วิเคราะห์ : “โควิด” กำลังทำให้ขยะพลาสติกพุ่งทะยาน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

โล่งไปอีกเปลาะกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เมื่อจำนวนคนติดเชื้อในบ้านเราลดน้อยลงเรื่อยๆ กลายเป็นเลขต่ำสิบ บางวันก็เป็นศูนย์ บางวันมีแค่ 3-4 ราย แต่รวมๆ การแพร่ระบาดของเชื้อมรณะต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

กระนั้นก็ยังประมาทกันไม่ได้ การคลายล็อก เปิดเมืองให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตด้วยวิถีใหม่คงต้องทำอย่างรอบคอบ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เพราะมีให้เห็นเป็นตัวอย่าง เปิดห้างวันแรก คนแห่ไปช้อปสนั่นหวั่นไหว มาตรการเว้นระยะห่างทางกายภาพใช้ไม่ได้ผล

ถ้าทำกิจกรรมรวมหมู่ หายใจรดใส่กันอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โอกาสเกิดการแพร่ระบาดอีกรอบ มีความเป็นไปได้สูง

 

อย่าลืมว่า ประเทศจีนต้นกำเนิดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทางการควบคุมอยู่จนการแพร่ระบาดลดลงอย่างมาก แต่สถานการณ์ยังไม่กลับสู่ระดับปกติ จำนวนคนติดเชื้อยังมีต่อเนื่อง

คนที่เคยติดเชื้อ แม้ได้รับการรักษาหายแล้ว กลับมาตรวจรอบ 2 ก็เจออีก อย่างเช่นกรณีทหารบนเรือบรรทุกเครื่องบิน “ธีโอดอร์ รูสเวลต์” ของสหรัฐ 8 นายติดเชื้อโควิด หมอสั่งให้กักตัวและรักษาจนไม่มีอาการป่วย เมื่อกลับเข้าประจำการ หมอตรวจอีกครั้งเจอเชื้อเป็นบวก

คุณหมอจงหนานซาง ที่ปรึกษาฝ่ายการแพทย์ระดับสูงของรัฐบาลจีน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นแสดงความกังวลว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เกิดขึ้นรอบที่ 2 เนื่องจากไม่รู้ว่า คนเคยป่วยและรักษาจนหายแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานรับมือกับเชื้อได้แค่ไหน

ถ้าภูมิต้านทานสามารถพัฒนาจนสู้กับเชื้อได้อยู่หมัดก็หมดห่วง แต่หากภูมิต้านทานเอาไม่อยู่ คนที่เคยป่วยแล้วหายจะกลับมาป่วยรอบใหม่

นอกจากกรณีกะลาสีเรือธีโอดอร์ รูสเวลต์แล้ว ยังมีเหตุการณ์คล้ายคลึงกันเกิดจากคนติดเชื้อเข้าเที่ยวในบาร์กลางกรุงโซล เกาหลีใต้ แล้วแพร่เชื้ออีกระลอก เพียงวันเดียวมีคนติดเชื้อเป็นร้อย

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จึงเป็นประเด็นสำคัญของรัฐบาลทั่วโลกที่จะต้องเอามาชั่งน้ำหนักว่า การแพทย์นำประเทศ เศรษฐกิจ สังคมมาทีหลัง

บางประเทศเชื่อว่า คนป่วย ตายเพราะโควิดต้องลดลงก่อนจึงจะเปิดประเทศ เปิดร้านค้าให้คนทำกิจกรรมได้ตามวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal

ในหลายๆ ประเทศ แม้คนติดเชื้อเพิ่มขึ้น คนตายยังไม่ลดเท่าไหร่ แต่ต้องปลดล็อกเมืองเปิดตลาด ผลักเศรษฐกิจเดินไปข้างหน้า คลายแรงตึงเครียดทางสังคม

“โควิด-19” เป็นตัวกำหนดระเบียบโลกใหม่ได้อย่างน่าทึ่งจริงๆ

 

ระเบียบโลกใหม่เปลี่ยนไปเพราะโควิดนี้ ไม่ใช่แค่การแพทย์สาธารณสุข การเมือง เศรษฐกิจหรือสังคมเท่านั้น หากมีผลต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

เมื่อทุกประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ปิดเมือง ควบคุมการเดินทางไปมาหาสู่ ผู้คนจำนวนมากพากันสั่งอาหารของกินของใช้ผ่านระบบออนไลน์ ปริมาณการใช้พลาสติก โฟมในการห่อหุ้มใส่อาหารเพิ่มขึ้นกระฉูดทั่วโลก

ระเบียบโลกที่ว่าด้วยการลดปริมาณพลาสติกและโฟม เพื่อลดปริมาณขยะเหล่านี้ เปลี่ยนไปเพราะโควิด

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาขยะหลายประเภทเพิ่มขึ้น มีแหล่งกำเนิดมาจาก 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มขยะจากการส่งอาหารออนไลน์ ผลจากมาตรการควบคุมโรค ทำให้ประชาชนอยู่บ้าน เลี่ยงการเดินทาง และไปจับจ่ายสินค้าตามตลาดนัด ประชาชนใช้วิธีสั่งอาหารให้พนักงานมาส่งที่บ้าน แทนการนั่งกินที่ร้าน

ทำให้ปริมาณขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น 15-20% ประกอบด้วยถุงพลาสติก กล่องพลาสติก และพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นช้อน ส้อม ไม้จิ้ม

ปริมาณขยะเศษอาหารหรือขยะเปียกถูกทิ้งปะปนมากับขยะทั่วไปมีเพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่เศษอาหารเดลิเวอรี่ ยังมีการปรุงอาหารที่บ้านด้วย

ที่เป็นปัญหามากคือขยะกลุ่มหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ถุงมือทางการแพทย์ ถือเป็นขยะติดเชื้อ เดิมขยะอันตรายเกิดในโรงพยาบาล ปกติขยะกลุ่มนี้โรงพยาบาลจะส่งไปทำลายที่เตาเผาอุณหภูมิสูงที่มีมาตรฐาน

แต่ในช่วง 2-3 เดือนมานี้ ประชาชนใช้หน้ากากทุกวัน ทิ้งทุกวัน ถือเป็นขยะติดเชื้อเช่นกัน

“ถ้าคนไทยทั้งประเทศ 70 ล้านคน ใช้หน้ากากอนามัยประมาณ 40 ล้านคน สร้างขยะเฉลี่ย 20 ล้านชิ้นต่อวัน เพราะบางคนอาจใช้ซ้ำ ขยะหน้ากากที่ผ่านการใช้งานแล้ว ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง สิ่งสกปรกต่างๆ หรือแม้กระทั่งมีเชื้อโควิด-19 ต้องทิ้งอย่างระมัดระวัง”

ดร.วิจารย์ให้ความเห็น

 

ดร.วิจารย์ยังบอกอีกว่า ไม่เห็นด้วยที่มีข้อแนะนำให้พับหน้ากากก่อนทิ้ง เพราะเป็นการสัมผัสกับเชื้อโรค ทุกวันนี้ทิ้งปนกับขยะธรรมดา สร้างปัญหากับพนักงานเก็บขยะ กลุ่มคนเหล่านี้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค และอาจกลายเป็นคนแพร่กระจายเชื้อโรคในวงกว้าง หากไม่ดูแลจะสร้างผลกระทบตามมา

ที่ฮ่องกงก็เกิดปัญหา หน้ากาก ถุงมือทิ้งเกลื่อนกลาด บางส่วนไปโผล่ในทะเล หน้ากากเหล่านี้ย่อยสลายยาก ก่อปัญหาระบบนิเวศ ทุกวันนี้ยังไม่มีระบบรองรับกับขยะพวกนี้

ที่สหรัฐ ในบางรัฐ เช่น อิลลินอยส์ ประกาศยกเลิกมาตรการใช้ถุงช้อปปิ้งที่สามารถรีไซเคิลชั่วคราว เพราะเกรงจะเป็นถุงติดเชื้อ ต้องใช้ถุงใหม่

บางรัฐยกเลิกมาตรการใช้ถุงผ้าชั่วคราว เพราะเกรงคนถือถุงผ้าแพร่เชื้อในที่สาธารณะแม้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันถุงผ้าจะเป็นตัวแพร่เชื้อ แต่ผู้บริหารเมืองมีอาการหวาดผวาเชื้อระบาด

ฝ่ายอุตสาหกรรมพลาสติกในสหรัฐฉวยจังหวะนี้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายห้ามใช้ถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว อ้างว่าถุงพลาสติกใหม่ปลอดเชื้อและป้องกันการแพร่ระบาดโรค

ขณะที่ร้านขายอาหารบางแห่งยังให้ผู้ซื้อใช้ถุงของตัวเองได้ แต่ผู้บริโภคต้องนำอาหารใส่ถุงเอง พนักงานจะได้ไม่ต้องสัมผัสกับถุงของลูกค้า หลายแห่งห้ามใช้ถุงแบบใช้ซ้ำเลย

“โควิด-19” เป็นปัจจัยสำคัญในการรื้อกระบวนการจัดระเบียบสิ่งแวดล้อมใหม่ เพราะพลาสติกที่เคยเป็นผู้ร้ายในสายตาของนักสิ่งแวดล้อม ได้แปรเปลี่ยนกลายเป็นพระเอกตัวช่วยสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์และคนทั้งโลกไปแล้ว