คุยกับทูต ‘ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี’ สานสัมพันธ์ไทย-อิหร่าน มิตรเก่าในยุคใหม่ (จบ)

คุยกับทูต ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี สานสัมพันธ์ไทย-อิหร่าน มิตรเก่าในยุคใหม่ (จบ)

“ตอนนี้ใกล้จะถึงวันสิ้นสุดเดือนรอมฎอน (Ramadan) อันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งชาวมุสลิมและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมทั่วโลกจะระลึกถึงสิทธิตามกฎหมายของปาเลสไตน์ในวันกุดส์สากล หรือ International Quds Day”

เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทย ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เล่าถึงความสำคัญของวันกุดส์สากลประจำปี

“ตั้งแต่ปี ค.ศ.1979 มีการจัดวันกุดส์สากลประจำปีขึ้นทั่วโลกในวันศุกร์สุดท้ายของเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิมในหลายประเทศ ทั้งนี้ เพื่อแสดงการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์”

จากงานเสวนาวิชาการภายใต้หัวข้อ “ทิศทางขบวนการแห่งการต่อสู้เพื่อปาเลสไตน์” จัดโดยศูนย์วัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน และสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน กล่าวถึงวันกุดส์สากลว่า

การสถาปนาวันกุดส์สากล โดยรูฮุลลอฮ์ มูซาวี โคมัยนี (Ruhollah Musavi Khomeini) ผู้ปฏิวัติและสถาปนารัฐอิสลามแห่งอิหร่านเมื่อปี ค.ศ.1979 ได้ประกาศให้ทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือนรอมฎอน เป็น “วันอัลกุดส์สากล” วันแห่งการปลดปล่อย “อัลกุดส์” กิบลัตแรกของมวลมุสลิมจากการยึดครองของยิวไซออนิสต์ (Zionism) โดยเป็นวันแห่งการต่อสู้กับระบอบไซออนิสต์ (Zionism) อิสราเอล ที่เข้ามารุกรานและยึดครองแผ่นดินปาเลสไตน์ และเรียกร้องสิทธิเสรีภาพคืนให้แก่ประชาชนผู้ถูกกดขี่ชาวปาเลสไตน์

การชุมนุมประท้วง และจัดงานรำลึกถึงอัลกุดส์

ซึ่งนับแต่นั้นเป็นต้นมา มวลมุสลิมทั่วทั้งโลก รวมทั้งในประเทศไทยก็ได้น้อมรับคำประกาศดังกล่าว แล้วร่วมกันออกมาชุมนุมประท้วง และจัดงานรำลึกถึงอัลกุดส์ในทุกๆ วันศุกร์สุดท้ายของเดือนรอมฎอนของทุกๆ ปี อัลกุดส์ คือเมืองหลวงเชิงสัญลักษณ์ของอารยธรรมอิสลาม

เป้าหมายคือการสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นในหมู่มุสลิม โดยการหยิบยกประเด็นการปลดปล่อยมัสยิดอัลอักศอ (อัลกุดส์) ที่ระบอบไซออนิสต์ได้ยึดครอง มาเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียว เพราะอัลกุดส์เป็นกิบลัต (Qibla) แห่งแรกของมวลมุสลิม และเป็นแผ่นดินที่อยู่อาศัยของมุสลิมชาวปาเลสไตน์ ซึ่งเปรียบดังพี่น้องสายเลือดเดียวกันของชาวมุสลิมทั่วโลก ที่จำเป็นต้องปกป้องและดูแล ตามหลักธรรมคำสอนของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) แห่งอิสลาม

กิบลัต คือทิศที่หันไปสู่กะอ์บะฮ์ในมัสยิดศักดิ์สิทธิ์แห่งนครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยมุสลิมทุกคนจะหันหน้าไปทางทิศนี้เมื่อละหมาด ไม่ว่าตนจะอยู่ที่ใดในโลกก็ตาม

นอกจากนี้ วันกุดส์สากลยังเป็นวันแห่งการร่วมแสดงพลังของมวลประชาชาติผู้ถูกกดขี่ ต่อกรกับเหล่าทรราช ชาติมหาอำนาจ และระบอบการปกครองที่อธรรมดํารงอยู่

“ในวันดังกล่าว ผู้ประท้วงหลายล้านคนรวมถึงมุสลิมและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมเดินทางไปตามท้องถนนเพื่อประณามความโหดร้ายของอิสราเอลที่มีต่อชาวปาเลสไตน์”

“งานประจำปีถูกมองว่าเป็นโอกาสสำหรับผู้แสวงหาเสรีภาพทั่วโลกโดยไม่คำนึงถึงความศรัทธาเพื่อแสดงการสนับสนุนปาเลสไตน์”

การชุมนุมประท้วง และจัดงานรำลึกถึงอัลกุดส์ –

ท่านทูตซัยยิด เรซ่า โนบัคตี กล่าวว่า

“เกี่ยวกับเหตุการณ์ข้างต้น ผมจึงขอชี้แจงเกี่ยวกับปาเลสไตน์อันเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของโลก”

“ในช่วงเจ็ดทศวรรษที่ผ่านมา คำถามของปาเลสไตน์นับเป็นประเด็นหลักในตะวันออกกลางอันส่งผลกระทบต่อปัญหาอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในขณะเดียวกัน การยึดครองดินแดนอาหรับและปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่อง การเข้ารุกรานและกระทำการอย่างทารุณโหดร้ายต่อชาวปาเลสไตน์โดยระบอบของอิสราเอล เป็นคำถามหลักของชาวปาเลสไตน์”

“การกระทำอย่างป่าเถื่อนโหดร้ายเมื่อเข้ายึดครอง เช่น การฆ่าเด็กผู้บริสุทธิ์ ผู้หญิง และผู้สูงอายุรวมถึงเหตุการณ์ในฉนวนกาซาและเลบานอนได้สร้างความตึงเครียดแก่คนทั้งโลก นับเป็นตัวอย่างของประชาชนที่ถูกกระทำภายใต้การยึดครองของอิสราเอลซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา”

“จากจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมในปาเลสไตน์ มีการริเริ่มแก้ไขวิกฤตนี้เกิดขึ้นมากมายโดยประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสหประชาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศและภูมิภาคอื่นๆ เพื่อลดความทุกข์ยากของชาวปาเลสไตน์ การยอมรับข้อมติหลายฉบับที่ประณามการเข้ายึดครอง การนำเสนอแผนงานที่หลากหลายและความคิดริเริ่มเพื่อสันติภาพ รวมถึงการจัดตั้งภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงภายในขอบเขตนี้”

“แม้จะเป็นข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่การไม่ปฏิบัติตามระบอบการปกครองซึ่งได้รับการสนับสนุนด้วยกฎหมายและระเบียบระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ทำให้ชุมชนระหว่างประเทศไม่สามารถหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้”

“กว่าเจ็ดสิบปีแห่งความขัดแย้งและความไม่มั่นคงในตะวันออกกลาง การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนนั้นจะเป็นไปได้ก็โดยการแก้ไขปัญหาของชาวปาเลสไตน์ โดยให้ยุติซึ่งการยึดครอง การคืนสิทธิให้แก่ชาวปาเลสไตน์ในการตัดสินใจด้วยตนเอง การกลับคืนสู่มาตุภูมิของผู้ลี้ภัย และการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ที่สมภาคกันโดยมี Al-Quds Al-Sharif เป็นเมืองหลวง”

“ผมขอเน้นว่า อิหร่านประณามการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของผู้เข้าไปตั้งถิ่นฐานใหม่ และการผนวกบางส่วนของเวสต์แบงก์ในปาเลสไตน์ไปยังดินแดนที่ถูกครอบครองในปี 1948”

“เราเชื่อว่าแผนดังกล่าวสอดคล้องกับข้อตกลงแห่งศตวรรษ (Deal of the Century) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและคุกคามความสงบสุขและความมั่นคงของภูมิภาค”

“เราขอเรียกร้องให้สหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ตอบโต้การเคลื่อนไหวเหล่านี้ตามที่ได้มีกำหนดไว้ในหน้าที่และความรับผิดชอบของพวกเขา”

“ในขณะที่ประชาชนปาเลสไตน์กำลังต่อสู้กับไวรัสโคโรนาและไวรัสแบบอื่น จากการถูกยึดครอง การเข้าโอบล้อม การคว่ำบาตร การทำลาย Holy Quds โดยใช้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา และการผนวกบางส่วนเข้ากับดินแดนที่ถูกครอบครอง”

“เราเชื่อมั่นว่า ถึงเวลาแล้วที่องค์กรระหว่างประเทศและประเทศต่างๆ ในโลกควรให้ความช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ โดยไม่ปล่อยให้ชาวปาเลสไตน์ต้องถูกขับไล่ออกจากบ้านอีกครั้ง” ท่านทูตย้ำ

“เราได้พิจารณาอย่างถ่องแท้แล้วว่า ดินแดนปาเลสไตน์เป็นของชาวปาเลสไตน์ ระบอบไซออนนิสต์เข้ามายึดครอง ทางออกเดียวสำหรับวิกฤตการณ์ในปาเลสไตน์ นั่นคือการลงประชามติในหมู่ชาวปาเลสไตน์ และจัดตั้งรัฐบาลปาเลสไตน์ที่อยู่ในเมืองกุดส์อันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Quds)”

เมื่อวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ Press TV รายงานว่า โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ (Mohammad Javad Zarif) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอิหร่าน ระบุว่า อิหร่านพร้อมเดินหน้าสนับสนุนเจตนารมณ์ของปาเลสไตน์ โดยกล่าวว่า อิหร่านจะปกป้องสิทธิ์ของชาวปาเลสไตน์ในการกำหนดชะตาตนเอง และจัดตั้งรัฐบาลโดยมีอัลกุดส์ (Al-Quds) หรือเยรูซาเลมในภาษาอาหรับ เป็นเมืองหลวง

“สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านได้เคยย้ำมาแล้วหลายครั้งต่อการแก้ไขปัญหาของปาเลสไตน์ โดยชาวปาเลสไตน์ควรเป็นผู้ตัดสินใจในโชคชะตาของตนเอง”

“สำหรับจุดยืนของอิหร่าน คือการปฏิเสธ “ข้อตกลงแห่งศตวรรษ” ที่ประกาศโดยรัฐบาลอเมริกันเพราะอิหร่านให้การสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์ สิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเอง และเป็นศูนย์รวมของการจัดตั้งรัฐเอกราช”

ท่านทูตซัยยิด เรซ่า โนบัคตี กล่าวปิดท้ายว่า

“ความคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้รักอิสระและมุสลิมทั่วโลก โดยในทุกๆ ปี ผู้สนับสนุนชาวปาเลสไตน์หลายล้านคน ประกาศยืนยันความปรารถนาของพวกเขาใน Day of Quds วันศุกร์สุดท้ายของเดือนรอมฎอนที่ริเริ่มโดยสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านเมื่อปี ค.ศ.1979 เพื่อแสดงการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ โดยต่อต้านระบอบไซออนนิสต์ และอิสราเอล”