การศึกษา / ชำแหละ… ‘วารสารฯ มธ.’ คิดคะแนนผิด บทเรียนที่เจ็บแล้วต้องจำ!!

 การศึกษา

 

ชำแหละ… ‘วารสารฯ มธ.’ คิดคะแนนผิด

บทเรียนที่เจ็บแล้วต้องจำ!!

 

เป็นเรื่องเป็นราว หลังที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประกาศผลการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส รอบ 3 รอบรับตรงร่วมกัน นักเรียนที่สมัครเข้าเรียนในคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) พบความผิดปกติ ผู้ที่สอบติด คะแนนต่ำกว่าผู้ที่สอบไม่ผ่าน…

นำมาสู่การร้องเรียนและตรวจสอบ พบว่า มีการคำนวณคะแนนผิดจริง เรียกร้องให้เยียวยานักเรียนที่เสียสิทธิในครั้งนี้

บานปลายถึงขั้นคณบดีต้องเซ็นใบลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ!!

 

ทั้งนี้ การประกาศผลครั้งแรก พบว่ามีเด็กผ่านการคัดเลือก 87 คน ซึ่งคำนวณคะแนนรวมผิดจากการดึงคะแนน PAT 7 ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ ที่ดึงเฉพาะคะแนนของผู้สมัคร PAT 7.7 ภาษาเกาหลีเพียงส่วนเดียว โดยมิได้นำคะแนนของผู้สมัครภาษาอื่นที่ใช้ PAT 7.1-7.4 มาคำนวณร่วมด้วย…

ส่งผลให้เด็กที่เสียสิทธิออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม เบื้องต้น คณะวารสารฯ ตัดสินใจแก้ปัญหา “ยกประโยชน์ให้” โดยการรับเด็กที่คะแนนรวมสูงกว่าคะแนนต่ำสุด เข้ามาเพิ่ม แนวทางนี้ทำให้เด็ก 257 คนได้รับสิทธิในการเข้าเรียนต่อคณะวารสารฯ มธ. ทันที

เมื่อตัดสินใจเช่นนั้น มหาวิทยาลัยจึงแจ้งให้นักเรียนทราบผ่านทางโทรศัพท์ และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล)

ปรากฏว่ามีเด็กยืนยันรับสิทธิเยียวยา 207 คน ขณะเดียวกันมีบางส่วนทยอยถอนสิทธิไป จนสุดท้ายเหลือยอด 197 คนที่ มธ.แจ้งต่อ ทปอ. ในช่วงเช้าวันที่ 17 พฤษภาคม

ดังนั้น หากนำยอด 197 คน ไปรวมกับเด็กที่สอบติดครั้งแรก 87 คน และ TCAS รอบ 4 แอดมิสชั่นส์ ซึ่งคณะจะรับเพิ่มอีก 120 คน รวมเป็น 404 คน เกินกว่าจำนวนที่รับได้ ซึ่งกำหนดไว้ปีละประมาณ 220 คน!!

ส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษาอย่างแน่นอน

 

เป็นที่มาให้อาจารย์คณะวารสารฯ ออกแถลงการณ์คัดค้าน เรื่องภายในคณะปะทุแรงขึ้น จนนางอัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์ฯ ซึ่งตัดสินใจแก้ปัญหา ยื่นหนังสือลาออก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา

โยนไม้ต่อให้มหาวิทยาลัยเข้ามาเคลียร์ โดยนายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. ชี้แจงรายละเอียดว่า กรณีนี้มหาวิทยาลัยเคยเสนอวิธีการเยียวยา โดยกลุ่ม 87 คนแรกให้สิทธิเข้าเรียนตามปกติ ส่วนกลุ่มที่ได้ต้องเยียวยาให้คำนวณคะแนนใหม่โดยรวมคะแนนกับภาษาอื่นด้วย เท่ากับว่า คะแนนต่ำสุดอยู่ 244.17 คะแนน ส่งผลให้มีเด็กที่ต้องเยียวยาเพียง 8 คน

แต่ทางคณบดีไม่รับแนวทางดังกล่าว ยืนยันที่จะใช้คะแนนต่ำสุดของกลุ่มที่คำนวณผิด คือ 156 คะแนนเป็นฐาน เมื่อคณะยืนยัน มหาวิทยาลัยจึงต้องดำเนินการตามนั้น เพราะคิดว่าคณบดีได้หารือกับคณาจารย์ในคณะแล้ว แต่ปรากฏว่า ไม่ได้หารือ และอาจารย์ในคณะไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวจึงออกแถลงการณ์คัดค้านและเสนอตัวเลขที่เยียวยาได้ไม่เกิน 60 คน กระทั่งนางอัจฉราตัดสินใจลาออก

หลังการพูดคุยกับอาจารย์คณะวารสารฯ แล้ว มหาวิทยาลัยเองยืนยันว่า ไม่สามารถตัดสิทธิเด็ก 197 คน เพื่อลดจำนวนรับได้ เพราะประกาศไปแล้วว่า กลุ่มนี้มีสิทธิเข้าเรียนในคณะวารสารฯ ถ้ามหาวิทยาลัยกลับคำ จะถือว่าผิดทั้งกฎหมายและละเมิดสิทธิเด็ก เหมือนให้ความหวังแล้วปล่อยเขาทิ้งกลางทาง

ดังนั้น ผลการหารือเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา จึงสรุป 5 แนวทางแก้ปัญหา คือ

  1. อนุญาตให้สละสิทธิรอบทีแคส 3 และสามารถไปสมัครรอบ 4 รอบแอดมิสชั่นส์ได้ โดย มธ.จะเจรจากับ ทปอ.ให้ผ่อนปรน
  2. อนุญาตให้โอนย้ายไปหลักสูตรอื่นของ มธ. ตามที่คะแนนเหมาะสม
  3. อนุญาตให้เข้าโครงการรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีแบบไม่สังกัดหลักสูตร หรือ Thammasat Frontier School เพื่อจะได้ค้นหาตัวตนก่อนตัดสินใจเลือกคณะที่ชอบ หลักสูตรที่ใช่ ในภาคเรียนที่ 4 ซึ่งในปีการศึกษา 2563 นี้มี 9 คณะ 11 หลักสูตรที่เข้าร่วมโครงการนี้
  4. ให้โอนย้ายไปมหาวิทยาลัยอื่นที่สอบติดในลำดับอื่นของรอบ 3 ได้ โดย มธ.จะเจรจากับมหาวิทยาลัยให้

และ 5. กรณีไม่มีทางเลือกให้เรียนคณะวารสารฯ มธ.ตามเดิม

 

หลังได้ข้อสรุป รองอธิการฝ่ายวิชาการ ซึ่งรับผิดชอบเรื่องนี้ ได้ลงไปเจรจากับผู้ปกครอง และว่าที่นักศึกษา มธ.กลุ่ม 197 คน เพื่อสร้างความมั่นใจ ว่ามีที่เรียนแน่นอน ส่วนจะคณะใด มหาวิทยาลัยใด อยู่ที่เจ้าตัวจะเลือกลิขิตชีวิตตัวเอง…

ซึ่งขณะนี้ 5 ทางเลือกลดเหลือ 4 เพราะทางเลือกที่ 1 คือสละสิทธิรอบ 3 หมดเวลาไปตอนเที่ยงคืนของวันที่ 18 พฤษภาคม ทางเลือกที่ 2, 3 และ 5 เป็นการบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัยให้เวลาตัดสินใจประมาณ 1 เดือน ส่วนทางเลือกที่ 4 คือย้ายไปมหาวิทยาลัยอื่นที่สอบติดรอบ 3 อาจเหลือเวลาไม่มาก เพราะมหาวิทยาลัยต้องไปเจรจากับมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง…

รองอธิการบดี มธ.บอกด้วยว่า ความผิดพลาดครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ มหาวิทยาลัย ซึ่งจ้างโปรแกรมเมอร์คำนวณคะแนน แต่คำนวณผิด ส่งไปที่คณะตรวจสอบ คณะอื่นที่ใช้ PAT 7 อย่างคณะศิลปศาสตร์ คณะสหวิทยาการ พบความผิดปกติและส่งคะแนนกลับให้มหาวิทยาลัยแก้ไข ก่อนส่งให้ ทปอ. แต่ของวารสารฯ ไม่พบ ส่งคะแนนที่คำนวณผิดให้ ทปอ.ประกาศผล…

ยังไม่นับรวมคณะวิทยาศาสตร์ ที่ก็มีปัญหา และต้องเยียวยารับเพิ่มกว่า 200 คน

ต่างกันตรงที่การแก้ปัญหาของคณะวิทยาศาสตร์ มีการหารือขอความเห็นชอบจากอาจารย์ในคณะ ว่าสามารถจัดการสอนอย่างมีคุณภาพได้!!

 

คําถามต่อมาคือ กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยมากน้อยแค่ไหน นายชาลียอมรับว่า การคำนวณคะแนนผิดเกิดขึ้นได้ในทุกมหาวิทยาลัย

อย่างของ มธ.ไม่ใช่ครั้งแรก ในอดีตก็เคยมี แต่ปัจจุบันปัญหานี้ลดน้อยลงมาก และเป็นปีแรกที่ มธ.จ้างโปรแกรมเมอร์จากภายนอกช่วยคณะคำนวณคะแนนดิบ ไม่อยากจะเชื่อเช่นกันว่าจะเกิดความผิดพลาดขึ้น

ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ โดยปีหน้า มธ.เตรียมปรับระบบคำนวณคะแนนใหม่ จ้างโปรแกรมเมอร์จากภายนอก 2 ทีม และส่งคะแนนดิบให้คณะคำนวณ ซึ่งแต่ละคณะจะมีทีมเอ และทีมบี รวมมีทีมที่คำนวณคะแนนดิบ 4 ทีม เทียบยันกันจนกว่าจะมีความถูกต้อง 100% จึงจะส่งให้ ทปอ.เคลียริ่งและประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก

กรณีของคณะวารสารฯ ส่วนหนึ่งเกิดเพราะอดีตคณบดีไม่ได้หารือกับอาจารย์ในคณะ ตัดสินใจกันเฉพาะฝ่ายบริหาร ทำให้อาจารย์ในคณะกังวลว่าจะกระทบกับคุณภาพ หากเด็กล้นเกินกว่าจำนวนอาจารย์ผู้สอน

ถือเป็นความหวังดีของผู้สอน จากนี้ มธ.ต้องสืบหาข้อเท็จจริง โดยมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงขึ้นมาแล้ว เรื่องนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลคะแนนทีแคสของ มธ. ต้องเข้าให้ข้อมูลทั้งหมด ไล่ตั้งแต่รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้บริหารคณะวารสารฯ ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

หากพบความ “ผิด” หรือ “พลาด” กันที่จุดใด ก็คงต้องมีการระบุโทษตามลำดับ

งานนี้ต้องลุ้นว่า 5 แนวทางแก้ปัญหานี้ของ มธ.จะเยียวยาได้สะเด็ดน้ำหรือไม่

      แต่ที่สำคัญทุกมหาวิทยาลัยควรหามาตรการป้องกัน ป้องปราม ไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก!!