วิเคราะห์ | ศึกพลังประชารัฐ แค่เกม “นักการเมือง” “โหรเตือน-ซินแสอวย” ชะตา “2 ป.” บนทางแพร่ง

ศึกในพรรคพลังประชารัฐเนิ่นนานมาเกือบ 1 เดือน หลังปรากฏข่าว “ปฏิบัติการยึดพรรคคืน” ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ พปชร. ที่เป็นที่รู้กันตั้งแต่ก่อนที่ พล.อ.ประวิตรจะมารับตำแหน่งในพรรคแล้วว่าเป็น “เจ้าของพรรคตัวจริง”

โดยปฏิบัติการครั้งนี้ พล.อ.ประวิตรได้ส่งแรงกดดันไปยัง “อุตตม สาวนายน” หน.พลังประชารัฐ ให้ลาออกจากตำแหน่ง พร้อมข่าวว่าส่ง “เสธ.อ.” หรือ “เสธ.อ้น” พล.อ.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา สมาชิก ส.ว.ไปเจรจา

โดย “เสธ.อ้น” ปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว แต่ยอมรับว่ามาช่วยงานการเมือง พล.อ.ประวิตร หากย้อนเส้นทางการเป็นทหาร จะพบว่าใกล้ชิด “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เพราะโตมาจาก ร.21 รอ. เป็นทหารเสือฯ มาเหมือนกัน เป็นรุ่นน้อง ตท.19-จปร.30 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้งานมานาน

และมาพบกับ พล.อ.ประวิตร ช่วงเป็นหัวหน้าสำนักงานปฏิบัติการข่าว กรมข่าวทหารบก, ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองทางทหาร, รอง เสธ.ทบ. และหัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ก่อนมาเป็น ส.ว.นั่นเอง

แต่สุดท้าย “อุตตม” ยังคงยืนกรานไม่ลาออก รวมทั้งการเปลี่ยนเลขาธิการพรรคจาก “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” มาเป็น “สันติ พร้อมพัฒน์” ด้วย กลายเป็นศึก 2 ก๊กในพรรค ระหว่าง “ก๊กสี่กุมาร” ที่มี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นแม่ทัพอยู่ข้างหลัง และ “ก๊กป่ารอยต่อฯ” ที่มี พล.อ.ประวิตรเปิดหน้าสู้

กลายเป็นศึกที่ต้องถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ในการมาหย่าศึก โดยเรียก “อุตตม-สนธิรัตน์” เข้าพบที่ทำเนียบ โดยนายกฯ ได้แนะให้พูดคุยกันเพื่อแก้ปัญหาในพรรค

ซึ่งทั้งคู่ก็ยืนยันว่ายังคงเคารพ พล.อ.ประวิตรเช่นเดิม

ในช่วงแรก “สมคิด” ถึงกับแอ๊กชั่นซัดกลับตรงๆ ว่า “นาทีนี้ต้องช่วยกันทำงานให้ประเทศรอดพ้นไปให้ได้ ไม่ใช่เวลามาพูดถึงอำนาจ จะเอาอำนาจไปทำอะไร ไม่เข้าใจ” ทำให้ฝั่ง “สี่กุมาร” เดินเกมทำงานในหน้าที่ต่อเนื่องแทน เมื่อสื่อไปถามถึงเรื่องราวในพรรคก็เลี่ยงที่จะพูดอีก รวมทั้ง “สมคิด” ที่ส่งยิ้มให้สื่อแทนด้วย ทำให้คลื่นลมในพรรคนิ่งขึ้น หลัง พล.อ.ประยุทธ์ออกมาหย่าศึก

ทว่าคลื่นใต้น้ำยังคงทำงาน มีข่าว “เล่นเก้าอี้ดนตรี” ออกมาอยู่ทุกวัน โดยไม่ใช่เพียงตำแหน่งในกรรมการบริหารพรรคเท่านั้น แต่ผูกโยงมาที่เก้าอี้รัฐมนตรีด้วย

ถึงขั้นทำโผ ครม.ประยุทธ์ 2/1 ออกมา จึงทำให้แรงขยับยิ่งเข้มข้น โดยเฉพาะช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ที่จะมีการประชุมวิสามัญกรรมการบริหารพรรค จากนั้นเชื่อกันว่าช่วงหลังจบสถานการณ์โควิด-19 จะมีการปรับ ครม.เกิดขึ้นตามมา

แน่นอนว่าวันนี้ พล.อ.ประวิตรเป็น “คู่ขัดแย้ง” ไปเรียบร้อยแล้ว จากบทเดิมที่เป็น “ผู้หลอมรวมพรรค”

เพราะพรรคพลังประชารัฐไม่ใช่เพิ่งมีความขัดแย้งเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งรัฐบาลเสียด้วยซ้ำ ที่ก๊กมุ้งต่างๆ ต่างมี “โควต้าเก้าอี้รัฐมนตรี” ตามผลงานที่ได้ทำให้กับพรรค แต่เก้าอี้ที่พรรคพลังประชารัฐได้โควต้าไม่พอต่อก๊กมุ้งต่างๆ แต่ในทางการเมืองถือเป็นเรื่องธรรมชาติของพรรคขนาดใหญ่ รวมทั้งจุดอ่อนของ “สี่กุมาร” ที่เดินมาสายเทคโนแครต ทำให้การดูแลพรรคมีข้อจำกัด โดยเฉพาะทุนต่างๆ และไม่มี ส.ส.ในโอวาท ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่หลุดจากกรุ๊ปไลน์ ส.ส.ภาคกลาง ที่ระบายออกมา

หนึ่งในผู้ที่ไปผสมโรงด้วยก็คือ “สุชาติ ชมกลิ่น” ประธาน ส.ส.พรรคนั่นเอง

สุชาติ ชมกลิ่น

เกมนี้ว่ากันว่า “ต้องพ่ายไปข้างหนึ่ง” เลยทีเดียว ดังนั้น การเคลื่อนเกมของก๊กมุ้งต่างๆ ในพรรคจึงมีอย่างต่อเนื่อง มาพร้อมกับกระแสข่าวว่า “ก๊กสี่กุมาร” ถอยทัพไปตั้งพรรคใหม่ ชื่อ “พรรคสร้างไทย”

แต่ “อุตตม” ได้ออกมาระบุว่าไม่เป็นความจริง เป็นการปล่อยข่าว

ซึ่งงานนี้ “ก๊กสามมิตร” ถูกจับตาว่าจะเป็น “ตาอยู่” ในเกมนี้ด้วย จึงทำให้ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” แกนนำสามมิตร รูดซิปปากที่จะพูดเรื่องการเมือง โดยย้ำว่าไม่ใช่เวลา เพราะยังมีเรื่องโควิด-19 อยู่

ถือเป็นมหากาพย์ที่สะท้อนถึงการ “กระหายอำนาจ” ของบรรดานักการเมือง ผ่านมาเกือบ 1 เดือน ยังคงพายเรือวนอยู่ในอ่างกับเรื่องเหล่านี้

ในสถานการณ์เช่นนี้ “โหร-ซินแส” ที่สวมบทนักพยากรณ์การเมืองก็ออกมา “ทำนายดวง” ท่านผู้นำและรอบข้าง โดยเฉพาะ “3 ป.บูรพาพยัคฆ์” และ “อุตตม” เริ่มต้นจาก “โหร คมช.” หรือ “วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ” ได้ออกมาทำนายดวง “บิ๊กตู่” ว่า

“ดวง พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังต้องทำหน้าที่ต่อ แต่จะเหนื่อยหนักหน่อย ส่วนคนที่ยังไม่มีหน้าที่ ก็อย่าเพิ่งเลย เพราะถ้าออกมา ก็จะเสียหายมากกว่า ให้ผู้ที่มีหน้าที่ใด ทำหน้าที่เพื่อบ้านเมืองต่อ เพราะช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมและกันยายน จะมีเรื่องของภัยธรรมชาติ เราควรที่จะตั้งรับและสามัคคี สำหรับการทำงานของ 3 ป. ยังมีหน้าที่เดินไปด้วยกัน แต่ต้องมาคุยกัน จับมือกัน และอย่าไปฟังใคร”

จุดสำคัญของ “โหรวารินทร์” อยู่ที่เรื่อง “3 ป.บูรพาพยัคฆ์” ที่ต้องพูดคุยกันและอย่าไปฟังใคร มีคำถามเกิดขึ้นท่ามกลางมรสุมพรรคพลังประชารัฐว่า “2 ป.ประวิตร-ประยุทธ์” ได้พูดคุยกันหรือไม่ รวมทั้ง “บิ๊กตู่” รู้เห็นกับปฏิบัติการยึดพรรคคืนของ “บิ๊กป้อม” หรือไม่

แน่นอนว่าสายสัมพันธ์ของทั้ง “2 ป.” ที่ยาวนานกว่า 40 ปี ย่อมพูดคุยกันทุกเรื่อง แม้ว่า พล.อ.ประวิตรจะระบุว่า ไม่ได้คุยกับนายกฯ เรื่องนี้ มีแต่พูดคุยกันเรื่องงานเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมี “ซินแสเข่ง” ออกมาเปิดดวง “บิ๊กป้อม” พร้อมเทียบกับ “อุตตม” โดย “ชนม์ทรรศน์ ฤทัยผ่อง” ผู้อำนวยการสถาบันโหราศาสตร์พยากรณ์แห่งประเทศไทย วิเคราะห์ดวงการเมืองเดือนมิถุนายนนี้ จะมีความรุนแรงเข้มข้นมากขึ้น ถึงคราวนักการเมืองในรัฐบาลหลายคนดวงตก จะเกิดปัญหาความวุ่นวายรุมเร้าทางการเมือง ส่อถึงทางตัน ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐ เพื่อปลด “อุตตม” เพราะดวงชะตาขัดแย้ง ก่อให้เกิดความเป็นศัตรูจากบุคคลที่ไม่หวังดี

ประกอบกับดวงมีปัญหาความเป็นหัวหน้าพรรค ฉะนั้น เป้าหมายจึงเปลี่ยนไป

ซึ่งขณะนี้ดวงแรงหนุน พล.อ.ประวิตร ถือว่ามาแรงแซงโค้ง เป็นจังหวะที่จะต้องเข้ามาเล่นการเมืองเต็มรูปแบบและคุมพรรคเอง อีกทั้งการได้เข้ามานั่งในตำแหน่งหัวหน้าพรรค มีดวงที่จะปูทางที่จะก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงถึงนายกรัฐมนตรีต่อไป

ซินแสเข่งวิเคราะห์อีกว่า ด้วยความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ “อุตตม” ไม่สามารถเดินต่อไปได้ ประกอบกับโหงวเฮ้งไม่มีอำนาจบารมีในการบริหารพรรค และรอบอายุเดินอยู่ริมฝีปาก 60-61 ปี ไม่มั่นคงและดวงสิ้นสุดการเป็นหัวหน้าพรรค

ตามดวงชะตาแล้ว บุคคลที่จะได้มาตามแนวทางการเมืองก็จะต้องเป็น พล.อ.ประวิตร ซึ่งโหงวเฮ้งรอบอายุเดินอยู่ที่คาง อายุ 75-76 มีความมั่นคงในดวงชะตา มีความเป็นผู้นำ ที่จะสามารถเข้ามาบริหารบ้านเมืองไปได้

“ถึงแม้ช่วงจังหวะรอบอายุ พล.อ.ประวิตรจะอยู่ในเคราะห์ที่อาจจะไม่ได้ดั่งใจ แต่ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคให้ผ่านไปได้ ซึ่งเดิมเคยวิเคราะห์ดวงผู้นำประเทศคนต่อไป น่าจะเป็น “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. แต่ด้วยเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามสภาวการณ์ชุมนุมที่รุนแรง ตามความคาดหมายวิถีทางการเมือง จึงเบี่ยงเบนไปตามสถานการณ์แนวทางการเมือง”

ซินแสเข่งทิ้งท้าย

แน่นอนว่าปัญหาหนึ่งที่ พล.อ.ประวิตรทราบดีคือเรื่อง “สุขภาพ” ที่เป็นมานานหลายปี ตั้งแต่ยุค คสช. ที่ พล.อ.ประวิตรเรืองอำนาจจนได้ชื่อว่า “ป๋าคนใหม่” ก็ทำให้มีภารกิจงานและหน้าที่จำนวนมาก จน “นายทหารน้องรัก” ต่างเป็นห่วงสุขภาพ

แต่ด้วย “บารมี” ของ พล.อ.ประวิตรในขณะนั้นที่เปรียบเป็น “เสาค้ำ” รัฐบาลยุค คสช. และเป็นศูนย์รวมคอนเน็กชั่นจนมาสู่การสร้างพรรคพลังประชารัฐขึ้นมา

แต่เมื่อภารกิจส่ง พล.อ.ประยุทธ์รีเทิร์นเป็นนายกฯ อีกครั้งเรียบร้อย รวมทั้ง พล.อ.ประวิตรเหลือเพียงเก้าอี้รองนายกฯ และไม่ได้คุมกระทรวงกลาโหม และไม่ได้นั่งประธาน ก.ตร. คุมตำรวจเช่นเดิม เพื่อมาคุมพรรคเต็มตัว

จึงเชื่อว่าเวลานี้ พล.อ.ประวิตรจะได้ดูแลสุขภาพมากขึ้น

จึงอยู่ที่ “2 ป.ประวิตร-ประยุทธ์” จะตัดสินใจบนทางแพร่งนี้อย่างไร ระหว่าง “พ่ายกันไปข้าง” หรือ “ประนีประนอม” อีกทั้ง “สุขภาพนำการเมือง” หรือ “การเมืองนำสุขภาพ”

ทว่าอย่าได้ประมาทเขี้ยวเล็บ “นักการเมือง” แม้อาวุโสจะน้อยกว่าหรือเท่ากัน แต่วิทยายุทธ์เกมการเมืองใช่ย่อยและมีมากกว่า ซึ่งยากกว่าจัดแถวทหารในกองทัพ เพราะนักการเมืองยืนอยู่บนฐาน “จัดสรรผลประโยชน์” หากลงตัว ทุกอย่างก็จบ เพราะ “อำนาจ” นั้นหอมหวน

จิตใจมนุษย์ ยากแท้หยั่งถึง!!