บทบาทของปรัชญาและศาสนา ต่อโรคโควิด-19 กับคำถามที่สำคัญต่อรัฐ

ลองตั้งโจทย์แล้ว ชวน ดร.พุฒวิทย์ บุนนาค อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มาสนทนาถึงบทบาทและหน้าที่ของ “ปรัชญา” ต่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ในภาพกว้างๆ ที่หลายคนคาดการณ์กันไว้ว่าหลังจากนี้ชีวิตของมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล?

รวมถึงอาจารย์พุฒวิทย์ชวนตั้งคำถามสำคัญที่มีต่อรัฐสำหรับวิกฤตนี้

ดร.พุฒวิทย์ บุนนาค อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

อ.พุฒวิทย์เล่าย้อนว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วผมไปเห็นบทความหนึ่งจากหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ ที่แจกตามรถไฟฟ้าฉบับหนึ่ง เขียนพาดหัวเอาไว้ว่า “นักอนาคตวิทยาชาวอังกฤษ” ทำนายว่า อีก 50 ปีข้างหน้า มนุษย์จะไม่ต้องออกจากบ้าน ผมก็คิดว่าจะบ้าหรือเปล่า ทำไมคนถึงจะไม่ต้องออกจากบ้าน

แล้วเวลาผ่านมา 10 ปีเราก็เริ่มเห็นแล้วว่ามันมีปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงของโลกที่อาจจะทำให้เหตุการณ์ที่บอกว่าในอีก 50 ปีมันจะเกิดขึ้นจริง ซึ่งเรื่องโรคระบาดถ้าเป็นสมัยก่อนมันอาจจะไม่น่ากลัวเท่าทุกวันนี้ มันจะระบาดได้ช้ากว่านี้ มันจะมีเวลาให้สังคมจัดการกับการระบาดชะลอได้หรือทำให้บางสังคมเตรียมตัวได้ทัน

แต่วิกฤตครั้งนี้ เริ่มมีคนกลับมาพูดเรื่อง “คนล้นโลก” อีกครั้ง จากวันนี้ คนก็จะเห็นเองว่าโอกาสที่โรคระบาดมันจะมีขึ้นอีกในอนาคตมันจะเป็นไปได้มากขึ้นอีกเรื่อยๆ ถ้าชีวิตยังเป็นแบบเดิมนี้

มันก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่าพวกเราจะต้องเตรียมตัวเข้าสู่โลกใหม่ ยุคที่การสื่อสาร 4.0 / 5.0 มันจะมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์มากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ

พิจารณากรอบความคิดในมนุษยวิทยา เรามีการพูดถึงพิธีกรรม “การเปลี่ยนผ่านช่วงวัย” Rite of passage คุณจะต้องตระหนักรู้ว่าในช่วงวัยเด็กก้าวสู่วัยผู้ใหญ่มีความสำคัญ ทำให้ตระหนักว่าชีวิต ของคนที่ผ่านพิธีกรรมนี้แล้วจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ซึ่งมักจะมีความรุนแรงอยู่ในพิธีกรรมเพื่อทำให้ตระหนักว่าคุณได้ถูกเปลี่ยน เช่น พิธีในศาสนาอิสลาม การสุหนัด หรือสมัยก่อนมีพิธีโกนจุก เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณกลายมาเป็นคนใหม่ของสังคม มีแคแร็กเตอร์ใหม่พร้อมที่จะอยู่ และเผชิญโลกความเป็นจริงได้

ในโลกของผู้ใหญ่ที่ต้องมีความรับผิดชอบ มีภยันตราย การเรียกร้องให้คุณต้องเติบโตขึ้น มันก็เหมือนกับการเตรียมตัว ให้สามารถที่จะอยู่กับโลกสมัยใหม่ได้ดีขึ้น

ผมเลยมองว่าหลังจากโรคระบาดนี้สงบลง ภาพโดยรวมสังคมเราถ้ามองในแง่บวก สถานการณ์พิเศษ เสมือนการเตรียมความพร้อมให้คนที่ยังไม่พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ “โลกใหม่” ตื่นตัวมีความพร้อมขึ้น สถานการณ์โดยรวมก็จะยกระดับ โดยเฉพาะทักษะชีวิต ของคนขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง

ส่วนผู้ที่มีข้อวิตกว่ามนุษย์จะเปลี่ยนไปตลอดกาลในด้านความสัมพันธ์ ถ้าย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามนุษย์เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เพียงแต่โรคนี้เป็นตัวเร่ง ทำให้เรามองเห็นชัดเจนว่ามันเปลี่ยนรวดเร็วขึ้น ถ้ามองในแง่สัจธรรมคือมันเปลี่ยนแบบนี้อยู่แล้วตลอดเวลา

เช่น ตัวบุคคลที่ต้องเผชิญกับโรคร้าย ยกตัวอย่างคนเคยเป็นนักกีฬา เคยมีสุขภาพดีแล้วกลายมาเป็นผู้ป่วยติดเตียงอันนี้คือความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเป็นแบบสุดๆ นักธุรกิจทำธุรกิจเจ๊งชีวิตก็เปลี่ยน ยาจกถูกล็อตเตอรี่ชีวิตก็เปลี่ยนอยู่แล้ว

ฉะนั้น “ความเปลี่ยนแปลง” ไม่ใช่เรื่องประหลาด เราจะเห็นได้ว่า บางคนทนสภาวะเปลี่ยนแปลงได้ สบายๆ เพราะเขาประสบความเปลี่ยนแปลงพลิกผันมาแล้วไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า หรือในด้านศาสนามีความเชื่อเรื่องโลกนี้โลกหน้าในอิสลามเพื่อให้คนรอรับความเปลี่ยนแปลง หรือคริสต์ศาสนา การเตรียมพร้อมสู่โลกหน้าโลกสวรรค์ที่ต้องไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า ในพุทธศาสนามีเรื่องความเชื่อคำสอนอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นการเตรียมพร้อมอยู่ไม่กลัวเรื่องความเปลี่ยนแปลง

แต่ปัญหาสำคัญที่ต้องมองในเวลานี้คือ แต่ละคนแต่ละประเทศ แต่ละส่วนของสังคม ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ต่างมีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน

บางคนแทบไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเลยใช้ชีวิตอยู่ในบ้านอยู่แล้วแทบไม่ได้รับผลกระทบ

ผิดกับบางคนหรือบางส่วนของสังคมที่เขาไม่สามารถ เปลี่ยนได้โดยต้นทุนชีวิตต้นทุนเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเขาไม่พร้อม ทำให้หลายคนเผชิญกับสิ่งที่ไม่เท่ากันกับสถานการณ์พิเศษนี้

ปัญหานี้เองนำมาสู่การมองในด้าน “จริยศาสตร์” ได้ต่อเพราะมีความไม่เท่าเทียมในต้นทุนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์นี้ ของแต่ละปัจเจกบุคคล

การมองเชิง “จริยศาสตร์” กับโควิด-19 นี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปพูดเรื่องการเมือง

กรณีนี้มันแยกกันไม่ออกกับโจทย์ของรัฐบาล มันจะต้องมีสิ่งที่ผู้นำต้องตัดสินใจใช้กลยุทธ์ (สำหรับกรณีนี้มีหนังสือ Classic อยู่เล่มหนึ่ง ชื่อเรื่องว่า Good Strategy Bad Strategy (Richard P. Rumelt) ที่สะท้อนว่าการออกนโยบายใดๆ จะต้องมีผู้ได้รับผลกระทบ จะต้องมี loser หมายถึงผู้ที่เสียผลประโยชน์ ต้องมีผลกระทบตามมาเสมอ

หากเปรียบเป็นบริษัท ถ้ามีการเปลี่ยนทิศทางการบริหาร ผลคือแผนกไหนจะถูกยุบ ใครจะถูกให้ออก ใครจะถูกชะลอหรือลดความสำคัญลง นี่คือ loser ของนโยบาย

จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรัฐบาลยังมีปัญหาอยู่ในทุกวันนี้ ถ้าเราดูจากหน้าจอทีวีเราจะเห็นว่าทุกวันมี “วอร์รูม” สิ่งที่เขาให้ความสำคัญคือยอดผู้ติดเชื้อใหม่ ยอดคนป่วยหาย ยอดคนเสียชีวิตจากโรค ตัวเลขลดเหล่านี้คือสิ่งที่รัฐบาลตั้งเป็นโจทย์ของเขาและสู้กับโรคนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าความสำเร็จของเขา คือการวัดจากตัวเลขแล้วเอามาโฆษณาทุกวัน

ถ้าดูเพลินๆ เหมือนจะโอเคว่ามีความสำเร็จระดับหนึ่ง

แต่เราต้องไม่ลืมว่าทุกนโยบาย ไม่ว่าจะนโยบายที่ดีหรือไม่จะต้องมี loser

ปัญหาคนเหล่านี้คือใคร แล้วจะจัดการกับเขาอย่างไร เราก็เห็นว่า หากมีการออกมาตรการเข้ม คนที่ไปกับมาตรการนี้ไม่ได้ คนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้มีจำนวนมาก

ฉะนั้น หน้าที่ของ “ปรัชญา” คือ การกลับไปสู่การทำห้องทดลองทางความคิด ย้อนกลับไปพูด ตั้งแต่เรื่องเบสิก ตั้งคำถามพื้นฐานหน้าที่ของรัฐ รวมถึงสถานะหรือนัยยะในการจัดระบบสุขภาพ-สวัสดิการทางสาธารณสุข ขอบเขตที่แท้จริงคืออะไร?

เมื่อมองสาเหตุของการมีรัฐ คือคุณจะต้องดูแลสุขทุกข์ของประชาชน

ถ้าสนใจแต่เรื่องตัวเลขสุขภาพอย่างเดียว เอาสุขภาพตั้ง เป็นเป้าหมาย คนอื่นหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา เช่น เรื่องคุณค่า-ความสัมพันธ์-เศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่จะต้องได้รับผลกระทบ เหล่านี้ไม่เกี่ยวกับสุขภาพ ก็จะถูกละเลย

เราก็เลยเห็นความไม่ยุติธรรมในการแบ่งสรร ประสิทธิภาพของการบริหาร

คําถามที่ผมจะมีต่อ เรื่องเหล่านี้ก็คือว่ายุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้ ไม่มีใครห้ามให้มีเพียงแค่ยุทธศาสตร์เดียว ปัญหาของรัฐ ณ ตอนนี้คือโรคระบาด คุณจะมีแผนการในการจัดการควบคุม

ตัวเลขก็ทำไป แต่ทำไมคุณไม่มีแผนยุทธศาสตร์ที่จะมี War room ลดความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดจากนโยบายที่คุณเป็นเจ้าของอยู่

ทำไมคุณไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจะเยียวยา ในวอร์รูมชุดที่มีหมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ก็เป็นเรื่องหนึ่ง

การที่จะมีอีกวอร์รูมหนึ่ง เอาตัวเลขมาโชว์ว่าเราได้ช่วยคนที่ไม่สามารถเข้าถึงเงิน 5,000 บาทได้อย่างไรบ้าง วันนี้ช่วยได้กี่คน ตัวเลือกข้อร้องเรียนลดลงวันละกี่ราย

ถ้ามันมีอีกวอร์รูมหนึ่ง โดยทำคู่ขนานไปก็ได้มิใช่หรือ คุณไม่จำเป็นต้องมีแผนยุทธศาสตร์เดียว เพราะปัญหามันไม่ได้มีแค่เรื่องโรคเพียงแค่นั้น

สัปดาห์ก่อน ทางสมาคมปรัชญาและศาสนามีการจัดเสวนาเรื่องโควิด อ.ชาญณรงค์ บุญหนุน หนึ่งในอาจารย์ที่ไปร่วมเสวนา ได้พูดเรื่องหนึ่งและผมนำมาคิดต่อ คือว่าบทบัญญัติในพระธรรมวินัยของพุทธศาสนามันมีอยู่ข้อหนึ่ง คือเรื่องวินัยการเข้าห้องน้ำ

พระพุทธเจ้าวางวินัยไว้อย่างนี้ว่า จะเอาลำดับอาวุโสมาเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าใครจะเข้าห้องน้ำก่อนไม่ได้

คำถามคือ แล้วจะใช้เกณฑ์อะไร ผมมาคิดต่อว่าเรื่องของความจำเป็นความเร่งด่วนของแต่ละบุคคลมาเป็นมาตรฐานได้หรือไม่

ซึ่งในที่สุดมันก็จะไปโยงกับทฤษฎีความยุติธรรม

ที่สำคัญมีพุทธพจน์หนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้ทำนองว่า ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง อันเนื่องจากทรงเสด็จไปที่ต่างๆ พระพุทธเจ้าพบคนหิว ต้องรักษาอาการท้องหิวให้หายก่อน ให้คลายทุกข์ก่อน แล้วเรื่องอื่นมาทีหลัง

ฉะนั้น จึงกลับมาที่เงินเยียวยา 5,000 บาท ที่รัฐบาลแจกจ่าย จึงต้องพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญก่อน สำหรับคนที่ท้องหิว ต้องแจกให้ได้มากที่สุด

แต่คำถามที่รัฐบาลถูกตั้งข้อสงสัยจากสังคมคือการแจกอย่างมีประสิทธิภาพโดยมีการคัดกรอง

คำถามสำคัญคือว่า มันใช่สิ่งที่ควรจะต้องโฟกัสหรือไม่ในช่วงเวลาที่คนลำบากและท้องหิว