นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ปฏิรูปการศึกษาผ่านโควิด

นิธิ เอียวศรีวงศ์

โรงเรียนประถมบางแห่งเริ่มเปิดการเรียนการสอนก่อนเดือนกรกฎาคม แต่เป็นการสอนออนไลน์

ความห่วงใยของผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเท่าที่ผมได้ยินได้ฟังจากสื่อก็คือ เด็กอาจมีเครื่องมือเพื่อการเรียนไม่พร้อมกันทุกคน ถึงมีเครื่องมือพร้อมหน้า (ผ่านการจัดหาโดยรัฐในรูปต่างๆ) เด็กบางครอบครัวอาจไม่ถนัดที่จะใช้เครื่องมือเหล่านี้ กว่าจะปลุกปล้ำกับเครื่องจนใช้ได้ การสอนก็อาจล่วงไปไกลจนตามไม่ทันแล้ว

สรุปก็คือ ความห่วงใยให้น้ำหนักที่เทคโนโลยีและเทคนิควิธีมากกว่าอย่างอื่น

บางท่านแสดงความห่วงใยในเชิงจิตวิทยาการศึกษา นั่นคือเด็กประถมมีสมาธิสั้น ย่อมไม่อาจติดตามการสอนไปทั้ง 4-50 นาทีได้ จึงไม่เหมาะจะเรียนทางออนไลน์ (เท่านักเรียนมหาวิทยาลัย)

ทั้งหมดนี้มีความน่าเป็นห่วงแน่ แต่ผมคิดว่ามีอะไรที่อยู่เบื้องหลังการเรียนการสอนออนไลน์มากกว่านั้น เหมือนกับเมื่อสมัยที่เราเปลี่ยนการเรียนการสอนจากบ้านครู, กุฏิพระอาจารย์, หรือบรรณศาลาของหลวงปู่ มาเป็นหน้ากระดานดำในชั้นเรียน แม้ว่าไม้เรียวอาจตามมา แต่หนังสือตำรา, วินัยชั้นเรียน, ตารางสอน, ห้องสอบ ฯลฯ ล้วนเป็นผลผลิตของความเปลี่ยนแปลงสู่ชั้นเรียนทั้งสิ้น ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ต่างหากที่น่าเป็นห่วงกว่า

ดังนั้น ถ้าจะเปลี่ยนชั้นเรียนมาเป็นออนไลน์ จะต้องเตรียมความพร้อมของผู้เรียนและผู้สอนอย่างไร (รวมทั้ง “อุปกรณ์” อื่นๆ ที่จำเป็นด้วย) จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดและเรียนรู้จากสังคมอื่น ซึ่งได้ผ่านประสบการณ์นี้มาแล้ว

ผมขอเริ่มจากเรื่องสมาธิสั้นก่อน

อันที่จริงสมาธิของคนเราโดยทั่วไปก็ไม่สู้จะยาวนักทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กประถมหรือผู้ใหญ่ สมาธิในการเรียนนั้นไม่เหมือนการเพ่งกสิณ และด้วยเหตุดังนั้นจึงมีกลวิธีที่มนุษย์ค้นพบหลายอย่างในการยืดสมาธิของผู้เรียนมาแต่โบราณแล้ว ไม้เรียวก็อย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยได้ผล ที่ได้ผลกว่าคือวิธีอื่นๆ เช่น การสลับประเด็น หรือฉาก หรือสิ่งแวดล้อมของการสื่อสาร ซึ่งครูเก่งๆ ทำหน้ากระดานมานานแล้ว เช่น แทรกตลกเข้าไป, เดินไปมา, หรือเขียนกระดาน, หรือใช้อุปกรณ์การสอนช่วย ฯลฯ ทั้งหมดนี้ทำเพื่อให้สมาธิในเรื่องที่สอนถูกตัดออกเป็นช่วงๆ ไม่ยาวนัก แล้วกลับไปกลับมาระหว่างเรื่องที่สอนกับเรื่องอื่น

แต่วิธีการสอนแบบนี้หลายอย่างต้องทำในสถานการณ์ที่ผู้เรียนและผู้สอนเผชิญหน้ากันโดยตรง จะแปลงการสลับเช่นนี้เพื่อยืดสมาธิในการสอนออนไลน์อย่างไร ทั้งยังต้องสลับด้วยวิธีที่ต่างกันในหมู่ผู้เรียนที่ต่างวัย หรือต่างระดับการศึกษากันด้วย

การเผชิญหน้ากันระหว่างคนเป็นๆ สร้างช่องทางการสื่อสารของทั้งสองฝ่ายมากกว่า “สื่อ” จะทำได้ และ “สาร” ที่สื่อระหว่างกันนั้นมีมากกว่าคำพูด แต่ก็มีความสำคัญเพราะให้ความหมายที่ลึกขึ้นแก่คำพูด หรือให้ความหมายที่สำคัญนอกคำพูดเลยทีเดียว

เปลี่ยนจากการพูดของครูไปสู่การตอบคำถาม หรือการอภิปรายของกลุ่ม ก็เป็นวิธีหนึ่งที่อาจใช้ได้ดี เพียงแต่ต้องตั้งคำถามและตั้งหัวข้ออภิปรายให้เหมาะกับวัยผู้เรียนด้วย

สลับกับการดูการ์ตูน, สื่อโสตทัศนะ, เล่นเกม ฯลฯ ที่ช่วยทำให้เข้าใจบทเรียนดีขึ้น หรือขยายบทเรียนให้กว้างขึ้น ครูไม่ได้เตรียมการสอนแต่ด้านเนื้อหา หากต้องเตรียมว่าจะเสนอเนื้อหานั้นอย่างไร หรือผ่านอะไร จึงจะตรึงความตื่นตัวใคร่เรียนรู้ของผู้เรียนได้ด้วย

ทั้งหมดเหล่านี้แหละครับที่ผมเชื่อว่าเราสามารถ “เรียนรู้” ได้จากประสบการณ์ของสังคมอื่น ซึ่งได้เปิดสอนออนไลน์มานานแล้ว และคงจะพบกลวิธีการสอนออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพกว่าที่ผมยกตัวอย่างข้างต้นแน่

ยิ่งกว่าการยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นในวิธีการสอนแล้ว ผมคิดว่าควรยอมรับด้วยว่าแก่นแท้ของการเรียนออนไลน์คือ “เรียนเอง” เริ่มจากการที่ผู้เรียนอยากเรียน เพราะถ้าไม่อยากเรียนเสียอย่างเดียว การปรากฏตัวบนจอของครูย่อมไม่ประกันว่าเขาได้เรียนอะไรที่ครูสอน อย่าลืมว่าอำนาจในการกำกับควบคุมชั้นเรียนของครูคงเหลืออยู่ไม่ถึง 25% เมื่อชั้นเรียนกลายเป็น “เสมือน” ไป

แต่ “เรียนเอง” มีความหมายมากกว่าตั้งใจเรียน และมากกว่าวิธีการสอนที่ต้องปรับเปลี่ยนเท่านั้น เพราะมันกระทบต่อหลักสูตรและเนื้อหาของบทเรียนและวิธีการเรียนด้วย (ซึ่งจะเกิดวิธีการเรียนอย่างที่ควรเป็นได้ ก็ต้องไม่ใช่หลักสูตรและเนื้อหาอย่างที่สอนกันในโรงเรียน-มหาวิทยาลัยไทย)

การสอนจึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเรียน แม้แต่ในเด็กชั้นประถม “เรียนเอง” ก็อาจทำได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ เช่นความรู้เรื่องเศษส่วน ทำให้เกิดเกมขึ้นได้หลายอย่าง เอาไปใช้ในการแบ่งสันปันส่วนขนมไปจนถึงสิ่งอื่นๆ ที่มีความสำคัญในชีวิตเด็กได้ เด็กสามารถเรียนเองเกี่ยวกับชีวิตของสัตว์ได้หลายอย่าง นับตั้งแต่มด, แมลงสาบ, ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงในบ้าน

บทบาทของครูเปลี่ยนไปจากการป้อนเนื้อหา มาเป็นการสอนให้ “เรียนเอง” ได้เป็นและคล่องแคล่ว

การเรียนออนไลน์ควรนำการศึกษามาสู่การเรียนรู้คำถาม

ในเรื่องหนึ่งๆ มีคำถามที่คนในอดีตได้ตอบเอาไว้มากกว่าหนึ่งอย่างเสมอ แต่ละคำตอบมีจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างไร เพราะอะไร ยิ่งทำให้รู้ไปจนถึงว่า ข้ออ่อนของคำตอบนั้นเกิดจากอะไร ก็ยิ่งดี

อันที่จริงแม้แต่การเรียนในชั้นเรียนหรือออฟไลน์ คำถามก็มีความสำคัญกว่าคำตอบ เพียงแต่ว่าการศึกษาไทยไม่ค่อยสนใจด้านคำถามเท่านั้น เพราะมุ่งหวังแต่ “ทักษะ” ที่จะเอาไปใช้งานเป็นหลักเพียงอย่างเดียว แต่ในโลกปัจจุบัน “ทักษะ” อะไรๆ ก็ใช้เครื่องจักรทำแทนได้แทบจะหมดแล้ว การศึกษาที่จะทำให้คนอยู่เหนือเครื่องจักรได้ จึงต้องเป็นการศึกษาที่สอนให้ถามเป็น หาคำตอบเองเป็น รู้จุดอ่อนจุดแข็งของคำตอบได้เอง

สรุปก็คือ “เรียนเอง” เป็น

ที่กล่าวทั้งหมดนี้นำไปสู่โรงเรียนแบบใหม่, มหาวิทยาลัยแบบใหม่, การวัดผลแบบใหม่, มาตรฐานความรู้แบบใหม่ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นการสอนออนไลน์หรือออฟไลน์

การเรียนการสอนออนไลน์กลายเป็นความจำเป็นในช่วงสั้นๆ ช่วงหนึ่งเพราะโควิดระบาด แต่ในความเป็นจริงถ้ามองเรื่องการศึกษา ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีโรคระบาด ความรู้ที่กระจายไปยังคนหมู่มากในทุกวันนี้ ล้วนกระจายผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งนั้น (ถ้าห่วงความผิด-ถูกในความรู้ออนไลน์ ก็ควรห่วงกับความผิด-ถูกในกระดาษ, คำพูด, คำเทศน์, คัมภีร์, ภาพยนตร์, ทีวี, วิทยุ ฯลฯ ด้วยเหมือนกันและเท่ากัน) เพียงแต่เป็นความรู้ที่ไม่ถูกจัดระบบ โรงเรียน-มหาวิทยาลัยออนไลน์คือการจัดให้ความรู้ที่ถูกจัดระบบได้มีช่องทางเผยแพร่ออนไลน์มากขึ้นเท่านั้น

มหาวิทยาลัยในโลกตะวันตกล้วนเสนอหลักสูตรปริญญาผ่านช่องทางออนไลน์เกือบทุกแห่ง หลักสูตรเหล่านี้เหมาะกับคนในหลายสถานะ เช่น คนทำงานที่ไม่มีเวลาไปนั่งประจำในชั้นเรียน คนอยากเรียนแต่ฐานะการเงินไม่อำนวย แม่บ้านซึ่งมีภาระในบ้านจนไม่อาจไปเรียนประจำได้ คนแก่ปลดชราแล้วแต่ยังสนุกกับการเรียนรู้ ฯลฯ พูดอีกอย่างหนึ่ง การศึกษาออนไลน์ (หรือการเผยแพร่ความรู้ที่ถูกจัดระบบแล้ว) เปิดโอกาสให้สังคมสามารถอำนวยการศึกษาในราคาถูกแก่ทุกคนที่อยากเรียนได้ ถูกทั้งต้นทุนการจัดการศึกษาและในราคาที่เป็นไปได้แก่คนส่วนใหญ่

เป็นครั้งแรกที่การศึกษาจะไม่ใช่บันไดอันน้อย ที่จำกัดไว้สำหรับลูกหลานของชนชั้นนำไต่ขึ้นสู่สถานะสูงของครอบครัวอีกต่อไป เพราะการศึกษาสาธารณะจะเป็นบันไดอันใหญ่ที่แทบจะไม่กีดกันใครที่อยากเรียนออกไปเลย

เราจะพูดถึงอุตสาหกรรม 4.0, การผลิตจากฐานความรู้, การลดความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ ไปทำไม ถ้าไม่ฉวยโอกาสจากเทคโนโลยีการสื่อสารออนไลน์ไปใช้ประโยชน์เพื่อจัดการศึกษา โดยเฉพาะในระดับสูง ให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างสะดวก

ดังนั้น การเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงนี้ จึงไม่น่าเป็นเพียงความพยายามจะรักษาระบบการศึกษาที่มีอยู่ให้ดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางโรคระบาด ซึ่งถึงอย่างไรก็ย่อมเป็นอุบัติการณ์ชั่วคราว แต่น่าจะเป็นโอกาสแห่งการเริ่มต้นปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งที่ทำผ่านชั้นเรียนและผ่านสื่อออนไลน์ อีกทั้งเป็นโอกาสเริ่มต้นที่ดีด้วย เพราะความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติไปแต่ต้น ทำให้เกิดการเรียนรู้แก่ทั้งฝ่ายผู้สอนและผู้เรียนมากกว่าการเริ่มต้นด้วยทฤษฎี, นโยบาย, หรือคำสั่ง

การเตรียมการเพื่อการสอนออนไลน์ในแง่นี้ จึงมีมากกว่าการแจกซิมโทรศัพท์มือถือ, การเตรียมโปรแกรม, การจัดชั้นเรียนที่มีจำนวนเหมาะสม ฯลฯ การเตรียมการด้าน “ฮาร์ดแวร์” เหล่านี้จำเป็นและสำคัญแน่ แต่ไม่พอ จำเป็นต้องเตรียมการด้าน “ซอฟต์แวร์” ไปพร้อมกันด้วย เช่น ผู้สอนควรได้รับคำแนะนำอย่างง่ายๆ ก่อนว่า ควรหรือไม่ควรทำอะไรในการสอนออนไลน์ เพื่อให้การสื่อสารได้ผล ในขณะเดียวกันก็มีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ข้อดีข้อเสียของ “ซอฟต์แวร์” ที่ใช้อยู่ไปพร้อมกัน เพื่อแก้ไขปรับปรุงในภายหน้า

แม้ผมจะให้ความหวังแก่เทคโนโลยีออนไลน์อย่างมากสักเพียงไร ก็ไม่ปฏิเสธว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนยังมีความสำคัญในการศึกษาอย่างชนิดที่ขาดไม่ได้ เพียงแต่ว่าเราต้องมีจินตนาการว่าจะทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวนอกชั้นเรียนได้อย่างไร เช่น การจัดปาฐกถาสาธารณะเป็นประจำ ควรเป็นหน้าที่ของทุกมหาวิทยาลัยต้องทำ เด็กประถมที่เรียนออนไลน์ก็ยังจำเป็นต้องไปโรงเรียน เพียงแต่อาจไปน้อยวันกว่าปัจจุบันเท่านั้น