นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ประชาชนในรัฐนาฏกรรม (1)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

งานศึกษาบาหลีของ Clifford Geertz (Negara, The Theatre State in Nineteenth-Century Bali) ทำให้นักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างถือว่ารัฐนาฏกรรมเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของรัฐในสมัยจารีตของภูมิภาคนี้

ผมแปล Theatre State หรือ Theartrical State ว่ารัฐนาฏกรรม ทั้งๆ ที่รู้ว่า Theatre คือการแสดงที่อาจไม่มีการร่ายรำอยู่ด้วยก็ได้ แต่การแสดงแบบไทยโบราณเกือบทั้งหมด แยกไม่ออกจากการร่ายรำ แปลว่ารัฐนาฏกรรมจึงฟังดูเป็นศัพท์เฉพาะที่ไม่ได้มีความหมายอย่างที่ผู้อ่านอาจนึกเอาเองได้

อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักมานุษยวิทยา Geertz อธิบายความเป็นรัฐนาฏกรรมของบาหลีด้วยการวิเคราะห์ระบบสัญลักษณ์ของบาหลีอย่างละเอียดว่า การแสดงของรัฐทำให้เกิด “โลกภายนอก” (Buwana Agung) ที่มนุษย์เราสัมผัสได้ เพื่อจะให้มีผลกระทบต่อ “โลกภายใน” (Buwana Alit) หรือโลกแห่งการรับรู้และรู้สึกของประชาชนอย่างไร

นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาก็มักอธิบายความเป็นรัฐนาฏกรรมตามแนวนี้สืบมา โดยไม่ทันได้คิดอะไร

ตัวผมเองก็ทำอย่างเดียวกัน

จนวันหนึ่งเพื่อนที่เรียนมาทางวิทยาศาสตร์ได้อ่านบทความของผมแล้วถามว่า ที่ประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาคนี้ ทำรัฐพิธีหรือราชพิธีต่างๆ อยู่ในทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นนาฏกรรมเพื่อสร้าง “โลกภายใน”ของประชาชนเหมือนกันหรอกหรือ ถ้าอย่างนั้นทุกรัฐก็เป็นรัฐนาฏกรรมทั้งนั้น

ผมก็งงล่ะสิครับ ทุกวันเฉลิมฯ (อย่างเป็นทางการ) ของพระราชินีอังกฤษ จะเสด็จออกตรวจพลสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ซึ่งสวมเครื่องแบบหรูหรา เป็นพิธีใหญ่ทุกปี นี่ก็การแสดงชัดๆ แม้แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติก็พากันไปชมคับคั่ง น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ “โลกภายใน” ของคนอังกฤษมีกษัตริย์เป็นหลักอยู่ด้วย

ประธานาธิบดีสหรัฐต้องไปรายงานสถานการณ์บ้านเมืองแก่รัฐสภาทุกปี ที่จริงเขียนแล้วส่งไปให้อ่านเองก็ได้ แต่มันเป็นรัฐพิธีที่ต้องไปอ่านต่อหน้ารัฐสภา นี่ก็การแสดงเหมือนกัน เพื่อทำให้ “โลกภายใน” ของพลเมืองอเมริกันรับรู้และรู้สึกว่า อำนาจของประธานาธิบดีนั้นไม่ใช่อำนาจสูงสุด (พูดภาษาไทยแบบเฉโกก็คือรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งที่ไหนๆ ก็เป็นของประชาชนทั้งนั้น) แต่ยังต้องรับผิดต่อรัฐสภาด้วย

ผมใช้เวลาคิดอยู่นานเพื่อจะอธิบายรัฐนาฏกรรมว่าเป็นคุณลักษณะเฉพาะของรัฐบางชนิดเท่านั้นอย่างไร ในที่สุดก็เข้าใจว่าได้พบคำตอบที่น่าพอใจแล้ว นั่นคือความเป็นรัฐนาฏกรรมไม่ได้ดูแต่ที่นาฏกรรมของรัฐเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญพอๆ กันก็คือบทบาทของประชาชนในนาฏกรรมด้วย จะเป็นหรือไม่เป็นรัฐนาฏกรรม อยู่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงหรือไม่อย่างไร

ผมจะใช้รัฐไทยเป็นพื้นที่ของการอธิบาย เพราะผมพอรู้บ้าง และผู้อ่านก็พอรู้บ้าง จึงง่ายที่จะทำความเข้าใจ

ดังที่ Geertz ได้ชี้ไว้แล้วว่า นาฏกรรมของรัฐนั้นไม่มีเวทีเฉพาะ แต่รัฐทั้งรัฐนั่นแหละคือโรงละคร (ดังนั้น นัยยะของเขาก็คงหมายถึงบทบาทของประชาชนอยู่แล้วก็ได้) ศูนย์กลางการแสดงอาจมีบริเวณอยู่จำกัด เช่น งานพระเมรุ ก็ที่ทุ่งพระเมรุ พิธีคเชนทรัศวสนาน ก็ตรงหน้าพระลาน ฯลฯ แต่นาฏกรรมไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในบริเวณนั้น หากขยายไปทั่วพระราชอาณาจักร

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ในเมืองหลวงทำในพระบรมมหาราชวัง ที่วิหารพระเจ้าอู่ทอง (ในวัดพระศรีสรรเพชญ์?) ต่อมาย้ายมาทำที่พระอุโบสถวัดพระแก้ว แต่ในวันเดียวกัน ก็ทำพิธีนี้ในหัวเมืองทั่วประเทศตามอารามสำคัญของเมือง การแสดงเรื่อง “ถือน้ำ” จึงเป็นโปรแกรมใหญ่ที่ประชาชนได้มุงดูทั่วประเทศ

แต่ไม่ได้มุงดูเฉยๆ ขุนนางแม้แต่ชั้นผู้น้อยหางแถว หรือขุนนางชั้นประทวนที่ขุนนางเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นเอง ต่างก็ต้องแต่ง “เต็มยศ” หากได้รับพระราชทานเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายใดๆ มา ก็ต้องนำมาแต่งถวายให้เต็มที่ เดินกันมาหรือนั่งเสลี่ยงคานหามกันมาให้ประชาชนในเมืองได้เห็น ที่ใหญ่หน่อยก็ต้องนั่งคู้เข่ายกมือไหว้ และหลีกทางให้ขบวนได้ผ่านไปโดยสะดวก คงมีบ่าวไพร่ขุนนางอีกไม่น้อยที่ต้องวิ่งวุ่นเตรียมงานให้เจ้านาย

สรุปก็คือมีคนร่วมอยู่ในการแสดงจำนวนมากที่ได้ “เข้าฉาก”

 

บทบาทของประชาชนในรัฐนาฏกรรมไม่แตกต่างอะไรจากบทบาทของผู้ชมในการแสดงตามประเพณีของภูมิภาคอุษาคเนย์ ไม่ว่าจะเป็นหนังตะลุง, ลิเก, โขน, วาหยังปุรวา, จ๊อยซอ, หรือหมอลำ ฯลฯ

ในการแสดงแบบนั้น เขาไม่แบ่งพื้นที่การแสดงกับพื้นที่ชมการแสดงออกจากกัน ในสมัยโบราณ ทั้งสองส่วนนี้แทบไม่มีระดับที่ต่างกันดังเช่น “เวที” ซึ่งเป็นอิทธิพลจากตะวันตกในระยะหลัง แต่แม้เมื่อใช้ “เวที” แล้ว จุดมุ่งหมายของ “เวที” ก็ยังเป็นเพียงทำให้เห็นได้ถนัดขึ้นมากกว่าการแบ่งพื้นที่ระหว่างการแสดงและการชม

การแสดงแต่ละตอนมีความยาวมาก มักจะข้ามคืนหรือหลายคืน เรื่องที่นำมาใช้แสดงก็เป็นเรื่องที่ผู้ชมรู้ดีอยู่แล้ว แม้แต่เครื่องแต่งกายและพร็อพก็มักเป็นมาตรฐานที่ผู้ชมคุ้นเคยอยู่แล้ว เมื่อผู้แสดงปรากฏตัวขึ้น ทุกคนก็รู้ทันทีว่าคือตัวละครตัวไหน เขาไม่ได้ต้องการดูเรื่องหรือดูฉาก แต่เขาต้องการดู “บทบาท” ของผู้แสดง เช่น การรำ การเจรจา การด้นกลอน ฟังดนตรีประกอบ ฯลฯ ส่วนเล็กๆ ของการแสดงที่เขาสนใจ

ดังนั้น บทบาทของผู้ชมในการแสดงก็คือ สนใจดูเฉพาะส่วนนั้น และใช้เวลาเป็นอิสระของตนเองในส่วนที่ไม่สนใจ เด็กอาจวิ่งเล่น รอฉากรบกัน ผู้ใหญ่อาจคุยกัน หนุ่มสาวถือโอกาสจีบกัน ในภายหลังเมื่อมีของขายในมหรสพ ก็อาจซื้ออ้อยควั่น ข้าวโพดคั่ว ฯลฯ มาแบ่งกันกินด้วย ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดง เมื่อผู้คนพากันแต่งตัว และหอบเสื่อไปชมการแสดง เขาไม่ได้หวังจะได้ชมแต่ผู้แสดง แต่หวังว่าจะเข้าไป “ร่วม” ในมหกรรมทั้งหมด ซึ่งมีตัวเขา, เพื่อนบ้าน และคนแปลกหน้าร่วมอยู่ในการแสดงด้วย

แน่นอน ผู้ชมการแสดงในอุษาคเนย์ส่งเสียงเชียร์พระเอก ตะโกนด่าผู้ร้ายด้วย และบางครั้งยังตอบโต้กับตัวตลก เขาคือผู้แสดง, ผู้กำกับเวที, ผู้กำกับการแสดง, ผู้บอกบท, ฯลฯ ไปพร้อมกัน

ภาพข้าราชบริพารกำลังเตรียมงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในภาพจะเห็นการไว้ทุกข์ตามโบราณราชประเพณีที่โกนผมนุ่งขาวห่มขาวทั้งพระนคร จิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ

การแสดงทั้งหมดเหล่านี้คือการปรากฏขึ้นของ “โลกภายนอก” เพื่อจะส่งสารมาสู่ “โลกภายใน” ของผู้คน เนื้อหาของสารดังกล่าวก็คือความแปรผันไม่แน่นอนของชีวิต แต่ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม ดังนั้น แม้ว่าชีวิตจะผันแปร แต่ในที่สุดแล้วก็จะย้อนกลับมาสู่สภาวะเดิมเมื่อเริ่มต้น คือกลับคืนสู่ระเบียบทางสังคมอย่างเก่า ผู้คนต่างศักดิ์และบารมีมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นต่อกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง

(ทั้งหมดนี้นำความคิดมาจากครูของผมคืออาจารย์ Anton P. Becker ผู้เขียนบทความ “Journey through the night,” ซึ่งผมเคยแปลไว้แล้วในชื่อ “เดินข้ามคืน” และลงพิมพ์ที่ไหนสักแห่งลืมไปแล้ว)

สารของนาฏกรรมของรัฐอาจไม่ต้องการเล่าถึงความผันแปรของชีวิต แต่ก็ตอกย้ำระเบียบของสังคมตามอุดมคติ คือลำดับศักดิ์และบารมีของผู้คนที่ไม่เท่าเทียมกัน และความสัมพันธ์ที่ต้องเคารพต่อความต่างศักดิ์และบารมีดังกล่าว เพราะนี่คือกฎระเบียบอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะช่วยให้สังคมดำรงอยู่อย่างสงบสุขได้

นาฏกรรมที่รัฐจัดแสดงแต่ละชุดอาจมีเนื้อเรื่องต่างกัน แต่สารที่ต้องการตอกย้ำข้าราษฎรก็สารอันเดิม หรือสัมพันธ์กับอันเดิม แต่ดังที่กล่าวแล้วว่ารัฐพิธีหรือราชพิธีของรัฐสมัยใหม่อื่นๆ ในปัจจุบันก็ตอกย้ำสารไม่กี่อย่างให้แก่ประชาชนเหมือนกัน แต่ความแตกต่างที่สำคัญจากรัฐนาฏกรรม อยู่ที่ว่าประชาชนหรือข้าราษฎรต้องมีส่วนร่วมแสดงในนาฏกรรมด้วย

พิธีหลวงหรือนาฏกรรมของหลวงในรัฐไทยโบราณ จึงไม่ใช่เรื่องของคนหลวง คือขุนนางในกรมกองต่างๆ เท่านั้น แต่ราษฎรก็ต้องเข้าไปร่วมแสดงด้วย

งานออกพระเมรุ ไม่ใช่เรื่องของการแห่พระบรมศพหรือพระศพออกสู่ทุ่งพระเมรุของขุนนางเท่านั้น ราษฎรมีบทบาทตั้งแต่วันแรกที่เสด็จสวรรคตคือต้องโกนหัวหมดทุกคน หากเป็นการสิ้นพระชนม์ของเจ้านาย ข้าไพร่ในสังกัดก็ต้องโกนหัวทุกคน

งานพระเมรุไม่ได้ทำกันเฉพาะในหมู่พระประยูรญาติและข้าทูลละอองฯ เท่านั้น แต่จัดเป็น “มหรสพ” ยิ่งใหญ่ มีการแสดงและการละเล่นที่หาดูได้ยากหลายอย่าง ท่ามกลางแสงไฟที่จุดกันขึ้นอย่างสว่างไสว รวมทั้งมีการโปรยทาน ดึงดูดให้ราษฎรในเมืองหลวงเข้ามาร่วมในนาฏกรรมนั้นกันแทบทุกครัวเรือน

บทบาทของราษฎรในการส่งเสด็จสู่สวรรค์ แตกต่างจากบทบาทของราษฎรในการส่งเสด็จ-รับเสด็จ เมื่อประทับอยู่บนโลกและเสด็จออกนอกพระราชวัง นั่นคือขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและชลมารค มีตำรากำหนดไว้อย่างละเอียดว่าจะต้องจัดขบวนอย่างไร และใครต้องแต่งตัวอย่างไร และทำอะไร เป็นพิธีกรรมหรือนาฏกรรมใหญ่

ความสำคัญของขบวนพยุหยาตราไม่ได้แสดงออกด้วยตำราที่สอบค้นและเขียนขึ้นอย่างเดียว ยังรวมถึงการนำเอาไปเขียนเป็นจิตรกรรมบนฝาผนังพระอุโบสถวัดพระแก้วด้วย เพราะนี่คือการปรากฎพระองค์ของ “พระเป็นเจ้า” บนโลกมนุษย์

สมัยหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ที่อยุธยา มีการจัดแสดงขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีหุ่นราษฎรแหวกใบจากฝาเรือนแอบชมขบวนผ่านหน้าบ้านไป ผมชอบมุมนี้มาก เพราะในสมัยอยุธยา หากราษฎรอยากชมขบวนพยุหยาตราก็ต้องทำอย่างนี้ ราษฎรตามเส้นทางที่ขบวนเสด็จจะผ่าน ถูกบังคับให้เข้าบ้านเรือนแล้วปิดประตูหน้าต่างให้หมด

มักอธิบายกันว่าเพื่อความปลอดภัยขององค์พระมหากษัตริย์ หรือเพื่อมิให้มีการกีดขวางขบวนพยุหยาตรา อาจจะใช่หรือไม่ใช่ ผมไม่ทราบ แต่หากมองจากรัฐนาฏกรรม นี่คือบทบาทที่ควรเป็นของคนธรรมดาสามัญ ซึ่งไม่อาจมอง “พระเป็นเจ้า” ตรงๆ ได้ เพราะมีอันตรายอย่างใหญ่ อาจมอดไหม้เป็นจุณไปในบัดดล หรืออาจถึงเสียชีวิต

พระนารายณ์อวตารลงมาดับยุคเข็ญในโลกมนุษย์ในรูปต่างๆ มาหลายครั้ง ต่อเมื่อจะสังหารทรชนคนพาลในฉากสุดท้ายนั่นแหละ จึงปรากฏพระองค์เป็นนารายณ์สี่กร การเห็นพระเป็นเจ้าด้วยตาจึงไม่ใช่เรื่องที่ใครๆ พึงทำได้

นาฏกรรมเรื่องขบวนพยุหยาตรา ส่งสารความเป็นพระเจ้าของพระมหากษัตริย์แก่ราษฎรทั่วไป

ชาวบ้านแต่งขาวขึ้นขวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวบนพระเมรุมาศ

ราษฎรที่พากันหลบภัยเข้าเรือนปิดประตูหน้าต่างเป็นบทบาทในนาฏกรรมที่ต้องแสดง และผมออกจะสงสัยว่าสมัครใจจะแสดงด้วย ในสมัย ร.4 โปรดให้เลิกข้อบังคับนี้ อนุญาตให้ราษฎรหมอบกราบรับเสด็จตามท้องถนนได้ ปรากฏว่าราษฎรก้มหน้าลงมองพื้นดิน ไม่กล้าเงยขึ้นมองพระเจ้าแผ่นดินอยู่นั่นเอง

คำบอกเล่าของคนที่เคยดูละครที่ ร.6 ทรงแสดงเอง เพื่อเก็บเงินบำรุงการกุศลหรือซื้อเรือรบ ต่างให้การตรงกันว่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าฉาก ไม่มีใครกล้าเงยหน้าขึ้นดูละคร

เป็นบทบาทที่ซึมลึกเข้าไปในจิตใจของนักแสดงด้วย

ส่วนการเสด็จปลอมพระองค์ของกษัตริย์บางพระองค์ เช่น พระเจ้าเสือหรือการเสด็จประพาสต้นนั้น คือภาคอวตารของพระเป็นเจ้า แตกต่างจากเมื่อประทับในขบวนพยุหยาตราซึ่งเป็นพระเป็นเจ้าเอง ไม่ใช่ปางอวตาร

ในสมัย ร.4 เมื่อเปลี่ยนธรรมเนียมการเสด็จโดยโปรดให้ราษฎรเข้าเฝ้าฯ ได้ แต่ธรรมเนียมใหม่นี้ก็ไม่ได้ขับให้ราษฎรลงจากเวทีการแสดง เพราะในคำประกาศได้แนะนำราษฎรให้ตั้งโต๊ะหมู่บูชาตามเส้นทาง และหมอบรอรับเสด็จ (หากเป็นปัจจุบันคือส่งเสียงทรงพระเจริญนั่นเอง) ไม่ใช่ลงจากเวทีการแสดง แล้วกลายเป็นผู้ชมเฉยๆ อย่างนักดูบัลเล่ต์ นี่เป็นบทบาทใหม่ของราษฎรในรัฐนาฏกรรม

ในงานพระราชพิธีที่เป็นส่วนพระองค์ เช่น โสกันต์เจ้านาย หรือเจ้านายทรงผนวช แม้มีหมายรับสั่งกำหนดหน้าที่และบทบาทของข้าทูลละอองฯ ไว้จำนวนหนึ่งแล้ว ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าขุนนางอื่นๆ ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่ในหมายรับสั่ง ก็ต้องมาร่วมในงานพระราชพิธีด้วย

บทบาทที่ไม่มี “บท” กำกับไว้ของขุนนางทั่วไปนั้นมีความสำคัญ เพราะจะทำให้นาฏกรรมนั้นบรรลุ “สาร” ที่ต้องการสื่อหรือไม่ การเข้าฉากหรือไม่เข้าฉากของขุนนาง โดยเฉพาะขุนนางชั้นผู้ใหญ่อาจเปลี่ยน “สาร” สำคัญของนาฏกรรมไปเลย

ในสมัย ร.4 พระราชอำนาจลดลงไปเป็นอันมาก ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตกไปอยู่ในมือขุนนางมากกว่าท้องพระคลัง ปรากฏว่า ในงานโสกันต์เจ้านายครั้ง ร.4 ขุนนางชั้นผู้ใหญ่มักไม่ค่อยมาร่วมด้วย ทำให้เห็นได้ชัดว่า พระมหากษัตริย์มิได้เป็นจุดศูนย์กลาง หรือจุดสุดยอดของระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ซึ่งครอบงำสังคมไทยทั้งหมด สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์จึงสั่นสะเทือนอย่างมาก

ผมยกเรื่องนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า นาฏกรรมของรัฐนั้นไม่ใช่ความสง่างาม มีสีสันและมโหฬารเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยผดุงระเบียบทางสังคมให้ “ดู” เป็นจริงไว้ด้วย

ไม่เฉพาะแต่พระราชพิธีส่วนพระองค์เท่านั้น แต่พระราชพิธีที่เป็นของรัฐซึ่งเรียกกันว่าพระราชพิธีสิบสองเดือน ก็ล้วนไม่ใช่นาฏกรรมที่มีเฉพาะผู้ถูกกำหนดตาม “ตำรา” ให้มีบทบาทเท่านั้น แต่ “คนนอก” ทั้งหลาย ก็มีบทบาทที่คาดหวังเอาไว้เช่นกัน นับตั้งแต่ร่วมชมมหรสพที่หลวงจัดขึ้น เข้าไปแย่งลูกมะนาวยัดเงินที่ทรงโปรยทาน พระสงฆ์ลั่นฆ้องกลอง ชมการแข่งเรือที่เป็นตัวแทนของพระเจ้าแผ่นดินและของพระมเหสี อีกทั้งผลของการแข่งเรือก็มีต่อน้ำท่า กระทบต่อชีวิตจริงของผู้คน ฯลฯ

ถ้ามองทั้งหมดเหล่านี้เป็นพิธีกรรม ก็มีแต่บทบาทของฝ่ายรัฐ ราษฎรเป็นแต่เพียงผู้ชม แต่หากมองเป็นนาฏกรรม ก็จะเห็นบทบาทของราษฎรอยู่ในนั้นเต็มไปหมด ซึ่งต้องเข้าฉากไปพร้อมกับการแต่งกาย (เช่น โกนหัวหรือนุ่งผ้าเหน็บชายกระเบน ไม่นุ่งหยักรั้ง) หลบเข้าบ้านปิดประตูหน้าต่าง เอะอะมะเทิ่ง สนุกสนาน ฯลฯ