จรัญ มะลูลีม : ดะอ์วะฮ์กับโควิด-19

จรัญ มะลูลีม
ที่มาภาพ : ข่าวสด

กําหนดการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม (ดะอ์วะฮ์) ในปี 2000 ในประเทศต่างๆ ได้เวียนมาบรรจบกับระยะเวลาที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มขยายตัวและขยายพื้นที่ระบาดออกไปอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา

บางกลุ่มก้อนของพวกเขาอาจจะรับทราบถึงการระบาดดังกล่าวและยุติการเดินทางไปก่อนหน้านี้แล้ว ในขณะที่อีกจำนวนหนึ่งได้ตัดสินใจเดินทางตามกำหนดการไปรวมตัวกันเรียบร้อยแล้วทั้งในเมืองบัตเตอลิ่งจายาของมาเลเซีย สุราบายาของอินโดนีเซีย ไรวินของปากีสถาน และนิซอมุดดีนของอินเดีย

ตามที่ได้มีการรับทราบกันเป็นอย่างดีว่า ไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 เผยแพร่ผ่านสารคัดหลั่งที่กระจายผ่านละอองอากาศจากคนสู่คนโดยเฉพาะเมื่อมีการสัมผัส การรวมตัวหรือการชุมนุมที่มีคนจำนวนมาก

ในตำราของศาสนาอิสลาม ซึ่งสามารถค้นหาได้จากประวัติศาสตร์ช่วงต้นเมื่อกว่าหนึ่งพันสี่ร้อยปีที่ผ่านมาได้มีคำสอนจากศาสดามุฮัมมัดว่าด้วยเรื่องโรคระบาดซึ่งท่านศาสดาได้บอกกล่าวแก่ศรัทธาชนให้อยู่กับบ้านเรือน

ไม่มีคำสอนใดของอิสลามที่บอกกล่าวให้ละเลยการปกป้องชีวิตของตนเอง

แต่มีคำสอนจำนวนมากที่หาได้จากคัมภีร์กุรอานและหะดีษ (Tradition and Saying of the Prophet) ที่ให้ศรัทธาชนหลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะนำไปสู่หายนภัยทั้งหลาย

 

อย่างไรก็ตาม กรณีการรวมตัวกันของศาสนิกในช่วงต้นๆ ของโควิด-19 ก็มีความคิดแตกต่างกันออกไป

ชาวมุสลิมบางกลุ่มก้อนบางสำนักคิด แม้แต่ในประเทศไทยเองกลับมีความเห็นว่าถ้าจะต้องเสียชีวิตด้วยการไปมัสญิดเพื่อภักดีต่อพระเจ้า พวกเขาก็จะยอมเสียชีวิตในหนทางของพระองค์และจะไม่กลัวกฎหมายของมนุษย์ (Man made Law) แต่จะทำตามกฎหมายของพระเจ้า (God made Law)

แต่คนเหล่านี้ลืมไปว่ามีคำสอนของอิสลามที่สนับสนุนให้อยู่กับบ้านเรือนช่วงเกิดโรคระบาดมายาวนานแล้ว

ดังนั้น การอ้างว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามหลักการศาสนาด้วยการมารวมตัวกันละหมาดที่มัสญิด ทั้งๆ ที่ศาสนาส่งเสริมให้อยู่กับบ้านในช่วงที่มีวิกฤตการระบาดของโรคจึงขาดเหตุผลที่จะมารองรับการปฏิบัติดังกล่าว

ต่อมาขบวนการตับลีฆ ญะมาอัต ได้กลายมาเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เมื่อนิซอมุดดีนของอินเดีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของนักเผยแผ่ศาสนาอิสลามที่มาจากทั่วโลกได้เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19

โดยในระหว่างวันที่ 13-15 มีนาคม (ปี 2000) ที่นิซอมุดดีน ผู้ศรัทธาได้มารวมตัวกันทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกันในตึก 5 ชั้นอยู่ตลอดเวลา

ในวันที่ 22 มีนาคม เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับรายงานว่ามีการรวมตัวของศรัทธาชน 2,500 คนที่นี่ (13-15 มีนาคม) ทำให้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 และในเวลาต่อมาศูนย์กลางการเผยแผ่ศาสนาแห่งนี้ได้กลายเป็นพื้นที่สำคัญของอินเดียที่ทำให้เชื้อโควิด-19 แพร่กระจายออกไปยังพื้นที่อื่นๆ

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่าในจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 4,400 คนนั้น หนึ่งในสามมาจากการรวมตัวของผู้คนเหล่านี้

ทั้งนี้ จากรายงานของเจ้าหน้าที่ที่ติดตามเรื่องนี้ของอินเดียพบว่า ผู้คนมากกว่า 8,000 คนได้มาเยือนศูนย์กลางการเผยแผ่ศาสนาแห่งนี้ รวมทั้งนักเผยแผ่ที่มาจากชาติต่างๆ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สมาชิกประชาสังคมทั้งหลายในอินเดียได้ออกมาวิจารณ์รัฐบาลว่าไม่ได้ขานรับการระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่อนุญาตให้บรรดานักเผยแผ่ศาสนาที่มาจากประเทศที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียเข้ามาที่อินเดีย

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของอินเดียได้ทำการกักตัวเพื่อสอบสวนการติดเชื้อโควิด-19 ของบรรดาผู้เดินทางมาจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย หลังจากคนเหล่านี้ได้เข้าร่วมชุมนุมทางศาสนาเมื่อกลางเดือนมีนาคมไปเรียบร้อยแล้ว

 

ซิยา อุสสลาม (Ziya Ussalam) แห่งนิตยสาร Frontline ได้รายงานเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมาว่า มีชาวมุสลิมจากรัฐเตเลกานา 6 คน และอีก 1 คนจากรัฐจัมมูและแคชเมียร์ ซึ่งได้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมทางศาสนาที่นิวเดลีเมื่อกลางเดือนมีนาคมเสียชีวิต

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของตับลีฆ ญะมาอัต ยืนยันว่าในเวลานี้พวกเขาได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การปิดพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แล้ว

ทั้งนี้ กลุ่มก้อนของตับลีฆ ญะมาอัต กล่าวว่า การมารวมตัวของพวกเขาได้รับการวางแผนล่วงหน้านับปี และผู้เข้ามาร่วมก็ได้รับวีซ่าเข้าประเทศอย่างถูกต้อง

และเมื่อนายกรัฐมนตรีได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อวันที่ 22 มีนาคม โปรแกรมการรวมตัวของศรัทธาชนหรือมัรกัซ (Markaz) ก็ได้ยุติลง

เนื่องจากมีการให้หยุดการเดินทางโดยรถไฟลงทันทีทั่วประเทศอินเดียเมื่อวันที่ 21 มีนาคม คนที่มารวมตัวกันเหล่านี้จึงไปไหนไม่ได้ และต้องมาติดอยู่ที่ศูนย์รวมแห่งนี้ต่อไป ทั้งนี้ มุขมนตรี (Chief Minister) ของกรุงนิวเดลีได้ประกาศปิดพื้นที่กรุงนิวเดลีในเวลา 6 โมงเช้าของวันที่ 23 มีนาคม

ต่อมาผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนากว่า 300 คนจึงได้ถูกส่งตัวไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ยังโรงพยาบาลต่างๆ ของกรุงนิวเดลี

 

สําหรับคนไทยที่กลับมาประเทศไทยหลังจากไปเข้าร่วมอยู่ในขบวนการเผยแผ่ (ดะอ์วะฮ์) ในนามตับลีฆ ญะมาอัต ที่ได้รับเชื้อโควิด-19 กลับมาได้เข้ารักษาในโรงพยาบาลต่างๆ โดยจำนวนหนึ่งได้รับการกักตัว 14 วัน ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการร่วมชุมนุมเป็นผู้ที่เดินทางมาจาก 5 ประเทศคือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ

เท่าที่รับทราบพวกเขาส่วนใหญ่ได้ก้าวพ้นวิกฤตมาแล้ว ทั้งนี้ จำนวนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาไม่ได้มาจากสามจังหวัดภาคใต้เท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

สำหรับบางคนที่ติดเชื้อโควิด-19 พบว่าได้เดินทางไปเผยแผ่ศาสนาถึงญี่ปุ่น เกาหลี และปิดท้ายที่ปากีสถาน โดยเชื้อโควิด-19 ที่พวกเขาได้รับนั้นน่าจะมาจากเมืองไรวินของปากีสถานที่มีคนนับล้านมารวมตัวกันในนามตับลีฆ ญะมาอัต แห่งโลก

เชื่อกันว่าประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับน่าจะทำให้พวกเขาเข้าใจได้ดีว่าการชุมนุมกันของผู้คนจำนวนมากๆ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 นั้นได้นำเอาความยากลำบากมาสู่พวกเขาเอง จนทำให้พวกเขาต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาลเฉกเช่นคนไทยอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบมาจากโควิด-19 เช่นกัน แม้ว่าพวกเขาจะมิได้ตั้งใจฝ่าฝืนข้อกำหนดของประเทศต่างๆ ที่พวกเขาไปร่วมก็ตาม

เพราะส่วนใหญ่คาดไม่ถึงว่าจะเกิดการระบาดของโควิด-19 ในดินแดนที่พวกเขาเดินทางไป

 

เมื่อผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว เชื่อกันว่าขบวนการตับลีฆ ญะมาอัต ก็จะกลับมารวมตัวกันอีก จนถึงปัจจุบัน ขบวนการของนักเผยแผ่ที่เรียกว่านักตับลีฆ (Tableqis) ก็ยังคงถูกจัดให้เป็นองค์การเผยแผ่ศาสนาอิสลามของชาวซุนนีมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

มีผู้เข้าร่วมอยู่ในขบวนการเผยแผ่ศาสนาที่เดินตามสำนักคิดซุนนีเป็นด้านหลักจากประเทศต่างๆ ถึง 80 ประเทศ

ที่นิซอมุดดีน (Nizamuddin) ซึ่งถือเป็นที่รวม (Markas) ของผู้คนในฐานะศูนย์กลางของขบวนการตับลีฆ ญะมาอัต ในปีนี้เฉพาะชาวอินเดียประเทศเดียวก็มีไม่ต่ำกว่า 800 คน คนเหล่านี้ได้กระจายตัวออกไปทั่วอินเดียหลังเสร็จสิ้นภารกิจของพวกเขาที่นิซอมุดดีนกรุงนิวเดลี

ในช่วงเริ่มต้นการระบาดของโควิด-19 อินเดียเป็นประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับตุรกีและประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่อย่างใด จนมีการพูดกันไปต่างๆ นานาว่าคนอินเดียที่จำนวนมากเป็นมังสวิรัติ (vegetarian) กินผักและสมุนไพรหลายชนิดที่น่าจะป้องกันโควิด-19 ได้

แต่ในเวลานี้อินเดียได้กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตเพราะโควิด-19 มาเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย ในขณะที่ตุรกีก็เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเพราะโควิด-19 และเสียชีวิตเพราะโควิด-19 มากที่สุดของโลกมุสลิมไปเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

ทั้งอินเดียและตุรกีต่างก็มีความหวังว่าโควิด-19 จะหมดไปจากประเทศของพวกเขา เหมือนกับที่ทุกประเทศที่ติดเชื้อโควิด-19 รอความหวังที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ไม่ว่าจะมาในรูปของวัคซีนหรือมาตรการอื่นใดที่นำไปสู่การยุติโควิด-19 ในเร็ววัน

และขบวนการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม (ดะอ์วะฮ์) ก็มีความหวังเช่นนั้นเหมือนกัน