“Absent without Leave” พรรคคอมมิวนิสต์มลายา และชะตากรรมของคนจีนหลากรุ่นในมาเลเซีย

คนมองหนัง

เพิ่งปิดฉากลงไปสำหรับเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติศาลายาครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้น ณ หอภาพยนตร์ ศาลายา และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน

โดยส่วนตัว มีโอกาสไปดูหนังจากเทศกาลครั้งนี้เพียงแค่สองเรื่องเท่านั้น แต่ก็เป็นหนังสารคดีสองเรื่องที่มีความน่าสนใจทั้งคู่

สัปดาห์นี้จะขออนุญาตเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับหนังเรื่องแรก หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า “Absent without Leave” เป็นภาพยนตร์สารคดีจากประเทศมาเลเซีย ผลงานของผู้กำกับฯ หนุ่ม “Lau Kek-Huat”

หนังเริ่มต้นด้วยเงื่อนปมเล็กๆ ในครอบครัวคนจีน เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างลูกชาย (ผู้กำกับฯ) กับพ่อที่ห่างเหิน ก่อนจะขยายประเด็นคำถามออกไปไกลกว่านั้น

เมื่อคนทำหนังหนุ่มรายนี้ตั้งข้อสงสัยต่อว่านอกจาก “พ่อ” แล้ว คนในครอบครัวของเขาก็แทบไม่เคยพูดถึง “ปู่” เลย

ก่อนที่เขาจะค่อยๆ ค้นพบว่า “ปู่” เป็นหนึ่งในผู้ที่ออกไปเคลื่อนไหวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาช่วงยุค “สงครามโลกครั้งที่สอง” และถูกเจ้าหน้าที่รัฐสังหารตั้งแต่ยังอายุไม่ถึง 30 ปี

อย่างไรก็ดี Lau Kek-Huat กลับนำพาหนังเรื่องนี้ให้เดินทางไปไกลกว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับครอบครัวของตัวเอง

เมื่อเขาเดินหน้าสืบค้นเรื่องราวของชาวจีนหลากหลายรุ่นในมลายา/มาเลเซีย ที่ต้องประสบชะตากรรมพลัดพรากจาก “ครอบครัว” และ “แผ่นดิน” อันเป็นที่รัก หลังตัดสินใจเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์

จากประเด็นคำถามตั้งต้นว่าด้วยเรื่อง “ครอบครัว” ของปัจเจกบุคคลรายหนึ่ง หนังจึงหันเหทิศทางไปมุ่งสำรวจ “ประวัติศาสตร์/ความทรงจำร่วม” อันเป็น “บาดแผล” ของคนจีนหลายเจเนอเรชั่นในมาเลเซีย

จากความสนใจใคร่รู้จัก “ปู่” ผู้หายสาบสูญไปจากครอบครัว ผู้กำกับฯ หนุ่ม ค่อยๆ ถ่ายเทความสนใจดังกล่าวไปสู่ “พรรคคอมมิวนิสต์มลายา” ที่ปลาสนาการไปจากประวัติศาสตร์กระแสหลักของประเทศมาเลเซีย

“Absent without Leave” พาคนดูไปรู้จักคนจีนหลากรุ่นต่างยุค ตั้งแต่เจเนอเรชั่นที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อแข็งขืนต่อจักรวรรดินิยมอังกฤษ ต่อต้านการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่น (ด้วยความรู้สึกปนเประหว่าง “ชาตินิยมจีน” กับ “ชาตินิยมมลายา”) และเรียกร้องเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

มาจนถึงกลุ่มคนจีนที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์หลังทศวรรษ 2490 ซึ่งสถานการณ์ความขัดแย้งได้ลากยาว ก่อนจะมีสนธิสัญญาสันติภาพ (ลงนามที่หาดใหญ่) ใน ค.ศ.1989/พ.ศ.2532

จุดเด่นมากๆ ของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ คือ การพยายามออกไปตามหาพูดคุยกับคนจีนหลายรุ่นเหล่านั้น โดยตัดข้ามเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ

Lau Kek-Huat เดินทางไปยังกว่างโจว ในจีนแผ่นดินใหญ่ และฮ่องกง เพื่อสร้างบทสนทนากับคนจีน ซึ่งเข้าร่วมต่อสู้ทางอุดมการณ์กับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาในยุคแรกๆ ก่อนที่พวกเขาและเธอจะถูกเนรเทศออกนอกประเทศมาเลเซีย

ขณะเดียวกันเขาก็เดินทางจากมาเลเซียไปยัง อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อพูดคุยกับอดีตแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ซึ่งลงหลักปักฐานอยู่ในประเทศไทย หลังมีสนธิสัญญาสันติภาพ

เท่ากับว่าผู้กำกับฯ สามารถขยับขยายพรมแดนของหนังออกไปได้กว้างไกลมากๆ จากเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว ไปสู่เรื่องชาติพันธุ์และการเมือง จากประเด็นการเมืองระดับชาติ ก็ค่อยๆ เพิ่มเติมขอบเขตไปถึงโครงข่ายความสัมพันธ์ที่มีลักษณะข้ามชาติ/ประเทศ

ส่งผลให้หนังมีเหลี่ยมมุมสลับซับซ้อน จนยากคาดเดาว่าคนทำจะนำพาคนดูไปพบกับใคร? ที่ไหนอีก?

การเดินทางข้ามไปเบตง และจับภาพกิจกรรมพบปะสังสรรค์ระหว่างอดีตแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ในฝั่งไทยและฝั่งมาเลเซีย อาจไม่ใช่ “สิ่งใหม่” เสียทีเดียว สำหรับคนที่เคยดูหนังสารคดีเรื่อง “The Last Communist” และ “Village People Radio Show” ของ “อามีร์ มูฮัมหมัด” อีกหนึ่งผู้กำกับภาพยนตร์ชาวมาเลเซีย

แต่จุดที่แปลกใหม่และสร้างแรงสั่นสะเทือนในจิตใจได้อย่างมหาศาลจริงๆ ของ “Absent without Leave” กลับกลายเป็นการเดินทางไปถ่ายทำชีวิตของกลุ่มคนจีนวัยชราที่กว่างโจว

คนกลุ่มนี้คือชาวจีนที่ถูกเนรเทศออกจากมลายา/มาเลเซียตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ชีวิตของพวกเขาและเธอในจีนแผ่นดินใหญ่ก็ไม่ได้ราบรื่น โดยเฉพาะเมื่อต้องดำรงตนอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (และมีบางคนต้องรับโทษ)

ที่สำคัญ คนเหล่านี้เกิดอารมณ์ความรู้สึกระคนกัน ระหว่างความรู้สึกที่ว่า “จีนแผ่นดินใหญ่” นั้นไม่ใช่ “บ้านแท้ๆ” ของพวกตน กับความรู้สึกโหยหาอยากหวนคืนกลับ “บ้าน” ที่มาเลเซีย

ความรู้สึกผสมปนเปดังกล่าวถูกแสดงออกผ่านเรื่องเล่าของภัณฑารักษ์ผู้สูญเสียแม่ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม, การทำอาหารตามวัฒนธรรม “เปอรานากัน” และการหยิบใช้ “เครื่องมือทางวัฒนธรรม” บางอย่าง เช่น “บทเพลง” มาเยียวยารักษาแผลใจของ “ผู้ปราชัยทางการเมือง”

กลุ่มบุคคลที่มีเสน่ห์และสีสันมากที่สุดในหนัง เห็นจะเป็นบรรดาสตรีชาวจีนวัยไม้ใกล้ฝั่งที่เผยความรู้สึกลึกๆ หลายประการออกมาอย่างน่าสนใจ

บางคนในหมู่พวกเธอ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “จีนคอมมิวนิสต์” กับ “จีนก๊กมินตั๋ง” แตกต่างกันตรงไหน แต่กระแสธารของประวัติศาสตร์และการเมือง ก็ค่อยๆ พัดพาเธอให้ต้องจากลา “บ้าน” ที่มลายา มาสู่จีนแผ่นดินใหญ่

ขณะที่อีกหลายคนพากันร่ำร้องบทเพลงเก่าๆ รำลึกความหลังถึงการต่อสู้ครั้งกระโน้น และแผ่นดินมลายาที่พวกตนต้องพลัดพรากจากไกลมานานหลายทศวรรษ

กล่าวให้ถึงที่สุด คนกลุ่มนี้อาจเป็นทั้ง “คนจีน (แผ่นดินใหญ่)” และ “คนมาเลเซีย” พอๆ กับที่พวกเขาและเธอไม่สามารถเข้าถือครองอัตลักษณ์ทั้งคู่ได้อย่างแนบสนิทสมประสงค์

“Absent without Leave” จึงเป็นหนังที่ตั้งต้นจากเรื่องเล็กๆ ก่อนขยายตัวไปสู่ประเด็นใหญ่ๆ เมื่อปมปัญหาในครอบครัวเล็กๆ มีรอยต่อที่ข้องเกี่ยวสัมพันธ์กับ “ครอบครัวขยาย” ซึ่งมิได้มีความผูกพันกันทางสายเลือด แต่ผูกพันกันทางอุดมการณ์การเมืองและชะตากรรม ที่ต้องตกเป็น “ผู้ถูกกระทำ” ในหน้า “ประวัติศาสตร์ล่องหน” เหมือนๆ กัน

ส่วนผู้กำกับฯ อย่าง Lau Kek-Huat ก็ได้รู้จัก “ปู่” ของตนเอง ผ่านการทำความรู้จักคุณปู่คุณย่าคุณลุงคุณป้าอีกหลายคน ผู้เคยร่วมทางเดินเส้นเดียวกันกับปู่ของเขา

ไม่แปลกอะไรที่หนังเรื่องนี้จะคว้ารางวัล “ภาพยนตร์สารคดีอาเซียนยอดเยี่ยม” จากเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติศาลายาครั้งที่ 7 ไปครอง