ต่างประเทศ : จุดเริ่มต้นฝันร้าย? โควิด-19 ในค่ายพักพิงชาวโรฮิงญา

ความหวั่นเกรงกับการแพร่ระบาดของโรคระบาดโดยเฉพาะซาร์ส โคฟ-2 ไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยอันแออัดในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลกถูกพูดถึงกันมานาน

ด้วยความแออัด ขาดสุขอนามัยที่ดี และส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยยากจนที่ขาดการดูแลที่ดี ทำให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อได้อย่างง่ายดาย

ซึ่งล่าสุดความหวาดกลัวดังกล่าวเกิดขึ้นจริงแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นค่ายผู้อพยพลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างค่ายพักพิงชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศ

หลังจากมีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในกูตูปาลอง เมืองคอกซ์บาซาร์ เมืองที่มีชายแดนติดประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ก่อนที่วันต่อมาจะพบผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาติดเชื้อเพิ่มอีก 3 ราย

ในเมืองคอกซ์บาซาร์ มีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ราว 1 ล้านคน กระจายไปในค่ายผู้พักพิง 34 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้รวมไปถึงค่ายพักพิงในเมืองกูตูปาลอง

หน่วยงานสาธารณสุขของรัฐบาลบังกลาเทศเริ่มดำเนินการสอบสวนและกักกันโรคในทันทีด้วยการนำตัวผู้ติดเชื้อไปที่ศูนย์กักกันและรักษาโรคที่แยกตัวออกจากชุมชนในค่าย

หลังจากนั้นมีคำสั่งให้ชาวโรฮิงญาที่อาจสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อจำนวน 1,275 ครอบครัว รวม 5,000 คนเข้าสู่กระบวนการล็อกดาวน์เพื่อกักกันโรคในทันที

 

บังกลาเทศ ชาติที่มีประชากรอาศัยอยู่กันอย่างแออัด 160 ล้านคน เป็นชาติเสี่ยงกับการแพร่ระบาดในประเทศมากอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับเป็นกลุ่มที่เสี่ยงมากยิ่งกว่า

ชาวโรฮิงญาราว 800,000 คนต้องอพยพมายังบังกลาเทศ อาศัยรวมกับผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยจากพม่าในยุคทศวรรษที่ 90 หลังรัฐบาลเมียนมาเปิดปฏิบัติการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายในรัฐยะไข่ เมื่อปี 2017 ปฏิบัติการที่องค์การสหประชาชาติกล่าวหารัฐบาลพม่าว่าเป็นการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ก่อนหน้านี้

ด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดในระดับ 40,000 คนต่อตารางกิโลเมตร แออัดกว่าจำนวนผู้โดยสารบนเรือไดมอนด์ ปริ๊นเซส เรือสำราญที่จอดกักกันโรคที่ท่าเรือในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาถึง 2 เท่า

เรือไดมอนด์ ปรินเซส พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากถึง 700 คนในเวลาเพียง 1 เดือนหลังพบผู้ติดเชื้อรายแรก นั่นยิ่งทำให้การพบผู้ติดเชื้อในค่ายพักพิงชาวโรฮิงญายิ่งน่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

เพื่อเตรียมรับมือ หน่วยงานให้ความช่วยเหลือระดับนานาชาติต่างๆ เตรียมความพร้อมล่วงหน้านานนับเดือนให้บังกลาเทศรับมือกับการแพร่ระบาด

องค์การอนามัยโลกระบุว่า มีการสร้างศูนย์กักกันและรักษาโรคในค่ายพักพิงชาวโรฮิงญาแล้ว 18 แห่ง มีเตียงพร้อมทันที 72 เตียง และพร้อมเพิ่มเตียง 272 เตียงในกรณีมีผู้ป่วยล้น แต่หากเกิดการแพร่ระบาดขึ้นจริง จำนวนเตียงเพียงน้อยนิดก็จะไม่สามารถรองรับผู้ป่วยทั้งหมดได้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคในเรื่องของการสื่อสารภายในค่ายพักพิงผู้ลี้ภัย เนื่องจากรัฐบาลบังกลาเทศตัดสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ลง

ส่งผลให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานเอ็นจีโอต้องใช้โทรโข่งในการสื่อสาร ให้ความรู้ในแต่ละค่ายพักพิง เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาระยะห่าง การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

 

ก่อนหน้านี้ค่ายพักพิงชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศถูกตัดขาดออกจากชุมชนชาวบังกลาเทศในท้องถิ่น ด้วยการล้อมรั้วลวดหนาม มีการส่งตำรวจลาดตระเวนและตั้งด่านตรวจโดยรอบ นั่นส่งผลให้ชาวโรฮิงญายังคงมีแนวกันชนจากการแพร่ระบาดในบังกลาเทศ ที่ในเวลานี้มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 25,000 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 370 ราย แต่การพบชาวโรฮิงญาติดเชื้อโควิด-19 ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นอาจเป็นสัญญาณว่ากันชนดังกล่าวไม่มีความหมายอีกต่อไป

เวลานี้นอกจากบังกลาเทศจะมีชุดตรวจเชื้อจำนวนจำกัด ในอีกทางก็ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด อีกหนึ่งอุปสรรคก็คือข่าวลือที่แพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าข้อเท็จจริงภายในค่ายผู้ลี้ภัย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตามตัวผู้ที่อาจติดต่อใกล้ชิดผู้ติดเชื้อมาเข้ารับการตรวจได้อย่างยากลำบากมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นข่าวลือที่ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเป็นข้ออ้างให้รัฐบาลบังกลาเทศใช้ในการฆ่าชาวโรฮิงญา หรือเป็นข้ออ้างในการไล่ชาวโรฮิงญาออกจากประเทศก็ตาม

 

ล่าสุดรัฐบาลบังกลาเทศเจอปัญหาใหม่เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ช่วยเรือของชาวโรฮิงญาที่ลอยคออยู่กลางทะเลนานหลายสัปดาห์เอาไว้ได้อีกราว 300 คน

ชาวโรฮิงญากลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่พยายามหลบหนีออกจากค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองคอกซ์บาซาร์ เพื่อมุ่งหน้าสู่ประเทศมาเลเซีย หวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบังกลาเทศได้ส่งชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ไปไว้บน “เกาะบาซานชาร์” เกาะเล็กๆ ที่รัฐบาลบังกลาเทศใช้งบประมาณมหาศาลในการสร้างให้เป็นที่พักพิงใหม่ที่สามารถรองรับชาวโรฮิงญาได้ 100,000 คน

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของรัฐบาลบังกลาเทศที่กินเวลานานนับปี ก่อนหน้านี้ถูกคัดค้านจากประชาคมโลกและองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ระบุว่า เกาะดังกล่าวซึ่งเสี่ยงกับการเจอพายุและลมมรสุมอันตรายไม่เหมาะที่จะเป็นที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบังกลาเทศได้นำชาวโรฮิงญา 300 คนไปยังเกาะดังกล่าวแล้วโดยอ้างว่าชาวโรฮิงญากลุ่มนี้อาจเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 จึงจำเป็นที่จะต้องกักกันโรคบนเกาะดังกล่าว และมีแผนที่จะนำชาวโรฮิงญาย้ายมายังเกาะบาซานชาร์เพิ่มขึ้นอีกด้วย

สถานการณ์ความยากลำบากนี้เน้นย้ำให้เห็นอีกครั้งถึงความยากลำบากของชาวโรฮิงญา ชาติพันธุ์ไร้รัฐที่องค์การสหประชาชาติเคยระบุเอาไว้ว่า เป็นชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยที่ “ถูกข่มเหงมากที่สุดในโลก”

โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 วิกฤตโรคระบาดครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกเวลานี้