กรองกระแส / บทเรียนการเมือง ความเป็นจริง การบินไทย ตามหาความจริง

กรองกระแส

 

บทเรียนการเมือง

ความเป็นจริง การบินไทย

ตามหาความจริง

 

ไม่ว่าสถานการณ์ “การบินไทย” ไม่ว่าสถานการณ์ “ตามหาความจริง” ไม่ว่าสถานการณ์การประท้วงที่จะนะ สงขลา ล้วนเกิดขึ้นในสถานการณ์พิเศษ

1 การแพร่ระบาดของไวรัส 1 การประกาศและบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน

แต่การถกเถียงในรายละเอียดของ “การบินไทย” ก็เกิดขึ้นและดำรงอยู่ แต่การถกเถียงถึงเหตุอันเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ก็ยังดำเนินไปท่ามกลางวิวาทะอันเข้มข้น

เช่นเดียวกับการแพร่กระจายภาพของเด็กสาวที่จะนะกระทั่งกลายเป็น “ไวรัล”

ทั้งหมดนี้ไม่มีการลงไปบนท้องถนน ไม่มีการชุมนุม เคลื่อนไหว อย่างที่เคยเห็นในกาลอดีต ไม่ว่าก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

แต่ก็ดำเนินไปอย่างทรงพลัง และมีความหมายในทางการเมือง

 

จากกรณีการบินไทย

ถึง #ตามหาความจริง

 

ต้องยอมรับว่า ไม่ว่ากรณีการบินไทย ไม่ว่ากรณี #ตามหาความจริง เป็นเรื่องในทางความคิด เป็นเรื่องในทางข้อมูลล้วน

ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยน ถกแถลงอภิปราย

เป็นการสร้างพื้นที่ในทางความคิด พื้นที่ในทางข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการเสนอประเด็น ตั้งเป็นวาระ ผ่านการอภิปรายแล้วก็ไลฟ์ผ่านช่องทางออนไลน์

การบินไทยกลายเป็น “วาระ” ตามหาความจริง กลายเป็น “ไวรัล”

ผลก็คือ เรื่องราวอันเป็นรายละเอียดแห่งความล้มเหลวของการบินไทยอยู่ในความรับรู้ของสังคมอย่างกว้างขวาง กระทั่งกลายเป็นกลไกสำคัญในการกำกับ ควบคุมทิศทางของข่าว

กรณีของ #ตามหาความจริง ก็ไม่แตกต่างกัน

อาจจะเริ่มด้วยการฉายเลเซอร์ไปตามอาคาร สถานที่อันมีลักษณะประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กับเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

ผลก็นำไปสู่การถกเถียง กระทั่งสามารถสถาปนา “ความจริง” ขึ้นมาใหม่

 

ข้อมูลความเป็นจริง

อำนาจจากการยึดกุม

 

ที่มีการนิยามว่า “ข้อมูลคืออำนาจ” ได้สำแดงพลานุภาพอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะในกรณีของการบินไทยและในกรณีของ #ตามหาความจริง

ผลก็คือ อำนาจรัฐไม่สามารถทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจอีกต่อไป

จำนวนเงินที่เคยคิดจะทุ่มลงไปเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทเพื่ออุ้มการบินไทยตามความเคยชินก็ต้องเกิดอาการงันชะงัก

แผนที่จัดทำขึ้นมาก็ปรับแล้วปรับอีก

ยิ่งเมื่อประสบเข้ากับข้อมูลในการนำเสนอผ่านกระบวนการ #ตามหาความจริง อาการเงื้อง่าอันมาจากกระทรวงกลาโหม กดดันให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ต้องงันชะงัก

การรื้อฟื้นและสถาปนาความจริงจากคำวินิจฉัยของ “ศาล” จึงทรงความหมาย

สังคมได้รับรู้ถึงการหยุดชะงักลงไปอย่างสิ้นเชิงของความพยายามในการตามหาความจริงภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ทำให้เกิด “คำถาม” ในทางสังคมตามมามากมาย

 

นวัตกรรมการเมือง

นวัตกรรมการเคลื่อนไหว

 

การเคลื่อนไหวในทางการเมืองเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ดำรงอยู่ในสังคมทุกสังคม ปมเงื่อนอยู่ตรงที่จะค้นคว้าและแสวงหาหนทางอย่างไร

ตราบใดที่ไม่ยอมจำนน ตราบนั้นย่อมสามารถค้นพบ

การไม่ยอมจำนนในที่นี้ในที่สุดแล้วก็คือ การไม่ยอมจำนนในทาง “ความคิด” ก็จะนำไปสู่การหาทางออกในทาง “การเมือง” ออกมาได้

เพียงแต่ว่ามีความจริงจังมากน้อยเพียงใด

ความจริงจังในที่นี้เรียกร้องตั้งแต่ความมุ่งมั่นในเบื้องต้น ความพยายามในเบื้องกลางเพื่อตรวจสอบสภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่

และบั้นปลายก็คือ การคิดประดิษฐ์สร้างในทางรูปแบบ

บทเรียนอันได้จากกรณีของการบินไทย บทเรียนอันได้จากกรณี #ตามหาความจริง จะเป็นบทเรียนอันทรงความหมายนำไปสู่อีกนวัตกรรมในการเคลื่อนไหว

       การเคลื่อนไหวของผู้ไม่ยอมจำนน การเคลื่อนไหวในการสร้างความหวังทางการเมือง