ว่าด้วย 75 ปีหลังสงคราม, เบบี้ บูมเมอร์และเพลง Imagine | กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

วันที่ 8-9 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 75 ปีของ VE Day (Victory in Europe Day) อันเป็นวันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองที่ยุโรป…หลังจากเยอรมนีภายใต้การนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ยอมรับความพ่ายแพ้

ส่วนในเอเซียนั้น สงครามจบลง ณ วันที่ 15 สิงหาคม 1945 เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนหลังจากสหรัฐหย่อนระเบิดปรมาณูลงที่ฮิโรชิมาและนางาซากิวันที่ 6 และ 9 สิงหาคมในปีเดียวกัน

สำหรับคนรุ่นผม วันสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สองมีความหมายเป็นพิเศษ เพราะคนที่เกิดหลังสงครามคือตั้งแต่ปี 1946 ถึง 1964 นั้นถูกขนานนามอย่างเท่ว่า

Baby-boomers

เบบี้ บูมเมอร์ เป็นคนรุ่นที่มักอ้างเสมอว่าเป็น generation ที่ “สนุก, โหด, ท้าทายและเท่ที่สุด” ในโลกยุคใหม่

เพราะเราคือคนรุ่นที่เกิดมาพร้อมกับการยุติของสงครามด้วยความหวังว่าจะเข้าสู่สันติภาพ (เสียที)

หลังจากที่สงครามยืดเยื้อ 6 ปี และคร่าชีวิตคนทั่วโลกไม่น้อยกว่า 75 ล้านคน (เป็นทหาร 25 ล้าน และพลเรือน 50 ล้าน)

แต่เราก็เผชิญกับสงครามในรูปแบบต่างๆ จนถึงวันนี้

ตั้งแต่สงครามเย็น

สงครามเวียดนาม

สงครามอ่าวเปอร์เซีย

สงครามการค้า

สงครามไซเบอร์

และวันนี้เรากำลังเห็นการปรากฏตัวของสงครามไวรัส

รุ่นผมกลายเป็นรุ่นที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของลัทธิคอมมิวนิสต์กับ “โลกเสรี”

รุ่นผมเรียกร้องหาเสรีภาพและความเป็นปัจเจก

รุ่นผมคือรุ่น “ผมจึงมาหาความหมาย” และพยายาม “ค้นพบตัวเอง” ด้วยการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นการไว้ผมยาว, ใส่กางเกงยีนส์, สะพายย่าม, ร่วมประท้วงสงครามเวียดนาม, อ่านกลอนพี้กัญชา, อ่านปรัชญาสังคมนิยม

ก่นด่า “จักรวรรดินิยมตะวันตก” และ “สุนัขรับใช้จักรวรรดินิยม” ด้วยภาษาไทย “ปฏิวัติ” ลอกเลียนจากวิทยุปักกิ่งต่อต้าน “พวกปฏิกิริยา” ทุกรูปแบบ

ขณะที่วิ่งหาทุนไปเรียนอเมริกา, ยุโรปและใส่เสื้อติดรูปเหมากับเช กูวารา

แต่อีกบางคนเรียกตัวเองว่า Hippies ทัดดอกไม้ที่ข้างหู

บางคนถูกชวนให้ไปสูบกัญชาที่เนปาล

บางคนเข้าป่าติดอาวุธหวังจะเปลี่ยนแปลงสังคมที่ “เสมอภาค” และ “บริสุทธิ์”

หลายคนผิดหวัง คนจำนวนมากกลับเข้าสู่วงจรทุนนิยม อีกบางคนเข้าการเมือง และอีกไม่น้อยปลีกวิเวกเพราะหมดหวังกับทางออกทุกทางที่พึงแสวงหา

 

Beatle John Lennon and his wife Yoko Ono. (Photo by MYCHELE DANIAU / AFP)


เบบี้ บูมเมอร์โตมาพร้อมกับเพลงที่แสวงหาอุดมคติทั้งการเมือง, สังคมและวัฒนธรรม

ไม่มีใครไม่รู้จักเพลง Imagine ของ John Lennon / Paul McCartney

เพราะเนื้อหาสะท้อนถึงความฝันของคนรุ่นนั้นที่หมกมุ่นอยู่กับสงคราม, ความขัดแย้งด้านอุดมการณ์การเมืองและวัฒนธรรม

ลองนึกภาพไม่มีสวรรค์
Imagine there’s no heaven
มันง่ายมากแค่ลองพยายามดู
It’s easy if you try
ไม่มีนรกเบื้องล่างพวกเรา
No hell below us
ข้างบนมีเพียงท้องฟ้า
Above us only sky
ลองนึกภาพทุกคนที่มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้
Imagine all the people living for today
ลองนึกภาพไม่มีประเทศ
Imagine there’s no countries
ไม่ยากที่จะทำ
It isn’t hard to do
ไม่มีอะไรจะฆ่าหรือตายเพื่อให้ได้มันมา
Nothing to kill or die for
และไม่มีศาสนาด้วย
And no religion too
ลองนึกภาพทุกคนที่ใช้ชีวิตอย่างสงบสุข
Imagine all the people living life in peace, you
คุณอาจพูดว่าฉันเป็นคนช่างฝัน
You may say I’m a dreamer
แต่ไม่ใช่แค่ฉันเท่านั้น
But I’m not the only one
ฉันหวังว่าสักวันคุณจะเข้าร่วมกับเรา
I hope some day you’ll join us
และโลกจะเป็นหนึ่ง
And the world will be as one
ลองนึกภาพไม่มีทรัพย์สมบัติ
Imagine no possessions
ฉันสงสัยว่าคุณสามารถ
I wonder if you can
ไม่ต้องการความโลภหรือความหิว
No need for greed or hunger
ภราดรภาพของมนุษย์
A brotherhood of man
ลองนึกภาพทุกคนที่แบ่งปันโลกทั้งใบคุณ
Imagine all the people sharing all the world
คุณอาจพูดว่าฉันเป็นคนช่างฝัน
You may say I’m a dreamer
แต่ไม่ใช่แค่ฉันเท่านั้น
But I’m not the only one
ฉันหวังว่าสักวันคุณจะเข้าร่วมกับเรา
I hope some day you’ll join us
และโลกจะเป็นหนึ่ง
And the world will be as one

เป็นเพลงอมตะถึงวันนี้สำหรับคนที่เชื่อว่าความฝันที่อยากเห็นโลกเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่แบ่งพรมแดน, ศาสนา, ความเชื่อทางการเมืองและวัฒนธรรม

หากจะให้ได้อารมณ์ครบสมบูรณ์ คนรุ่นนั้นก็จะร้องเพลงอันทรงคุณค่าอีกเพลงหนึ่ง คือ “เดือนเพ็ญ” ที่เขียนเนื้อร้องและทำนองโดยอัศนี พลจันทร (หรือที่รู้จักกันในชื่อ นายผี หรือ สหายไฟ) ควบคู่กันไปด้วย

ยุคนั้นเราเรียกมันว่าความฝันแห่งยุค Sixties

วันนี้ความคิดเฉกนั้นอาจถูกขนานนามว่าเป็น “คนโลกสวย” แต่เบบี้ บูมเมอร์ตัวจริงไม่แคร์ป้ายคล้องคอที่คนอื่นสวมให้

เพราะโลกสร้างความโหดร้ายจนความไร้เดียงสากลายเป็นอาชญกรรมที่ต้องทำลายล้าง

เราเรียกมันว่าโลก Utopia โลกพระศรีอาริย์ หรือรัฐในอุดมคติ

ใครเอ่ยถึงคำนี้วันนี้จะถูกถามว่าหลัง Covid-19 ยังหาญกล้าคิดถึงโลกยูโทเปียอีกหรือ

เบบี้ บูมเมอร์จะบอกคุณว่าความฝันที่จะเห็นโลกในอุดมคติไม่มีวันหายไปจากจินตนาการ

เพราะเราโตขึ้นมาด้วยการอ่านประวัติของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่บอกว่า

“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”

เพราะความรู้อาจจะพาเราจากจุด ก. ถึง ฮ. ได้

แต่จินตนาการสามารถพาเราไป “ทุกหนทุกแห่ง”

วันนี้ “ความรู้” มีล้นเต็มอยู่ในอินเตอร์เน็ต แต่ความเอ่อท่วมของข้อมูลยุคดิจิตอลไม่จำเป็นต้องเพิ่มระดับของจินตนาการเลย

คนรุ่นผมไม่เพียงประณาม “วัตถุนิยม” แต่ยังให้ความสนใจศาสนาในเชิงปรัชญาและถกแถลงอย่างร้อนแรงทุกครั้งที่มีโอกาส

ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นและกระชากกึ๋นได้รุนแรงเท่ากับได้ฟังการโต้วาทีระหว่างท่านพุทธทาสภิกขุกับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในเวทีสาธารณะว่าด้วยการเมือง, ศาสนา

และความคิดกับการตีความว่าด้วย “อัตตาปะทะกับอนัตตา”

จะมียุคไหนที่น่าศึกษาค้นคว้าหาสัจธรรมเท่ากับที่เกิดมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองพร้อมกับการตั้งคำถามว่าเราจะต้องเลือกข้างระหว่างจีนกับสหรัฐจริงด้วยหรือ

หลังจากคำว่า “สงครามเย็น” กลายเป็นศัพท์ประจำท้องที่ (มิใช่เพียง “หวัดประจำถิ่น”) ก็ตามมาด้วยคำว่า Domino Theory หรือทฤษฎีโดมิโน

เป็นศัพท์แสงที่สลับซับซ้อนพอแรง เพราะวงสนทนาร้านข้าวต้มกุ๊ยริมถนนยังพยายามทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง “ทุนนิยม” กับ “สังคมนิยม” ในชีวิตความเป็นจริงอย่างพลุ่งพล่าน

เพราะความขัดแย้งในประเทศไทยเองก็ทำให้เกิดวาทกรรมตรรกะบิดเบี้ยวมากมายไม่ว่าจะเป็น

“สังคมนิยมทุกชนิดก็คือคอมมิวนิสต์นั่นเอง”

หรือ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

ในวันที่เราอาบน้ำถูสบู่ จะมีข้อความโฆษณาชวนเชื่อจากหน่วยปฏิบัติการจิตวิทยาสหรัฐของซีไอเอหลุดออกมาเป็นชั้นๆ ที่อ่านได้ความว่า

“คอมมิวนิสต์กำลังทำลายโลก”

“จีนแดงให้ลูกฆ่าพ่อและแม่ของตัวเอง”

เพราะสบู่ถูกแจกไปยังชาวบ้านในเมืองและชนบทด้วยทุนพิเศษของปฏิบัติการจิตวิทยา (Psych Op หรือ Psychological Operation) จากวอชิงตัน

สมัยนี้เรียก IO (Information Operation)

มันมาพร้อมกับปืนเอ็ม 16 ที่ถูกลักลอบจากคลังแสงไทยที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐ

แทนที่อาวุธปืนเหล่านี้จะถูกใช้สู้รบกับ “ผู้ก่อการร้ายในป่า” กลับถูกซื้อขายตรงชายแดนให้กับฝ่ายตรงกันข้ามในตลาดมืด

จึงไม่ต้องแปลกใจที่ทหารฝ่ายนี้จะถูกอาวุธของฝ่ายตนสังหารต่อหน้าต่อตา

เพราะเงินคือเงิน เงินไม่มีสี เงินแยกอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ออก

เราถกแถลงถึงความหมายของ Domino Theory เพราะสหรัฐต้องการจะบอกเราว่า ถ้าจีนและสหภาพโซเวียตสามารถทำให้เวียดนามกลายเป็นคอมมิวนิสต์, ลาวและกัมพูชาก็คงจะตามมาติดๆ

และเป้าหมายต่อไปก็คงจะหนีไม่พ้นประเทศไทย

พอไซ่ง่อนแตกเมื่อ 30 เมษายน 1975 ทฤษฎีนี้ก็ถูกยกขึ้นกล่าวอ้างอย่างดุเดือดและกว้างขวาง

คนไทยจำนวนหนึ่งที่ “มีอะไรจะต้องสูญเสียมากกว่าคนอื่นๆ” ก็เตรียมอพยพถิ่นฐานออกนอกประเทศ

แต่เบบี้ บูมเมอร์ส่วนใหญ่ปักหลักอยู่เพื่อพิสูจน์ว่าทุกอย่างต้องมีข้อยกเว้น…ไม่ใช่เพราะฉลาดกว่าใครแต่เพราะไม่มีทางเลือกอื่นต่างหาก

โดยเฉพาะสำหรับเบบี้ บูมเมอร์ประเทศไทยยุคผมและผองเพื่อน (รวมถึง “รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม)) ที่เป็นขวัญใจของคนอ่านหนังสือยุคนั้น

ที่ยืนยันจะไม่หยุดหายใจเพื่อยังมีชีวิตมาเล่าความฝันลมๆ แล้งๆ ที่จะยังแสวงหา “สังคมในอุดมคติ” ของคนยุคนั้นถึงวันนี้ให้ได้

วันที่ครบรอบ 75 ปีของการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง…ตรงกับปีแห่งการนัดหมายโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้ากับ Covid-19!