“อนุสรณ์ อุณโณ” มอง “รัฐไทย” ผ่านโควิด-19 ไม่เข้าใจ ไม่ใส่ใจ ไม่ไว้ใจ ไม่ให้ค่า “ประชาชน”

หากพิจารณาข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนา ก็คงต้องยอมรับว่ามาตรการปิดเมืองของรัฐบาลเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเปรียบเสมือน “ยาแรง” นั้นได้ผล

แต่เมื่อ “ยาแรง” นั้นทำให้ผู้คนจำนวนมากในสังคมได้รับ “ผลข้างเคียง” อย่างหนักหนาสาหัสไม่แพ้เรื่องโรคภัย คำถามคือ รัฐบาลได้ให้ความสนใจและใส่ใจประชาชนเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน?

ต่อจากนี้ เป็นบทสนทนากับ “รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ” อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงประเด็นสำคัญดังกล่าว

: รัฐบาลต้องรับผิดชอบและเปลี่ยนท่าทีต่อประเด็นการฆ่าตัวตายของประชาชนในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 หรือไม่? อย่างไร?

ถ้าเกิดเราไปดูในกรณีของการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีการบังคับใช้มาตรการเข้มงวดส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำมาหากิน ซึ่งกระทบอย่างมหาศาล

ตรงนี้ถ้าเกิดว่ามันมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างจะกระจ่างชัด มันก็เป็นสิ่งที่รัฐซึ่งเป็นผู้ออกนโยบายสาธารณะ แล้วทำให้สภาพชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ประสบความทุกข์ยากลำเค็ญ แล้วนำไปสู่การจบชีวิตตนเองในที่สุด จำเป็นจะต้องรับผิดชอบ

แต่ประเด็นของมันอยู่ตรงนี้ ผมรู้สึกว่าที่ผ่านมามันเป็นเรื่องของทัศนะและท่าที รวมไปถึงวิธีการที่จะรับมือกับการฆ่าตัวตาย

ถ้าเราไปฟังดูครั้งแรกสุด ที่เริ่มมีการพยายามชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการฆ่าตัวตายกับการบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน

แรกเริ่มเดิมทีมันมีความพยายามที่จะปฏิเสธความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลชุดนี้

แต่หลังจากที่มีการพูดกันหนาหูมากขึ้น ก็เริ่มที่จะยอมรับว่ามันเกี่ยวกัน แต่วันแรกที่ยอมรับว่ามันมีความเกี่ยวกัน ถ้าเกิดฟังคำแถลงของโฆษก ศบค. ก็พยายามจะชี้ให้เห็นอีกว่า ถึงจะสัมพันธ์กัน แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตอนปี 2540

ข้อแนะนำก็คือว่า เป็นการให้แต่ละคนช่วยกันสอดส่องดูแล ใครมีอาการอย่างไรก็ช่วยป้องกันและรายงานให้กับแพทย์ทราบ และนำไปบำบัดรักษาต่อ

เราไม่เห็นความพยายามที่จะเปลี่ยนมาตรการที่มันจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาในระยะยาวที่สุด

คือจริงๆ แล้วปัญหาการฆ่าตัวตายมันไม่ได้เป็นปัญหาทางจิตวิทยาเพียงอย่างเดียว ในทางสังคมศาสตร์เรียนรู้กันมานานแล้วว่าปัญหาการฆ่าตัวตายมันเป็นปัญหาทางสังคม

เพราะต่อให้สิ่งที่เกิดขึ้นมันจะอยู่ในระดับปัจเจก และวิธีการแก้ปัญหาหรือคลี่คลายไม่ให้คนมีปัญหาทางจิตแล้วนำไปสู่การฆ่าตัวตาย มันใช้วิธีการบำบัดรักษาทางจิต แต่ที่สุดแล้วถ้าเงื่อนไขหรือปัจจัยในเชิงโครงสร้างมันไม่ถูกแก้ ยังไงก็แก้ไม่ได้

ผมไม่รู้ว่าเป็นความโชคร้ายของประเทศไทยหรืออย่างไร ที่นอกจากเราจะได้รัฐบาลที่คล้ายกับนิยมการใช้อำนาจในการแก้ไขปัญหา

รัฐบาลชุดนี้ก็ยังคล้ายๆ กับว่าหยิบเอากลุ่มผู้เชี่ยวชาญซึ่งมองปัญหาแบบแยกส่วน แล้วก็ลดทอนลงไปให้เป็นปัญหาของบุคคลมาทำงาน

ซึ่งตรงนี้มันก็สมประโยชน์กัน ถ้ารัฐบาลไม่ต้องการความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ที่จะมาวิพากษ์วิจารณ์แนวทางในการแก้ปัญหาหรือนโยบายที่ก่อให้เกิดเงื่อนไขปัจจัยในเชิงโครงสร้างที่มันกดทับผู้คน

: รัฐแบบไหนที่ต้องให้ประชาชนใช้ความตายเป็นวิธีการพิสูจน์ความยากจนเดือดร้อน?

มันสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของรัฐไทยว่าเป็นรัฐที่ไม่เคยเข้าใจ ไม่เคยใส่ใจ และไม่เคยให้ค่าความสำคัญของประชาชนที่อยู่ในรัฐของตัวเอง

เพราะมันเป็นรัฐที่สร้างขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง มันไม่ใช่ “รัฐประชาชาติ” แต่มันเป็นรัฐอะไรก็ไม่รู้ที่ตั้งขึ้นมา แล้วก็ตอบโจทย์ผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม แต่มันไม่ใช่ความผาสุกและกินดีอยู่ดีของพลเมือง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ฉะนั้น มันจึงสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจตั้งแต่ตรงไหน คือคุณไม่เข้าใจว่าชีวิตของคนปกติเขาอยู่กันอย่างไร คุณมีแต่ข้อมูลที่ได้มาจากหน่วยราชการ ซึ่งก็เป็นข้อมูลที่ไม่มีคุณภาพ แล้วคนเหล่านี้ก็ไม่มีความเข้าใจชีวิตของประชาชนเลย

จริงๆ แล้วตัวกลไกในการบริหารรัฐนี้เราก็จะเห็นได้ว่ามันคือระบบราชการ แล้วระบบราชการไทยมันไม่ใช่แปลมาจาก “Civil Servant” ในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่า “คนใช้ของประชาชน” ฉะนั้น เราจึงเห็น Mentality (วิธีคิด) ของรัฐไทยว่าไม่เคยมีประชาชนเป็นตัวตั้งต้นมาตั้งแต่แรก มันเป็นเรื่องอื่นเสียมากกว่า ส่วนความผาสุกและกินดีอยู่ดีของประชาชนเป็นเรื่องรองมากๆ

ฉะนั้น มันจึงวางอยู่บนความไม่เข้าใจ ว่าจริงๆ แล้วประชาชนเป็นแบบไหน พอไม่เข้าใจก็นำมาสู่ปัญหา เมื่อประชาชนเรียกร้องอะไรก็จะไม่ไว้ใจ คือนอกจากไม่เข้าใจแล้ว ก็ยังไม่ไว้ใจอีก กลัวว่าจะสั่นคลอนฐานอำนาจของตัวเอง

พอมันเป็นรัฐที่ไม่พยายามจะเข้าใจ ไม่ใส่ใจ ไม่ไว้ใจ ไม่ให้ค่าความสำคัญของประชาชน มันจึงเป็นรัฐที่ไม่พร้อมจะรับฟังประชาชน มันเป็นรัฐที่นิยมการสั่งและการสอน เห็นได้จากการแถลงข่าวหรือการให้สัมภาษณ์ของคนที่เกี่ยวข้องทั้งหลายแหล่

ตั้งแต่เกิดวิกฤตครั้งนี้ขึ้นมาก็จะมีคำสั่ง 1, 2, 3, 4, 5 ว่าประชาชนจะต้องทำตัวอย่างไร มีคำสอน 1, 2, 3, 4, 5 ว่าประชาชนควรจะประพฤติปฏิบัติตัวแบบไหน

หลายเรื่องก็เป็นเรื่องของศีลธรรมจรรยา และไม่เกี่ยวอะไรกับการป้องกันแก้ไขการระบาดของโรคนี้

ซึ่งตรงนี้เราขาดทัศนะของรัฐที่มีต่อประชาชนโดยเฉพาะคนจน ที่จะรับฟังเขาอย่างเข้าอกเข้าใจและเห็นใจ พอเป็นปัญหามากตรงนี้ ผมคิดว่ามันจะมี 2 ข้อที่จะสร้างปัญหากับคนจนอย่างมากที่สุด

: ชะตากรรมของคนจนในสังคมไทยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร?

ในทางเศรษฐกิจเราก็เห็นอยู่ ประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วคนอยู่ใน “เศรษฐกิจนอกระบบ” จำนวนมหาศาล การที่คนอยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบจำนวนมหาศาลได้ที่ผ่านมา ก็เพราะว่าสังคมไทยมันมีลักษณะเปิดและมีความยืดหยุ่นอยู่สูง มันก็เลยเปิดโอกาสให้คนอยากจะทำนู่นทำนี่อะไรก็ได้

แต่พอเกิดวิกฤตนี้ขึ้นมา มันทำให้เงื่อนไขที่หล่อเลี้ยงคนที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบเอาไว้มันพังทลาย พอพังทลายจะทำอย่างไร

หนึ่ง ก็คือว่าความเปิดหรือความยืดหยุ่นทั้งหลายที่มันเคยโอบรับประคับประคองคนที่อยู่นอกระบบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจน มันหายไป พอมันหายไปก็ไม่ต้องประหลาดใจอะไร เพียงแค่วันสองวันคุณก็อยู่ไม่ได้แล้ว คุณก็ต้องไปต่อแถวเพื่อรับอะไรก็ว่าไป

ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นปัญหามาก ฉะนั้น ถ้ายังคงมาตรการเข้มงวด ปิดพื้นที่ทางสังคมและเศรษฐกิจ ไม่มีความยืดหยุ่น คนที่จะตายโดยเร็วก็คือคนจนซึ่งอยู่นอกระบบ

สอง ก็คือว่าพอจะไปช่วย รัฐใช้ช่องทางกลไกปกติ ใช้ระบบราชการ ใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่ของระบบราชการ และฐานข้อมูลที่มีอยู่มันเป็น “คนที่อยู่ในระบบ” ไง ซึ่งก็อย่างที่บอก คนจนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในระบบ ฉะนั้น ถ้าเกิดว่าคุณจะใช้กลไกราชการแบบปกติ คุณจะใช้ฐานข้อมูลแบบปกติ มันไม่มีทางที่จะโอบรับคนยากจนเอาไว้ได้

ฉะนั้น ถ้าเกิดว่ายังดำเนินมาตรการที่ปิดกั้นต่อไป แล้วแก้ปัญหาผลกระทบด้วยกลไกราชการและวิธีการปกติ คนที่จะตายในวันพรุ่งนี้ก็คือคนจน

เป็นโจทย์ใหญ่มากๆ ที่คนจนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด