เศรษฐกิจ / ทางเลือกผ่าตัดใหญ่การบินไทย ล้มละลาย-พ้นรัฐวิสาหกิจ โมเดลฟื้นแปรรูป รสก.ต้วมเตี้ยม?

เศรษฐกิจ

 

ทางเลือกผ่าตัดใหญ่การบินไทย

ล้มละลาย-พ้นรัฐวิสาหกิจ

โมเดลฟื้นแปรรูป รสก.ต้วมเตี้ยม?

 

สิ้นสุดการรอคอยสำหรับการฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ยืดเยื้อมายาวนาน ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่เสนอการฟื้นฟูกิจการบินไทย ใน 2 ประเด็นหลัก คือ

  1. ให้ลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในการบินไทยจาก 51% เหลือ 48% เท่ากับการบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การฟื้นฟูกิจการมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยสัดส่วนหุ้นที่ลดลงจะถูกขายต่อให้กองทุนวายุภักษ์เข้ามาถือหุ้น

และ 2. ให้การบินไทยเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ล้มละลาย

โดยผ่านกระบวนการศาลล้มละลายกลาง

 

เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า

“ครม.และ คนร.ตัดสินใจเรื่องการบินไทย โดยใช้แผนฟื้นฟูการบินไทย โดยจะยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง และหามืออาชีพมาแก้ไขและปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล ยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก ไม่ต้องการลอยแพพนักงานการบินไทยกว่า 2 หมื่นคน แต่มั่นใจว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูแล้วการบินไทยจะกลับมาเป็น ‘สายการบินแห่งชาติ’ นำชื่อเสียงและเป็นทูตสันถวไมตรีเผยแพร่ความเป็นไทยต่อไป และย้ำว่า รัฐบาลยืนยันจะสนับสนุนแผนฟื้นฟูบินไทยต่อแม้การบินไทยจะไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอีกแล้วก็ตาม”

ด้านจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการคนที่ 2 รักษาการแทนกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ออกมาชี้แจงว่า หลังจาก ครม.มีมติเห็นชอบให้บริษัทการบินไทยดําเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง โดยให้บริษัทดําเนินกิจการตามปกติ

การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แม้จะเป็นการดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย แต่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการเลิกหรือชําระบัญชีบริษัท หรือไม่ได้มุ่งหมายให้บริษัทต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายในครั้งนี้ จะส่งผลให้บริษัทสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพตามขั้นตอนต่างๆ รวมถึงได้มีเวลาในการพัฒนาคุณภาพและการบริการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

 

ฟากความเห็นจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ระบุว่า กรณีที่ ครม.เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย โดยให้เข้าสู่กระบวนฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย และให้กระทรวงการคลังลดการถือหุ้นในบริษัทการบินไทย มองว่าเป็นแนวทางที่คิดมารอบคอบแล้ว และเป็นแนวทางที่อยู่กึ่งกลาง

จากที่ผ่านมา 2 แนวทางในการพยุงการบินไทยแบบสุดขั้ว คือ รัฐบาลอุ้มต่อไปเอาเงินงบประมาณมาล้างหนี้สะสม หรือปล่อยให้ล้มละลายไปเลย

แต่ทางออกตามมติ ครม.เป็นลักษณะฟื้นฟู โดยให้ศาลเป็นผู้ดูแล จากความเป็นรัฐวิสาหกิจก็เปลี่ยนไปสู่การบริหารแบบเอกชน ซึ่งจะสามารถหลีกการแทรกแซงจากการเมือง และสหภาพแรงงาน รัฐวิสาหกิจการบินไทยฯ

เนื่องจากก่อนหน้านี้ เมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูการบินไทยออกมา สหภาพจะออกมาแสดงจุดยืนทำให้การฟื้นฟูเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการศาล การฟื้นฟูก็จะมีทิศทางที่ดีมากขึ้น

จากนี้ก็ยังต้องติดตามว่าจะเจรจากับเจ้าหนี้ในและต่างประเทศอย่างไร แผนการดูแลพนักงานที่มีกว่า 2 หมื่นชีวิตอย่างไร การปรับโครงสร้างลดภาระและเพิ่มรายได้อย่างไร

ที่สำคัญทีมบริหารที่จะเข้ามารับไม้ต่อ เป็นใครบ้าง จากที่กระแสชื่อมือดีมือผ่ามาแล้ว อาทิ จรัมพร โชติกเสถียร เทวินทร์ วงศ์วานิช ชาติชาย พยุหนาวีชัย จะเป็นอย่างไร

 

แต่ที่เคลื่อนไหวแล้วก็คือ สหกรณ์เจ้าหนี้ หลัง ครม.มีมติเข้าสู่ศาลล้มละลายกลาง กรมส่งเสริมสหกรณ์ เร่งสร้างความเข้าใจให้กับสมาชิก ส่วนกระบวนการหลังจากนี้ เมื่อศาลรับคำร้องของบริษัทการบินไทย สหกรณ์จะขอรับการชำระหนี้จากการบินไทยไม่ได้แล้ว โดยเรียก 82 สหกรณ์เข้ามาทำความเข้าใจในเรื่องของการชำระหนี้จากการบินไทย โดยทางศาลจะมอบหน้าที่ให้คนทำแผน ทำหน้าที่ในการรับคำร้องให้การบินไทยชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทุกรายต่อไป

หลังจากการทำแผน ทางกรมช่วยไกด์สหกรณ์เจ้าหนี้ในการกำหนดท่าทีเพื่อติดต่อขอกำหนดรับชำระหนี้ทั้งหมด 4.2 หมื่นล้านบาท เจ้าหนี้ 82 สหกรณ์ จะส่งคำร้องเข้าไปพร้อมกันทั้งหมด ถ้าศาลเห็นชอบแผน วันนั้นกระบวนการฟื้นฟูการบินไทยก็จะเดินหน้าแล้ว กำหนดการชำระหนี้ก็จะดำเนินต่อไป หากเป็นเช่นนั้นเชื่อว่าความเสียหายจะไม่เกิดกับสหกรณ์แน่นอน แต่ถ้ามีการผิดรับชำระหนี้ จะมีการดำเนินการตามเงื่อนไขหนี้สงสัยจะสูญต่อไป

ด้านชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) เตรียมพร้อมสำรองสภาพคล่องไว้รวม 21,754.40 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.23 ของเงินรับฝากและตั๋วสัญญาใช้เงิน จึงขอยืนยันว่าปริมาณหุ้นกู้ที่ลงในบริษัทการบินไทยต่อสินทรัพย์แล้ว อยู่ที่ 3.61% ของสินทรัพย์รวมเท่านั้น เปรยๆ ว่าเอาอยู่ สมาชิกไม่ต้องรีบถอนเงิน

และการที่การบินไทยเข้าสู่กระบวนการศาลล้มละลายกลาง กรณีนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ซึ่ง ชสอ.ในฐานะศูนย์กลางของขบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์ 82 สหกรณ์ พร้อมเป็นหนึ่งเดียว เนื่องจาก ชสอ.และสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นเจ้าหนี้ถึง 4.2 หมื่นล้านบาท เกือบ 20% ของหนี้ทั้งหมดในบริษัทการบินไทย สหกรณ์ควรมีอำนาจต่อรองแผนฟื้นฟูกิจการ

เพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์เสียประโยชน์น้อยที่สุด

 

ก่อนมีมติ ครม.ก็หายใจไม่ทั่วท้อง กับการออกมาชิงไหวชิงพริบ ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เมื่ออุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่เข้าประชุมร่วมกับศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพราะอาจเห็นต่างในเรื่อง 23 แผนในการฟื้นฟู ยังมีความเห็นที่แตกต่าง และหาคำตอบหากต้องใช้งบประมาณล้างหนี้!!!

ขณะที่นอกทำเนียบ เมื่อสำรวจความคิดเห็นของนักการเมืองรวมถึงเหล่าบรรดานักเคลื่อนไหวทางการเมืองมีหลายฝ่ายสนับสนุนให้เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเจ้าหนี้และประชาชน โดยฉายภาพให้เห็นถึงข้อดี คือ สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้, พักชำระหนี้ได้ เพราะเจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับให้การบินไทยชำระหนี้ในช่วงเวลาฟื้นฟูกิจการได้ การบินไทยจึงมีเวลาที่จะฟื้นฟูกิจการได้, เจรจาให้เจ้าหนี้ลดหนี้ลง ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ และแปลงหนี้เป็นทุนได้

ส่วนข้อเสียต่อการบินไทยและประเทศ คือ อาจต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกิจการนาน เจ้าหนี้อย่างสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ซื้อหุ้นกู้จากการบินไทยอาจขาดสภาพคล่อง เนื่องจากไม่ได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืนจากการบินไทยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดตราสารหนี้ หมายถึงพันธบัตรที่หน่วยงานของรัฐขาย หรือหุ้นกู้ที่บริษัทเอกชนขาย

กรณีผ่าตัดใหญ่การบินไทยจากนี้ ทั้งในการบินไทยเองและคนนอกยังหวังหากคลีนและเคลียร์ได้ดี เชื่อว่า 1-2 ปี จะกลับมาผงาดสมเป็นสายการบินแห่งชาติต่อไป

 

ในอดีตรัฐบาลกำหนดให้ 7 รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในข่ายฟื้นฟูกิจการ ประกอบด้วย

  1. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
  2. การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
  3. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
  4. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
  5. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
  6. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์)

และ 7. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ซึ่งในจำนวนนี้ ไอแบงก์และเอสเอ็มอีแบงก์ มีการควบรวม และสามารถทำให้ธุรกิจกลับมามีกำไรได้

แต่ที่ดูเหมือนจะมีปัญหาหมักหมม และยังไม่สามารถเงยหัวมาทำกำไรได้ คือ 3 รัฐวิสาหกิจ ภายใต้กระทรวงคมนาคม ได้แก่ ขสมก. ร.ฟ.ท. และบริษัท การบินไทย

ขณะนี้การบินไทยได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายแล้ว

ถ้าจะยึดแนวทางฟื้นฟูการบินไทยไปใช้กับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ อาจจะไม่เหมาะสม แต่ถ้าหากมีการนำไปใช้กับรัฐวิสาหกิจของคมนาคมอีก 2 รัฐวิสาหกิจดังกล่าวจะดูมีความเป็นไปได้ที่สุด

            คงต้องติดตามต่อไปว่าอีก 2 รัฐวิสาหกิจ จะถูกฟื้นฟูโดยศาลล้มละลายหรือไม่ เพราะเป็นวิธีที่สามารถทำให้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ที่มาพร้อมกับคำว่า “แปรรูปรัฐวิสาหกิจ”