“อ” นอร์มอล ‘จำปี’โรย / ฉบับประจำวันที่ 22-28 พฤษภาคม 2563

ต้องยอมรับว่า กรณีการบินไทย เป็นเรื่องในทางข้อมูล
ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยน ถกแถลงอภิปราย
เป็นการสร้างพื้นที่ในทางความคิด พื้นที่ในทางข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการเสนอประเด็น ตั้งเป็นวาระ
“วาระ” ตามหาความจริง
ผลก็คือ เรื่องราวอันเป็นรายละเอียดแห่งความล้มเหลวของการบินไทยอยู่ในความรับรู้ของสังคมอย่างกว้างขวาง
กระทั่งกลายเป็นกลไกสำคัญในการกำกับ ควบคุมทิศทางว่าจะทางไปไหน
ที่มีการนิยามว่า “ข้อมูลคืออำนาจ” ได้สำแดงพลานุภาพอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะในกรณีของการบินไทย
ผลก็คือ อำนาจรัฐไม่สามารถทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจอีกต่อไป
จำนวนเงินที่เคยคิดจะทุ่มลงไปเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทเพื่ออุ้มการบินไทยตามความเคยชินก็ต้องเกิดอาการงันชะงัก
แผนที่จัดทำขึ้นมาก็ปรับแล้วปรับอีก

จน19 พฤษภาคม 2563 ถือเป็นวันเปลี่ยนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของบริษัท การบินไทย หลังจากก่อตั้งและให้บริการครบรอบ 60 ปีในปีนี้
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ “การบินไทย” เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย
พร้อมกับมติให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นใน “การบินไทย” ต่ำกว่า 50% เพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด
เรียกว่าเป็นการ “กดปุ่มรีเซ็ต” เปลี่ยนสถานะของ บมจ.การบินไทย จากที่เดิมเป็น “รัฐวิสาหกิจ” พร้อมกับเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหุ้น (โดยกระทรวงการคลังหรือรัฐถือหุ้นใหญ่)
แต่หลังจากที่กระทรวงการคลังดำเนินการขายหุ้นในการบินไทยออกไปราว 3-4%
ก็จะทำให้ “การบินไทย” พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ มีสถานะเป็นบริษัทมหาชน ภายใต้กฎหมายมหาชนเท่านั้น และจะส่งผลให้ “สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย” ถูกยุบไปโดยอัตโนมัติ
เป้าหมายก็เพื่อ “ปลดล็อก” หรือ “เคลียร์ทาง” ให้สามารถเดินเข้าสู่เส้นทางฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายล้มละลายได้อย่างราบรื่น

หลังจากนี้การบินไทยจะต้องตั้งคณะทำงานเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นว่าแผนฟื้นฟูสามารถทำให้ฐานะการเงินของการบินไทยกลับมาแข็งแกร่งได้ จากนั้นศาลจะต้องนัดไต่สวนและอนุมัติตั้งผู้ทำแผนต่อไป
โดย”ผู้ทำแผน” นั้น”การบินไทย” (ลูกหนี้) จะขอเสนอตัวเป็น “ผู้ทำแผน” ต่อศาล
และจะมีการตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่เข้าไป ซึ่งตามข้อบังคับบริษัท ตั้งได้สูงสุด 15 คน
โดยหวังว่า จะเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ด้านต่างๆ เช่น ด้านบุคคล การเงิน บริหาร การบิน
ที่สำคัญ ปราศจากการแทรกแซง จากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการเมือง และกลุ่มอำนาจเดิมจากกองทัพอากาศ
เพื่อให้กระบวนการฟื้นฟูนั้นที่คาดว่า ต้องมีปัญหาอุปสรรคอีกมากมาย ดำเนินไปอย่างราบรื่นที่สุด
ทั้งการการเจรจากับ “เจ้าหนี้” ทั้งการปรับโครงสร้างธุรกิจ การปรับลดขนาดองค์กร ที่พนักงานกว่า 6พันคน จาก 2หมื่นคนอาจถูกปรับลด
นี่จึงเป็นมหากาพย์บทใหม่ “การบินไทย” หรือเจ้าจำปี ที่จะต้องปรับตัว
ปรับตัวจาก วิถี “อ”นอร์มอล กลับมาสู่ ภาวะนอร์มอล ให้เร็วที่สุด
และ ก้าวสู่”นิว นอร์มมอล” อย่าง ซอฟต์แลนดิ้ง เพื่อให้การกอบกู้องค์กรประสบผลสำเร็จโดยไว