การพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โดย ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง

16 พฤษภาคม 2020 ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช (张国泰) อดีตรมว.คลัง อดีรมว.ศึกษา

วันนี้ กระผมรู้สึกยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในการเสวนาของชมรมเพื่อนเส้นทางสายไหม ระหว่างพวกเราไทย-จีน ซึ่งเป็นพี่-น้องกัน

กระผมเคยไปประเทศจีนหลายครั้งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พอมีความรู้ภาษาจีนอยู่บ้าง สิ่งที่น่าชื่นชมอย่างมาก ก็คือ ประเทศจีนได้พัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วมาก ในระยะเวลาอันสั้น 30 ปี จนเป็นพลังสำคัญของโลก หากนับแบบ purchasing power parity (PPP) exchange rates จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก นับตั้งแต่ปี 2015 มาแล้ว

กระผมชื่นชมในความขยันขันแข็งของประชาชนจีน โดยเฉพาะท่านผู้นำประเทศ ประธานสี จิ้น ผิง เป็นผู้นำที่เข้มแข็ง ซื่อสัตย์ สุจริต ตั้งใจนำประเทศและประชาชนจีนให้ก้าวหน้า และยังเผื่อแผ่การพัฒนาไปยังประเทศในเอเชียและแอฟริกา ผ่านการค้าการลงทุน และโครงการเส้นทางสายไหม (Belt and Road Initiative: BRI)

ในวันนี้ กระผมได้รับมอบหมายให้นำเสนอเรื่อง การพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โดยจะกล่าวเป็น 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 สถานการณ์การเมืองโลก

1. วิกฤติโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน ทันทีทันใดนับเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่สามารถเตรียมการป้องกันไว้ล่วงหน้าได้ โรคนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วโลกทั้งเอเชีย ยุโรป​ ออสเตรเลีย​ และอเมริกา​ เดิมไม่มีใครมั่นใจว่าจะใช้วิธีการใดแก้ไขปัญหา แต่ดูเหมือนประเทศจีนได้ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวในการควบคุมการระบาดที่อู่ฮั่น โดยใช้มาตรการปิดเมือง (Lock down) การสวมหน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่าง (Social distancing) และการตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างจริงจัง ทำให้สามารถควบคุมการแพร่กระจายโรคได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา​ จีนมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในระดับไม่มาก

2. หลายประเทศในแถบยุโรป สามารถควบคุมการแพร่กระจายได้ดี เช่น เยอรมัน สวีเดน เช็ค และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย แต่หลายประเทศก็มีข้อจำกัด เช่น อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส อังกฤษ ส่วนประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงคือ สหรัฐอเมริกา ที่มียอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเกือบ 30% ของโลก และปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ อาจเนื่องจากมีมาตรการรับมือที่ช้าเกินไป และวิธีการในช่วงแรกไม่ถูกต้อง เช่น ไม่สวมหน้ากาก ไม่รักษาระยะห่าง ไม่ปิดเมือง ไม่ขอให้ประชาชนอยู่กับบ้าน ไม่ตรวจหาผู้ติดเชื้อ ปล่อยให้เชื้อแพร่กระจายในวงกว้าง

3. นักวิชาการหลายคนกล่าวว่า หลังวิกฤตโควิดนี้ รัฐบาลแต่ละประเทศจะใช้อำนาจมากขึ้น สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะลดลง ประชาชนจะถูกติดตามและตรวจสอบมากขึ้นด้วยเทคโนโลยี่สื่อสารใหม่ๆ

4. โลกาภิวัฒน์จะลดลง จะเป็นรัฐชาติมากขึ้น อาจมีผู้นำประชาธิปไตยหัวรุนแรง หรือผู้นำเผด็จการมากขึ้น แต่ละประเทศจะพึ่งพาแหล่งผลิตจากภายในมากขึ้น ต้นทุนและราคาสินค้าแพงขึ้น ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกและเครือข่ายการกระจายสินค้ามีความเสี่ยงสูงขึ้น จึงถูกดึงกลับเข้ามาในประเทศมากขึ้น โดยมีระบบเพื่อป้องกันการหยุดชะงัก ซึ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

5. จีนจะเป็นผู้นำและมีความสำคัญต่อโลกมากขึ้น โดยอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาจะลดลง เนื่องจากลักษณะและนโยบายของประธานาธิบดี Trump เอง ที่เห็นแก่ตัวและมักใส่ร้ายผู้อื่น อาจกล่าวได้ว่า หากท่าน Trump ได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัยหนึ่ง ก็จะทำให้สหรัฐอเมริกาหมดความน่าเชื่อถือ และจะทำให้จีนมีบทบาทสำคัญรวดเร็วยิ่งขึ้น

ส่วนที่ 2 สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมโลก

1. โควิด-19 จะยังคงอยู่กับเราอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกัน ซึ่งอาจจะเป็นในช่วงต้นปี 2021 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลงประมาณ 3% โดยสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะหดตัว 6-7.5 % เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 1.2% ส่วนประเทศไทย ซึ่งมีภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงมาหลายปีก่อนหน้านี้แล้ว ไทยจะหดตัวมากถึง 6.7% ทั้งนี้เนื่องจากการที่รัฐบาลสั่งหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างมาก (โดยเฉพาะจากจีน) และการลดลงของการส่งออก อย่างไรก็ดี​ ในปี 2021 เศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวในอัตราสูง 5.8% โดยจีนจะเติบโตถึง 9.2% ไทยจะโตประมาณ 6.1%

2. อิทธิพลของเงิน US$ จะลดลง พร้อมกับการอ่อนค่าของ US$ เนื่องจากความเชื่อมั่นต่อสหรัฐอเมริกาลดลง และการพิมพ์เงิน US$ มาใช้มากเกินไป ในขณะที่เงินหยวนจะมีอิทธิพลมากขึ้นเป็นที่ยอมรับมากขึ้น จีนได้ลดการถือเงิน US$ ไปบ้างแล้ว เช่น ได้เปลี่ยนการถือ​ US$ ไปเป็นโครงสร้างบริการพื้นฐานในประเทศเอเชียและอาฟริกา​ ในโครงการ BRI​ นอกจากนี้ จีนยังได้เปลี่ยนวิธีการชำระเงินใช้ระบบ IT โดยไม่ผ่านระบบธนาคารที่ควบคุมโดยสหรัฐอเมริกา

3. อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกียวข้องจะฟื้นตัวช้า เช่น สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร ร้านของที่ระลึก แต่ค่าบริการต่างๆ จะแพงขึ้นจาก Social distancing และการรักษาสุขภาพและความสะอาดของประชน

4. อุสาหกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น Medical Hub เป็นที่ต้องการมากขึ้น ความต้องการจะมากขึ้น ในด้านโรงพยาบาล อุปกรณ์การแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ โดยค่ารักษาพยาบาลจะแพงขึ้น

5. อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสื่อสาร จะมีความจำเป็นและมีอิทธิพลมากขึ้น​ ในชีวิตประจำวัน​ และในภาคธุรกิจ​ เพราะธุรกิจต้องลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้อยู่ได้ในการแข่งขันที่สูงขึ้น จะมีการใช้ระบบ IT, E-payment ต่างๆ​ มากขึ้น​

6. เมืองและสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้น แออัดลดลง ฝุ่นและมลพิษลดลง การทำงานจากบ้าน (Work from home) จะมากขึ้น คนจะย้ายออกไปอยู่บ้านนอกเมือง ความต้องการคอนโดจะลดลง

7. ประชาชนจะมีพฤติกรรมที่เป็นระเบียบ รักษาความสะอาดมากขึ้น ธุรกิจ Share office จะลดลง เพราะคนต้องการรักษาระยะห่างจากกัน

8. ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย การบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน รัฐบาลสั่งหยุดทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ปิดห้างร้านต่างๆ ทำให้มีคนต้องหยุดทำงานอย่างฉับพลันจำนวนมาก ในขณะที่มาตรการเยียวยาจากภาครัฐเป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนไทยจำนวนมาก ประสบปัญหาขาดรายได้​ ไม่มีเงินใช้สอย รัฐบาลไทยใช้เงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นอีกถึง 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 11.5% ของ GDP เพื่อมาชดเชยรายได้ให้ประชาชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้เงินกู้ยืมแบบผ่อนปรนกับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) รวมถึงการดูแลตลาดหุ้นกู้ อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือเหล่านี้ยังมีปัญหาเรื่องเงินไม่ถึงมือประชาชน

9. ในประเทศไทย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกียวข้องจะฟื้นตัวช้า เช่นเดียวกับคอนโดมิเนียมในเมือง ภาคอุตสาหกรรมที่น่าจะอนาคตของประเทศไทยคือ อุตสาหกรรมเกษตรคุณภาพ การแพทย์และการสาธารณสุข การท่องเที่ยวที่ปลอดภัย

ในส่วนท้ายนี้ กระผมมั่นใจว่า ความร่วมมือประเทศจีนและไทยจะมากขึ้น จะเป็นยุคที่ภูมิภาคเอเชียนำการพัฒนาโลก ภายใต้ภาวะปกติใหม่ (New Normal) ที่โลกจะคำนึงถึงความสะอาดของสิ่งแวดล้อม สินค้าที่สะอาดปลอดภัย มีการใช้เทคโนโลยีกันมากขึ้น ในภาคการเงิน และในภาคการนำเข้าและส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว
谢谢大家
张国泰