ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : แฉครูเท่ากับเนรคุณ? ในกระบวนการทำ “ครู” ให้เป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์”

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ข่าวสะเทือนขวัญใครหลายคนเรื่องหนึ่งในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ก็คือ ข่าวครู 5 คน พร้อมด้วยศิษย์เก่าของโรงเรียนเดียวกันอีก 2 นายของโรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคอีสาน รุมข่มขืนนักเรียน 2 คน ระดับชั้น ม.2 และระดับชั้น ม.4 อย่างละคน ติดต่อกันมานานนับปี

จนกระทั่งความมาแตกแล้วผู้ปกครองของเด็กนักเรียนเคราะห์ร้ายคนนั้นได้ไปแจ้งความเข้า จนเกิดเป็นกระแสสังคมอย่างที่น่าจะทราบกันดีนั่นแหละครับ

แต่ก็เป็นเพราะกระแสสังคมนี่เอง ที่ทำให้เราได้รับรู้กับเรื่องที่น่าเศร้าสลดใจไม่ต่างกันนักอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือการที่เพื่อนร่วมอาชีพ “ครู” ด้วยกันนี่แหละ ที่ออกมาปกป้องการกระทำของครูที่ตกเป็นจำเลยสังคม โทษฐานที่รุมข่มขืนนักเรียน แล้วถูกสังคมประณาม

ด้วยเหตุผลประหลาดๆ ที่ว่า “ถ้าไม่อยากให้ลูกหลานตัวเองถูกครูข่มขืนก็สอนลูกตัวเองอยู่ที่บ้าน” โดยยังได้ทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “เด็กเนรคุณที่ออกมาแฉครูขอบอกเลยว่าพวกคุณไม่มีวันเจริญ” ราวกับว่า “ครู” นั้นเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่สามารถให้คุณให้โทษใครต่อใครได้ ไม่ต่างกับเทวดา หรือภูตผีต่างๆ

 

นักประวัติศาสตร์ระดับขึ้นหิ้งอย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความที่ชื่อ “พิธีกรรมไหว้ครู” ซึ่งตีพิมพ์ลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน เรือน พ.ศ.2528 ว่า “ครู” ในความหมายของคนไทยแต่ดั้งเดิมนั้นไม่ใช่คน

ร่องรอยหลักฐานที่ อ.นิธินำมาใช้อธิบายเป็นกรณีตัวอย่างก็คือ การไหว้ครูโนราและหนังตะลุงทางปักษ์ใต้ของไทย

“ครูหมอ” ที่ผู้แสดงโนรา ผู้เล่นหนังตะลุง นับถือและเคารพบูชากันในหมู่นักแสดงนั้นหมายถึง “ผี” บรรพบุรุษของสายการแสดงสกุลหนึ่งๆ และเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในสกุลหรือสำนักนั้นๆ แต่ต้องตายไปแล้วเท่านั้นนะครับ ถ้าไม่ตายจะถือเป็นครูหมอไม่ได้

คำไหว้ครูโนราหลายสำนวนก็อ้างชื่อของคนที่ตายไปแล้ว แต่มีบทบาทในการให้กำเนิดการแสดงโนราตามตำนานการกำเนิดโนรา ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับศิลปินผู้ล่วงลับคนนั้นเลยอยู่บ่อยๆ

ดังนั้น ครูหมอจึงมีฤทธิ์เหนือคนธรรมดา และแรงพอที่จะทำให้คนเจ็บป่วยหรือหายจากเจ็บป่วยได้ หรือพูดให้ง่ายเข้าอีกว่า “ครู” ของการแสดงในภาคใต้ที่เขาไหว้สากันเป็นพิธีกรรมนั้นก็คือ “ผี” นั่นเอง

 

อ.นิธิได้อธิบายต่อไปว่า ความคิดว่าครูคือผีนั้นไม่ได้เป็นของพิเศษที่มีเฉพาะในภาคใต้เท่านั้น ในการไหว้ครูโขนละคร ครูใหญ่ที่ต้องไหว้หรือรำถวายมือนั้นก็คือผีใหญ่ที่อยู่ในรูปฤๅษี หรือพระอิศวรในปางต่างๆ ซึ่งก็คือผีสางหรือเทพเจ้านั่นเอง

หมายความว่าคนภาคกลางแต่โบราณก็ถือว่าครูนั้นคือผีเหมือนกัน

ครูไทยจึงเป็น “ผี” หรือ “เทพ” ซึ่งถ้าพูดในภาษาสมัยใหม่หน่อยก็คือ “หลักการทางนามธรรม” อย่างหนึ่ง แล้วแต่ว่าในยุคสมัยใดจะตีความผีหรือเทพนี้ว่าเป็นหลักการทางนามธรรมอันใด

คนที่ทำหน้าที่ฝึกหัดความสามารถอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นจึงถูกเรียกว่า “ครู” ไปด้วย เพราะเป็นผู้สืบทอดความสามารถจากผีหรือเทพนั้นมาอีกทอด หรือจะกล่าวว่าเป็นผู้ดำรงหลักการอันเป็นนามธรรมนั้นสืบมานั่นเอง

 

แต่ในพิธีกรรมการไหว้ครูนั้น “ผู้ฝึกหัด” ที่ถูกเรียกว่าครูประเภทนี้ ไม่ใช่สิ่งสักการะสำคัญที่ลูกศิษย์ต้องกระทำการบูชา ยกเว้นเพียงแต่ว่าผู้ฝึกหัดหรือ “ครูมนุษย์” เหล่านี้จะทำพิธีการอะไรบางอย่างให้ “ครูผี” เข้ามาสิงตนเองเสียก่อน

พูดง่ายๆ ว่าเป็นการเข้าทรงเพื่อถ่ายทอดเอาพลังศักดิ์สิทธิ์ของครูผีเข้ามาครอบงำตนเอง จากนั้นตนเองจึงจะกลายเป็นสะพานที่พลังศักดิ์สิทธิ์ของครูผีมา “ครอบ” ให้แก่ลูกศิษย์ได้ โดย อ.นิธิยังได้อธิบายเอาไว้อีกด้วยว่า การแต่งกายของครูมนุษย์ในการครอบโขนละคร หรือครูหนังครอบมือ ครูโนราครอบเทริด ล้วนชี้ให้เห็นว่า ในห้วงขณะจิตนั้น ครูมนุษย์เหล่านี้ล้วนถูกสิงด้วยพลังลี้ลับของครูผีแล้วนั่นแหละ

ผมมีข้อมูลที่อยากจะเพิ่มเติมจาก อ.นิธิอีกสักหน่อย เผื่อว่าใครจะได้ไม่เข้าใจผิดว่าการไหว้ครูแบบที่ อ.นิธิกล่าวถึงนั้นมีแต่เฉพาะในหมู่ของนักแสดงหรือนักดนตรีเท่านั้น

ในพิธีเลี้ยงผีประจำปี ซึ่งก็มีกันเป็นปกติทั่วไปทั้งอุษาคเนย์นั้น แต่ดั้งเดิมมักประกอบพิธีกันในช่วงหน้าแล้ง หลังฤดูเก็บเกี่ยว ก่อนฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ ผิดกับปัจจุบันที่มักจะทำกันตามสะดวก พร้อมเดือนไหนทำเดือนนั้น (ปัจจุบันนี้ชุมชนในภาคอีสานหลายชุมชนยังประกอบพิธีตามธรรมเนียมเดิม คือนับเอาช่วงสงกรานต์เป็นช่วงประกอบพิธีเลี้ยงผีไหว้ครู ครอบครู “ช่าง” ต่างๆ เช่น ช่างฟ้อน ช่างขับ ฯลฯ)

พิธีเลี้ยงผีเหล่านี้ยังมีการเลี้ยงผีเรือน ผีบ้าน (หมายถึงหมู่บ้าน) รวมถึงผีที่สิงอยู่ในเครื่องมือทำมาหากินทุกอย่าง ซึ่งมีชื่อเรียกตามเครื่องมือทำมาหากินเหล่านั้น เช่น ผีนางด้ง (หมายถึง ผีที่สิงอยู่ในกระด้งฝัดข้าว) ผีครก ผีสาก (หมายถึง ผีที่สิงอยู่ในครก สากตำข้าว) เป็นต้น การเลี้ยงผีเหล่านี้จะต้องมีพิธีเข้าทรง แล้วมี “ผีลง” หรือ “ผีเข้า” เพื่อทำการเสี่ยงทายว่าฤดูกาลข้างหน้าจะมีความอุดมสมบูรณ์หรือไม่?

และก็เป็นพิธีกรรมเหล่านี้เองที่สืบทอด และพัฒนาต่อมาเป็นการไหว้ครูแบบโขนละคร รวมถึงดนตรีและการแสดงทุกชนิดนั่นแหละ ดังจะเห็นร่องรอยได้ว่า เครื่องมือที่ใช้เป็นสะพานเชื่อมโยงความศักดิ์สิทธิ์ของครูผีมาไว้ในครูมนุษย์ หรือ “การเข้าทรง” นั้นก็คือเครื่องมือในการแสดง เช่น เศียรพระฤๅษี เศียรพระพิราพ ไม่ต่างอะไรกับผีนางด้ง หรือผีครกผีสาก

 

การไหว้ครูที่ทำหน้าที่สอนหนังสือ ในสมัยโบราณก็ไม่ต่างกันหรอกนะครับ มีข้อมูลเก่าแก่ระบุว่า การเรียนหนังสือของเจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 4 จะต้องใช้สมุดไทยดำ ลงเส้นบันทึกเนื้อหาที่จะเรียนด้วยหรดาล ใส่พานรองนำไปในวันแรกเข้าเรียน ซึ่งต้องเป็นช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (คือวันครู ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์) นอกจากนี้ยังต้องมีพานเครื่องบูชาที่ประกอบด้วยธูป เทียน ดอกเข็ม ดอกมะเขือ และหญ้าแพรก (เพื่อให้ปัญญาแหลมคมเหมือนดอกเข็ม มีความรู้มากเหมือนเมล็ดมะเขือ และรู้เร็วฉับไวเหมือนหญ้าแพรกขึ้น) เมื่อถึงสำนักครูให้ยกพานเข้าไปตั้งตรงหน้า จุดธูปเทียนกราบไหว้บูชา “หนังสือ”

หนังสือที่ถูกกราบไหว้นั้นคือสมุดไทยดำลงเส้นหรดาลนั่นเอง และขอให้สังเกตว่าที่เขาไหว้คือตัวหนังสือ ไม่ใช่ครูมนุษย์ ไม่ต่างจากเศียรพ่อแก่ เทริดโนรา กระด้งของผีนางด้ง หรือผีครกผีสาก เลยสักนิด นอกจากนี้ พิธีกรรมอย่างนี้ผู้เรียนยังต้องกระทำเป็นประจำทุกวันพฤหัสฯ ไม่ใช่กระทำเป็นประจำปีละหนึ่งครั้ง แตกต่างจากพิธีไหว้ครูปัจจุบันอย่างกับคนละเรื่อง

ข้อมูลการไหว้ครูของเจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 4 ว่าเป็นการไหว้ครูผีผ่านตัวหนังสือ ไม่ใช่ไหว้ครูมนุษย์นี้ ผมได้มาจากที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกความทรงจำของพระองค์สมัยตอนเล่าเรียนชั้นปฐมศึกษาในสมัยนั้นเอาไว้ และเขียนเล่าไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “ความทรงจำ” ของพระองค์ ถ้าใครไม่เชื่อผมให้ไปเถียงกับสมเด็จฯ ท่านเอาเองนะครับ ผมไม่เกี่ยว

 

การไหว้ครูมนุษย์นั้นจึงเป็นเรื่องประดิษฐ์ใหม่ในสมัยหลัง ไม่ใช่พิธีกรรมเฉพาะของไทยที่เก่าแก่แต่ใดมาอย่างที่มักเข้าใจผิดกันนั่นเอง โดยหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เพิ่งได้เริ่มกำหนดแบบแผนของพิธีไหว้ครูให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติอย่างเดียวกัน เมื่อภาคการศึกษาต้นของปี พ.ศ.2486 และได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีแรกของเดือนมิถุนายนประจำทุกปีนั้นเป็นวันไหว้ครู

แต่ไม่ใช่ว่าการไหว้ครูอย่างที่เราคุ้นๆ กันในปัจจุบันนี้จะเพิ่งเริ่มกันในสมัย ม.ล.ปิ่นนะครับ เพราะหลักฐานการไหว้ครูในลักษณะใกล้เคียงปัจจุบันเก่าแก่ที่สุด เมื่อปีแรกในรัชกาลที่ 6 ที่โรงเรียนราชกุมาร เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2453 แต่จากหนังสือที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกราบบังคมทูลพระกรุณาถึงรัชกาลที่ 6 มีข้อความระบุว่า

“ต่อไปนี้ได้ทำพิธีไหว้ครูตามธรรมเนียมของกรมศึกษาธิการ คือให้นักเรียนจุดธูปเทียนบูชาที่โต๊ะหนังสือ ซึ่งจัดตั้งไว้โดยเฉภาะ แล้วให้นักเรียนอ่านคำไหว้ครูด้วยกิริยาเคารพ ต่อนั้นไปก็ได้เริ่มการสอนเปนลำดับมา”

แปลได้ว่ายังไม่ได้มีการไหว้ครูมนุษย์แบบปัจจุบันอีกเช่นกัน

การเปลี่ยนผ่านพิธี “ไหว้ครู” จากไหว้ “ผี” มาเป็นไหว้ “มนุษย์” ซึ่งเพิ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในช่วงกลางยุคกรุงเทพฯ นี้เอง จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการทำให้ “ครู” กลายเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” อันละเมิดไม่ได้ จนเกิดตรรกะบิดเบี้ยวถึงขนาดที่ใครก็ไม่สามารถจะไปแตะต้องพระคุณของครูได้เลย ไม่ว่าครูเหล่านั้นจะเลวทรามต่ำช้า ถึงขนาดที่รุมข่มขืนลูกศิษย์ตัวเองมานานนับปีก็ตาม