ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | เรียนออนไลน์ : อีกครั้งที่รัฐปรับตัวล้มเหลวยุคหลังโควิด-19

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

สองเดือนของการแก้ปัญหาโควิด-19 ผ่านไปพร้อมการสดุดีตัวเองของรัฐบาลและผู้มีอำนาจใน ศบค. แต่นอกทำเนียบรัฐบาลอันเป็นที่รวมกันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และข้าราชการที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งให้เป็นใหญ่ เสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและ ศบค.กลับดังกึกก้องสวนทางกับเสียงอวยตัวเองใน ศบค.

พล.อ.ประยุทธ์และร่างทรงใน ศบค.พยายามสร้างกระแสว่าไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่ำเป็นแถวหน้าอาเซียน

และถึงแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยจะต่ำจริงๆ ทุกคนที่อ่านหนังสือออกก็รู้ว่าทั้งหมดนี้เป็นเพราะไทยตรวจน้อยกว่าประเทศอื่น เนื่องจากรัฐคิดว่าการตรวจเชื้ออย่างกว้างขวางนั้นสิ้นเปลือง

ตรงข้ามกับนานาอารยประเทศที่เห็นว่าการตรวจเชื้อแล้วแยกผู้ติดเชื้อไปรักษานั้นจำเป็น โฆษกทวีศิลป์สร้างวาทกรรมโจมตีประเทศอื่นว่าตรวจแบบเหวี่ยงแหจนไม่ได้เรื่อง

ความสิ้นเปลืองเป็นข้ออ้างที่รัฐบาลและระบบราชการใช้แม้ในยามที่ไวรัสระบาดจนคนกลัวตายทั้งแผ่นดิน

ในช่วงที่ประชาชนโจมตีเรื่องรัฐตรวจเชื้อน้อยและเรียกร้องให้ตรวจคนไทยทุกคน คุณทวีศิลป์อ้างว่าไทยมีศักยภาพตรวจได้วันละ 20,000 คน ซึ่งไม่น้อย

แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีวันไหนที่มีการตรวจเชื้อขนาดนั้น รัฐจึงมีนโยบายไม่ตรวจเชื้อโดยแฝงเป็นระบบเพื่อปกปิดความไม่พร้อมของรัฐเอง?

ความต้องการที่สวนทางกันของรัฐกับประชาชนกรณีตรวจเชื้อโควิด-19 สะท้อนความต้องการใช้งบประมาณและทรัพยากรประเทศที่ต่างกันระหว่างรัฐกับประชาชนเรื่องอื่นๆ

ซึ่งรัฐเลือกนโยบายและมาตรการตามความสะดวกของรัฐเป็นที่ตั้ง

ไม่ใช่ความเดือดร้อนของประชาชน

เยียวยา 5,000 เป็นนโยบายที่คุณประยุทธ์คิดไปเองว่าประสบความสำเร็จจนเพิ่มความนิยมให้รัฐบาล

ผลก็คือการประกาศด้วยความภูมิใจว่าเป็นรัฐบาลแรกที่แจกเงินประชาชนถึง 30 ล้าน ทั้งที่ความจริงรัฐบาลจ่าย “ชดเชยความเสียหาย” ที่ทำประชาชนตกงาน ไม่ใช่ “แจกเงิน” อย่างคุณประยุทธ์คุยโว

ประชาชนทุกกลุ่มและพรรคการเมืองแทบทุกพรรคเห็นตรงกันว่ารัฐบาลควรจ่าย 5,000 ให้ทุกคนไปเลย

แต่ด้วยวิธีที่ พล.อ.ประยุทธ์คิดและ ศบค.สั่งการ การพิสูจน์สิทธิก่อนจ่ายเงินคือวิธีที่รัฐบาลเห็นว่าสะดวกที่สุด

ส่วนประชาชนกว่าสิบล้านต้องตกงานเกินสองเดือนก่อนจะได้รับการเยียวยา

ภายใต้การดำเนินมาตรการตามความสะดวกของรัฐมากกว่าประชาชน รัฐผลักภาระในการดูแลตัวเองไปยังประชาชนทั้งหมด

นโยบายไม่ตรวจโควิดทุกคนทำให้ประชาชนต้องหยุดงานหรือทำงานที่บ้านโดยรับภาระรายจ่ายต่างๆ

ส่วนการเยียวยาล่าช้าทำให้ประชาชนต้องเป็นหนี้เพื่อหาเงินมาเลี้ยงตัวเอง

เรียนออนไลน์เป็นมาตรการที่รัฐสร้างปัญหาให้ประชาชนคล้ายตรวจเชื้อหรือจ่าย 5,000 เพราะถึงแม้รัฐจะดำเนินมาตรการนี้โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้โควิดลุกลาม แต่การตัดสินใจปิดโรงเรียนทำให้เรียนออนไลน์เป็นทางเลือกที่สร้างภาระให้ผู้ปกครองมหาศาล ทั้งที่ผู้ปกครองต้องการให้รัฐบาลเปิดเรียน

ขณะที่หมอทวีศิลป์โฆษณาชวนเชื่อให้รัฐบาลว่าปิดเรียนเพื่อสกัดโควิด

การเปิดเรียนในประเทศอื่นก็ชี้ว่าประเด็นนี้ไม่ได้ส่งต่อปัญหาโควิดอย่างรัฐบาลไทยโม้

ลาวเปิดเรียนตั้งแต่ 18 พฤษภาคม มีผู้ติดเชื้อน้อยกว่าไทย

ส่วนเยอรมนีและฝรั่งเศสเปิดเรียนวันที่ 4 และ 11 พฤษภาคม ทั้งที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่าไทย

ห้ามเด็กเปิดเรียนเป็นมาตรการที่รัฐบาลเลือกโดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้โควิดลุกลาม

แต่ถ้าเทียบมาตรการกับยา รัฐบาลไทยก็เหมือนหมอที่ให้ยาผิด แต่ยังดันทุรังจะให้ยาต่อ ทั้งที่ทั้งโลกไม่มีใครรักษาโรคด้วยยาชนิดนี้ เพราะเห็นว่าไม่ใช่ทางแก้ รวมทั้งตระหนักว่ายานี้มีผลกระทบข้างเคียงมากเกินไป

มีผู้ชี้ให้เห็นไว้มากแล้วว่ามาตรการเรียนออนไลน์เป็นมาตรการที่สร้างภาระให้กับผู้ปกครอง เพราะขณะที่รัฐบาลกับหมอทวีศิลป์ทำราวกับว่าเด็กทุกคนอยู่ในครอบครัวที่มีความสามารถ “ออนไลน์” เด็กจำนวนมากกลับอยู่ในครอบครัวยากจนที่พ่อแม่ไม่มีทางซื้อเครื่องมือสำหรับออนไลน์ได้เลย

ภาพพ่อ-แม่ หรือปู่-ย่า ตา-ยายกำเงิน 2,000 ไปซื้อคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เป็นภาพที่น่าสะเทือนใจ เช่นเดียวกับภาพเด็กๆ ที่ต้องนั่งใต้ศาลากลางแจ้งเพื่อใช้ไวไฟฟรีจากหมู่บ้าน

แต่ที่น่าเศร้าใจยิ่งกว่าคืออาจมีพ่อ-แม่และผู้ปกครองอีกมากที่ไม่มีเงินก้อนนี้จนไม่ถูกใครถ่ายรูปเลยด้วยซ้ำไป

คนที่มีสติย่อมเห็นว่าภาพแบบนี้สะท้อนความไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่น่าตกใจ เพราะขณะที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งทุกชุดผลักดันให้เด็กเรียนฟรี รัฐบาลประยุทธ์กลับปิดโรงเรียนแล้วบังคับให้เรียนออนไลน์

เด็กที่ได้เรียนจึงมีแต่เด็กในครอบครัวที่ผู้ปกครองมีฐานะพอจะซื้ออุปกรณ์ออนไลน์

ขณะที่มาตรการเยียวยาล่าช้าผลักภาระให้คนไทยต้องกู้หนี้ยืมสินช่วงรอเงิน 5,000 เพื่อไม่ให้อดตาย มาตรการเรียนออนไลน์ก็ผลักภาระให้ผู้ปกครองมีต้นทุนด้านการศึกษาโดยรัฐไม่ต้องรับผิดชอบ รัฐที่มีหน้าที่บริการประชาชนกลายเป็นฝ่ายสร้างปัญหาให้ประชาชนโดยผู้นำรัฐไม่มีวี่แววสำนึกเลย

รัฐบาลประยุทธ์ชอบจำขี้ปากฝรั่งมายัดเยียดให้โฆษกทวีศิลป์สอนประชาชนเรื่อง New Normal หรือ “วิถีชีวิตใหม่” ราวกับเป็นความคิดที่รัฐบาลคิดขึ้นเอง แต่เมื่อเอาสิ่งที่รัฐบาลทำจริงๆ ไปเทียบกับสิ่งที่กระทำโดยรัฐบาลประเทศอื่น รัฐบาลไทยไม่มีตรงไหนใกล้ความเป็นวิถีชีวิตใหม่แม้แต่นิดเดียว

ขณะที่รัฐบาลเดนมาร์ก-ญี่ปุ่น-ลาว-อิสราเอล-เยอรมนี ฯลฯ เข้าสู่ “วิถีชีวิตใหม่” โดยเปิดเรียนแล้วรัฐรับภาระลงทุนด้านต่างๆ เช่น เพิ่มจำนวนห้องเรียน, สร้างระยะห่างระหว่างโต๊ะ, ลดจำนวนเด็กต่อชั้นเรียน หรือเพิ่มครูและชั่วโมงสอนให้มากขึ้น

รัฐบาลไทยกลับทำแค่เรียนออนไลน์ที่ทุกคนด่ากัน

นอกจากรัฐไทยจะไม่ลงทุนด้านเครื่องมือจนยัดเยียดให้ประชาชนรับรายจ่ายด้านเรียนออนไลน์เอง Content หรือเนื้อหาในการเรียนก็เป็นสิ่งที่รัฐไทยไม่ยอมรับผิดชอบด้วย การสอนภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความผิดพลาดจนอื้อฉาวในทวิตเตอร์นั้นฟ้องทุกอย่างอยู่แล้วในตัวเอง

กองเชียร์รัฐบาลอ้างว่าไม่เป็นไรที่ครูสอนภาษาอังกฤษกับคณิตศาสตร์ผิดๆ ในช่วงเตรียมการ แต่ความผิดแสดงความด้อยคุณภาพของครูและบุคลากรด้านการศึกษาของรัฐ ครูที่สอนออนไลน์ผิดๆ คงสอนในโรงเรียนผิดมานับไม่ถ้วน

การเรียนออนไลน์จึงแสดงให้เห็นปัญหาที่มีมาก่อนออนไลน์

ถ้าโลกยุคหลังโควิด-19 คือโลกที่ทุกคนต้องปรับตัว บทบาทที่รัฐไทยทำด้านการศึกษาและด้านอื่นๆ ก็ประจานตัวเองถึงความเป็นรัฐที่มีการปรับตัวน้อยมาก ผู้ปกครองต้องปรับตัวเพื่อให้ลูกๆ ได้เรียน แต่เมื่อปรับตัวแล้วก็ต้องพบการเรียนออนไลน์ที่ประจานความห่วยของกระทรวงศึกษาฯ ในชีวิตจริง

คนไทยทุกคนรู้ว่าสังคมไทยเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนต่างๆ จนเป็นบ่อเกิดของความเหลื่อมล้ำทางสังคม

แต่ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาฯ จำกัดให้การศึกษาห่วยๆ อยู่ในโรงเรียนไกลปืนเที่ยงที่นักเรียนมีแต่ลูกชาวบ้าน

ขณะที่เรียนออนไลน์ทำให้ทุกคนเห็นความห่วยของระบบเสมอภาคกัน

ถ้าความล้มเหลวของคลังในการจ่ายเงิน 5,000 เกิดจาก พล.อ.ประยุทธ์และ ศบค.ออกกติกาบ้าๆ จนทำให้ประชาชนไม่ได้เงินชดเชยอย่างทันท่วงที ความล้มเหลวของการศึกษาก็เกิดจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์และ ศบค.ออกมาตรการบ้าๆ ที่ทำให้เด็กไม่ได้เรียน และถึงเรียนก็ได้เนื้อหาที่ไม่ดี

เรียนออนไลน์ไม่ได้ถูกหรือผิดโดยตัวมันเอง แต่รัฐบาลที่ปิดเรียนแล้วยัดเยียดให้เด็กเรียนออนไลน์โดยรัฐไม่เตรียมความพร้อมหรือลงทุนอะไรเลยคือรัฐบาลที่ “มักง่าย” และไร้ความรับผิดชอบ ไม่ต้องพูดว่าหลายจังหวัดไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่มานานจนไม่มีเหตุให้รัฐต้องปิดโรงเรียนแม้แต่นิดเดียว

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์และโฆษกทวีศิลป์ชอบดูหมิ่นประชาชนว่า “การ์ดตก” และไม่รู้จักปรับตัวเข้าสู่ “ชีวิตวิถีใหม่” รัฐบาลและกลไกรัฐคือหน่วยงานที่การ์ดตก ทำงานมั่ว ไม่รับผิดชอบ และไม่ลงทุนในการปรับตัวกว่าประชาชนและสถาบันอื่นๆ จนทุกมาตรการสร้างปัญหาให้ประชาชนตลอดเวลา

เปรียบเทียบกับคลังที่จ่ายเงินชดเชยความเสียหาย 5,000 ซึ่งบอกว่าใช้ AI แต่จบด้วยความมั่วที่ต้องอาศัยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและพนักงานธนาคารเดินตรวจเอกสารสิทธิ กระทรวงศึกษาฯ ที่เรียนออนไลน์ก็จบด้วยความพังพินาศที่เว็บล่ม ระบบห่วย เนื้อหาล้าหลัง ครูไม่พร้อม ฯลฯ จนมีแต่เสียงด่าทอ

นอกจากกระทรวงศึกษาฯ จะไม่สามารถปรับตัวสู่ “วิถีชีวิตใหม่” กระทรวงยังล้มเหลวในการดูแลปัญหาพื้นฐานอย่างโอกาสทางการศึกษาของเด็ก เพราะสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานมีข้อมูลความยากจนของเด็กทั่วประเทศทุกคน แต่ทำไมกระทรวงคิดไม่ได้เรื่องเด็กไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ออนไลน์

ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนห้องแล็บจนไม่สามารถตรวจเชื้อโควิดทุกคนโดยสาธารณสุข, AI ของคลัง หรือเรียนออนไลน์ของศึกษาฯ เส้นทางของรัฐบาลในการสร้าง “วิถีชีวิตใหม่” ล้วนแล้วแต่เป็นการเอาระบบราชการยุคไดโนเสาร์เต่าล้านปีห่อหุ้มด้วยเปลือกนอกที่ดูเป็นดิจิตอลเท่านั้นเอง

รัฐมนตรีศึกษาฯ หมายปองกระทรวงพลังงานถึงขั้นเตรียมชิงตำแหน่งเลขาฯ พรรคและรัฐมนตรีจากคนพรรคเดียวกัน แต่ด้วยการบริหารเรียนออนไลน์ที่โหลยโท่ยแบบนี้ การเป็นรัฐมนตรีกระทรวงไหนก็สร้างความเสียหายให้ประเทศทั้งนั้น

และทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศคืออย่าเป็นรัฐมนตรีเลย

เรียนออนไลน์เป็นอีกหนึ่งหลักฐานแห่งความล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ในเวลาที่ประเทศเผชิญวิกฤตโควิด-19 แต่รัฐบาลกลับไม่มีวี่แววของการเป็นผู้นำในการฟื้นฟูประเทศได้ ต่อให้จะเป็นแค่การพยุงไม่ให้ประเทศถอยหลังลงคลองก็ยังน่าจะเกินสติปัญญาผู้นำรัฐบาลปัจจุบัน

ด้วยฝีมือการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ คนไทยที่ตกงานต้องดิ้นรนเพื่อให้มีกิน และก็ต้องดิ้นรนให้ลูกได้มีโอกาสเรียนหนังสือเพราะรัฐบาลปิดโรงเรียนโดยไม่มีเหตุผลอะไรเลย

เพื่อความอยู่รอดของประเทศไทย เราจำเป็นต้องมีผู้นำที่ดีและเก่งกว่านี้ ไม่ใช่ผู้นำที่ไร้วิสัยทัศน์และไร้ความสามารถซึ่งทำได้แค่หมุนประเทศไปสู่วิถีเก่าอย่างที่ประจักษ์มาแล้วตลอดหกปี