เกษียร เตชะพีระ | เรียนรู้จากประวัติศาสตร์โรคระบาด : 2) โควิด-19 กับโลกาภิวัตน์

เกษียร เตชะพีระ

(คำสัมภาษณ์ของแฟรงก์ สโนว์เดน ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา เจ้าของผลงาน Epidemics and Society : From the Black Death to the Present (โรคระบาดกับสังคม : จากกาฬมรณะถึงปัจจุบัน โดย Yale University Press, ค.ศ.2019) แก่สเตลา เลอวันเทซี นักข่าวสำนัก Il manifesto global แห่งอิตาลีเมื่อ 11 เมษายนศกนี้ ในประเด็นปัญหาต่างๆ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างโควิด-19 กับโลกาภิวัตน์)

สเตลา เลอวันเทซี : คุณได้ให้สัมภาษณ์นิตยสาร The New Yorker ไว้ว่า “โรคระบาดเป็นโรคประเภทที่หยิบกระจกขึ้นมายกให้มนุษย์ส่องดูว่าจริงๆ แล้วตัวเราเองเป็นเช่นใด” แนวคิดที่ว่านี้ตราตรึงใจฉันมากค่ะ แล้วคุณก็พูดด้วยว่ามันสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งแวดล้อมทั้งสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติและที่เราสร้างขึ้นมา ความข้อนี้เป็นจริงกับกรณีโรคระบาดทั่วไวรัสโคโรนาด้วยไหมคะ โรคระบาดเป็นกระจกส่องความเปราะบางล่อแหลมของมนุษย์ใช่ไหม?

แฟรงก์ สโนว์เดน : ผมเชื่อว่าความข้อนี้เป็นจริงกับกรณีไวรัสโคโรนาด้วยแน่ๆ เพราะนี่เป็นโรคระบาดใหญ่ครั้งแรกของโลกาภิวัตน์ และผมก็เชื่อด้วยว่าสังคมทุกสังคมสร้างความเปราะบางล่อแหลมของตัวเองขึ้นมา

ผมขอยกกรณีอีกโรคหนึ่งที่หวาดกลัวกันที่สุดในสมัยศตวรรษของมันมาเปรียบเทียบนะครับ ได้แก่ อหิวาตกโรคในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั่นน่ะเป็นโรคของยุคสมัยที่แตกต่างออกไป มันเป็นโรคของกระบวนการสร้างอุตสาหกรรม และดังนั้น จึงรวมทั้งการสร้างเมืองแบบแผ่กระจายขยายตัวเหนือการควบคุมด้วย ที่ผมว่ามานั้นคือสภาพแวดล้อมที่ถูกสร้างขึ้นซึ่งสร้างขึ้นแบบฉิบหายวายป่วงเพราะกลุ่มคนพากันหลั่งไหลเข้ามาในเมืองใหญ่ทั่วทั้งโลกอุตสาหกรรมโดยไม่มีการเตรียมพร้อมรองรับในทางสุขอนามัยหรือที่พักอาศัยแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ในเมืองอย่างเนเปิลส์หรือปารีส มีสลัมที่แออัดยัดทะนานไปด้วยผู้คนราว 9 หรือ 10 คนต่อห้องเล็กๆ หนึ่งห้องซึ่งอยู่กันโดยไม่มีการจัดการด้านสุขอนามัยในเรื่องระบายน้ำเสียหรือจัดหาน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคใดๆ และดังนั้น โรคที่แพร่เชื้อติดต่อถึงกันผ่านทางปากและการขับถ่ายจึงปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมนั้นแล้วใช้ประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่

ผมอยากเถียงว่า ไข้ไทฟอยด์และโรคห่าเอเชียหรืออหิวาตกโรคคือบรรดาโรคที่ปรับแต่งตัวมันเข้ากับสภาพเงื่อนไขของการสร้างอุตสาหกรรมฉันใด โรคโควิด-19 ก็เหมือนกระจกยกขึ้นส่องสะท้อนให้เห็นโลกาภิวัตน์ในทำนองเดียวกันฉันนั้น

ในกรณีไวรัสโคโรนา มีมิติต่างๆ ที่สะท้อนออกมาในโรคนี้อย่างน้อยสามมิติซึ่งสำคัญขั้นคับขันต่อพวกเราในฐานะอารยธรรมหนึ่ง

มิติแรกคือตอนนี้เรากำลังมีจำนวนเกือบจะ 8 พันล้านคนทั่วโลกแล้ว เรายังดันมีมายาคติในใจเราว่าคุณสามารถจะมีการเติบโตและพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างไร้ขอบเขตจำกัดถึง แม้ว่าทรัพยากรของดาวพระเคราะห์โลกจะมีอยู่จำกัดก็ตามด้วย ซึ่งดูเหมือนเป็นความขัดแย้งที่แฝงฝังอยู่ในตัวมันเอง

แต่กระนั้น เราก็สร้างสังคมของเราขึ้นมาบนพื้นฐานมายาคติที่ว่านั้นโดยคิดเอาง่ายๆ ว่าจะรอมชอมความขัดแย้งดังกล่าวเข้าด้วยกันได้ด้วยวิธีการบางอย่าง ดังนั้น มันก็มีปัญหาแหละครับ

สำหรับมิติที่สอง ยิ่งกว่านั้น ความข้อนี้ยังไปเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับถิ่นที่อยู่ของสัตว์ด้วย เราได้ทำสงครามกับสิ่งแวดล้อมของเราเอง เรากำลังทำลายถิ่นที่อยู่ของสัตว์ลงไป นี่คือยุคสมัยของการทำลายล้างสปีชีส์ต่างๆ ให้สูญพันธุ์

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมนุษย์เราได้เข้าสัมผัสติดต่อกับสัตว์ทั้งหลายแหล่ในวิถีทางต่างๆ และระดับความถี่ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต และมาถึงตอนนี้เราก็สามารถชี้ให้เห็นแล้วว่าอะไรบ้างคือโรคที่สาธิตความข้อนั้นให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ อันได้แก่ ไข้หวัดนกตามนิยามของมัน รวมทั้งโรคเมอร์ส (MERS ย่อมาจาก Middle East Respiratory Syndrome หรือกลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง) โรคซาร์ส (SARS ย่อมาจาก Severe Acute Respiratory Syndrome หรือกลุ่มอาการโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง) และอีโบลาด้วย

และมาถึงตอนนี้เราก็เจอกับไวรัสโคโรนา ผมอยากบอกว่าแบบแผนที่เห็นนี้ไม่ใช่เหตุบังเอิญ มันหมายความว่าเรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่เกิดการกระฉอกหกออกมาซ้ำแล้วซ้ำอีกจากคลังเก็บโรคของสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันดูเหมือนว่าเราเปราะบางล่อแหลมยิ่งต่อเชื้อไวรัสทั้งหลายที่มีค้างคาวเป็นคลังกักเก็บโดยธรรมชาติของมัน

ส่วนมิติที่สามนั้น ลักษณะอีกอย่างหนึ่งของโลกาภิวัตน์ก็คือมาบัดนี้เราได้สร้างโลกของอภิมหานครขึ้นมาแล้ว และพวกมันล้วนแต่เชื่อมต่อถึงกันโดยการขนส่งทางอากาศอย่างรวดเร็ว หมายความว่าการกระฉอกหกของเชื้อโรคที่เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้สักแห่งอย่างในเมืองจาการ์ตาตอนเช้า… เจ้าจุลชีพตัวเดียวกันนั้นจะมาปรากฏที่นครลอสแองเจลิสและลอนดอนในตอนเย็น

ดังนั้น ผมจึงอยากบอกว่าไวรัสโคโรนามันฉวยใช้ช่องทางแห่งความเปราะบางล่อแหลมซึ่งพวกเราที่อยู่ร่วมโลกเดียวกันนี่แหละสร้างขึ้นมาเอง

ฉะนั้น ผมจึงใคร่เรียกมันว่าโรคระบาดโดยแก่นแท้ที่สุดของสังคมโลกาภิวัตน์ ในสภาพที่โลกาภิวัตน์หมายถึงการทำลายสิ่งแวดล้อม มายาคติแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไร้ขอบเขตจำกัดที่ว่านี้ การเพิ่มจำนวนประชากรมหาศาล นครขนาดมโหฬาร และการขนส่งทางอากาศอย่างรวดเร็วที่เชื่อมโยงมันทั้งหมดเข้าด้วยกัน

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)