คำ ผกา : เป็นครูไม่ใช่ความบังเอิญ

คำ ผกา

หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนคุณสมบัติผู้สมัครครูผู้ช่วยว่าไม่จำเป็นต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูก็สมัครได้ เนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนครูโดยเฉพาะในสายวิทยาศาสตร์ หรือบ้างก็ว่า ต้องได้คนเก่งๆ มาเป็นครู (ด้วยนัยว่า คนเก่งๆ ไม่ค่อยเรียนครู)

นำมาซึ่งข้อถกเถียงที่น่าสนใจนั่นคือ คนในวงการครุศาสตร์ไม่เห็นด้วยค่อนข้างมาก แต่คนในสังคมวงกว้างค่อนข้างเห็นด้วย หลายๆ คนให้ความเห็นว่า ทำไมต้องหวงอาชีพนี้ไว้ให้เฉพาะคนจบครูเท่านั้น ถ้าได้คนเก่งฟิสิกส์มากๆ ไปสอนฟิสิกส์เด็กจะดีกว่าเอาคนจบครูที่ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยเก่งไปสอนหรือเปล่า?

หลายคนอาจมองการออกมาคัดค้านของคนในวงการครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ว่า เป็นเรื่องของการ “หวง” พื้นที่วิชาชีพของตนเองหรือเปล่า กลัวจะหมดความสำคัญหรือเปล่า

ในอีกด้านหนึ่ง สาธารณชนก็มองว่า “ทุกวันนี้มีครูที่จบสายตรงมาก็ไม่เห็นว่าครูเหล่านี้จะเก่งที่ตรงไหน คุณภาพการศึกษาไทยก็แย่ เปิดให้คนนอกมาเป็นครูได้ก็ดีแล้ว” ฉันเองไม่เห็นด้วยกับบุคลากรทางการศึกษาที่ออกมาบอกว่า การทำแบบนี้ทำให้ใบประกอบวิชาชีพครูหมดความหมาย หรือมองว่าเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของคนในวิชาชีพครู เพราะทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับศักดิ์ศรี แต่เกี่ยวกับการรับรู้เกี่ยวกับอาชีพครูอย่างผิดๆ

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในงานเสวนา “มุมมองเชิงวิชาการต่อการเปิดโอกาสให้ผู้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูสอบบรรจุครูได้ ว่า

“การรับคนไม่จบตรงสาขาครูเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แต่สิ่งที่เป็นจุดร่วมที่ทั่วโลกทำเหมือนกัน คือ มีการฝึกอบรมให้คนกลุ่มนี้ก่อนไปสอนนักเรียน ขณะที่สิ่งที่ ศธ. ทำครั้งนี้คือ ถ้าสอบบรรจุได้ก็ให้ไปสอนก่อน แล้วไปอบรมตามเงื่อนไขของคุรุสภาจนได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

คำถามคือ เราจะส่งคนที่ไม่รู้วิธีการสอนเข้าห้องเรียนเลยจะมั่นใจได้หรือไม่ ทำไมเอาเด็กไปเสี่ยง แม้อาจมีใจอยากจะสอน แต่ยังไม่รู้วิธีการ ยิ่งหากไปบรรจุในโรงเรียนซึ่งก็มีความหลากหลายทั้งขนาดและบริบท เช่น ห้องเรียนคละชั้น เด็กพิเศษ เด็กอ่อน จะมีวิธีรับมืออย่างไร และอยากถามว่าความต้องการของผู้ที่ไม่ได้เรียนครูแต่อยากเป็นครูมีมาก จนต้องเปิดช่องให้เข้ามาเป็นครู

เราคิดบนพื้นฐานของการเตรียมคนเพื่อออกไปสู่ห้องเรียนใช้เวลาในการเรียนรู้วิชาการ 4 ปี ฝึกประสบการณ์สอนจริง 1 ปี และมีการติดตามประเมินผล เพราะฉะนั้น ความสำคัญของใบอนุญาตฯ ไม่ใช่แค่ตราประทับ แต่เป็นการการันตีประสบการณ์ที่ฝึกฝนมาในภาคสนาม”

http://www.komchadluek.net/news/edu-health/267080

เราต้องยอมรับว่าในโลกนี้มีอาชีพที่จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนมาเฉพาะทางจริงๆ นักเขียนไม่จำเป็นต้องจบโรงเรียนนักเขียน คนค้าขายไม่จำเป็นต้องจบบริหารธุรกิจ นักข่าวไม่จำเป็นต้องจบนิเทศฯ

แต่มันมีบางอาชีพที่ถ้าคุณไม่จบสายนั้นๆ มาคุณทำไม่ได้โดยสิ้นเชิง เช่น คุณเป็นนักโบราณคดีไม่ได้ ถ้าคุณไม่ได้เรียนมา อยู่ๆ จะไปถือจอบถือเสียม ขุดหาซากเมืองโบราณ – ทำไม่ได้ คุณเป็นหมอไม่ได้ ถ้าไม่ได้เรียนหมอ เป็นทหนายความไม่ได้ ถ้าไม่มีใบอนุญาต เป็นสถาปนิกไมได้ ถ้าไม่มีใบอนูญาต เป็นวิศวกรไม่ได้ ถ้าไม่ได้เรียน ไม่มีใบอนุญาต เป็นต้น

สำหรับฉัน อาชีพครูก็เช่นกัน แน่นอนว่า เราเติบโตมาในสังคมโบราณที่คนที่เป็นครูคือพระ คือใครก็ได้ที่รู้หนังสือ หรือในบางยุคที่มีคนได้เรียนหนังสือนิดเดียว หาคนมาเป็นครูยาก เราก็คิดกันง่ายๆ ว่า ใครที่อ่านออกเขียนได้ก็เป็นครูได้หมด

ในยุคหนึ่งของเมืองไทย ใครก็ตามที่เรียนจบเมืองนอกมา พูดภาษาอังกฤษได้ ก็ถูกจับมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษหมด แน่นอนว่าเราผ่านยุคนั้นมาแล้วคือยุคที่ไม่ได้เอาแค่คนพูดภาษาอังกฤษได้มาสอนภาษาอังกฤษ เอาคนจบวิทยาศาสตร์มาสอนวิทยาศาสตร์ และไม่จำเป็นต้องจบครู เป็นต้น

และคนไทยจำนวนไม่น้อยจึงเชื่อว่า คนที่มาเป็นครูนั้น เป็นใครก็ได้ที่มีความรู้ในวิชาที่ตนสอน เช่น รู้ภาษาอังกฤษ สอนภาษาอังกฤษ รู้คณิตศาสตร์ เก่งคณิตศาสตร์ก็ควรมาเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ แต่งกลอนเก่งก็มาเป็นครูสอนภาษาไทย วาดรูปเก่งก็มาเป็นครูสอนศิลปะ

เราจึงไม่เคยมองว่าครูเหมือนอาชีพหมอ หรือวิศวกร สถาปนิก นักโบราณคดี ที่เอาเข้าจริงๆ แล้ว เป็นวิชาชีพที่ “ซีเรียส” มาก

เพราะมันคืออาชีพที่สร้าง “คน” ไม่ได้แปลว่า มันสำคัญกว่าอาชีพอื่น สูงส่งกว่าอาชีพอื่น ต้องมีบุญมีคุณต่อชีวิตคนมากกว่าอาชีพอื่น แต่การสร้าง “คน” มันเป็นเรื่องยากและละเอียดอ่อน วิศวกรสร้างตึก วัตถุดิบยังเป็นวัสดุ อิฐ หิน ดิน ทราย ที่ไม่มีชีวิต กำหนด ควบคุมได้อย่างใจนึกทุกประการ แต่การสร้าง “คน” หรือ สอน” เด็ก”

ต้องอย่าลืมว่า เด็กร้อยคนร้อยนิสัย ร้อยวัฒนธรรม ร้อยสติปัญญา ร้อยปมด้อย ร้อยปมเด่น ร้อยแบบของลักษณะทางจิต ร้อยความสามารถและด้อยความสามารถ การจะต้อง “สอน” เด็กเหล่านี้ ให้อ่านออก เขียนได้ ไปจนถึงการต่อยอดให้กลายเป็นผู้ที่แสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด กอปรไปกับเตรียมคนที่มีศักยภาพทางการสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ เป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพของรัฐและประเทศชาติ

ทั้งหมดนี้ ถ้ารัฐเห็นการณ์ไกล รัฐก็ต้องทุ่มเทสรรพกำลังในการผลิตครูที่เด่งที่มีความสามารถ

เด็กยิ่งมีปัญหา เรายิ่งต้องการครูที่เก่ง เด็กสติปัญญาดี เราอาจจะใช้ใครไปสอนก็ได้ แต่เด็กที่เรียนไม่เก่ง มีปัญหาเรื่องพัฒนาการเรียนรู้ เด็กที่เผชิญกับภาวะ Learning disorder สมาธิสั้น หรือ Dyslexia (สมองไม่ประมวลผลการอ่านตัวอักษร) เด็กพิเศษในลักษณาการต่างๆ เด็กที่เรียนรู้ช้า เด็กที่มีบาดแผลในใจ ในครอบครัว ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนแต่ต้องการ “ครู” ที่เก่งมากๆ และได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี และในหลายเคส เราอาจต้องการครูที่ถูกฝึกมาเป็นพิเศษ สำหรับปัญหาแต่ละด้านด้วย ยังไม่ต้องพูดถึงทักษะความเป็นครูพื้นฐาน จิตวิทยาการสอน การจูงใจ การออกแบบหลักสูตร การออกแบบแบบฝึกหัด วิธีการวัดผล การออกแบบกิจกรรม ฯลฯ สำหรับคนที่มีความสามารถอาจจะบอกว่า ไม่เห็นมีอะไรยาก

แต่สำหรับคนโง่ๆ อย่างฉัน บอกได้เลยว่า หากไม่ได้เรียนมา แล้วจับฉันไปเป็นครูแล้วต้องทำในสิ่งเหล่านี้ ฉันต้องตายแน่ๆ แค่คิดว่าจะออกข้อสอบเพื่อวัดผลความรู้นักเรียน ฉันก็มึนตึ้บแล้วว่า การออกข้อสอบที่วัดผลได้จริงนั้นต้องออกข้อสอบอย่างไร? ถามอะไร? การวัดผลมีแบบ แต่ละแบบมีวัตถุประสงค์อย่างไร เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งท้าทายสำหรับคนที่ไม่ได้จบครูแต่ต้องไปเป็นครู

และนั่นคือเหตุผลที่เขามีวิชาศึกษาศาสตร์ หรือครุศาสตร์ และนั่นคือเหตุผลที่ครั้งหนึ่งเราเคยผลักดันกันจนสำเร็จว่าต่อไปนี้คนที่จะมาเป็นครูต้องไปผ่านการฝึกอบรมวิชาชีพครู มีใบประกอบวิชาชีพครูเสียก่อน จึงจะมาเป็นครูได้ นั่นแปลว่าเราผ่านยุคสะเปะสะปะ เข้าสู่ยุคที่เจริญแล้ว คือเข้าใจแล้วว่าวิชาสร้างมนุษย์ผ่าน “การศึกษา” นั้นมันไม่ต่างจากหมอ จากวิศวกร จากสถาปนิก ที่มั่วๆ ซั่วๆ ไม่ได้ เอาใครไม่รู้มาออกแบบตึก ตึกก็พัง ครูก็เช่นกัน

ยํ้าอีกครั้งว่า อาชีพครู สำคัญมาก และเราต้องการคนที่ “จริงจัง” กับการเป็นครูให้มากพอ และรู้ว่าอาชีพนี้สำคัญขนาดไหน มีผลต่อชีวิต อนาคตของนักเรียนแต่ละคนที่จะเติบโตต่อไปเป็นมนุษย์คนหนึ่งมากแค่ไหน

คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ – อย่าลืมว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราจูงมือลูกไปเข้าโรงเรียน ลูกเรากำลังจะถูกถนอมกล่อมเกลี้ยง เรียนผิด เรียนถูกจากคนเหล่านี้ และเราจะไม่เห็นอีกหรือว่า อาชีพครูเป็นอาชีพที่สำคัญมาก ในแง่ที่ว่า เราสร้างครูที่ เจ๋งที่สุดในแง่ของวิชาชีพขึ้นมาให้จงได้

ทว่า เรื่องนี้จะโทษสังคมอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะภาพพจน์ของอาชีพครูในเมืองไทยไม่ดีเอาเสียเลย ในต่างจังหวัด ภาพจำของครูก็คือ ครูใหญ่กินเหล้าตอนกลางวัน สอนหนังสือบ้าง ไม่สอนหนังสือบ้าง ครูเล่นหวย ครูเก็บแชร์ ครูชอบข่มขู่เด็ก ครูเอาแต่ประชุม ครูไม่มีความรู้ ฯลฯ

พูดง่ายๆ ว่าในอดีตครูที่จบวิทยาลัยครูมามีคุณภาพต่ำกว่าครูที่ไม่ได้จบครูแต่จบมหาวิทยาลัยค่อนข้างดีมา แม้จะไม่ได้มีทักษะวิชาชีพครูมา ก็ยังพอถูๆ ไถๆ สอนดีกว่าครูที่จบครูมาเพราะคุณภาพการสอนครูสมัยก่อนนู้นอาจจะแย่จริงๆ

เราปฏิเสธไม่ได้อีกนั่นแหละว่าระบบราชการไทยก็สร้างระบบครูในราชการที่เละตุ้มเป๊ะ-สะท้อนมาในคุณภาพการศึกษาไทยอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

ระบบการศึกษาไทย ครูไทย ในการรับรู้ของสาธารณชนเป็นภาคส่วนที่ล้าหลัง อนุรักษนิยม เราไม่เห็นภาพของ “ครู” ที่มีความเป็นนักวิชาการด้านการศึกษา แต่เรามักเห็นภาพครูที่ตั้งกะบังสูงสองศอก ยืนคุมแถวตรงหน้าเสาธงตอนเคารพธงชาติ เรามีภาพจำของครูที่ตวาดลูกศิษย์ สั่งให้ลูกศิษย์คลานเข่าจากหน้าโรงเรียนเข้ามาในโรงรียนเพื่อทำโทษที่มาสาย เรามีภาพจำของครูที่บังคับให้นักเรียนกินเต้าหู้ ครูที่ทำร้ายร่างกายนักเรียน ครูที่เอาสก๊อตเทปปิดปากนักเรียน เอาเชือกมามัดมือมัดเท้าแล้วออกมาแก้ตัวกับสื่อว่าจำลองสถานการณ์ว่าหากถูกตำรวจจับจะถูกลงโทษเช่นนี้ ฯลฯ

ภาพจำของครูไทย คือ ความเป็นอำนาจนิยม ความเป็นเผด็จการ ความคร่ำครึ ไม่ทันสมัย ความอยากตรวจผม ตรวจเล็บ เคร่งศีลธรรมแบบประหลาดๆ ขณะเดียวกัน เรื่องอื้อฉาวคาวสวาทของครูก็ปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นระยะๆ อีก

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การวัดคุณภาพผลการเรียนของนักเรียนไทย วัดทีไรก็สอบตกทุกที มีแต่ต่ำต้อยลงทุกขณะจิต

สังคมจึงไม่เห็นว่าใบประกอบวิชาชีพครูที่มีกันอยู่ เป็นกันอยู่ จะการันตีอะไรได้ ดังนั้น จะเปิดให้สอบครูผู้ช่วยโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร เพราะไอ้เจ้าใบนี้ ไม่ได้รับประกันอะไรหรือมีผลงานอะไรให้เป็นที่ประจักษ์เลยแม้แต่นิดเดียว

ทางออกของปัญหาคือ เราต้องมาดูว่าที่ผ่านมา ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของเราที่มีอยู่มัน “ศักดิ์สิทธิ์” หรือไม่

อย่าปล่อยให้ครูมีใบอนุญาตออกมาเป็นครูที่ห่วยๆ เผด็จการ ข่มขู่ลูกศิษย์ ไม่สอนหนังสือ หรือสอนแบบขอไปที หรือทำระยำตำบอนให้วงการวิชาชีพครูมันดูเสื่อมเสียไม่น่าเชื่อถือ

วงการครุศาสตร์ต้องยกระดับตัวเองให้สังคมยอมรับให้ได้ ไม่ใช่ครูบาอาจารย์ในคณะครุศาสตร์ออกมาแสดงความคิดเห็นโพสต์เฟซบุ๊ก อย่างกรณีที่ออกมาด่าเนติวิทย์ ว่าหน้าตาไม่สมกับเป็นเด็กจุฬาฯ

หรือมีอาจารย์ครุศาสตร์ออกมาบอกว่า เครื่องแบบนักศึกษาสำคัญเหมือนน้ำดื่มต้องมียี่ห้อ ติดฉลากไว้ อะไรแบบนี้ ซึ่งหากคนในครูบาอาจารย์ที่สอนวิชาชีพ “ครู” มีทัศนคติทำนองนี้ มันก็ยากที่จะให้สังคมเลื่อมใสในความ “ซีเรียส” อย่างยิ่งของ “วิชาชีพครู” หรือทักษะของความเป็นครู สำหรับฉันเอง ในเชิงทฤษฎี ฉันอยู่ในฝ่ายที่เชื่อว่า “คนจะเป็นครูต้องเรียนวิชาชีพครู” แม้ไม่จบครู อย่างน้อยที่สุดต้องการผ่านการเทรนนิ่งที่จริงจัง

แต่ความกลัวอย่างเดียวของฉันคือ กลัวการเทรนครูของไทยจะเป็นการเทรนครูไปล้างสมองเด็กให้โง่กว่าเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น – เท่านั้นแหละ