ย้อนนาทีก่อน-หลัง “ตัวละครสำคัญ” ใน “รัฐประหาร57” พล.อ.ประยุทธ์ เคยพูด-ทำ แต่งตั้งใครไว้บ้าง?

หลัง 16.30 น. วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้กลายเป็นนายทหารที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศไทย หลังจากที่เขาเป็นผู้นำการตัดสินใจก่อการรัฐaประหาร ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

โดยเขาเป็นหัวหน้า คสช. หรือหัวหน้าคณะรัฐประหารด้วยตนเอง อันเป็นปฏิบัติการที่ลับ ลึก และรวดเร็ว แบบที่ไม่มีใครคาดฝัน ด้วยการใช้การประกาศกฎอัยการศึก เป็นการกรุยทาง

ด้วยเพราะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจ ผบ.ทบ. ประกาศใช้กฎอัยการศึก เมื่อ 03.00 น.วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 นั้น ก็ทำแบบเงียบๆ แต่ทว่าบรรดา ผบ.หน่วย ต่างรู้แล้วว่าก้าวต่อไปคือ การรัฐประหาร

แต่ทว่า การรัฐประหารครั้งนี้ ถือเป็นปฏิบัติการ One Man Show เป็นการคิดและวางแผนเพียงลำพัง ของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่ได้ปรึกษาหารือกับบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส., พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร., พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ก่อนเลย เพราะจะต้องเป็นความลับที่สุด

แต่ทว่า ก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เคยหารือกับ ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ เรื่อง การประกาศใช้กฎอัยการศึก เมื่อจำเป็น แต่ทว่าเขาก็ไม่ได้บอกใครก่อนว่าจะดีเดย์วันไหน

จนในวันที่เขาตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึก เมื่อตี 3 ของวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 โดยเขามาแจ้งให้ทราบในภายหลัง เมื่อประกาศกฎอัยการศึกแล้ว และตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบ (กอ.รส.) ขึ้น และตั้ง ผบ.สส., ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร. เป็นที่ปรึกษา กอ.รส.

จะเห็นได้ว่า ในเวลานั้น พล.อ.ธนะศักดิ์ ได้ออกเดินทางไปเยือนกองทัพปากีสถาน ตั้งแต่ 19-25 พฤษภาคม เพราะไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศใช้กฎอัยการศึก และต่อมาก็ตัดสินใจยึดอำนาจปกครองประเทศ

จน พล.อ.ธนะศักดิ์ ต้องรีบเดินทางกลับมาก่อนกำหนด และมาร่วมเป็นคณะ คสช. ในตำแหน่ง รองหัวหน้า คสช. เช่นเดียวกับ ผบ.ทร., ผบ.ทอ. และ ผบ.ตร.

การรัฐประหารครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ต้องวางแผนรัดกุม และต้องทำแบบ need to know ให้มีคนรู้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันการรั่วไหล ที่สำคัญคือ ต้องจับแกนนำ เพื่อป้องกันการต่อต้าน

แม้แต่บรรดา ผบ.หน่วยคุมกำลัง ก็รู้ก่อนล่วงหน้า แค่ 15-30 นาทีเท่านั้น ว่าจะรัฐประหาร เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งให้นำกำลังเข้ามาที่สโมสร ทบ. ถ.วิภาวดีฯ เพื่อจับกุมแกนนำกลุ่มต่างๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เชิญมาประชุมร่วมกันเพื่อหาทางออกเป็นวันที่สอง

โดยการนัดหารือครั้งนี้ ก็ถูกมองว่าเป็นแผนในการจับตัวแกนนำ ของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ทว่าหลอกให้ตายใจ เพราะไม่ได้จับกุมในวันแรก

เมื่อมีการรัฐประหารขึ้นมาจริงๆ ถ้าจะบอกว่าไม่ได้คิดการล่วงหน้าหรือวางแผนมาก่อนคงไม่ได้ เพราะทหารต้องเตรียมพร้อมสำหรับทุกหนทาง แต่สถานการณ์เป็นตัวกำหนด ว่าในที่สุดต้องรัฐประหาร เพราะไม่มีทางเลือกอื่น

ต้องบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีการคิดเตรียมไว้ทั้ง Plan A Plan B หรือแม้แต่ Plan C ว่า หากคุยและตกลงกันได้ และในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องปฏิวัติ แบบที่เรียกว่า ต้องเตรียมพร้อมทุกอย่างไว้แล้ว รอแค่ดูสถานการณ์ และการตัดสินใจเท่านั้น

จึงไม่แปลกที่ ในการประชุม 7 ฝ่ายวันที่สอง พล.อ.ประยุทธ์ จะกล่าวเปิดประชุม ออกตัวว่า “ผมจะรับผิดชอบทั้งหมดเพียงคนเดียว ไม่ว่ามันจะถูกหรือผิด” เพราะผมเป็นหนี้บุญคุณแผ่นดิน ที่จะต้องช่วยแก้ไขปัญหาและหาทางออก”

แต่ทว่า นั่นถือเป็นจังหวะที่ดีที่สุดที่ไม่ควรปล่อยให้พลาดไป เพราะหากไปตามจับแกนนำในภายหลัง ก็คงจะยาก นั่นจึงเป็นปัจจัยเร่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตัดสินใจ หลังจากที่เริ่มการประชุม 7 ฝ่าย ในเวลา 14.00 น. ในการคุยวงใหญ่ที่ส่อเค้าคุยกันไม่ได้ จน พล.อ.ประยุทธ์ ให้โอกาสฝ่าย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯ กปปส. และฝ่าย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. เข้าห้องไปพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว

เมื่อออกมาจากการพูดคุยกันแค่ 2 ฝ่าย มาสู่ห้องประชุมใหญ่ และรู้ผลว่าตกลงกันไม่ได้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ก็พูดว่า

“เมื่อไม่ยอมกันเลย ฝั่งนี้ก็ไม่ยอมเลือกตั้ง นี่ก็ไม่ยอมปฏิรูป รัฐบาลก็ไม่ยอมลาออก งั้นผมขออภัยที่จะต้องยึดอำนาจ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวท่ามกลางความตกใจ

ก่อนที่จะบอกให้ ฝ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง และวุฒิสภา ที่มาร่วมประชุมด้วยนั้น กลับไป ส่วนที่เหลือผมขอให้ทหารควบคุมตัวไว้

จากนั้นก็ชุลมุน ทหารพร้อมกำลังอาวุธครบมือก็เข้ามาควบคุมตัวแกนนำทั้งหมด พาเดินไปขึ้นรถตู้แล้วพาเข้าไปใน ร.1 รอ. บก.ของ คสช. ก่อนที่จะจับพวกเขาแยกย้ายกันไปควบคุมตัวตามเซฟต์เฮ้าส์ในหน่วยทหาร ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ยิ่งในเวลานี้ เขาออกคำสั่งคณะรัฐประหาร ในนาม National Council of Peace and Order มอบอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ให้แก่ตนเอง

ก่อนที่จะจัดโครงสร้าง คสช. ที่เปรียบเสมือนเป็นรัฐบาลทหาร โดยแบ่งงานให้ ผบ.สส., ผบ.ทร., ผบ.ทอ., ผบ.ตร. และนายทหารในกองทัพ รับผิดชอบสายงานต่างๆ ประหนึ่งเป็น รองนายกรัฐมนตรี คุมกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ โดยให้ปลัดกระทรวงทุกกระทรวงและข้าราชการประจำ ทำหน้าที่แทนรัฐมนตรี ในแต่ละกระทรวง

ที่สำคัญคือตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ผูกมัดกำหนดเวลาในการหาตัวนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลพลเรือนชั่วคราว หรือแม้แต่การเลือกตั้งเลย

ส่วนการเลือกตั้งเมื่อใดนั้น แล้วแต่สถานการณ์ ไม่ได้กำหนด จนกว่าบ้านเมืองจะเรียบร้อย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุในการประชุมกับปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนราชการ และบรรดาเอกอัครราชทูต และผู้ช่วยทูตทหารประเทศต่างๆ เมื่อ 23 พฤษภาคม ว่า คสช. จะดูแลประเทศไปในระยะหนึ่งก่อน โดยไม่ได้ระบุว่า นานแค่ไหน

แต่บอกว่าจนกว่าบ้านเมืองจะสงบเรียบร้อย และตั้งสภาปฏิรูป เพื่อทำการปฏิรูปการเมืองและทุกๆ ด้าน และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงนำไปสู่การเลือกตั้ง

มีคำถามมากมายว่า พล.อ.ประยุทธ์ คิดวางแผนที่แยบยลนี้ได้อย่างไร มีใครเป็นที่ปรึกษา เพราะเก็บเงียบ ลับอย่างมาก ตั้งแต่การประกาศใช้กฎอัยการศึก เพราะแม้จะรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมใช้กฎอัยการศึกตั้งแต่เกิดเหตุรุนแรง ยิง กปปส. ที่อนุสาวรีย์ฯ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ออกแถลงการณ์ 7 ข้อ ที่ขู่จะมีการใช้ปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบ

แต่ไม่มีใครคาดคิด ว่าเขาจะประกาศใช้กฎอัยการศึกในตี 3 ของวันที่ 20 พฤษภาคม นั้นเลย เพราะยังไม่ได้มีเหตุการณ์รุนแรง หรือที่จะเรียกว่า จลาจลเกิดขึ้น แต่ทว่า ผบ.หน่วยทหาร ที่คุมกำลัง รู้ดีว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศกฎอัยการศึกแล้ว ก็มีโอกาสที่จะรัฐประหาร พวกเขาจึงเตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนแล้ว

อีกทั้งในการแถลงข่าวเมื่อใช้กฎอัยการศึก พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ยอมตอบคำถามที่ว่า ก้าวต่อไปจะนำไปสู่การรัฐประหารหรือไม่ กล่าวแค่ว่า “คำถามแบบนี้ใครเขาจะตอบกัน”

ท่ามกลางข่าวสะพัดว่า กุนซือของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ในด้านกฎหมาย การร่างคำสั่งต่างๆ นั้น ก็คือมือกฎหมายชั้นสุดยอดของไทย อย่าง ดร.วิษณุ เครืองาม และ นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ นั่นเอง

ส่วนในด้านการทหารนั้น คือ บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตรอง ผบ.ทบ. เพื่อน ตท.12 ของเขา ที่เกษียณไปเมื่อกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งเป็นคนมีบทบาทสำคัญเคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อ 19 กันยายน 2549 และการกระชับพื้นที่คนเสื้อแดงปี 2553

และ บิ๊กต๊อก พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. นายทหารน้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นมือทำงานลับให้มาตลอด

นั่นทำให้ พล.อ.ไพบูลย์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดูแลฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ของ คสช. ด้วย และมีชื่อในคณะรัฐมนตรีด้วย

แม้ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเคยบอกว่า “รัฐประหารไปก็ไม่จบ” แต่เขาก็ชี้แจงว่า มันเป็นความจำเป็นที่ต้องยึดอำนาจการปกครองประเทศ เพราะมีปัญหาที่ไม่มีทางออก และเกิดความขัดแย้ง ความวุ่นวาย ประชาชนเดือดร้อน และเพื่อป้องกันเหตุรุนแรง เนื่องจากมีการข่าวที่มีการนำอาวุธสงครามจำนวนมาก มาก่อเหตุอีก

ที่สำคัญ คือ บทเรียนจากการรัฐประหารหลายครั้งในอดีต จนมาครั้งล่าสุด 19 กันยายน ได้กลายเป็นบทเรียนที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำมาปรับเปลี่ยน การรัฐประหารของเขา จนมีการใช้ “ยาแรง” มากขึ้น

โดยเฉพะการใช้อำนาจในการเรียกตัว และควบคุมตัว แกนนำกลุ่มต่างๆ พรรคการเมือง อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต รมต. และแกนนำพรรคเพื่อไทย คนใกล้ชิด กุนซือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และฝ่าย กปปส. พรรคประชาธิปัตย์ และย้อนหลังไปถึงคนสำคัญที่มีบทบาทตั้งแต่สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ก่อการรัฐประหารปี 2549 และฝ่ายมวลชน เช่น นายสนธิ ลิ้มทองกุล รวมมาถึงนักวิชาการสายนิติราษฎร์

รวมทั้งการใช้อำนาจในการควบคุมสื่อมวลชน ทั้งการสั่งปิด และการเซ็นเซอร์รายการที่วิจารณ์การเมือง โดย คสช. ต้องการให้เสนอข่าวด้านเศรษฐกิจ บันเทิง และเปิดเพลง มากกว่า

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการตอนหนึ่ง ว่า รู้ตัวว่าถูกด่าที่ปิดทีวี เพราะคนไทยติดละคร เขาจึงเร่งในการเปิดสัญญาณให้ฟรีทีวีก่อน

ท่ามกลางกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาต่อต้านการปฏิวัติทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดย คสช. สั่งให้ทหารจัดการจับกุมทั้งหมด รวมทั้งการกวาดล้างอาวุธสงคราม และจับกุมแกนนำคนเสื้อแดงในพื้นที่ด้วย

สถานการณ์ที่ใช้ “ยาแรง” เพราะมีการต่อต้าน มีการใช้กองกำลังติดอาวุธ แต่ทว่าก็ทำให้เป็นห่วงกัน ว่าการต่อต้านรัฐประหารจะมุดลงเป็นขบวนการใต้ดิน และการต่อสู้ในทางโซเชี่ยลมีเดีย ที่ คสช. พยายามปิดและอุดทุกช่องโหว่

แต่ก็ต้องยอมรับว่า การรัฐประหาร ครั้งนี้ ได้รับการตอบรับในระดับหนึ่ง เพราะฝ่าย กปปส. และแนวร่วมนั้นแฮปปี้อยู่แล้ว ส่วนประชาชนก็ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะเบื่อกับสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น แต่เมื่อทหารอาสาออกมาแก้ปัญหาด้วยการรัฐประหาร จึงทำให้เกิดความหวัง แต่ก็ถูกจับตามองว่าจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ในขณะเดียวกัน กลุ่มต่อต้านปฏิวัติที่ออกมาตลอดนั้น ถูกฝ่าย คสช. มองว่ามีการจ้างมา และมองว่าเป็นพวกคนเสื้อแดงแฝงกายมามากกว่า ฝ่าย คสช. จึงเตือนว่าจะใช้มาตรการที่เข้มข้นต่อพวกที่ขัดคำสั่ง คสช. ต่อมารูปร่างหน้าตาของสภาปฏิรูป และสภานิติบัญญัติฯ ที่ตั้งขึ้นนั้น ก็เป็นตัวเฉลยว่า เครือข่ายคือใครบ้าง

ส่วนการแบ่งงานหลังยึดอำนจ ครั้งนั้น ได้มีการจัดประเภทออกเป็น 6 กลุ่มงาน เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบด้วย

1.กลุ่มงานความมั่นคงมี “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ในฐานะ รองหัวหน้า คสช. เป็นหัวหน้าฝ่าย และมี “บิ๊กโบ้” พล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) ลูกชาย พล.อ.สายหยุด เกิดผล แกนนำรัฐบุคคล ทำหน้าที่เป็นรองหัวหน้าฝ่ายดูแล 4 หน่วยงานหลัก คือ กระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการต่างประเทศ , กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

2. กลุ่มงานสังคมและจิตวิทยา มี “บิ๊กเข้” พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย (ตท.13) ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. เป็นหัวหน้าฝ่าย และมี “บิ๊กน้อย” พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ (ตท.14) รอง เสธ.ทบ. เป็น รองหัวหน้าฝ่าย รับผิดชอบ 7 หน่วยงาน คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

3. กลุ่มงานเศรษฐกิจ “บิ๊กจิน” พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง (ตท.13) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. เป็นหัวหน้าฝ่าย และมี “บิ๊กฉัตร” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ (ตท.12) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) เพื่อนร่วมรุ่น “บิ๊กตู่” มาเป็นรองหัวหน้าฝ่าย รับผิดชอบ 7 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงคมนาคม

4.กลุ่มงานฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมี “บิ๊กต๊อก” พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา (ตท.15) ผู้ช่วยผู้บัญชาการหทารบก (ผช.ผบ.ทบ.) เป็นหัวหน้าฝ่าย และมี “บิ๊กเบี้ยว” พล.ท.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข (ตท.15) รอง เสธ.ทบ. เป็นรองหัวหน้าฝ่าย รับผิดชอบ 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงยุติธรรม, สำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

5. กลุ่มกิจการพิเศษ “บิ๊กอู๋” พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว (ตท.13) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ถูกย้ายเข้ากรุไปเป็นที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้า คสช. เป็นหัวหน้าฝ่าย และมี “บิ๊กชาติ” พล.ท.สุชาติ หนองบัว (ตท.15) ผู้ช่วย เสธ.ทบ. เป็นรองหัวหน้าฝ่าย รับผิดชอบ 20 หน่วยงาน คือ สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.), สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.), สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.), สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.), สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.), กรมประชาสัมพันธ์ (กปส.), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงานราชเลขาธิการ (สนร.), สำนักพระราชวัง, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ราชบัณฑิตยสถาน, สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมิน

6. ส่วนงานขึ้นตรงกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ ได้แก่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.), สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.)

พร้อมกับให้ “บิ๊กโด่ง” พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร (ตท.14) รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) ในฐานะ เลขาธิการ คสช. เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด รับผิดชอบหน่วยงานราชการที่ขึ้นตรงกับ “หัวหน้า คสช.” รวมทั้งกำกับดูแลการปฏิบัติงาน คมช. โดยมี “บิ๊กตั๋น” พล.ท.ชาติอุดม ติตถะสิริ (ตท.15) รอง เสธ.ทบ. เป็นรองเลขาฯ คสช.

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงถึงอำนาจและโครงสร้างดังกล่าวว่า “คสช. ที่ได้แบ่งงานเป็น 3 ระดับ 1.ระดับนโยบาย ที่มี คสช. ประกอบด้วย หัวหน้า คสช. รองหัวหน้า คสช. ทั้ง 4 ท่าน และ เลขาฯ คสช. 1 ท่าน รวมถึงคณะที่ปรึกษาและประสานงานด้านความมั่นคง 2.ระดับแปรงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ คือ กลุ่มงานทั้ง 6 ด้าน 3.ระดับปฏิบัติ คือ ส่วนราชการขึ้นตรงกับ คสช. เช่น กระทรวงต่างๆ และกองกำลังรักษาความสงบ”

ขณะเดียวกัน “พล.อ.ประยุทธ์” ได้เซ็นคำสั่ง คสช. (เฉพาะ) ที่ 42/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา คสช. เพื่อให้การบริหารราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามประกาศฉบับดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ คือ

1.”บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน 2.”บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. รองประธาน 3.”หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองประธาน 4.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา 5.นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษา 6.นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา 7.นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษา 8.พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ อดีต ผบ.ทอ. ที่ปรึกษา 9.พล.อ.นภดล อินทปัญญา ที่ปรึกษา 10.พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีต รอง ผบ.ทบ. ที่ปรึกษาและเลขานุการ

พร้อมให้คณะที่ปรึกษา คสช. มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 1.ให้ข้อเสนอแนะต่อ คสช. ตามเรื่องที่อยู่ในขอบเขตอำนาจความรับผิดชอบ และตามที่ได้รับมอบหมายจาก คสช. 2.ให้ความเห็นตามที่ คสช. ขอคำปรึกษา 3.แต่งตั้งคณะบุคคลทำหน้าที่คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และเจ้าหน้าที่ตามความเหมาะสม 4.การเสนอเรื่องใดๆ ต่อ คสช. ให้เสนอต่อที่ปรึกษา คสช.