ต่างประเทศอินโดจีน : 2 ปีที่รอคอย

เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2018 บางส่วนของเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำทางตอนใต้ของลาวพังถล่มลงมา ผลลัพธ์ปัจจุบันทันด่วนก็คือ ชาวบ้าน 71 คนเสียชีวิตไปกับสายน้ำโคลนขุ่นข้นที่ทะลักออกมาอย่างรุนแรง

บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน 13 หมู่บ้านพังทลายไปกับมวลน้ำ ผู้คนอีกอย่างน้อย 7,000 คน กลายเป็นคนจรไร้บ้าน ไร้เรือกสวนไร่นาเฉียบพลัน

รัฐบาลลาวให้สัญญาในเวลานั้นว่า คนเหล่านี้นอกจากจะได้รับเงินชดเชยแล้ว ยังจะได้รับที่ทำกิน เพื่อให้มีโอกาสได้สร้างชีวิต สร้างครอบครัวขึ้นมาใหม่ให้ได้อีกครั้งหนึ่ง

ปัญหาคือ เกือบ 2 ปีให้หลัง ผู้คนเหล่านี้จำนวนมากยังคงจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์ลี้ภัยชั่วคราว หรือไม่ก็ถูกทอดทิ้งโดยสิ้นเชิง ท่ามกลางความเป็นอยู่ที่ทรามลงตามลำดับ

ถูกเมินเฉยเสียจนคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จำนวนหนึ่งต้องออกมาแถลงเรียกร้องแทนผู้คนเหล่านั้นให้รัฐบาลและกิจการธุรกิจที่เกี่ยวข้องลงมือแก้ไขปัญหาที่ผู้รอดชีวิตเหล่านี้เผชิญอยู่อย่างต่อเนื่องเสียที

“คนหลายพันคนที่รอดตายมาได้ในสภาพสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ยังคงพานพบกับชะตากรรมที่ไม่แน่นอนและการทอดทิ้ง” แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ

“รัฐบาล เช่นเดียวกับกิจการธุรกิจ และธนาคารทั้งหลายทำกำไรงดงามจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำนี้ แต่ชุมชนที่สูญเสียทุกอย่างยังคงได้รับแต่คำสัญญาที่ไม่เป็นจริง”

ถ้อยแถลงดังกล่าวระบุว่า สมาชิกของชุมชนที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งรวมทั้งคนพื้นเมืองเดิม ยังไม่ได้รับเงินชดเชยพอเหมาะสมกับความเสียหายที่ได้รับ

และยังคงใช้ชีวิตอยู่ในบ้านพัก “ชั่วคราว” ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีความเป็นส่วนตัว และไม่มีอาหาร น้ำ เวชภัณฑ์เพียงพออยู่ในเวลานี้

 

คําให้สัมภาษณ์ของผู้คนในศูนย์อพยพชั่วคราวหลายแห่งเหล่านั้นต่อผู้สื่อข่าวของวิทยุเอเชียเสรีเมื่อตอนปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา สะท้อนความเป็นจริงของสภาพที่เป็นอยู่ได้เป็นอย่างดี

แม่หญิงลาวรายหนึ่งยืนยันว่า สภาพของศูนย์ในยามนี้อยู่แทบไม่ได้ นอกจากจะร้อนเกินไปแล้วยังสกปรก ไม่มีน้ำ ทุกคนในศูนย์กลัวเหมือนกันหมดว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในเวลานี้

“อีกปัญหาคือข้าว…ที่กำลังเน่า พวกเขาบอกว่าข้าวมีกลิ่นนิดหน่อยแต่ยังกินได้ เราไม่มีทางเลือกนอกจากจะกล้ำกลืนข้าวเหล่านี้ลงไปเหมือนเป็นนักโทษ หลายคนหันไปใช้วิธีเอาไปขายให้กับโรงกลั่น เพื่อซื้อข้าวดีๆ ที่แพงกว่าและปริมาณน้อยกว่ามาแทน”

รัฐบาลลาวไม่ได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงเหล่านี้ โดยรวมๆ แล้วยอมรับด้วยซ้ำไปว่า ความพยายามเพื่อฟื้นฟูชีวิตให้กับผู้รอดชีวิตยังคงกะพร่องกะแพร่ง แต่ก็ให้สัญญาว่าจะทำทุกอย่างเพื่อให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น และได้รับการชดเชยอย่างเต็มที่

เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลจัดสรรที่ขนาด 800 ตารางเมตร (20 เมตร คูณ 40 เมตร) ให้กับผู้รอดชีวิต ประกาศจะสร้างบ้านบนที่แต่ละแปลงให้หนึ่งหลัง

แต่จนถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา บ้านเหล่านี้เสร็จเรียบร้อยแล้วเพียงแค่ 36 หลังเท่านั้นเอง

 

ที่สำคัญก็คือ ถ้อยแถลงของผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นระบุว่า ผู้รอดตายมาได้จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ไม่เคยได้รับการปรึกษาหารือ “ที่มีความหมาย” เกี่ยวกับที่ตั้งของแหล่งทำกินใหม่ หรือไม่เคยได้รับรู้กำหนดเวลาที่แน่นอนแต่อย่างใด

บุญโฮม พมมาเสน นายอำเภอสะหนามไซ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ชั่วคราวส่วนหนึ่ง บอกว่า ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการที่เจ้าหน้าที่ทั่วประเทศในเวลานี้ต้องรับมือกับการแพร่ระบาด และการแก้ปัญหาผลกระทบ จนไม่มีทรัพยากรหลงเหลือสำหรับคนเหล่านี้

โควิด-19 หมดไปเมื่อใด คนเหล่านี้จะได้รับเงินชดเชยเต็มที่แน่นอน

เฮ้อ…

**(ภาพ-Laos Dam Investment Monitor)