หลังเลนส์ในดงลึก : “ป่าในใจ”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ช่วงนี้ผมใช้เวลาอยู่ในเมืองนานกว่าที่เคยปฏิบัติ ด้วยภารกิจการคัดเลือกรูปให้ฝ่ายออกแบบหนังสือ ข้อดีของการทำงานร่วมกับผู้อื่นในยุคนี้คือ ผมไม่จำเป็นต้องเข้ามาอยู่ในสำนักงาน หรือแม้แต่พวกเขาไปต่างประเทศในมุมไหนของโลกเราก็ทำงานกันได้

ต่างจากเมื่อหลายปีก่อน ครั้งที่ผมทำโฟโต้บุ๊กเล่มแรก สำนักพิมพ์ที่ผมร่วมงานด้วย อยู่บนตึกสูงกว่าสิบชั้นในห้องซึ่งมีโต๊ะทำงานผมอยู่ด้วยนั้น เมื่อมองผ่านกระจกใสออกไป คือตึกสูงระฟ้า

ว่าไปแล้ว บางวัน ช่วงบ่ายๆ ที่มีแสงเงาสวยทาทาบตึก ผมนึกอยากถ่ายรูป ทำได้เพียงทำนิ้วเป็นวงเล็งเหมือนกับมองผ่านช่องมองภาพ

ไม่ได้อยู่ในป่าจับกล้อง แต่ก็รู้สึกผ่อนคลาย

ไม่รู้สึกถึงความห่างไกลจากป่า เพราะที่รายรอบตัวผมคือภาพและเรื่องราวที่ผมทำมาหลายปี

กระนั้นก็เถอะ วันแรกๆ ที่นั่งโต๊ะทำงาน ผมต้องปรับตัวพักใหญ่ เพราะดูเหมือนจะมีเสียงโทรศัพท์ตลอด ทุกคนดูวุ่นวายวิ่งเข้า-ออกห้อง

โต๊ะที่ผมนั่งหันหน้าไปทางหน้าต่าง หันหลังให้ประตู เวลามีใครเดินเข้าห้อง แม้ไม่ต้องหันกลับไปดูแต่ก็รู้ว่าใคร เพราะจังหวะเสียงฝีเท้า

พูดได้ว่าผมจำได้ว่าในสำนักพิมพ์ใครเดินมีจังหวะเท้าเช่นไร

นี่คงเรียกได้ว่าเป็น “ทักษะ” ที่ป่าสอนมา งานชิ้นนั้น ผมใช้เวลา 4 ปีในป่า ร่วมเป็นสังคมเดียวกับชีวิตต่างๆ ผ่านฤดูกาลไปด้วยกัน

ชีวิตในนั้นสอนให้เรียนรู้ที่จะยอมรับในวิถีทางของผู้อื่น ผมละเลยที่จะไม่ถ่ายนกพญาปากกว้างอกสีเงิน ซึ่งทำรังอยู่ใกล้ๆ แคมป์ เพราะกลัวทำให้มันตื่นตกใจ

หลายครั้งผมปล่อยให้วัวแดง เก้ง หรือกระทิง เพลิดเพลินอยู่กับน้ำและหญ้าในโป่ง โดยไม่กดชัตเตอร์ เพราะพวกมันอยู่ใกล้เกินไป เสียงแปลกปลอมของชัตเตอร์ จะทำให้พวกมันระแวงและล่าถอย เสียโอกาสในการกิน

ยอมรับและไม่ล่วงล้ำเข้าไปในความเป็นชีวิตของผู้อื่น มีระยะห่างกันไว้บ้าง

นี่อาจเป็นหนทางที่จะพบความสงบ

เสร็จงานในป่า ผมนำทั้งหมดมา “แปร” ความฝันให้เป็นจริง

“ฝัน” คนละครึ่ง ระหว่างผมกับสำนักพิมพ์

เพื่อให้เกิดหนังสือภาพสัตว์ป่า ที่ใช้ชีวิตไปตามฤดูกาลเล่มหนึ่ง

 

ในบรรดา slide ซึ่งวางอยู่รอบๆ ส่วนหนึ่งเป็นรูปเสือดาวในอิริยาบถต่างๆ

ส่องดูรูปพวกนี้จากตู้ไฟ ทำให้นึกถึงวินาทีที่ได้พบและกดชัตเตอร์ วันหนึ่งผมออกมาซื้อเสบียงในหมู่บ้าน ในร้านค้าที่ซื้อประจำ ที่นี่นอกจากเสบียงของแห้ง ถ่านไฟ และอื่นๆ ผมยังได้กินน้ำแข็งไส หวานเย็นชื่นใจ รวมทั้งอ่านหนังสือพิมพ์ยับยู่ยี่ของเมื่อหลายวันก่อน วันนั้นผมพบชายหนุ่มคนหนึ่งนั่งหน้าร้านมีรอยแผลเต็มตัว ใบหน้ามีผ้าปิดแผลหลายชิ้น

“โดนอะไรมาครับ” ผมชวนคุย

เขาทำท่าอึกอัก และเดินเลี่ยงไปเฉยๆ

ว่าไปแล้วผมไม่ใช่คนแปลกหน้าของที่นี่นักหรอก

“มันถูกเสือดาวกัดน่ะ” ผู้หญิงเจ้าของร้านตอบแทน

ผมถามต่อจนได้ความว่า หนุ่มนั่นไปนั่งซุ่มยิงเก้งชายป่า ใช้วิธีเป่าใบไม้เลียนเสียงเก้ง ขณะกำลังเป่าได้ยินเสียงเดินมาด้านหลัง หันมาดู เจอเสือดาวตัวเขื่อง เขายกปืนจะยิง แต่ไม่ทัน เสือกระโจนเข้าโจมตี ปล้ำกันอุตลุด เขาพยายามหนีขึ้นต้นไม้ เสือก็ตามไปลากลงมา

“มันต้องแกล้งทำเป็นตาย เสือถึงหยุด เข้ามาดมๆ แล้วเดินจากไป” เจ้าของร้านเล่า ราวกับอยู่ในเหตุการณ์ด้วย

“อันตรายนะในป่านี้เสือมันดุจริงๆ” เธอจบเรื่องเล่าด้วยประโยคนี้

ในสำนักงาน ผมส่องดูรูปเสือดาวนั่งเงยหน้าอวดเขี้ยวแหลม

กรอบรูปแคบเกินกว่าจะเห็นว่า ที่สายตาเสือมองตามคือผีเสื้อเล็กๆ ตัวหนึ่ง

รูปช้างในเงาสลัวอีกตัว กำลังวิ่งตรงเข้ามา

ดูคล้ายเป็นรูปช้างกำลังโกรธ วิ่งเข้าชาร์จ

ผมถ่ายรูปนี้ไว้ ก่อนที่มันจะหยุด หันหลังวิ่งจากไปเมื่อเข้ามาใกล้พอและรู้ว่าเป็นคน

อยู่ในเมือง ความยากลำบากประการหนึ่งคือหากต้องข้ามถนนบริเวณที่ไม่มีสะพานลอย มีเพียงทางม้าลาย ใจผมเต้นตึกตัก มากกว่าตอนช้างโทนตัวนั้นวิ่งเข้าหา

 

อยู่ในสำนักงานสักพัก ผมก็ปรับตัวได้ เสียงโทรศัพท์ เสียงพูดคุยโต้เถียง หรือเสียงวิ่งเข้า-ออก ไม่ใช่ปัญหา

จำเป็นต้องปรับชีวิตในป่าให้เข้ากับเมือง

และเมือง จำเป็นต้องมีป่า

การเดินไปคนละทิศ ย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไร

ในเมืองมีป่าได้ ป่าซึ่งไม่ได้หมายความเพียงต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ

นก แมลง กระรอก และอีกหลายชนิด รวมถึงตัวเหี้ย พวกมันอาศัยอยู่ได้

ในเมืองที่มีป่า ไม่ใช่เมืองที่เห็นต้นไม้เป็นอะไรสักอย่างซึ่งต้องตัดเหลือเพียงต้นโกร๋นๆ

บางวันฝนตกหนัก

หยาดฝนเกาะกระจกหยดเป็นสาย

เวลาเช่นนี้ผมจะมายืนชิดกระจกมองไปเบื้องล่าง สายฝนหนา มองเห็นตึกระฟ้ารางเลือน

ในระหว่างหมู่ตึกเบื้องล่างมีสีเขียวๆ ของต้นไม้แทรกเป็นหย่อมๆ

เมืองที่มีตึกระฟ้าก็ยากที่จะเห็นป่าที่ซุกซ่อนอยู่

ผมกลับมานั่งที่โต๊ะ เอนหลัง หลับตา

นั่งอยู่ในเมือง “อะไร” ก็อยู่ไม่ไกล

ถ้ามีสิ่งนั้นอยู่ข้างในใจ

คนควรมี “ป่าอยู่ในใจ”

โดยเฉพาะ “คน” ซึ่งฝันถึงการนำพาเมืองไปสู่ยุค 4.0