หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘นับถือ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
สิงโตตัวผู้ - สิ่งที่เหมือนกันของสัตว์นักล่า ไม่ว่าจะเป็นนักล่าที่อาศัยอยู่มุมใดของโลก คือริ้วรอยที่พวกมันมี ไม่ได้หมายถึงแค่เพียงความชรา แต่คือประสบการณ์อันโชกโชน

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘นับถือ’

…ในตลาดของเมืองที่เป็นประตูเข้าป่า เมืองเมืองนั้นคล้ายเป็น “เมืองหลวง” ของคนทำงานในป่า ไม่ว่าจะเป็นเมืองทองผาภูมิ สังขละบุรี ลานสัก บ้านไร่ อุ้มผาง และอื่นๆ อีกหลายเมือง

สิ่งหนึ่งที่คนผ่านไป-มาแถวตลาดมักจะเห็นเป็นภาพที่คุ้นตาคือ รถซึ่งแต่เดิมคงเป็นสีขาว คานแข็ง รุ่น LN 106 ตัวถังบุบบู้บี้ เปรอะเปื้อนโคลน มีถังใส่น้ำแข็งสีแดง หรือสีฟ้าวางบนกระบะ ปะปนกับสัมภาระอื่นๆ นี่คือพาหนะของคนทำงานในป่า ที่ออกมาซื้อเสบียง รวมทั้งของใช้อื่นๆ และถ้ารถกำลังวิ่งก็จะเห็นคนอีกนับสิบคนนั่งบนกองสัมภาระ

มองจากสายตา พาหนะเก่าๆ โทรมๆ พวกนี้ ดูเหมือนควรเก็บเข้ากรุ หรือตั้งไว้เป็นอนุสรณ์ในความเป็นเครื่องมือซึ่งร่วมบุกเบิกมาพร้อมกับคนทำงานในยุคเริ่มต้นได้แล้ว

แต่นี่แหละ คือพาหนะอันเหมาะสมที่ใช้งานได้จริง บนเส้นทางที่ “ไม่เหมือน” ทางสักเท่าใดนัก

รถได้รับการดูแลตามสภาพ ใช้มันอย่างเข้าใจ โดยคนที่อยู่มากับพวกมันอย่างเนิ่นนาน

พวกมันทำหน้าที่ส่งเสบียง รับ-ส่งชุดลาดตระเวน ส่งคนป่วยตามหน่วยพิทักษ์ป่าไกลๆ ขณะรถรุ่นใหม่มาถึงได้เพียงสำนักงานเขต

รถพวกนี้คือเครื่องมือสำคัญ ซึ่งคนในป่านับถือ

ความ “นับถือ” ดูได้จากชื่อที่พวกเขาตั้งให้รถ เช่น ป้าหมี, คุณลาย, ท่านแก่ แม้บางคันถูกตั้งชื่อว่าอีแก่ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงการเหยียดหยามแต่อย่างใด

 

ในป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตก

ผมอยู่ที่หน่วยพิทักษ์ป่า ซึ่งอยู่ห่างจากสำนักงานเขต 12 กิโลเมตร หลังใช้เวลาสองวันเดินทางในระยะทาง 30 กิโลเมตร ผมกับอดิเทพ ซึ่งตามออกมาส่ง พักอยู่ที่นี่สองคืน ระยะทาง 12 กิโลเมตรที่เหลือ ในช่วงฤดูฝนเช่นนี้ สมควรต้องพักเอาแรงให้สดชื่นก่อน

ช่วงเช้า ผมได้ยินจากวิทยุสื่อสารว่า จิตติ หัวหน้าหน่วยมหาราชกำลังออกเดินทางจากสำนักงานเขตกลับหน่วย ผมจึงรอเพื่อพบกับเขา

เขามาถึงก่อนค่ำ 12 กิโลเมตรเวลานี้ไม่ง่ายเลย

จิตตินำรถเข้ามาจอดหน้าบ้านพัก ศุภกิจลงจากรถ เดินสำรวจรอบๆ รถที่มีแต่โคลน

“อ้าว ลุงนม ยางอะไหล่หายไปไหนล่ะ” วันนั้น ลุงพนมทำหน้าที่เด็กรถ

“ไอ้พลมันมัดยังไงของมันวะ” ลุงนมบ่นพึมพำ โทษตัวเองที่ดูแลไม่ดี ไม่ได้โทษความทุรกันดารของเส้นทาง บนกระบะมีสัมภาระเต็ม นอกจากเสบียงอาหาร ยังมีจานรับสัญญาณโทรทัศน์ และมอเตอร์ไซค์อีกหนึ่งคัน

“ระบบโซลาร์เซลล์ใช้ได้ดีแล้ว ได้ดูถ่ายทอดวอลเลย์บอลแล้วละ” ลุงนมจับๆ จานรับสัญญาณ ดึงเชือกมัดให้เข้าที่ เขาชอบกีฬา โดยเฉพาะวอลเลย์บอลหญิง

 

ผมคุ้นเคยกับจิตติมานาน พบกันตั้งแต่ 30 ปีก่อน ผมโดยสารมากับรถที่ออกไปซื้อเสบียงในเมืองกาญจน์ นั่งมาบนกองสัมภาระ น้ามืดขับ จิตติทำหน้าที่เด็กรถ

ผมจำสภาพการโดยสารวันนั้นได้ รถโขยกเขยกลื่นไถล ที่นั่งมีแค่เล็กๆ

รถแลนด์ครุยเซอร์ ซึ่งเป็นตำนานของคนทุ่งใหญ่คันนั้น ชื่ออีแก่ ทุกวันนี้จอดเป็นอนุสรณ์อยู่ข้างป้อมยามหน้าสำนักงานเขต

น้ามืดเกษียณไปนานแล้ว เขาไปเปิดอู่ซ่อมรถอยู่ในเมือง

จิตติผู้ได้รับการถ่ายทอดทักษะจากน้ามืด วันนี้เขาคือมือหนึ่ง ที่ทุกคนยอมรับ …เขาเคยบอกผมว่า

“ผมได้ทุกอย่างมาจากอีแก่นั่นแหละครับ”

 

พาหนะประจำของจิตติก็ไม่ได้อยู่ใน “วัยหนุ่ม” แต่อย่างใด รถขับเคลื่อนสี่ล้อคานแข็งคันนี้มีอายุกว่า 20 ปี ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน ซ่อมแซมใหญ่ๆ หลายครั้ง เคยพลิกคว่ำ ลื่นตกเหว จมในลำห้วยที่ระดับน้ำกำลังขึ้นสูง และอีกหลายเหตุการณ์

จิตติเล่าให้คนฟังถึงเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยน้ำเสียงรื่นเริง หัวเราะกับความคับขันที่ผ่านมา

เขาพูดถึงรถ ราวกับพูดถึงเพื่อนสนิท เมื่อมันเสียกลางทาง หากไม่หนักหนามากถึงขนาดลูกสูบหัก หรือชิ้นส่วนยากๆ จิตติซ่อมแซมได้ ดัดแปลงเอาโน่นนี่ในลังอะไหล่มาใส่ เอาเชือกมัด ตัดไม้มาแทนแหนบ หรือผ้าเบรก

ครั้งหนึ่ง ผมเห็นเขานำรถกลับถึงสำนักงานเขตในสภาพแชสชีหัก และใช้สลิงจากวินซ์ดึงรัดไว้

ถ้าอาการสาหัส เขาวิทยุสั่งซื้ออะไหล่ คนที่สำนักงานเขตบึ่งรถเข้าเมือง นำชิ้นส่วนมาประกอบในป่า แม้แต่ยกเครื่องออกใส่รถอีกคันไปซ่อมในเมือง และนำกลับมาใส่ พวกเขาทำกันบ่อย

คนที่นี่คล่องแคล่วกับการซ่อมรถ รวมทั้งบำรุงเส้นทาง

ขุดดิน เลื่อยไม้ล้มขวาง ลากสายวินซ์ นอนค้างแรมข้างรถ มีแค่ผ้าคลุมกันฝน คือเรื่องปกติ

“ถ้ามีเสียงเฮๆ อยู่ข้างหลังนั่นแสดงว่า เริ่มได้ที่แล้ว ถึงตอนนี้ พอถึงแอ่งลึก จะมีเสียงลุยไปเลยลูกพี่ ไม่ต้องเบี่ยง ถ้าเชื่อก็ลงไปติดทุกที” จิตติว่า

เสบียง โดยเฉพาะเหล้าขาวเป็นลังๆ หลายครั้งหมดก่อนถึงหน่วย

“ฝนตกๆ เข็นรถเหนื่อยๆ มันหนาวนะครับ” นี่คือเหตุผล

ร่วมแรงร่วมใจ ฝ่าเส้นทางแบบนี้มาด้วยกัน

ไม่แปลกอะไรที่คนจะนับถือรถที่นำพาพวกเขาไปถึงจุดหมาย

 

รุ่งขึ้น จิตติเดินทางต่อ เขาเหลือระยะทางอีกราว 20 กิโลเมตร แต่คาดเดาไม่ได้ว่าจะใช้เวลาอีกกี่ชั่วโมง หรือกี่วัน

“ออกไปเก็บยางอะไหล่ให้ด้วยนะครับ” จิตติบอก ผมพยักหน้ารับคำ หวังว่ายางอะไหล่เขาจะไม่จมโคลนกระทั่งมองไม่เห็น

ผมยืนมองตามรถที่โขยกเขยกค่อยๆ จากไป

ในป่ามีคนอย่างจิตติและลุงนมอีกมาก กำลังทำงานของพวกเขาอย่างภาคภูมิใจ

ถึงวันนี้ ทั้งสองคนเกษียนไปแล้ว ช่วงเวลาที่พวกเขาอยู่ที่นี่ ย่อมไม่จางหายไปจากความทรงจำ

ทุกครั้งที่ผมพบจิตติ ผมจะยกมือไหว้ เมื่อเขายืนข้างๆ รถ ผมเห็นร่องรอยความสมบุกสมบัน ที่ทั้งรถและคนมี

กับคนทำงานในป่า ผมยกมือไหว้อย่างจริงใจ มีคนทุ่มเทแรงกายแรงใจทำให้สัตว์ป่าได้ถึงเพียงนี้

การ “นับถือ” พวกเขา ผมเชื่อว่าเหมาะสม…