สุรชาติ บำรุงสุข | สังคมใหม่หลังโควิด! โรคระบาดเปลี่ยนชีวิต

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“หลังโควิด-19 แล้ว จะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป”

Edwin Naidu (University World News)

หลังจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 บรรเทาลง แบบแผนของชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

ดังนั้น บทความนี้จะทดลองนำเสนอมุมมองอย่างสังเขปในมิติทางสังคม

1)โรคระบาด = ภัยคุกคาม

เมื่อผู้กำกับฯ Larry Brilliant สร้างภาพยนตร์เรื่อง “Contagion” ออกฉายนั้น ผู้ชมหลายคนก็คิดว่าหนังเรื่องดังกล่าวอาจจะเป็นเพียงจินตนาการของผู้สร้าง

แต่อย่างน้อยสิ่งที่ผู้กำกับฯ พยายามสื่อสารมาพร้อมกับความตื่นเต้นบนจอก็คือ สมมุติฐานชุดใหญ่ของความเป็นไปของชีวิตในโลกสมัยใหม่ที่ว่า “โรคระบาดคือภัยคุกคาม”

และสำหรับผู้ที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในปัจจุบันแล้ว Contagion ก็คือสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันนั่นเอง

นอกจากนี้ นักอนาคตวิทยาหลายคนก็มองในทิศทางที่คล้ายคลึงกันว่า การแพร่ของโรคระบาดจะเป็นหายนะสำคัญของโลก และเป็นหายนะที่สังคมต่างๆ อาจจะไม่ได้เตรียมรับมือเท่าที่ควร เพราะเรามักจะละเลย หรือไม่ก็มองข้ามปัญหาดังกล่าว

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเชื่อในโลกสมัยใหม่ว่า มนุษยชาติในประเทศพัฒนาแล้วที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์สามารถเอาชนะต่อโรคระบาดได้แล้ว

ในอีกด้านหนึ่งการแพร่กระจายของเชื้อโรคเป็นปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนและมีความล้าหลังทางวิทยาการ

แต่การระบาดของโควิดครั้งนี้พิสูจน์ชัดว่า แม้ประเทศที่พัฒนาก้าวหน้าไม่ว่าจะเป็นสหรัฐหรือยุโรป ไม่มีความพร้อมในการต่อสู้กับการระบาดนี้

ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตในประเทศดังกล่าว เช่น จำนวนผู้เสียชีวิตในสหรัฐ อิตาลี สเปน และฝรั่งเศส เป็นต้น

บทเรียนสำคัญจากกรณีของโควิดชี้ให้เห็นว่า โรคระบาดจะไม่เป็นเพียงปัญหาทางการแพทย์อีกต่อไป หากแต่ผลที่เกิดขึ้นเป็นทั้งปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงคู่ขนานกันไปทั้งระบบ

ดังนั้น การสร้าง “ระบบเตือนภัยด้านสุขภาพ” เป็นประเด็นสำคัญทั้งในระดับรัฐและในระดับโลกในอนาคต

2)ทุนนิยม-สังคมนิยม

หากเราย้อนอดีตความขัดแย้งในยุคสงครามเย็น จะเห็นได้ชัดเจนถึงการต่อสู้ทางอุดมการณ์สองชุดที่สำคัญ คือปัญหาระหว่าง “ทุนนิยม vs สังคมนิยม”

แต่หลังจากการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นที่อาจจะถือเอาการรวมชาติของเยอรมนี และมีภาพเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญด้วยการ “ล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน” ในเดือนพฤศจิกายน 1989 ฉะนั้น การสิ้นสุดของสงครามเย็นจึงเท่ากับเป็นการบ่งบอกถึงการ “ล่มสลายของลัทธิสังคมนิยม”…

อุดมการณ์สังคมนิยมจบไปหมดแล้ว โลกสังคมนิยมห่างหายไปและถูกบดบังด้วยการเติบโตของโลกทุนนิยมที่เป็นโลกาภิวัตน์

แต่นักทฤษฎีสังคมการเมืองทุกคนตระหนักดีว่าการเติบโตของโลกาภิวัตน์ไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน เช่นเดียวกับที่วิกฤตในระบบทุนนิยมเป็นสิ่งที่ยั่งยืน

ดังนั้น การเติบโตของกลุ่มการเมืองปีกขวาในโลกตะวันตกปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า “ประชานิยมปีกขวา” (Rightwing Populism) อาจจะถือว่าเป็นผลผลิตของระบบทุนนิยมที่เป็นโลกาภิวัตน์นั้น จนดูเหมือนว่าในสภาวะเช่นนี้ “สังคมนิยมตายแล้ว!”

หากแต่เรายังพอเห็นถึงการขับเคลื่อนของปีกซ้ายในการเมืองยุโรปอยู่บ้าง เช่นในกรณีของสเปน

แต่สิ่งที่กำลังกลายเป็นข้อสังเกตถึงการขยายตัวของแนวคิดสังคมนิยมในปัจจุบัน คือการหาเสียงในการแข่งขันหาตัวผู้สมัครในการเมืองอเมริกัน ที่ทิศทางการเมืองของผู้เสนอตัวอย่างแซนเดอร์มีลักษณะที่เป็นไปทางสังคมนิยม หรือคนรุ่นใหม่ในสหรัฐไปในทางที่เป็นสังคมนิยมมากขึ้น

จึงทำให้เห็นถึงการขยายตัวของแนวคิด “สังคมนิยมประชาธิปไตย” (Democratic Socialism) ที่กำลังเป็นทางเลือกใหม่

3)สังคมคนจน

ในภาวะที่สังคมทั้งหลายต้องเผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดครั้งนี้ อันนำไปสู่การตกงานครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายสังคม และอาจมีจำนวนทั่วโลกมากถึง 195 ล้านคน (การประเมินของสหประชาชาติ) หรือคิดเป็นร้อยละ 37.5 ของการจ้างงานของโลก

ดังนั้น ทุกสังคมจึงต้องการ “สวัสดิการสังคม” ชุดใหญ่ ดังเช่นการอนุมัติเงินครั้งใหญ่ของรัฐสภาอเมริกันเป็นจำนวน 2 ล้านล้านดอลลาร์ ($ 2 trillion)

หรือรัฐสภาแคนาดาอนุมัติงบประมาณ 7 หมื่นล้านดอลลาร์เป็นตัวอย่างในกรณีนี้ ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอกับวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน จนถึงกับมีการผลักดันเรื่อง “รายได้พื้นฐานที่เป็นสากล” (Universal Basic Income) ให้เป็นทางออกสำหรับคนงานในอนาคต โดยเฉพาะการตกงานอย่างถาวร เพราะการปรับเปลี่ยนของโลกธุรกิจและอุตสาหกรรมในยุคหลังโควิด

ทิศทางเช่นนี้ส่วนหนึ่งส่งสัญญาณถึงความต้องการจากภาคสังคมที่หลังจากสิ้นสุดการระบาดแล้ว จะมีการเรียกร้องให้สร้าง “รัฐสวัสดิการ” (Welfare State) มากขึ้น

และข้อถกเถียงในมิติทางการเมืองจะมีทิศทางเป็นสังคมนิยมมากขึ้น หรืออย่างน้อยอุดมการณ์การเมืองในโลกตะวันตกจะเป็นแบบ “สังคมนิยมประชาธิปไตย”

เพราะนับจากนี้โลกจะเผชิญกับการขยายตัวของความยากจนขนาดใหญ่ และอาจนำไปสู่การขยายตัวของช่องว่างของรายได้ โดยเฉพาะในประเทศยากจน

4)ระยะใกล้-ระยะห่าง

เดิมสังคมสร้างความสัมพันธ์ในลักษณะที่ใกล้ชิดของบุคคลทางกายภาพ แต่ผลจากการระบาดครั้งนี้ กลับไม่ต้องการความใกล้ชิด

ข้อเสนอในทางการแพทย์คือ การรักษา “ระยะห่างทางกายภาพ” (physical distancing) [องค์การอนามัยโลกไม่เสนอให้ใช้คำว่า การรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ “social distancing”] หรืออาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่จะกลายเป็นแบบแผนของชีวิตจากยุคโควิดจนถึงยุคหลังโควิดก็คือ การไม่ใกล้ชิดคือป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และเราอาจคุ้นชินกับการใส่หน้ากากมากขึ้นด้วย

ดังนั้น หากพิจารณาในมิติทางเทคโนโลยี เราจะเห็นได้ถึงความเป็น “โลกที่ถูกเชื่อมต่อ” (connected world) และเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อของโลกาภิวัตน์

แต่ในชีวิตจริงของบุคคลในยุคโควิดกลับมีลักษณะเป็นแบบ “ไม่เชื่อมต่อ” (disconnected)

ฉะนั้น แม้การระบาดจะสิ้นสุดจริง แต่ชีวิตการพบปะทางสังคมอาจจะไม่กลับสู่แบบเดิมทั้งหมด เพราะความกลัวการเกิดการระบาดซ้ำจะยังทำให้คนในสังคมต้องรักษาระยะห่างทางกายภาพต่อไป

ตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน เช่น การทักทายด้วยการสวมกอดในแบบชีวิตคนตะวันตกอาจจะต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาด

หรืออีกนัยหนึ่งการเชื่อมต่อผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเข้ามาแทนที่การติดต่อโดยตรงที่จะต้องมีการพูดคุยกัน (interfaces) อันอาจกล่าวในยุคโควิดได้ว่า “เราสัมผัสหน้าจอมากกว่าสัมผัสมือ”

และในยุคนี้ดูเหมือนเราจะถูกเตือนให้ลดทอนการสัมผัสพื้นผิวต่างๆ (ยกเว้น “ผิวจอ” ของคอมพิวเตอร์) ซึ่งก็คือการลด “การสัมผัสทางกายภาพ” ในสังคม

5)บ้านคือสถานที่ทำงานใหม่

หนึ่งในการเปลี่ยนแบบแผนชีวิตในยุคโควิดคือการต้องทำงานจากบ้าน หรือที่ประเด็นนี้กลายเป็นข้อเสนอสำคัญเพื่อควบคุมปริมาณการเดินทางของคนในสังคมคือ “work from home” และบทบาทของสถานที่ทำงานในทางกายภาพก็เปลี่ยนไป เพราะด้วยเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่สามารถเชื่อมต่อบุคคลได้โดยไม่มีข้อจำกัดของระยะห่างทางภูมิศาสตร์ (ข้อจำกัดมีเพียงการมีสัญญาณและอุปกรณ์เท่านั้น)

ทำให้การระบาดของโควิดเป็นปัจจัยบังคับที่ทำให้ความจำเป็นของสถานที่ทำงานในแบบเดิมหมดความสำคัญลง

การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้เห็นถึงความไม่จำเป็นของชีวิตบริษัทแบบเก่า ที่ต้องพึ่งพาการประชุมและต้องมีห้องประชุมรองรับ หรืออีกนัยหนึ่งโลกธุรกิจแบบเก่าต้องการ “การประชุมทางกายภาพ” (physical meetings) แต่ความต้องการเช่นนี้เปลี่ยนไป เพราะเมื่อการเชื่อมต่อเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่แล้ว

การทำงานจากบ้านกำลังกลายเป็น “บรรทัดฐานใหม่” ของชีวิตทางธุรกิจในยุคหลังโควิด หรืออาจจะกล่าวได้ว่าบริษัทในอนาคตจะมีลักษณะเป็นดัง “บริษัทระยะไกล” (remote company)

ซึ่งสิ่งที่ต้องการสำหรับบริษัทในรูปแบบเช่นนี้คือ การยอมกระจายอำนาจในการทำงาน และการกระจายอำนาจในระดับของคนทำงาน (หรือในระดับบุคคล)

6)อินเตอร์เน็ตคือโลก

การระบาดของไวรัสโควิดในครั้งนี้เป็นบททดสอบที่สำคัญของ “โลกอินเตอร์เน็ต” และในขณะเดียวกันก็เป็นความโชคดีที่โลกในยุคปัจจุบันมีการติดต่อสื่อสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งสามารถลดทอนปฏิสัมพันธ์ทางตรงลงได้อย่างมาก

จนอาจกล่าวได้ว่าชีวิตในยุคโรคระบาดทำให้เราต้องพึ่งพาอินเตอร์เน็ตมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

หรืออาจกล่าวเชิงเปรียบเทียบได้ว่า เรากำลังเปลี่ยนจาก “human interfaces” เป็น “machine interfaces” มากขึ้นนั่นเอง

สภาพเช่นนี้ทำให้การเดินทางข้ามประเทศเพียงเพื่อไปประชุมในแบบเดิม อาจจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะเสียทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางและเสียเวลาในการเดินทาง

ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกแทนที่ด้วย “การประชุมผ่านวิดีโอ” (video conference) ซึ่งใช้ได้กับงานต่างๆ ในทุกภาคส่วน ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่กับภาคธุรกิจเท่านั้น

และจะเห็นได้ในอนาคตว่า การเดินทางเพียงเพื่อไปประชุม (การพบกันทางกายภาพ) อาจจะไม่มีความจำเป็นและความคุ้มค่าอีกต่อไป

ในทำนองเดียวกันกิจกรรมต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การจัดอภิปราย/สัมมนา การแข่งขันกีฬา ล้วนถูกจับเอาเข้าไปไว้ในโลกอินเตอร์เน็ต

เช่น มีการแข่งขันซูโมเป็นครั้งแรกที่ถ่ายทอดสดผ่านอินเตอร์เน็ต โดยไม่อนุญาตให้มีผู้ชมเข้าร่วมโดยตรง หรือในอนาคตการเข้าวัด/โบสถ์ พระอาจจะ “สตรีมสด” คำเทศน์ในแต่ละวัน

การสร้างความเข้มแข็งของระบบอินเตอร์เน็ตเพื่อรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในยุคหลังโควิดจึงเป็นประเด็นที่มีความจำเป็นอย่างมาก ทั้งยังเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องลงทุน อย่างน้อยเพื่อรองรับต่อวิกฤตการณ์ในอนาคต ซึ่งการลงทุนของภาครัฐจะต้องไม่คิดแต่เพียงในเรื่องของกำไร/ขาดทุน เพราะการใช้งบประมาณในประเด็นนี้จะเป็น “การลงทุนทางสังคม”

รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถในเรื่องของการรักษาพยาบาลทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ต อันอาจเป็นคำตอบของงานสาธารณสุขในอนาคต

7)เอไอช่วยได้

นอกจากการลงทุนทางด้านไอทีแล้ว รัฐบาลในอนาคตควรจะต้องลงทุนในเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ควบคู่กันด้วย เพราะเอไอจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเหลือมนุษย์ในการพัฒนาทางด้านสาธารณสุข และการใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์ในการทำงานทางการแพทย์บางอย่าง

ในกรณีของจีน เห็นถึงการใช้โดรนได้อย่างมีประสิทธิภาพในการเฝ้าตรวจการเดินทางในที่สาธารณะ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

8)สื่อเก่าไป สื่อใหม่มา

หนึ่งในผลกระทบใหญ่จากการระบาดของโควิดคือ อุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์

เพราะก่อนการระบาด ธุรกิจสิ่งพิมพ์เองก็ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของสื่ออินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว รวมถึงงานโฆษณาที่เป็นรายได้สำคัญของหนังสือพิมพ์ก็ขยับไปอยู่กับสื่อใหม่

การติดตามข่าวจากสื่อจึงไม่ใช่การอ่านหนังสือพิมพ์ในแบบเก่า แต่อ่านจากสื่ออินเตอร์เน็ต

ดังนั้น แม้สื่อใหญ่อาจจะมีรายได้มากขึ้นผ่านโลกออนไลน์

แต่สื่อฉบับเล็กอาจจะอยู่รอดได้ยาก ไม่ว่าจะลดค่าใช้จ่ายลงอย่างไรก็ตาม

ดังนั้น หลังวิกฤตโควิดจะส่งผลให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในหลายประเทศต้องปิดตัวลง

และอาจจะรวมถึงสื่อระดับกลางก็จะได้รับผลกระทบมากเช่นกัน

อีกทั้งผลจากการถูก “ล็อกดาวน์” จะทำให้คนคุ้นกับการอ่านข่าวสารจากสื่ออินเตอร์เน็ตมากขึ้น

9)การศึกษาที่ไม่มีห้องเรียน

การระบาดครั้งนี้เปลี่ยนโลกทางการศึกษาอย่างมาก ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วโลกเห็นพ้องกันว่า มหาวิทยาลัยจะต้องรีบเอาห้องเรียนไปไว้ในออนไลน์ และอาจจะต้องจัดระบบอุดมศึกษาใหม่

ทั้งการเรียนการสอนและการวิจัย รวมถึงการเรียนการสอนทางไกลในระดับปริญญาโทและเอกด้วย

ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของนักศึกษาลงอย่างมาก

และเปิดโอกาสให้เกิดการเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้นด้วย

10)ผลสืบเนื่อง

การระบาดครั้งนี้ส่งผลให้การจ้างงานแบบเก่าต้องยุติลง

แต่ก็จะเกิดการจ้างงานในรูปแบบใหม่ ประมาณการว่า 1 ใน 3 ของแรงงานอเมริกันสามารถทำงานจากที่บ้านได้ ซึ่งทำให้ลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ลงได้มาก

และยังส่งผลโดยตรงต่อสภาวะแวดล้อม

เช่น การเดินทางที่ลดลงทำให้การใช้พลังงานลดลง รถติดน้อยลง มลพิษในอากาศลดลงเช่นกัน

การระบาดจึงส่งผลให้สภาพของอากาศโดยทั่วไปดีขึ้น หรืออย่างน้อยการระบาดครั้งนี้ทำให้เกิด “slow life” ในชีวิตจริง

เมื่อการระบาดจบลง วิชาที่จะมีคนอยากเรียนอย่างมากคือ การฝึกการทำสิ่งต่างๆ ด้วยระบบออนไลน์

แน่นอนว่าก็เรียนผ่านออนไลน์ด้วย!