“พระไพรีพินาศ” ใครคือไพรี และเกี่ยวข้องอะไรกับบุโรพุทโธ?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

“พระไพรีพินาศ” เป็นพระพุทธรูปที่สามารถตั้งข้อวิเคราะห์ถกเถียงได้มากมายหลายประเด็น

ในที่นี้ดิฉันขอเชิญชวนท่านร่วมขบคิดกันในประเด็นเหล่านี้

กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ หม่อมไกรสร บุโรพุทโธ ศาสนาพุทธนิกายมหายาน VS นิกายธรรมยุต

 

กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
กับพระกริ่งไพรีพินาศ

ดิฉันเชื่อว่า คำว่า “ไพรีพินาศ” ซึ่งรัชกาลที่ 4 ตั้งชื่อให้พระพุทธรูปศิลาศิลปะชวาองค์หนึ่ง ที่ประดิษฐานในวัดบวรนิเวศวิหารมานานนั้น จักไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางได้เลย หากสมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ “กรมหลวงวชิรญาณวงศ์” (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์ สุจิตฺโต ป.ธ.7) ไม่ลุกขึ้นมาเปิดประเด็นเรื่องนี้ถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อคราวที่ยังมีสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ และยังมีตำแหน่งเป็นประธานมหาเถรสมาคม ขณะนั้นมีพระชันษาได้ 62 พรรษา พระองค์ได้ตั้งคำถามถึงเรื่อง “พระไพรีพินาศ” กับสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ปรากฏหลักฐานใน “สาส์นสมเด็จ” วันที่ 5 มีนาคม 2477 (เล่มที่ 5 หน้า 69-70) โดยสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีปริศนาไปถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดังนี้

“ด้วยพระสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ตั้งปัญหาถามเกล้ากระหม่อมว่า พระไพรีพินาศนั้นเป็นพระอะไร มาแต่ไหน ทำไมจึงมาอยู่วัดบวรนิเวศ เหตุใดจึงมีชื่อว่าไพรีพินาศ เกล้ากระหม่อมหงายท้อง ไม่สามารถตอบได้ อยากรู้เหมือนกัน เคยทูลถามฝ่าพระบาท (จะหมายถึงรัชกาลที่ 5 หรือ 6? – ผู้เขียน) ก็ไม่ทรงทราบเหมือนกัน หันไปหันมาเห็น “กรมหมื่นพงศา” จึงลองจดเข้าทูลถามดู ตรัสบอกว่าใครก็ทรงจำชื่อไม่ได้เสียแล้วเป็นผู้นำมาถวายทูลกระหม่อม (หมายถึงรัชกาลที่ 4 – ผู้เขียน) เมื่อยังทรงผนวชอยู่ เป็นเวลาติดต่อกับที่หม่อมไกรสรถูกสำเร็จโทษ จึงโปรดตั้งพระนามว่าพระไพรีพินาศ เกล้ากระหม่อมเห็นเค้าความเข้าที่หนักหนา ทูลถามว่าทรงทราบมาแต่ไหน ตรัสว่าเสด็จอุปัชฌาย์ (หมายถึงรัชกาลที่ 4 – ผู้เขียน) เล่า”

ข้อความข้างบนนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าแม้แต่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 หรือ 6 และนายช่างเอกแห่งกรุงสยามก็ไม่มีใครทราบที่มาของพระไพรีพินาศแต่อย่างใดเลย

แล้ว “กรมหมื่นพงศา” คือใคร

ทรงมีนามเต็มว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป (พระองค์เจ้าไชยานุชิต ต้นราชสกุล ชยางกูร) เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาเที่ยง

เหตุที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมพิพิธภัณฑ์ และเลขาธิการหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครมาก่อนนั่นเอง ทำให้ท่านเป็นผู้รอบรู้ประวัติศาสตร์โบราณคดีมากพอที่จะทำให้สมเด็จครูของเราเวลาติดขัดอะไรสามารถไถ่ถามได้

ต่อมา 5 วันให้หลัง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีสาส์นตอบว่า

“เรื่องพระพุทธไพรีพินาศที่อยู่วัดบวรนิเวศ หม่อมฉันได้ไปพิจารณาดูองค์พระพุทธรูปนั้น เป็นพระพุทธรูปศิลาแบบมหายานปางนั่งประทานอภัย (อันที่จริงเป็นปางประทานพร – ผู้เขียน) คือเหมือนพระมารวิชัยแต่หงายพระหัตถ์ขวา หม่อมฉันเคยพบเรื่องในประกาศพระราชพิธีจร ว่าทูลกระหม่อม (รัชกาลที่ 4 – ผู้เขียน) ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล “ผ่องพ้นไพรี” เมื่อปีฉลู พ.ศ.2396 (ปีที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสมภพ)

ความในประกาศนั้นกับพระนามพระพุทธรูป บ่งชัดว่าบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพ้นภัยจากหม่อมไกรสร พระพุทธรูปองค์นี้ทูลกระหม่อมเห็นจะทรงได้ไว้แต่ยังทรงผนวช ใกล้ๆ กับเวลากำจัดหม่อมไกรสร จึงทรงถือเป็นนิมิต เดิมเห็นจะเอาไว้ที่อื่นที่โปรดฯ ให้สร้างเก๋งประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นั้นไว้ที่พระเจดีย์วัดบวรนิเวศ เห็นจะเป็นตอนปลายรัชกาลที่ 4 หม่อมฉันนึกจำได้เป็นเงาๆ ว่าเมื่อหม่อมฉันบวชเณร เก๋งนั้นยังไม่แล้ว ท่านก็เสด็จประทับอยู่วัดนั้น เมื่อทรงผนวชจะทรงจำได้บ้างดอกกระมัง แต่พระพุทธรูปองค์นี้จะมีใครถวายหรือจะทรงได้มาจากไหนไม่ทราบ”

แม้แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ยังไม่ทราบความแน่ชัดถึง “มูลเหตุ” แห่งการได้พระพุทธรูปศิลาองค์นี้ของรัชกาลที่ 4 ขณะทรงผนวช ว่ามีที่มาอย่างไร ทราบแต่เพียงว่ามีเรื่องราวของ “หม่อมไกรสร” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

เป็นอันว่า สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ได้คำตอบเรื่อง “พระไพรีพินาศ” จากสมเด็จกรมพระยานริศนานุวัดติวงศ์ในระดับหนึ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ความเกี่ยวข้องกับพระไพรีพินาศครั้งที่ 2 ของกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มีดังนี้ อีก 10 ปีถัดมาทรงได้รับตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า และอีก 9 ปีต่อมา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2496 ทางวัดบวรนิเวศวิหารได้จัดสร้าง “พระกริ่งไพรีพินาศ” ขึ้นเพื่อฉลองพระชนมายุ 80 พรรษาถวายแด่ท่าน (อันที่จริงประสูติปี 2415 ครบรอบ 80 ปีใน พ.ศ.2495 แต่การจัดสร้างพระกริ่งนั้นทำในต้นปีถัดไป)

เห็นได้ว่า ผู้ช่วยไขปริศนาเรื่อง “พระไพรีพินาศ” คนสำคัญที่สุดคือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ตั้งแต่ปี 2477 ท่านได้เปิดประเด็นคำถามต่อปราชญ์ใหญ่ นำไปสู่การบันทึกปุจฉา-วิสัชนาใน “สาส์นสมเด็จ”

และในปี 2496 เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าแล้ว ท่านก็ยังมีความฝังใจจำกับพระไพรีพินาศองค์นั้นอยู่ ถึงกับมีฉันทานุมัติให้คณะสงฆ์และศรัทธาวัดบวรฯ นำรูปแบบพุทธศิลป์และชื่อไพรีพินาศไปใช้เรียก “พระกริ่ง” เพื่อรำลึกถึงท่านได้

กระทั่งทุกวันนี้ “พระกริ่งไพรีพินาศ” ได้กลายเป็นพระกริ่งที่มีชื่อเสียง ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่รู้จักเสียยิ่งกว่า “พระไพรีพินาศ” พุทธศิลป์ชวาต้นแบบ

 

หม่อมไกรสร
คือ “ไพรี” ของรัชกาลที่ 4

หม่อมไกรสรเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ปรากฏใน “สาส์นสมเด็จ” ว่าเกี่ยวข้องกับพระไพรีพินาศแบบ “เปิดหน้าชก” ท่านผู้นี้มีนามเดิมว่า พระองค์เจ้าไกรสร หรือกรมหลวงรักษ์รณเรศ เป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 1 กับเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว และเป็นต้นราชสกุลวงศ์ “พึ่งบุญ” กับ “อนิรุทธเทวา”

เรื่องราวของหม่อมไกรสรมีผู้เรียบเรียงไว้อย่างพิสดารพันลึก สรุปความได้ว่ามีภาพลักษณ์ของ “ผู้ร้าย” ถึง 3 สถานะ

สถานะแรก คือ เป็นเกย์ ชอบเพศเดียวกัน ละทิ้งหน้าที่การงานไปเริงกามารมณ์

สถานะที่สอง คือ เกกมะเหรกเกเร มักใหญ่ใฝ่สูง จ้องจะเลื่อยขาเก้าอี้ของรัชกาลที่ 3 อยู่เนืองๆ

และสถานะสุดท้าย คอยรังแครังคัดพระสงฆ์สายธรรมยุตช่วงรัชกาลที่ 4 ทรงผนวช

ปูมหลังมีอยู่ว่า พระองค์เจ้าไกรสรถือว่าพระองค์ก็เป็นโอรสองค์หนึ่งของรัชกาลที่ 1 แม้จะมีสถานะเป็นอาของรัชกาลที่ 3 แต่อายุอานามก็ไล่เลี่ยกัน ฉะนั้น โดยศักดิ์และโดยสิทธิ์ ก็ย่อมมีโอกาสนั่งบัลลังก์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ารัชกาลที่ 3 (มีพระราชมารดาเป็นเจ้าจอมเหมือนกัน) จึงรอคอยจังหวะช่วงใกล้ผลัดแผ่นดิน

แต่กลับมีเจ้าฟ้ามงกุฎ หรือพระวชิรญาณภิกขุมาเป็นเสี้ยนหนามอีกราย มีเรื่องเล่าว่าพระองค์เจ้าไกรสรเคยเร่งตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลมกับเจ้าฟ้าองค์นี้มาก่อนแล้ว ในช่วงที่รัชกาลที่ 2 ใกล้สวรรคต พระองค์เจ้าไกรสรหลอกว่าพระราชบิดา (รัชกาลที่ 2) มีรับสั่งให้เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จมาเข้าเฝ้าฯ ที่วัดพระแก้ว แท้เป็นกลลวง กลับจับเจ้าฟ้ามงกุฎขังในวิหาร 7 วัน

ยิ่งช่วงเจ้าฟ้าพระกำลังเดินบิณฑบาต พระองค์เจ้าไกรสรก็แกล้งใส่บาตรด้วยข้าวต้มร้อนจัด ทำให้เจ้าฟ้าพระต้องโยนบาตรทิ้งเพราะทนความร้อนของบาตรเหล็กไม่ไหว

กระทั่งรัชกาลที่ 3 จับได้ว่าพระองค์เจ้าไกรสรเตรียมแผนก่อกบฏคิดจะขึ้นเป็นกษัตริย์ ทั้งยังจัดวางโอรสของตนให้เข้ายึดวังหน้า รัชกาลที่ 3 จึงทรงมีรับสั่งให้ถอดยศจากพระองค์เจ้าเป็นแค่หม่อม และให้นำไปสำเร็จโทษ ถือเป็นพระบรมวงศานุวงศ์องค์สุดท้ายที่ถูกทุบด้วยท่อนจันทน์

ทุกวันนี้สามารถไปดูลานประหารได้ที่วัดปทุมคงคา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2391

ความทราบไปถึงเจ้าฟ้าพระขณะทรงผนวช ณ วัดบวรนิเวศ ช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น จู่ๆ ก็มีผู้นำพระพุทธรูปแบบชวามาถวายพอดี ทรงเก็บงำเหตุการณ์ทั้งสองที่เกิดขึ้นพร้อมกันนี้ไว้ในใจ (หนึ่ง ความตายของหม่อมไกรสร สอง การได้รับพระพุทธรูปจากแดนไกล)

กระทั่ง 5 ปีผันผ่านไป หลังจากรัชกาลที่ 4 เสวยราชสมบัติครบ 2 ปี คือใน พ.ศ.2396 พระองค์ทรงนำพระพุทธรูปชวาออกมากระทำพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล “ผ่องพ้นไพรี” ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพบันทึกไว้ในสาส์นสมเด็จ

เป็นนัยว่า ทรงหลุดพ้นจากการเบียดเบียนของศัตรู (คือหม่อมไกรสร) พร้อมเฉลิมนามพระพุทธรูปว่า “พระไพรีพินาศ” สอดคล้องกับชื่อพระเจดีย์ที่ประดิษฐานคู่เคียงกัน

เท่านั้นยังไม่พอ อีก 4 ปีต่อมา คือในปี 2400 รัชกาลที่ 4 ยังได้เฉลิมนามป้อมรบแห่งหนึ่งที่เขาแหลมสิงห์ จันทบุรี ซึ่งเป็นป้อมของรัชกาลที่ 3 สร้างขึ้นเพื่อรับศึกญวน (ยุครัชกาลที่ 3 ไม่มีการตั้งชื่อป้อม) ว่า “ป้อมไพรีพินาศ” อีกด้วย กับอีกป้อมหนึ่งตั้งอยู่คู่กันว่า “ป้อมพิฆาฏปัจจามิตร” (ใช้ตัว ฏ สะกด)

แนวคิดในการตั้งชื่อ “ไพรีพินาศ” ของรัชกาลที่ 4 เช่นนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการพุทธศิลป์สยาม ซึ่งในอดีตโดยมากชื่อพระพุทธรูปมักมีน้ำเสียงในเชิงสื่อถึงพระสมณโคดม เช่น พระศรีศากยมุนี พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา พระพุทธสิหิงค์ เป็นต้น

แต่ยุคสมัยของรัชกาลที่ 4 แนวโน้มในการตั้งชื่อพระพุทธรูปค่อนข้างเน้นไปในทางแคล้วคลาด ประหารศัตรูตัวเป็นๆ เสียส่วนใหญ่ นอกจากพระไพรีพินาศแล้ว ยังมีชื่อ พระพุทธนิรันตราย (รอดจากอันตราย)

 

ทำไมพระแบบมหายาน
จึงมาอยู่กับสายธรรมยุต

มีข้อน่าสงสัยว่า ใครเดินทางไปชวาที่บุโรพุทโธ พระภิกษุหรือฆราวาส ทูตต่างด้าวท้าวต่างแดน เจ้านายพระองค์ไหน? ถึงกับไปนำเอาพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหินภูเขาไฟสีเขียวอมเทา มาถวายแก่เจ้าฟ้าพระในช่วงปี 2391

ซึ่งช่วงนั้นท่านได้ประกาศแยกพระพุทธศาสนานิกายธรรมยุตออกจากมหานิกายแล้ว

ซ้ำพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว นอกจากจะไม่ได้ทำขึ้นในคติพุทธลังกาวงศ์แล้ว ยังทำขึ้นในพุทธศาสนานิกายมหายานโบราณยุครุ่งเรืองช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 ร่วมสมัยกับอาณาจักรศรีวิชัยบนแผ่นดินสยามอีกด้วย

ปางที่ทำ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพอรรถาธิบายว่ามีลักษณะแปลก คือคล้ายมารวิชัยผสมประทานอภัย แต่พิจารณาตามลักษณะประติมานวิทยาแล้วควรเป็น “ปางประทานพร” มากกว่า ซึ่งในงานพุทธศิลป์ชวา ปางประทานพรเป็นสัญลักษณ์ของ “พระรัตนสัมภวะ”

ที่ศาสนสถานบุโรพุทโธ ซึ่งสร้างแบบมณฑลจักรวาล มีการกำหนดให้พระพุทธรูปที่ลานชั้นรูปธาตุ (ลานชั้น 2) เป็นตัวแทนของ “พระธยานิพุทธเจ้า” 4 พระองค์ โดยแบ่งเป็นปางต่างๆ 4 แบบ 4 ทิศ ดังนี้

พระอักโษภยะ ปางมารวิชัย ทิศตะวันออก, พระรัตนสัมภวะ ปางประทานพร ทิศใต้, พระอมิตาภะ ปางสมาธิ ทิศตะวันตก, พระอโฆสิทธะ ปางประทานอภัย ทิศเหนือ อันที่จริงพระธยานิพุทธมี 5 พระองค์ อีกองค์คือพระไวโรจนะ ปางแสดงธรรม จะอยู่ชั้นบนสุด (ทิศเบื้องบน) หรือชั้นอรูปธาตุ

พุทธลักษณะของพระไพรีพินาศเป็นศิลปะชวาที่ใกล้เคียงกับพระรัตนสัมภวะของบุโรพุทโธอย่างชัดเจน มีพระวรกายอวบล่ำคล้ายศิลปะอินเดียแบบคุปตะ ครองจีวรเรียบไม่เล่นริ้ว พระพักตร์สงบนิ่ง เม็ดพระศกโต

สิ่งที่แปลกหูแปลกตาน่าจะเป็น การเอารัศมีเปลวในยุคหลังๆ มาเติมบนยอดเกตุมาลาเหนือพระเศียรนั่นเอง เพราะปกติแล้วพระพุทธรูปชวาไม่มีรัศมีเปลว

ก็น่าแปลกอยู่ไม่น้อย รัชกาลที่ 4 ไม่โปรดพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทในสยาม จึงก่อตั้งนิกายธรรมยุตขึ้นมา ทำให้นิกายดั้งเดิมถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “มหานิกาย”

แต่แล้วพระพุทธรูปที่เป็นสัญลักษณ์จุดเปลี่ยนชีวิตของพระองค์ท่านกลับกลายมาเป็นพระพุทธรูปยุคทองของนิกายมหายาน