คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / รำลึกร้อยปีชาตกาล อาจารย์กรุณา กุศลาสัย : คุรุภารตวิทยาผู้เปี่ยมกรุณา

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

อาจารย์กรุณา กุศลาสัย เกิดในวันที่ 10 พฤษภาคม 2463 เพราะฉะนั้น ในวันเดียวกันของปีนี้ (2563) จึงเป็นวาระครบรอบร้อยปีชาตกาลของท่าน

ปกติแล้วในปีที่ผ่านมา มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปจะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานระลึกถึงอาจารย์ แต่ในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่สำคัญมากเป็นพิเศษก็เกิดวิกฤตโรคระบาดโควิดเสียก่อน จึงทำให้การจัดงานรำลึกถึงท่านต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ผมได้รับความเมตตาให้เข้าร่วมงานทุกปี เพราะเขาเห็นผมอยู่ในแวดวงที่สนใจด้าน “ภารตวิทยา” หรือความรู้เกี่ยวกับอินเดียซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์กรุณาให้ความสำคัญมาตลอดชีวิต และผมก็เคารพนับถืออาจารย์กรุณาแม้ไม่เคยได้พบท่านเลย

อีกทั้งครูของผมคืออาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ก็เคารพอาจารย์กรุณาเป็นอย่างสูง

 

ที่จริงอาจารย์กรุณา กุศลาสัย เป็นใคร มีความสำคัญแค่ไหน หลายท่านคงทราบดีอยู่ ผมคงไม่ต้องบอกในที่นี้ นอกจากผลงานหนังสือซึ่งช่วยให้เราเข้าใจอินเดียทั้งโบราณและร่วมสมัยได้อย่างดีนั้น ท่านยังเป็นครูสอนภาษาฮินดีคนแรกของไทยอีกด้วย

ผมจึงอยากรำลึกถึงท่านอาจารย์ด้วยประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ ของตัวเอง รวมทั้งสิ่งซึ่งผมได้รับฟังจากผู้ที่ได้พบอาจารย์กรุณาและสิ่งที่ผมรู้สึก ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นอาจาริยบูชาในโอกาสอันพิเศษนี้

ท่านอาจารย์กรุณามีชีวิตที่ทรหดอดทนอย่างเหลือเชื่อ โลดโผนและผ่านอะไรมาอย่างชนิดที่ใครก็ยากจะประสบพบเจอ แม้ท่านจะไม่ได้ปรารถนาที่จะมีชีวิตแบบนั้น ดังชื่อหนังสืออัตชีวประวัติ “ชีวิตที่เลือกไม่ได้” ก็บ่งบอกอยู่ แต่เอาเข้าจริง ผมคิดว่าอาจารย์ได้เลือกความดี ความงามและความจริงซึ่งทำให้ท่านกลายเป็นอาจารย์ “กรุณา” ดังเช่นที่ทุกคนรู้จัก

ผมอยากแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้กันครับ แม้อาจารย์จะออกตัวว่าที่เขียนอัตชีวประวัติก็แค่ต้องการเล่าให้ลูกฟังเท่านั้น

แต่เชื่อว่าคนอ่านอื่นจะได้รับประโยชน์และเห็นเป็นชีวิตอันน่าอัศจรรย์อย่างแน่แท้

 

อาจารย์ไปเรียนถึงอินเดียก็ด้วยความลำบากแร้นแค้นในชีวิต ใช้ชีวิตอยู่ในอินเดียถึงสิบเอ็ดปี ถูกจับเป็นเชลยในช่วงสงครามโลก กลับมาไทยก็เคว้งคว้างเพราะไร้ที่ไป

ความรู้ที่มีทำให้อาจารย์เลี้ยงตัวได้ จนพบรักกับอาจารย์เรืองอุไร ซึ่งทั้งคู่ได้กลายเป็น “ครึ่งหนึ่งของกันและกัน” อาจารย์มักเรียกภรรยาตามขนบวรรณคดีอินเดียที่เรียกหญิงคนรักว่า “อรธางคินี” (ครึ่งหนึ่งของตัว) และผลงานของอาจารย์ก็มีหลายเล่มที่ใช้ชื่อผู้แปลร่วมกัน “กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย”

อาจารย์เป็นสะพานที่นำเอาความรู้ด้านอินเดีย “ภารตวิทยา” มาสู่สังคมไทยโดยกว้างขวาง เพราะเดิมแม้ภารตวิทยาจะมีผู้สนใจอยู่ก่อนแล้ว เริ่มมาจากความสนพระทัยส่วนพระองค์ของรัชกาลที่หก แต่ก็จำกัดในแวดวงของชนชั้นสูงและมักเป็นไปในทางวรรณคดีหรือเทวตำนาน อันเป็นเรื่องที่คนชั้นสูงสนใจ

งานของอาจารย์กรุณาต่างออกไป ดังมีผู้เสนอมาแล้วว่าที่จริงอาจารย์กรุณาเลือกเฟ้นงานที่แปลหรือเขียน เหมือนอาจารย์มี “สาร” หรือรหัสที่อยากจะเสนอต่อสังคมไทยโดยรวม

สิ่งที่อาจารย์เลือกเฟ้นไม่ได้มีเฉพาะความรู้ที่แห้งแล้งเป็นเพียงข้อมูลวิชาการ แต่มาพร้อมกลิ่นรสทางการเมืองซึ่งอินเดียได้ประสบพบเจอมาแล้วในช่วงเรียกร้องเอกราช

งานของอาจารย์จึงมีนัยของอุดมการณ์ทางการเมืองแฝงอยู่ด้วยเสมอ มีความรักชาติ ความคิดเกี่ยวกับเสรีภาพ สันติวิธี สังคม ฯลฯ

อาจารย์พาคนอย่างมหาตมาคานธี, บัณฑิตเนห์รู, รพินทรนาถ ฐากูร มาให้คนไทยรู้จัก ไม่ใช่พระเจ้าวิกรมาทิตย์หรือมหาฤษีองค์ไหน แม้คนทั่วไปอาจไม่ได้คิดถึงอาจารย์ในแง่การเมืองสักเท่าใด เพราะบุคลิกที่สงบเย็นและเรียบง่ายของอาจารย์

หนังสือ “ภารตวิทยา” ที่อาจารย์เรียบเรียง และ “พบถิ่นอินเดีย” ของเยาวหราล เนห์รู ได้กลายเป็นหนังสือพื้นฐานของการศึกษาหาความรู้ทางวัฒนธรรมของอินเดีย “คีตาญชลี” กวีนิพนธ์ของรพินทรนาถ ฐากูร และ “อัตชีวประวัติของมหาตมาคานธี” ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจแก่นักศึกษา ผู้ใฝ่หาความจริงและชีวิตที่มีความหมาย

ยังไม่นับผลงานอื่นๆ อีกมากมายซึ่งต่างออกไปจากการศึกษาทางภารตวิทยาในยุคก่อนหน้า

 

อาจารย์เคยไปเป็นตัวแทนเชื่อมสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน แต่เมื่อไทยเปลี่ยนนโยบายมาโปรอเมริกัน อาจารย์กลับกลายเป็นนักโทษการเมืองในประเทศตัวเอง ทั้งที่ทำงานให้ชาติบ้านเมืองมานี่แหละ

อาจารย์ใช้ช่วงเวลาที่ติดคุกการเมือง แปล “พบถิ่นอินเดีย” ของท่านเยาวหราล เนห์รู ที่น่าอัศจรรย์คือ เนห์รูก็เขียนเรื่องนี้ในคุกการเมืองเช่นเดียวกัน และในหนังสือนี้ เนห์รูก็กล่าวถึงอาจารย์กรุณาในสมัยที่ยังเป็นนักศึกษาและได้เขียนจดหมายถึงตนเองไว้ด้วย

ผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในช่วงที่ยังหลงเหลือคนร้องเพลง “คีตาญชลี” คุยกันเรื่อง “สันติวิธีแบบคานธี” สนใจจะไปเรียน “ศานตินิเกตัน” มีกลิ่นอายแบบนั้นเหลืออยู่บ้าง

ที่สำคัญคือได้เรียนหนังสือกับคนที่จบจากอินเดียและใช้ชีวิตฆราวาสแบบเข้มข้นที่อินเดียเช่นเดียวกับอาจารย์กรุณา คือ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์

อาจารย์ประมวลเล่าให้ผมฟังว่า ท่านไปเรียนที่อินเดียก็เพราะได้อ่านเรื่องราวของอาจารย์กรุณา ก่อนไปอินเดียในสมัยที่ยังเป็นพระภิกษุก็ได้ไปพบอาจารย์กรุณาที่บ้านของท่านก่อนด้วย

ครั้นกลับมาเมืองไทยภายหลังอยู่ในอินเดียถึงสิบเอ็ดปีเช่นเดียวกับอาจารย์กรุณา ก็ได้ไปพบอาจารย์ที่บ้านเป็นที่แรก

ก่อนที่จะลากลับ อาจารย์กรุณาได้หยิบซองใส่เงินส่งให้พร้อมกับบอกว่า คุณรับไปเถอะ ผมรู้ดี เพราะตอนผมกลับจากอินเดีย ผมไม่มีเงินเลยและลำบากมาก

อาจารย์ประมวลรับซองเงินมาแล้วเดินร้องไห้ออกจากบ้านอาจารย์กรุณา เพราะตัวก็เป็นอย่างที่อาจารย์กรุณาพูดจริงๆ

 

หนังสือของอาจารย์ คำบอกเล่าถึงอาจารย์จึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตช่วงวัยรุ่นของผม และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมสนใจด้านอินเดียจนถึงทุกวันนี้

ราวปี 2548-2549 ผมไปเรียนภาษาฮินดีซึ่งเป็นโครงการสำหรับบุคคลภายนอกที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ช่วงนั้นเพื่อนที่เรียนหลายคนไปกราบอาจารย์กรุณากันที่บ้าน เพื่อแสดงความเคารพต่อบูรพาจารย์ทางภาษาฮินดี แต่ผมไม่ได้ไปกับเขาด้วยเพราะมีกิจธุระ

ครั้นพอถึงปี 2551 ผมเริ่มเข้าทำงานในภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มสอนวิชาศาสนาฮินดูเป็นวิชาแรก จึงได้ปัดฝุ่นหยิบหนังสือของอาจารย์กรุณามาอ่าน แล้วระลึกถึงท่านขึ้นมา ประกอบกับช่วงนั้นได้ข่าวว่าอาจารย์กรุณาเริ่มป่วยมากขึ้นจากโรคพาร์กินสัน ผมจึงเขียนจดหมายไปหาท่าน แล้วกะว่าจะรีบหาโอกาสไปเยี่ยมคารวะ

ในจดหมายนั้นผมเล่าว่าได้รับความรู้จากหนังสือของอาจารย์ รวมทั้งอาจารย์ของผมก็เคารพอาจารย์อย่างสูง จึงเขียนจดหมายมาแสดงความคารวะ

ไม่นานก็มีโปสการ์ดตอบขอบคุณมา เข้าใจว่าเวลานั้นอาจารย์เขียนหนังสือไม่ได้แล้วจึงให้พี่อังศิกาบุตรสาวของท่านเขียนให้แทน และท่านได้ลงลายเซ็นไว้พร้อมกับแนบหนังสือเล็กๆ มาให้ผม จากนั้นไม่นานอาจารย์ก็เสียชีวิต จึงไม่ได้มีโอกาสพบกับอาจารย์เลย

นี่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเรื่องหนึ่งในชีวิตของผม

 

โปสการ์ดอันนั้นผมเก็บไว้ด้วยความเคารพ เป็นของขวัญของครูบาอาจารย์ที่ทั้งเป็นสิริมงคลและเป็นกำลังใจ

จดหมายและโปสการ์ดที่ได้รับ ปาจารยสารได้มีแก่ใจนำไปตีพิมพ์รวมไว้กับบทความผมในโอกาสพิเศษเพื่อระลึกถึงอาจารย์กรุณาด้วย

ผมคิดว่าที่อาจารย์กรุณาและอาจารย์เรืองอุไรเป็นที่เคารพรักอย่างสูง คงมิใช่เพียงแค่การงานที่ท่านได้ทำไว้เท่านั้น แต่เพราะชีวิตของท่าน และที่สำคัญคือสิ่งที่ท่านได้ปฏิบัติต่อผู้อื่น

ถ้ามีโอกาสลองหาหนังสือ “ชีวิตที่เลือกไม่ได้” มาอ่านเถิดครับ

แล้วจะเข้าใจว่า เหตุใดจึงมีผู้ขนานนามท่านเป็น

“มณีมนุษย์”