ภูมิธรรม เวชยชัย : ความพร้อม “ฝ่ายค้าน” ถลก พ.ร.ก.เงินกู้ ขยี้งบฯ รับมือมหาภัยโควิด

อีกไม่ถึงอาทิตย์ สภาผู้แทนราษฎรจะกลับมาเปิดประชุมสมัยสามัญ

ซึ่งการเปิดประชุมสภารอบนี้ จะมาพร้อมกับการสะท้อนปัญหาร้อยแปดพันประการของรัฐบาล ต่อการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 โดย 6 พรรคฝ่ายค้านเก็บข้อมูลไว้แน่น และเรื่องที่จะเข้าสู่ที่ประชุมสภาก่อนเป็นเรื่องแรก หนีไม่พ้นเรื่องพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ที่ฝ่ายค้านพยายามเดินเรื่องขอเปิดประชุมวิสามัญล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนหน้านี้มาเป็นเดือน แต่ยังไม่มีโอกาส

ฝ่ายค้านจึงนับวันรอสภาเปิดเพื่อจะได้ชำแหละ พ.ร.ก.กู้เงินนี้มาตลอด

โดยมีผู้ประสงค์จะอภิปรายรัฐบาลรวมๆ แล้วกว่า 100 คน สุดท้ายคงต้องคัดผู้อภิปรายแบบเนื้อๆ เน้นๆ


สําหรับกรอบในการอภิปรายของฝ่ายค้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรบอกว่า มีข้อสรุปว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท) นั้น เงินจะถูกนำมาใช้ 3 ด้าน คือ

1. จำนวน 45,000 ล้านบาท นำมาใช้เพื่อบุคลากรทางการแพทย์และเพื่ออุปกรณ์ด้านสาธารณสุข รัฐบาลต้องสามารถตอบคำถามให้ได้ว่า งบฯ ก้อนนี้มีรายละเอียดการใช้จ่ายอย่างไร นอกจากนี้ ควรกระจายงบประมาณสู่เครือข่าย อสม. ซึ่งถือเป็นฮีโร่ตัวจริงกับการหยุดการระบาดด้วย

2. เงินจำนวน 555,000 ล้านบาท ที่ใช้ในการช่วยเหลือ เยียวยาประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ ซึ่งมีปัญหาในเชิงปฏิบัติที่ไม่ครอบคลุม ไม่ทั่วถึง

และ 3. เงินจำนวน 400,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบฯ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า มีการแบ่งตามกระทรวงต่างๆ ไว้หมดแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เข้าสภา

ดังนั้น ต้องระวังไม่ให้มีการใช้เงินจำนวนนี้ไปแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะเสมือนเป็นการตีเช็คเปล่า

นอกจากนี้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ยังให้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเป็นคนรับผิดชอบ ซึ่งเราคิดว่าควรให้นายกฯ เป็นคนรับผิดชอบหากมีอะไรเกิดขึ้น รวมถึงคณะกรรมการจำนวน 10 คนที่เขาจะตั้งขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ก็เป็นข้าราชการประจำ 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีตั้งอีก 5 คน ซึ่งไม่ได้กำหนดคุณสมบัติ สามารถตั้งใครก็ได้ มีอำนาจหน้าที่ใช้เงิน 1 ล้านล้านที่เป็นภาษีอากรของประชาชน โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไข ข้อห้ามเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไว้

ฝ่ายค้านจึงจะเสนอตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้นมาตรวจสอบการใช้งบประมาณครั้งนี้

เพราะเราเห็นว่า ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนจะรับทราบความต้องการของประชาชนได้ตรงจุดกว่า และการตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิควรมาจากหลายๆ สาขาวิชาชีพที่กว้างขวางที่สุด

ส่วน พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 เราเห็นว่าความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณอันนี้ก็มีเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคนี้

แต่เราไม่สบายใจเนื่องจากมีข่าวลือว่าเงินก้อนนี้ได้ถูกนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มบางกลุ่ม SME ที่ได้ประโยชน์จากตรงนี้เป็นระดับกลางค่อนไปทางใหญ่เกือบทั้งหมด เพราะดุลพินิจของการปล่อยกู้อยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ ที่มีแนวโน้มปล่อยให้ลูกค้าเดิมที่แข็งแรงอยู่แล้ว เพราะไม่ต้องการความเสี่ยงเพิ่ม

ทำให้ลูกค้าที่แข็งแรง SMEs ที่ประสบปัญหา ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็ยังคงเข้าไม่ถึงสินเชื่อเหมือนเดิม

ขณะที่ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 โดยหลักการเราเห็นว่าแบงก์ชาติไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวตรงนี้โดยตรง แต่ควรเป็นการปล่อยผ่านสถาบันการเงิน

พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ ฝ่ายค้านต้องการคำชี้แจงให้ชัดเจน เพราะเงินก้อนนี้เป็นเงินก้อนใหญ่ที่ไม่มีแผนปฏิบัติการอะไรต่างๆ ให้รับรู้ เราจึงอยากเห็นแผนการใช้เงินที่ดี และมีกระบวนการเข้ามาติดตามตรวจสอบการใช้เงิน ให้ทุกบาททุกสตางค์ไม่รั่วไหล รวมไปถึง พ.ร.บ.โอนย้ายงบประมาณ ฝ่ายค้านก็ต้องการความชัดเจนว่า โอนย้ายงบฯ ไปเท่าไหร่ โอนย้ายไปที่ไหนบ้าง และมีเหตุผลอะไรในการโอนย้ายงบฯ เรื่องนี้ยังไม่เกิดความชัดเจนเท่าไหร่

ฝ่ายค้านเราอยากรู้รายละเอียดและแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจน ไม่ต้องการให้เกิดการตีเช็คเปล่า โดยหลักเราวางกรอบกันเอาไว้แบบนี้

ส่วนกรอบเวลาที่จะใช้อภิปราย พ.ร.ก.กู้เงินเหล่านี้ ฝ่ายค้านขอไว้ประมาณ 10 วัน แต่ทางรัฐบาลบี้เหลือเพียง 3 วันเท่านั้น ทำให้แกนนำฟากฝ่ายค้านหลายคนเปิดหน้าออกข่าวแย้งว่า 3 วันมันไม่พอ เพราะไหนจะติดเคอร์ฟิวรัฐบาลที่ไม่ยอมยกเลิก ทำให้วันหนึ่งอภิปรายได้มากสุดไม่น่าจะเกิน 10 ชั่วโมง ไหนจะติดประท้วง ไหนจะต้องแบ่งเวลาคนละครึ่งกับรัฐบาลอีก เวลา 3 วัน เหลือเวลาการอภิปรายไม่กี่ชั่วโมง เมื่อเทียบกับข้อกังขาและปริมาณเนื้อหาที่ต้องการอภิปราย ยังไงก็ไม่มีทางพอ

และที่ร้ายไปกว่านั้นคือ เวลาที่บีบขนาดนี้อาจทำให้ไม่สามารถชำแหละ พ.ร.ก.เงินกู้ที่มีจำนวนสูงมากขนาดนี้ได้ครบถ้วนครอบคลุมด้วย

พอแย็บถามว่า เรื่องนี้จะนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยเลยไหม ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านบอก ยังไม่ได้พูดคุยกันไปถึงประเด็นนั้น วันนี้เอาเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณก่อน และฝ่ายค้านก็อยากฟังคำชี้แจงจากรัฐบาลให้ชัดเจนก่อนที่จะไปถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อวางเป็นแนวทางในการอภิปรายต่อไปได้ แต่ไม่ใช่ว่าฝ่ายค้านตั้งเป้าว่าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจจากเรื่องนี้

นี่คือทีท่าของฝ่ายค้านต่อการประเดิมเปิดประชุมสภาในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้