล้วและตั้งใจจะไปหิ้ว อย่าเพิ่งน้อยใจครับ

มีโอกาสเมื่อไหร่คงได้พูดถึงกันเมื่อนั้น

ยิ่งหนังสือกลายเป็นของหายาก (เพราะขายยาก) ขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งต้องช่วยประคับประคองกันไปให้ตลอดรอดฝั่ง

ในจำนวนนี้สองเล่มเป็นของ “สำนักพิมพ์มติชน” เอง

เล่มแรกนั้นทำความประหลาดใจอย่างยิ่งที่ติดอันดับหนังสือขายดีลำดับต้นๆ ในงาน

เพราะ “ร้อยเรื่องราว วังต้องห้าม” นั้นราคาปกจริงเกือบหนึ่งพัน ลดลงมาแล้วก็ยังเฉียดๆ แปดร้อย

กระนั้นแฟนานุแฟนก็เดินมาหิ้ว (พร้อมกล่องใส่) ไปคนละเล่มสองเล่มตลอดงานทุกวัน

แต่ยืนยันได้ว่า “คุ้มค่า” มากครับ

ทั้งในส่วนของเนื้อหาและภาพประกอบ

ไม่ว่าจะเป็นคนรักศิลปะ ชอบประวัติศาสตร์ หรือสนใจศึกษาวัฒนธรรม

หนังสือเล่มนี้มีสาระและเกร็ดเกี่ยวกับเมืองจีนที่ควรแก่การสนใจอัดแน่น

อีกเล่มหนึ่งที่ติดอันดับขายดีกับเขาเหมือนกันทั้งที่เล่มหนาปึ้ก ก็คือ “พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา” ของ “ออร์ฮาน ปามุก” นักเขียนรางวัลโนเบล

นวนิยายรักที่สะท้อนแง่มุมของสังคมตุรกีออกมามากกว่าความรัก

ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และจิตวิทยา

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นนิยายรักที่ละเมียดละไม

ใครที่พลาดฟังเสวนาเกี่ยวกับนิยายเรื่องนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

เปิดดูในวิดีโอบนเฟซบุ๊กของสำนักพิมพ์มติชน ที่ใช้ชื่อว่า Matichon Book ได้นะครับ

อาจารย์นพมาส แววหงส์ อาจารย์คารีน่า โชติรวี อาจารย์ธนาวิ โชติประดิษฐ์ และ อาจารย์อาทิตย์ ศรีจันทร์ ยังมีตัวตนเป็นๆ อยู่บนคลิป

ฟังเสร็จแล้วก็อยากอ่านให้จบเล่มในรวดเดียวขึ้นมาโดยพลัน

 

เล่มต่อมาที่อ่านรวดเดียวจบไปแล้ว (เพราะเล่มไม่ใหญ่)

ก็คือ “รายงานเกี่ยวด้วยสถานการณ์บางประการในกรุงนานกิง” ที่จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา

เป็นบันทึกส่งรัฐบาลของพระยาอภิบาลราชไมตรี (ต่อม บุนนาค) ปู่ของท่านทูตเตช บุนนาค ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงนานกิงในปีที่พรรคคอมมิวนิสต์บุกเข้ายึดgมืองหลวงแห่งนี้

และขับจอมพลเจียง ไค เช็ก กับพรรคก๊กมินตั๋งข้ามไปอยู่ไต้หวันจนถึงทุกวันนี้

บันทึกนี้มิใช่รายงานธรรมดา เพราะนอกจากข้อเท็จจริงแล้ว ยังมีบทวิเคราะห์และความเห็นของท่านทูตผู้เคยผ่านงานใหญ่และดำรงตำแหน่งใหญ่ไม่แพ้กันอย่างทูตประจำกรุงวอชิงตัน

รวมทั้งอยู่ในวังวนของเหตุการณ์

อ่านเอาเรื่องก็ได้เรื่อง อ่านเอาความสนุกก็ได้

ยิ่งท่านที่ชอบประวัติศาสตร์-โดยเฉพาะประวัติศาสตร์จีน อ่านแล้วรับรองว่า “อิน”

เผลอๆ จะนึกโยงอะไรต่อมิอะไรจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน

จากนานกิงมากรุงเทพฯ เอาด้วย

 

เล่มสุดท้ายที่นำเสนอเพราะความจำกัดของพื้นที่ ก็คือหนังสือ “เศรษฐศาสตร์ทางเลือก” ของศาสตราจารย์ฮาจุน ชาง แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

ที่ตอนแรกตั้งใจว่าจะซื้อเอาไปให้ลูกชายที่เรียนสาขานี้อ่าน

แต่พอหยิบมาแล้ว คนพ่อพลิกเสียเกือบจบเล่มไปก่อน

สนุกมากครับ

ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์ก็อ่านรู้เรื่อง และรับรองว่าจะเข้าใจเศรษฐศาสตร์มากขึ้น

สมแล้วที่เขาโฆษณาว่าผู้เขียนนั้นเป็นทั้ง “พ่อมดและกัปตันยานอวกาศสำหรับวิชาเศรษฐศาสตร์”

ผู้เขียนเปิดโลกให้คนนอกวงการเข้าใจหลักคิดของ “9 สำนักใหญ่เศรษฐศาสตร์” (ฟังแล้วคล้ายๆ นิยายกำลังภายในไหมเล่า)

ไม่ได้ตั้งตัวเป็น “ศาสดา” ชี้ว่าอะไรถูกผิด

ถูกจริตคนที่กำลังเบื่อ “คุณพ่อรู้ดี” (ซึ่งยิ่งปล่อยของเท่าไหร่ก็ยิ่งเหมือนปล่อยไก่มากขึ้น) ทุกที

นี่พูดถึงเศรษฐศาสตร์นะครับ

อย่าตีความเกินลงกา

ฮาาาาา