เกษียร เตชะพีระ | เรียนรู้จากประวัติศาสตร์โรคระบาด : โรคระบาดกับอำนาจนิยม

เกษียร เตชะพีระ

เรียนรู้จากประวัติศาสตร์โรคระบาด : 1) โรคระบาดกับอำนาจนิยม

เหมือนเล็งการณ์ไว้ล่วงหน้า หนึ่งปีก่อนหน้าโควิด-19 ระบาดทั่วโลก แฟรงก์ สโนว์เดน ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์หนังสือ Epidemics and Society : From the Black Death to the Present (โรคระบาดกับสังคม : จากกาฬมรณะถึงปัจจุบัน โดย Yale University Press) ออกมา

เขาอยู่ในอิตาลีขณะโควิดกำลังระบาดอย่างรุนแรงที่นั่นพอดี

ทรรศนะวิเคราะห์ของสโนว์เดนที่อิงการศึกษาวิจัยโรคระบาดครั้งใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์จึงเป็นที่สนใจใฝ่รู้ของสื่อมวลชนตะวันตก

เพื่อเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ให้รู้เท่าทันและปรับความคิดรับมือกับโควิด-19 ปัจจุบัน

สเตลลา เลอวันเทซี นักข่าวสำนัก Il manifesto global แห่งอิตาลีได้สัมภาษณ์ศาสตราจารย์สโนว์เดนออกเผยแพร่เมื่อ 11 เมษายนศกนี้ ในประเด็นปัญหาต่างๆ ก่อนอื่นคือความสัมพันธ์ระหว่างโรคระบาดกับระบอบอำนาจนิยมและประชาธิปไตยในประวัติศาสตร์

ซึ่งผมขอนำมาถ่ายทอดสู่ท่านผู้อ่านดังนี้ :

สเตลา เลอวันเทซี : สถานการณ์ฉุกเฉินอย่างโรคระบาดได้ขยับย้ายสงครามต่อต้านไวรัสให้กลายเป็นสงครามต่อต้านประชาธิปไตยไปในบางกรณี เอาเข้าจริงสถานการณ์ฉุกเฉินก็กำลังถูกบางคนฉวยใช้เพื่อขยายอำนาจรัฐและควบคุมเศรษฐกิจในบางที่ และในกรณีสุดโต่งก็ถึงขนาดเข้ากวาดรวบอำนาจอย่างกว้างขวางและปล่อยให้ระบอบอำนาจนิยมผงาดขึ้นมาอย่างในฮังการี เป็นต้น เคยเกิดเรื่องอย่างนี้ในอดีตบ้างไหมคะ? โรคระบาดเคย “ให้ความชอบธรรม” กับลัทธิอำนาจนิยมไหม?

แฟรงก์ สโนว์เดน : คุณพูดถูกเผงเลยครับว่าเป็นไปได้ที่โรคระบาดทั่วจะเสริมความเข้มแข็งให้แก่ลัทธิอำนาจนิยม สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับนายกรัฐมนตรีวิกตอร์ ออร์บาน ในฮังการีและที่กำลังเกิดขึ้นในโปแลนด์ด้วยนั้นเป็นตัวอย่างชัดยิ่งสองกรณีถึงวิถีทางซึ่งโรคระบาดทั่วกลายเป็นข้อแอบอ้างและการให้ความชอบธรรมแก่พวกอำนาจนิยมขวาจัดให้ดำเนินย่างก้าวไปทำลายประชาธิปไตยและสถาปนาการบริหารปกครองแบบชาตินิยมประชานิยมจอมปลอมขึ้นมา ดังนั้น นั่นก็เป็นอันตรายอยู่ครับ

บางทีเราอาจคิดไปว่านี่เป็นกฎเกณฑ์ของลัทธิอำนาจนิยม ว่าโรคระบาดมาทีไร ผู้คนก็จะประสบกับมันเหมือนหนึ่งภาวะฉุกเฉินทางการทหารทีนั้น และเราก็ได้เห็นกันแล้วว่านี่เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้นำฮังการีและโปแลนด์ประพฤติปฏิบัติตัว กล่าวคือ บอกว่านี่เป็นภาวะฉุกเฉินนะและเราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากดำเนินมาตรการแบบอำนาจนิยม

ทว่าในทางกลับกัน นี่ไม่ใช่กระบวนการที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ มันเป็นการณ์จร (contingency) นะครับ ถ้าคุณมองดูโรคระบาดทั่วครั้งใหญ่หนล่าสุดอันได้แก่ไข้หวัดใหญ่สเปนในปี ค.ศ.1918 เราได้เห็นการกำหนดมาตรการต่างๆ ออกมามากมายเช่นห้ามชุมนุมมั่วสุม คำสั่งในทำนองที่เป็นแบบอย่างแต่เก่าก่อนของการล็อกดาวน์ (lockdown = การออกคำสั่งทางการเพื่อจำกัดควบคุมการเคลื่อนที่ของผู้คนและยานพาหนะเนื่องจากสถานการณ์อันตราย) ห้ามการเดินขบวนแสดงพลังหรือเดินพาเหรด และพลเมืองต้องถูกสอดส่องติดตามโดยรัฐ เป็นต้น

แต่แม้ในสมัยนั้น ผมก็ไม่คิดว่ามีใครบอกว่ามาตรการเหล่านี้เป็นการถาวรหรอกครับและมันก็ถูกยกเลิกไปในที่สุด และคุณก็จะไม่บอกหรอกครับว่าผลลัพธ์ของไข้หวัดใหญ่สเปนคือระบอบเผด็จการ

ทว่าในอีกแง่หนึ่ง เมื่อเกิดอหิวาตกโรคระบาดในยุโรปตะวันออกช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1830 นั้น เราก็ได้ประสบพบเห็นการบังคับยัดเยียดมาตรการที่เหี้ยมเกรียมรุนแรงมากลงมาเพื่อกดปราบอย่างแทบว่าจะย้อนกลับไปสู่ยุคกลางเลยทีเดียว และมาตรการดังกล่าวก็ใช้อยู่ยืนนาน

ฉะนั้น ผมก็เลยเชื่อว่ามันเป็นไปได้ที่พวกอำนาจนิยมจะฉวยใช้ความเป็นไปได้ประดามีซึ่งโรคระบาดทั่วก่อให้เกิดขึ้น แต่มันก็คุ้มค่านะครับที่เราจะระลึกไว้ว่านี่หาใช่กฎเกณฑ์แห่งประวัติศาสตร์ของโรคระบาดทั่วไม่ มันอาจส่งผลตรงข้ามกันก็เป็นได้

ตัวอย่างเช่น เราคงจำกันได้นะครับว่าระบบทาสในสวนไร่ขนาดใหญ่ของประเทศไฮติยุคใหม่นั้นถูกเร่งกร่อนบ่อนเซาะให้อวสานลงด้วยความพังพินาศแห่งกองเรือรบของนโปเลียนเนื่องจากไข้เหลืองระบาด และนั่นน่ะส่งผลกระทบสำคัญที่มีลักษณะปลดปล่อยเลยทีเดียว

อันได้แก่ การเกิดสาธารณรัฐอิสระแห่งแรกของคนผิวดำและการก่อกบฏใหญ่ครั้งแรกของพวกทาสในประวัติศาสตร์ซึ่งส่วนหนึ่งหยั่งรากอยู่ในอัตราการตายกับภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันของชาวยุโรปกับเหล่าทายาทของชาวแอฟริกัน กล่าวคือ กองทหารของนโปเลียนและชาวยุโรปนั้นไม่มีภูมิคุ้มกันชุมชน (herd immunity) ต่อไข้เหลือง ขณะที่ทาสชาวแอฟริกันมี

ดังนั้น ผมใคร่จะบอกว่าโรคระบาดทั่วอาจส่งเสริมเสรีภาพได้เหมือนกัน ผมก็เลยคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในคราวนี้เป็นเรื่องของการตัดสินใจเลือกต่างหากครับ อนาคตหาได้ถูกลิขิตไว้แน่นอนล่วงหน้าไม่ เรื่องของเรื่องอยู่ที่ว่าพลเมืองทั้งหลายตื่นตัวระวังระไวและแสดงปฏิกิริยาตอบสนองได้ดีมากน้อยแค่ไหนเพียงไร นั่นน่ะจะนำไปสู่ความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงในขั้นชี้ขาดเลยทีเดียวครับ

สเตลา เลอวันเทซี : ถ้างั้น การจัดการกับโรคระบาดทั่วก็ไม่จำต้องนำมาซึ่งลัทธิอำนาจนิยม ถูกต้องไหมคะ?

แฟรงก์ สโนว์เดน : ถูกต้องครับ มีคนมากมายที่หยิบยกประเด็นคำถามขึ้นมาว่าการจัดการโรคระบาดทั่วจำต้องนำมาซึ่งลัทธิอำนาจนิยมใช่ไหม และหาว่าระบอบประชาธิปไตยทั้งหลายนั้นจัดการกับโรคระบาดทั่วไม่ได้เรื่อง ผมกลับจะบอกว่าระบอบประชาธิปไตยทั้งหลายน่ะแสวงหาแรงสนับสนุนจากประชาชนและสถาปนานโยบายสาธารณสุขที่สมเหตุสมผลได้ดีกว่าเพราะระบอบประชาธิปไตยปล่อยให้สารสนเทศไหลเวียนได้อย่างเสรี และระบบสาธารณสุขสมัยใหม่นั้นเอาเข้าจริงพึ่งพาอาศัยสารสนเทศเสรีนี่แหละ

ผมมีความหวังว่าบรรดามาตรการต่างๆ อย่างเช่นที่เกาหลีใต้ประยุกต์ใช้นั้นเอาเข้าจริงจะเป็นตัวแบบของสิ่งที่การบริหารปกครองแบบประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยเกือบเต็มใบจะพึงทำได้ต่อให้ไม่มีอำนาจฉุกเฉินก็ตาม ผมไม่ได้กำลังพยายามแซ่ซ้องร้องเชียร์เกาหลีใต้นะครับ ผมแค่กำลังบอกว่าการบริหารปกครองเกาหลีใต้มาจากการเลือกตั้ง

อย่างเช่น ปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำ การจัดวางระยะห่างทางสังคม การกักกันตัว และการแกะรอยการติดต่อสัมพันธ์ เป็นต้น ที่ว่ามานั้นเป็นส่วนประกอบแก่นแท้ของสิ่งที่จำต้องทำในขณะนี้ เพราะเราไม่มีอาวุธอื่นเลย ไม่ว่าวัคซีนหรือวิธีรักษาเยียวยา ผมไม่คิดหรอกครับว่าความคิดที่ว่าเราจำต้องมีจอมเผด็จการเพื่อไว้จัดการกับวิกฤตน่ะมันเป็นความจริง

(ต่อตอนหน้า)