วิรัตน์ แสงทองคำ : ซีพี ก้าวสู่ศตวรรษ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

มีดีลและมีความเคลื่อนไหวใหญ่ๆ ล้วนเป็น “ชิ้นส่วน” สามารถประกอบส่วนเป็นภาพรวมว่าด้วยยุทธศาสตร์ซีพี กำลังขยับขับเคลื่อนอย่างสำคัญ

เรื่องราวที่เคยว่ามา ทั้งผู้นำค้าปลีกอาเซียน (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1-7 พฤษภาคม 2563) พาดพิงถึงดีลซีพีกับ Tesco แห่งสหราชอาณาจักร และความคิด “ผู้ร่ำรวย” (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8-14 พฤษภาคม 2563) เจาะจงกล่าวถึงจดหมายตอบผู้นำทางการไทย จากผู้นำซีพี อย่างที่นำเสนอติดต่อกันก่อนหน้า ล้วนมีความเชื่อมโยงกันอย่างมิพักสงสัย

อย่างที่ว่า ไม่ว่าซีพีขยายอาณาจักรธุรกิจไปอย่างกว้างขวางเพียงใด ไม่เพียงซีพีไม่เคยทิ้งรากเหง้าธุรกิจดั้งเดิม หากขยายจินตนาการธุรกิจอย่างหลากหลาย เพื่อแสวงหาโอกาสอย่างกว้างขวางอย่างไม่หยุดหย่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมองผ่านบทบาทธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้นำธุรกิจแห่งตำนาน ผู้นำพาเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ก้าวไปข้างหน้า ในช่วงเวลาครึ่งศตวรรษผ่านมา จากร้านค้าตึกแถวเล็กๆ ย่านทรงวาด สู่เครือข่ายธุรกิจใหญ่ ระดับภูมิภาค ระดับโลก

ธนินท์ เจียรวนนท์ มีแนวคิดสำคัญใหม่ๆ อยู่เสมอ

 

อย่างเรื่องเรื่องหนึ่งกำลังให้ความสนใจเป็นพิเศษ เริ่มต้นด้วยบทสนทนาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เจาะจงว่าด้วยพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตทางสังคมสำคัญที่มีความสำคัญมากขึ้นๆ

“ไม่ต้องปลูกเอง ผมรับจ้างปลูกให้โดยการันตีว่าได้ ถ้าผลผลิตเสียหาย ซีพีรับผิดชอบ และให้รัฐบาลการันตีว่าที่ดินแปลงนี้ยังเป็นของคุณ”

มุมมองเชิงขยายต่อมาอีกว่า “มีพื้นที่ปลูกข้าวมากเกินไป ควรลดพื้นที่ลง หันไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ ให้มากขึ้น ให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่” และ “ซีพีจะไม่ดำเนินการเอง หากจะหาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมทั้งจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม”

จนมาถึงแนวคิดล่าสุด “โครงการปลูกน้ำ” ตามแนวคิดว่าด้วยการพัฒนาใหม่-ระบบชลประทาน ซึ่งตั้งใจใช้คำว่า Digital Irrigation ให้พื้นที่การเกษตรเข้าถึงน้ำ 100%

จากจุดเปลี่ยนสำคัญในยุคสงครามเวียดนาม เมื่อราวๆ ครึ่งศตวรรษที่แล้ว จุดอ้างอิงกรณีร่วมมือกับ Arbor Acres แห่งสหรัฐอเมริกาในการค้าพันธุ์ไก่ และเริ่มใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงไก่เนื้อในโรงเรือนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จนต่อมาเป็นแนวทางธุรกิจที่เรียกกันว่า Vertical Integration “สามารถควบคุมดีมานด์กับซัพพลายส่วนเกินได้ และเป็นการสนับสนุนให้เกิดการประสานงาน” กรณีศึกษา Harvard Business School ปี 2535 สรุปไว้ ในที่สุดภาพเครือข่ายธุรกิจครบวงจรจึงเกิดขึ้น

จนถึงวันนี้ คือเครือข่ายธุรกิจใหญ่ ในฐานะกลุ่มธุรกิจหลักหนึ่งปรากฏขึ้น เมื่อมองผ่านบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ

“ผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร …ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจรทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ ครอบคลุมประเภทสัตว์หลักได้แก่ สุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ เป็ด กุ้ง และปลา ซึ่งสามารถจำแนกประเภทธุรกิจหลักเป็น 3 ประเภท คือ ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจอาหาร รวมทั้งประกอบกิจการค้าปลีกและร้านอาหาร” (https://www.cpfworldwide.com/th)

เป็นไปตามจังหวะก้าวและยุทธศาสตร์ ซึ่งผลิตขึ้นและทดลองจนสำเร็จในประเทศไทยก่อนส่งออกสู่ภูมิภาค อย่างที่เป็นมาในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา และเป็นจังหวะก้นหอยวนรอบอีกครั้ง เมื่อซีพีกลับมาปักหลักในดินแดนซึ่งคุ้นเคย ด้วยการหลอมรวมธุรกิจดั้งเดิมในประเทศไทย ในกรณีซีพีเอฟ พร้อมๆ กั[มีแผนการใหม่ๆ บททดลองใหม่อันซับซ้อนยิ่งขึ้นอีกครั้ง

แนวคิดล่าสุดข้างต้น เชื่อกันว่าจะเป็นอีกบทเรียนแห่งบูรณาการ อีกมหากาพย์ในศตวรรษหน้า

 

อีกกรณีหนึ่งดีลซีพีกับ Tesco แห่งสหราชอาณาจักร ดีลที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ธุรกิจไทย ดีลซึ่งส่งผลสะเทือนต่อธุรกิจค้าปลีกไทย และต่อยุทธศาสตร์ธุรกิจซีพีเอง

ซีพีได้เข้าครอบครองเครือข่าย Tesco Lotus ในไทย ซึ่งเคยสร้างรายได้เกือบๆ 2 แสนล้านบาท ที่สำคัญคือเครือข่าย Tesco ในประเทศมาเลเซีย แม้มีโครงสร้างรายได้เพียงกว่า 3 หมื่นล้านบาท

ธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครือซีพี เปิดฉากขึ้นเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว ผ่านอุปสรรคพอสมควร กว่าจะตกผลึกในอีกกว่า 2 ทศวรรษ เมื่อซีพีออลล์ ในฐานะผู้ถือแฟรนไชส์ 7-Eleven ในประเทศไทย สามารถก้าวเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กแบบร้านสะดวกซื้ออย่างเบ็ดเสร็จ แผนการและจังหวะก้าวใหม่ๆ จึงมีขึ้นทั้งเป็นไปตามแบบแผนซีพีสามารถเทียบเคียงกับธุรกิจดั้งเดิม ทั้งจากบทเรียนความสำเร็จในประเทศไทยและสถานการณ์ใหม่ ที่เอื้อโอกาสใหม่ที่เปิดขึ้น

“ประกาศความพร้อมเตรียมรับมือการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือเออีซีซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2568 ที่จะถึงนี้ ด้วยการลงทุนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของบริษัท ซื้อกิจการบริษัทสยามแม็คโคร ผู้นำในธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชำระเงินสดและบริการตนเองในประเทศไทย ด้วยมูลค่าประมาณ 188,880 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นช่องทางนำสินค้าจากประเทศไทยโดยเฉพาะสินค้าจากผู้ผลิตขนาดเล็กและขนาดกลาง หรือ SMEs และสินค้าผลิตผลทางการเกษตรของไทย รวมถึงสินค้าประเภทอาหารแช่แข็งและอาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ ฯลฯ ไปจำหน่ายในประเทศกลุ่มอาเซียน”

(http://www.cpall.co.th 23 เมษายน 2556)

 

แผนการใหม่ว่าด้วยขยายธุรกิจค้าปลีกสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ที่ว่าเกิดขึ้น มาจากข้อจำกัดสัญญาแฟรนไชส์หลัก (Master Franchise Agreement) 7-Eleven ฉบับเดิม ทว่าเมื่อมี Makro แล้ว แผนการ Makro ขยายเครือข่ายสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ตามแบบแผนและลักษณะธุรกิจ ต้องใช้เวลาถึง 4 ปีเต็มจึงเกิดขึ้น ปลายปี 2560 สาขาแรกเปิดขึ้นที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

เมื่อโอกาสมาถึง ในที่สุดซีพีมีเครือข่ายค้าปลีกแบบครบวงจรจากโมเดลร้านค้าขนาดเล็ก ขนาดกลางซึ่งยืดหยุ่น จนถึงค้าส่ง

ในจังหวะเดียวกันนั้น ซีพีออลล์ได้บรรลุซึ่งสัญญาแฟรนไชส์ฉบับใหม่ สามารถดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในประเทศกัมพูชา หลังจากมีการเจรจากันนานกว่า 1 ปี ขณะเดียวกันเครือ Tesco เข้ามาเติมภาพให้ครบวงจรยิ่งขึ้น ในฐานะธุรกิจที่มีความยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นโมเดลเครือข่ายค้าปลีกหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีอยู่แล้วในฐานะผู้นำธุรกิจในไทย ที่สำคัญซีพีก้าวกระโดดสู่ภูมิภาคครั้งใหญ่อย่างทันท่วงทีในมาเลเซีย

อีกมิติหนึ่ง เครือข่ายธุรกิจค้าปลีกทำงานได้มากกว่าที่คิด ในฐานะช่องทางหลักนำสินค้าจากกลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะสินค้าอาหารของซีพีเข้าถึงผู้บริโภค ขณะขยายสู่ธุรกิจข้างเคียงอีกมาก

กรณีซีพีออลล์ให้ภาพกระจ่างเช่นนั้น

 

ยุคใหม่ในศตวรรษที่กำลังจะมาถึง ซีพีได้ผนวกผสานผู้นำแห่งตำนานซึ่งยังมีบทบาทต่อเนื่องกับผู้นำรุ่นใหม่ ทายาทของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้มีประสบการณ์ เริ่มต้นจากธุรกิจสื่อสารและทีวีบอกรับ กลายพันธุ์สู่ธุรกิจยุคสมัย ในภาพใหม่ๆ ว่าด้วย Digital media, Fulfillments เป็นผู้สร้าง Platform และ Application เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการขยายจินตนาการจากโมเดลธุรกิจดั้งเดิม-Vertical Integration สู่สิ่งที่เรียกว่า Convergence ในธุรกิจสื่อสาร ในที่สุดเป็นแบบแผนการหลอมรวมผนึกผสานหลายมิติ โดยเฉพาะข้อมูล (data) เข้ากับธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ต่างๆ อย่างค้าปลีกในเชิงภูมิศาสตร์และออนไลน์ จนสู่ธุรกิจพื้นฐานอย่างเกษตรกรรม ซึ่งสามารถขยายวงจร เชื่อมโยงคุณค่าสู่สิ่งที่เรียกว่า Foodtech และยา

เรื่องราวซีพีแห่งศตวรรษ จะขอนำเสนออย่างตั้งใจเป็นพิเศษในวาระต่างๆ จากนี้ไป