ในประเทศ / เรียนออนไลน์ ป่วน ‘น.ร.-ผู้ปกครอง’ ทั่วประเทศ ตอกย้ำสังคม ‘เหลื่อมล้ำ’

ในประเทศ

 

เรียนออนไลน์

ป่วน ‘น.ร.-ผู้ปกครอง’ ทั่วประเทศ

ตอกย้ำสังคม ‘เหลื่อมล้ำ’

 

ประสานเสียงกันหึ่ง ทั้งออฟไลน์-ออนไลน์

ระบุการเปิดการเรียนออนไลน์และทางไกลวันแรก

เพื่อให้นักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เรียนในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 ผ่าน 6 ช่องทางการรับชม ได้แก่ ทีวีดิจิตอล ทีวีดาวเทียม และแอพพลิเคชั่น DLTV ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และ YouTube เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ของกระทรวงศึกษาธิการ วุ่นวาย ประสบปัญหามากมาย

อาทิ บ้านที่รับสัญญาณด้วยระบบซีแบน ไม่สามารถดูได้

ผู้ที่เรียนผ่านโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ตโฟนแทน ติดขัดเรื่องสัญญาณไม่เสถียร

แอพพลิเคชั่นเรียนทางไกลโหลดไม่ได้ เว็บล่ม เป็นต้น

ส่งผลให้แฮชแท็ก #ระบบล่ม เรียนออนไลน์ ขึ้นอันดับ 1 ทวิตเตอร์

มีการโพสต์ข้อความประชดประชันหลากหลายสไตล์

อาทิ

“อุตส่าห์ตั้งใจเรียน แต่เว็บดันมาล่ม”

“ถ้าเว็บกลับมาเรียนได้ตามปกติแล้วปลุกผมด้วยนะครับ”

“ขอบคุณรัฐบาลที่ทำให้ความฝันของเด็ก ม.6 ที่อยากกลับไปเรียนอนุบาล 1 เป็นจริง ”

“สิ่งเดียวที่ตั้งใจสำหรับการเรียนออนไลน์คือเลือกวอลล์เปเปอร์ค่ะ”

“ฮือ มันเรียนไม่ได้ค่ะครู เว็บล่ม ทีวีก็หาช่องไม่เจอ อ่า ไว้ค่อยเรียนละกัน” เป็นต้น

สะท้อนภาวะ “ป่วน” ชัดเจน

 

โครงการนี้เป็นโครงการของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

ร่วมมือกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ดีแอลทีวี)

และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ออกอากาศการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมปีที่ 6 ทางช่องฟรีทีวี จำนวน 17 ช่อง และโทรศัพท์มือถือ ระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม-30 มิถุนายน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดภาคเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม

ถือเป็นนิวนอร์มอลที่กระทรวงศึกษาธิการวาดหวัง

 

แต่ก่อนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม ที่เป็นวันแรกของโครงการ ก็เริ่มมีสัญญาณเตือนถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น

เมื่อผู้ปกครองแห่พาบุตร-หลานไปซื้ออุปกรณ์สำหรับเรียนออนไลน์ เช่น แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ ฯลฯ

ด้วยบางบ้านไม่มีโทรทัศน์ หรือไม่มีอุปกรณ์รองรับการเรียนการสอนผ่านออนไลน์อย่างเพียงพอ

กลายเป็นภาระเพิ่มขึ้นทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอยู่แล้ว

แต่เพื่อลูก-หลาน บรรดาพ่อ-แม่ก็ต้องกัดฟันสู้

ในโลกออนไลน์ มีผู้ใช้เฟซบุ๊กระบุเป็นพนักงานหญิง ร้านขายโทรศัพท์มือถือโพสต์

เขียนเล่าเหตุการณ์อันเป็นดราม่าของหลานสาวและยายคู่หนึ่ง ที่มาซื้อโทรศัพท์มือถือว่า

“อยากรู้จังเลย ใครออกความเห็นเรื่องการเรียนผ่านออนไลน์–ดูสิ่งที่ท่านนำเสนอ แต่รู้มั้ยว่าความลำบากมันเกิดขึ้นแล้ว สำหรับคนที่เค้ามีทุนน้อย–ดูเด็กคนนี้ต้องแคะกระปุกมาเพื่ออยากได้เรียนเหมือนเพื่อนๆ?

ถามเด็กน้อยว่าหนูซื้อไปเล่นเกมเหรอลูก

เปล่าค่ะ หนูจะเอาไปเรียนออนไลน์กับเพื่อนๆ ค่ะ

นี่คือคำตอบของเด็กน้อย”

กลายเป็นดราม่าในโลกออนไลน์ที่มีการแชร์ไปอย่างกว้างขวาง

 

จนทำให้ผู้บริหารโรงเรียนหลายแห่งทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคโพสต์ผ่านโลกออนไลน์ เพื่อลดกระแสกังวลดังกล่าว

อาทิ “การเรียนออนไลน์ของโรงเรียน อย่าเครียด อย่ากังวล ไม่ต้องซื้อโทรศัพท์ใหม่ราคาแพง ไม่ต้องแบ่งเงินติดอินเตอร์เน็ตราคาสูง ไม่ต้องจูงแม่ไปซื้อทีวี เพราะเมื่อเปิดภาคเรียน นักเรียนจะได้เรียนครบตามหลักสูตร ไม่ได้เรียนออนไลน์ ไม่ใช่ปัญหา” เป็นต้น

แต่ดูเหมือนผู้บริหารในระดับกระทรวงศึกษาธิการจะจับสัญญาณนี้ไม่ได้

และไม่มีท่าทีอย่างเป็นทางการเพื่อที่จะแก้ความหวั่นวิตกของผู้ปกครอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ได้ขับเน้นว่านี่เป็นเพียงการ “ทดลอง”

มิใช่เปิดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ ที่จะมีขึ้น 1 กรกฎาคม

 

คําอธิบายที่ไม่ชัดเจน และไม่ได้ลดความกังวลของผู้ปกครองนี้เอง

ทำให้กระแสความหวั่นวิตกแพร่ไปทั่ว โดยเฉพาะในกลุ่มคนชั้นล่าง คนในชนบท

ที่อย่าไปพูดถึงระบบอินเตอร์เน็ต หรือโทรทัศน์ที่รับสัญญาณได้เลย

แค่ไฟฟ้าก็ยังไม่มีใช้

ขณะที่ผู้ปกครองที่พอมีเครื่องมือสื่อสารก็พยายามที่จะขานรับนิวนอร์มอลนี้ให้ได้

แต่พอถึงเช้าวันที่ 18 พฤษภาคม ก็ต้องเผชิญความปั่นป่วนเพิ่มขึ้น

อย่างผู้ปกครองรายหนึ่งบอกว่า วันนี้ได้เตรียมให้ลูกเรียนผ่านทางทีวี จึงได้เปิดทีวี ค้นหาช่องที่เปิดการเรียนการสอน แต่ค้นหาตั้งแต่เช้านี้ก็ไม่เจอ จึงต้องแก้ปัญหาโดยให้เด็กดูจากมือถือแทน แต่สัญญาณก็ไม่แรงพอ ทำให้ดูแล้วสะดุด ติดขัด ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย ซื้อเน็ตให้แรงขึ้น

อยากฝากไปยังรัฐบาล เพราะผู้ปกครองบางคนฐานะไม่เหมือนกัน อย่างในวันนี้ ถ้าไม่มีถือถือ ลูกก็ไม่ได้เรียน

นี่คือบางตัวอย่างที่สะท้อนถึง “ปัญหา” ที่เกิดขึ้น

 

ทั้งนี้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ยอมรับเองว่า จากการลงพื้นที่พบปัญหาหลายปัญหา เช่น อุปกรณ์ รวมทั้งผู้ปกครองและนักเรียนไม่มีความพร้อม กระทรวงศึกษาธิการต้องปรับปรุงในหลายๆ เรื่อง

ส่วนการล่มของเว็บไซต์ นายณัฏฐพลมองในแง่ดีว่า “แปลว่ามีคนสนใจมาก กระทรวงศึกษาฯ ต้องเตรียมความพร้อมต่อไปในอนาคต เช่น การเตรียมคลาวด์ หรือเซิร์ฟเวอร์ไว้รองรับเพิ่มเติม น่าจะเป็นทางออกที่จะทำได้”

“ผมยืนยันว่าในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ การเรียนการสอนน่าจะเกิดขึ้นได้ในโรงเรียน” นายณัฏฐพลกล่าว

แม้นายณัฏฐพลดูจะไม่กังวลถึงปัญหาที่เกิดขึ้นนัก

แต่ก็ยอมรับว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงศึกษาธิการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจว่าการสอนผ่านทีวีดิจิตอลเป็นเพียงการเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดเรียนวันที่ 1 กรกฎาคมเท่านั้น

ซึ่งไม่ทราบว่านายณัฏฐพลจับสัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์อย่างไร

เพราะดูท่าทีก็ยังชิลๆ

ทั้งที่ว่าไปแล้ว แรงกระเพื่อมแห่งความวิตกกังวลทั้งของเด็กและผู้ปกครองกระจายไปทั่วประเทศ

เราได้เห็นครูในพื้นที่ต้องออกมาปลอบ ทำนอง

“เรียนออนไลน์จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ จะไม่ถูกนับเป็นวันเปิดเรียน และไม่มีการสอบวัดผล ไม่ต้องเครียดหรือกดดัน ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ตโฟนใหม่ให้เป็นภาระ เมื่อถึงเวลาเปิดเทอม ครูทุกคนสามารถจัดการเรียนการสอนได้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักสูตรโดยไม่กระทบกับเด็กๆ อย่างแน่นอน”

แต่ดูเหมือนเจ้ากระทรวงจะไม่ทุกข์ร้อนเท่าใดนัก

 

ซึ่งแตกต่างจากฝ่ายการเมืองอื่น

ที่ดูจะรับรู้ความทุกข์ร้อนของเด็กและผู้ปกครองได้มากกว่า

น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา โฆษกพรรคก้าวไกล ชี้ว่าแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการที่ออกมาเน้นไปที่การเรียนแบบออนไลน์และทางไกลมากกว่าการเตรียมความพร้อมเพื่อให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนอย่างปลอดภัย

แนวทางที่ควรเป็นคือการเปิดเทอมให้ได้เร็วที่สุด

โดยเตรียมความพร้อมให้เด็กสามารถกลับมาเรียนในโรงเรียนได้ ทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ได้มากที่สุด

การเรียนออนไลน์ควรเป็นแค่ทางเลือกหรือทางออกสำรองในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น

การเปิดเรียนในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ และจะสามารถช่วยอุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้ด้วย

ฟากประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช บอกว่าได้รับข้อร้องเรียนจากผู้ปกครองคือ

  1. มีนักเรียนบางส่วนขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต โทรทัศน์
  2. ในพื้นที่ชนบทบางแห่ง ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ดาวเทียม ไม่สามารถเรียนได้
  3. สัญญาณอินเตอร์เน็ตล่ม และไม่เสถียร
  4. นักเรียนขาดความพร้อมในการเรียน ไม่มีสมาธิเพราะไม่มีครูคอยกระตุ้นเตือน
  5. ในครอบครัวมีพี่น้องเรียนหนังสือหลายคน แต่มีโทรทัศน์เพียงเครื่องเดียว ทำให้เรียนได้ไม่ครบทุกคน
  6. เกิดปัญหาปมด้อยของนักเรียน มีการเปรียบเทียบกับเพื่อนๆ ที่มีอุปกรณ์ในการเรียนที่ดีกว่า ทันสมัยกว่า
  7. เป็นภาระการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในการซื้ออุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์และการเรียนผ่านดาวเทียมเพิ่มขึ้นอีก
  8. ผู้ปกครองต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยควบคุม ให้ลูกเรียนผ่านออนไลน์ ทำให้เสียเวลาในการทำงาน หรือประกอบอาชีพ

 

ส่วนท่าทีวุฒิสมาชิก ที่มักจะเป็นฝ่ายรัฐบาล แต่ในกรณีเรียนออนไลน์ดูจะไม่ใช่

นายตวง อันทะไชย ส.ว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา วุฒิสภา บอกว่า กมธ.เคยส่งความเห็นคัดค้านนโยบายที่จะให้เรียนออนไลน์ทุกภาคและทุกพื้นที่ ให้นายณัฏฐพลแล้ว

โดยให้เปลี่ยนไปใช้การเรียนแบบผสม คือ หากพื้นที่ไหนพร้อมก็ให้ใช้การออนไลน์ ผสมกับการเรียนปกติ หรือพื้นที่ไหนไม่พร้อมให้ใช้การเรียนการสอนแบบปกติ

แผนการเรียนการสอนควรเหมาะสมกับพื้นที่ โดยไม่ยึดตามแบบพื้นที่ กทม.เท่านั้น

“เพราะจะกลายเป็นปัญหาที่สร้างความเหลื่อมล้ำและไร้ความเสมอภาคทางการศึกษา” นายตวงระบุ

 

จะเห็นว่า เสียงสะท้อน “ร่วมกัน” สำหรับนโยบายเรียนออนไลน์ของกระทรวงศึกษาธิการ คือความเหลื่อมล้ำที่เด็กและผู้ปกครองจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือการสื่อสารได้

และการผลักดันเรื่องนี้ก็กระทำอย่างเร่งด่วน ขาดการเตรียมพร้อม

ไม่ได้ขับเน้นว่านี่เป็นการทดลอง

ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนกังวลว่าจะเรียนไม่ทันผู้อื่น นำไปสู่การต้องไปซื้ออุปกรณ์การเรียนในราคาที่สูง สะเทือนถึงสภาพเศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้วให้แย่ลงไปอีก

ขณะที่เทคโนโลยีของกระทรวงก็ยังไม่เสถียร ระบบล่ม ซ้ำเติมการเรียนรู้ของเด็กยิ่งขึ้นไปอีก

ยิ่งกว่านั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนความเหลื่อมล้ำของสังคมที่ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนไม่มีความเท่าเทียมกันในการเรียนรู้

ทำให้ช่องว่างของสังคมขยายกว้างขึ้นไปอีก

ที่หวังว่าการเรียนออนไลน์จะเป็นนิวนอร์มอลนั้น ดูห่างไกลจากความเป็นจริงเหลือเกิน