ภาพยนตร์ / นพมาส แววหงส์ / A BEAUTIFUL DAY IN THE NEIGHBORHOOD ‘มิสเตอร์รอเจอร์ส’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

A BEAUTIFUL DAY IN THE NEIGHBORHOOD

‘มิสเตอร์รอเจอร์ส’

 

กำกับการแสดง Marielle Heller

นำแสดง  Tom Hanks Matthew Rhys Chris Cooper Susan Kelechi Watson

 

รายการทีวี Mr. Rogers’ Neighborhood เป็นรายการสำหรับเด็กเล็กที่ออกอากาศยาวนานถึง 33 ปี ตั้งแต่ ค.ศ.1968 จนถึง 2001 เด็กอเมริกันและทั่วโลกส่วนหนึ่งโตขึ้นมากับมิสเตอร์รอเจอร์ส และรายการเพื่อการศึกษาในวัยเด็กเล็กอีกรายการ ซึ่งใช้หุ่นมือเป็นหลัก คือ Sesame Street

ขณะที่รายการหลังสอนการเรียนรู้สิ่งรอบตัว การสะกดคำ ฯลฯ เหมือนเป็นโรงเรียนอนุบาลสำหรับเด็กเล็ก มิสเตอร์รอเจอร์สพูดถึงสิ่งรอบตัวเช่นเดียวกัน แต่เป็นการเชื่อมโยงทางอารมณ์ของสิ่งต่างๆ ที่ชีวิตจะต้องประสบพบพาน

มิสเตอร์รอเจอร์สสร้าง “ละแวกบ้าน” ที่มีเขาเป็น “เพื่อนบ้าน” ผู้ใจดีมาคอยเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟังและรับรู้ พร้อมไปกับการเตรียมพร้อมด้านอารมณ์เพื่อจะเติบใหญ่ขึ้นสู่วัยผู้ใหญ่ที่ถึงพร้อมด้วยวุฒิภาวะ

หัวข้อที่มิสเตอร์รอเจอร์สนำเสนอบางเรื่องอาจฟังดูไม่น่าจะเหมาะสำหรับเด็ก เช่น เรื่องโรงพยาบาลและการเจ็บป่วย การลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี้ ฯลฯ แต่จุดประสงค์ก็เพื่อสอนเด็กๆ ให้รับรู้และเติบโตขึ้นมาในสังคมที่ต้องประสบพบเห็นกับความเป็นจริงที่ผู้ใหญ่หลายคนเห็นว่าไม่ควรให้เด็กรับรู้

 

บุคลิกอันอ่อนโยนใจดีมีเมตตาของมิสเตอร์รอเจอร์สเป็นหัวข้อที่มักหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยๆ โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่อยากขุดคุ้ยให้เข้าถึงตัวตนที่แท้จริงของวีรบุรุษในใจคนหลายๆ คน

บรรณาธิการของนิตยสาร Esquire สั่งให้นักข่าวในสังกัดชื่อลอยด์ โวเกิล (แมตธิว รีส) ไปสัมภาษณ์และเขียนบทสรุปสั้นๆ 400 คำ เพื่อบรรยายถึงตัวตนของบุคคลที่ได้รับยกย่องระดับชาติคนนี้

นี่เป็นงานที่ลอยด์ไม่อยากทำเลย ให้ไปสัมภาษณ์พิธีกรรายการเด็ก ดูเป็นงานสำหรับนักข่าวมือใหม่ต๊อกต๋อย ไม่ใช่นักหนังสือพิมพ์ที่เล่นหนักเล่นแรงอย่างเขาเลย

แต่คำสั่งของบอกอใหญ่เป็นสิ่งที่ขัดขืนไม่ได้ ถ้ายังอยากก้าวหน้าในอาชีพการงานต่อไป ลอยด์จึงจำต้องรับทำงานหมูๆ ชิ้นนี้โดยไม่เต็มใจเลย

 

นี่คือเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของคนสัมภาษณ์ ไม่ใช่เรื่องราวของเฟร็ด รอเจอร์ส (ทอม แฮงก์ส) บุคคลที่ถูกสัมภาษณ์

ลอยด์กับภรรยา แอนเดรีย (ซูซาน เคเลจี วัตสัน) กำลังมีลูกวัยแบเบาะ และยังอยู่ในช่วงชีวิตที่กำลังต้องสร้างเนื้อสร้างตัว ขณะเดียวกันน้องสาวของลอยด์แต่งงานใหม่เป็นครั้งที่สาม และเชิญเจอร์รี่ ผู้เป็นพ่อ (คริส คูเปอร์) มาร่วมงานด้วย

เห็นได้ชัดจากปฏิกิริยาของลอยด์ว่าพ่อห่างหายไปจากชีวิตของพวกเขานานแล้ว และสิ่งสุดท้ายที่ลอยด์ต้องการคือการกลับไปพบหน้าค่าตาพ่ออีกครั้ง

เจอหน้ากันหลัดๆ โดยที่เจอร์รี่พยายามจะพูดคุยกับลูกชาย แต่ยังไม่ทันไร ก็กลายเป็นปากเป็นเสียงถึงขั้นลงไม้ลงมือกันเลือดกบแบบอารมณ์ร้อนด้วยกันทั้งคู่

สรุปได้ว่าพ่อไม่เคยทำหน้าที่ของพ่อ โดยนอกใจแม่ไปมีผู้หญิงอื่น ทิ้งให้แม่ซึ่งเป็นมะเร็งเผชิญหน้ากับความตายอยู่ในความดูแลของลูกๆ ที่ยังเล็ก

 

ลอยด์แบกความโกรธแค้นแน่นทรวงมาจนเติบใหญ่ โดยบอกตัวเองว่าไม่สามารถให้อภัยพ่อที่ใจร้ายและไร้ศีลธรรมแบบนั้นได้

มิสเตอร์รอเจอร์สผู้อบอุ่น ให้ความสนใจในคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนที่อยู่ตรงหน้าเขาเสมอ พยายามหยิบยื่นไมตรีและสร้างสัมพันธ์กับลอยด์ แบบที่ลอยด์ไม่ต้องการและต่อต้านด้วยซ้ำ

แต่ทีละเล็กทีละน้อย เขาก็ได้เรียนรู้ถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของการให้อภัย ซึ่งจะทำให้เขากลายเป็นสามีที่ดีของภรรยาและพ่อที่ดีของลูกต่อไปในอนาคต

จากคำสั่งให้เขียนเรื่องสั้นๆ สี่ร้อยคำ ลอยด์ส่งบทความยาวหนึ่งหมื่นคำให้บรรณาธิการ ซึ่งชอบเรื่องที่เขาเขียนมากถึงขั้นสั่งให้ลงบนหน้าปกนิตยสารเลย

เป็นบทความชื่อ “Can You Say…Hero?” ซึ่งเป็นที่มาของหนังเรื่องนี้

และบทความนั้นไม่ได้เกี่ยวกับบุคคลผู้ถูกสัมภาษณ์โดยตรง แต่เกี่ยวกับผลของการไปสัมภาษณ์เฟร็ด รอเจอร์ส ที่มีต่อตัวเขาเอง

ซึ่งในประเด็นนี้เป็นบทสรุปที่บอกเล่าเรื่องราวของมิสเตอร์รอเจอร์สอย่างตรงประเด็นที่สุด

ประเด็นคือตัวตนของเฟร็ด รอเจอร์ส จะเป็นอย่างไรนั้นสำคัญน้อยกว่าอิทธิพลที่เขาส่งให้แก่เยาวชนที่ได้ดูรายการของเขาหลายต่อหลายรุ่น หลายต่อหลายช่วงอายุ

 

ทอม แฮงก์ส สวมบทบาทเป็นวีรบุรุษในดวงใจผู้ชมหลากหลายวัยและเชื้อชาติได้อย่างลงตัว ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลหลากหลายจากบทบาทนี้ และแมตธิว รีสก็มีบทบาทที่น่าจดจำเป็นอย่างยิ่ง

มีหลายบทหลายตอนที่โดนใจผู้เขียนจังๆ หรือเฉียดๆ

เช่น ความสนใจของเฟร็ด รอเจอร์ส ต่อบุคคลที่อยู่ต่อหน้าเขา อย่างเช่นตอนที่เขากำลังคุยกับเด็กชายที่เป็นมะเร็งและไม่ยอมตัดบท ทั้งๆ ที่กองถ่ายกำลังรอจะถ่ายทำรายการอยู่

ความสนใจที่เขามีต่อนักข่าวผู้ขมขื่นต่อโลกคนนี้ และบอกว่าคนที่สำคัญที่สุดในโลกคือคนที่อยู่ตรงหน้าเขานี้เอง

ฉากที่ทรงพลังที่สุดคือฉากที่เฟร็ดนั่งอยู่กับลอยด์ในร้านอาหาร และลอยด์ไม่อยากเผชิญหน้ากับปัญหาส่วนตัวของเขาเอง เฟร็ดขอให้ลอยด์ช่วยทำอะไรพร้อมๆ ไปกับเขาหน่อย นั่นคือนั่งนิ่งๆ ใช้เวลาสักหนึ่งนาทีส่งความรักไปให้คนทั้งหลายที่ทำให้เขากลายเป็นคนที่เป็นอยู่ขณะนี้

ฉากนี้เงียบมากและแทบจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ ขณะที่ผู้เขียนเชื่อว่าคนดูทุกคนคงพลอยทำตามไปด้วย โดยพิจารณาชีวิตของตัวเองว่ามีใครบ้างที่ทำให้ตัวตนของเราเป็นอย่างเช่นที่เป็นอยู่นี้ แน่นอนว่าศัตรูคู่แข่งคู่อาฆาตของเราก็จะรวมอยู่ในนั้นด้วย และเราต้องขอบคุณพวกเขาที่ทำให้เราเป็นเราอย่างที่เป็นอยู่

และฉากนี้นำไปสู่น้ำตาที่เอ่อคลอขึ้นมาในดวงตาของตัวละคร ไม่เว้นแม้แต่คนที่อยู่รอบๆ ที่แอบได้ยินคำสนทนานั้น

 

มีอีกฉากที่บอกนัยยะได้แนบเนียนแยบยลโดยไม่พูดออกมาโต้งๆ นั่นคือฉากที่เฟร็ดกับลอยด์นั่งรถใต้ดินไปด้วยกัน และมีกลุ่มคนผิวดำยืนมองอยู่ห่างๆ พวกเขาไม่กล้าเข้ามาพูดคุยหรือขอลายเซ็นจากมิสเตอร์รอเจอร์ส ได้แต่ร่วมกันร้องเพลงจากรายการ และในที่สุดคนอื่นๆ ก็อดร่วมร้องไปด้วยไม่ได้

ที่บอกว่าแยบยลคือการบอกเล่าถึงสังคมที่ยังมีความแบ่งแยกทางผิวอย่างชัดเจน และรายการของมิสเตอร์รอเจอร์สช่วยทำให้รอยแยกนั้นแคบลง

ลองค้นดูประวัติของเฟร็ด รอเจอร์ส จะเป็นภาพในรายการที่เขากำลังนั่งแช่เท้าอยู่ในอ่างน้ำร่วมกับพนักงานดับเพลิงผิวดำ ซึ่งน่าจะเป็นรายการที่พูดคุยให้รู้เรื่องการเกิดเพลิงไหม้และพนักงานดับเพลิงที่มาดับไฟรับใช้ประชาชน

จะเห็นว่ามิสเตอร์รอเจอร์สพูดคุยถึงทัศนะที่เด็กรุ่นใหม่ควรจะมีในสังคมที่เปลี่ยนไปจากสังคมเหยียดผิวที่เคยรุนแรงอยู่ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษ

สิ่งละอันพันละน้อยที่ทำให้ชอบหนังเรื่องนี้มีอยู่เยอะแยะ และเรียกรอยยิ้มของความสุขใจได้หลังจากดูจบ

และนี่ทำให้หนังเรื่องนี้อยู่ในรายการหนังดีที่สุด 100 เรื่องของนิตยสารไทม์