วงค์ ตาวัน | ตามหาความจริง 99 ศพ และคำแย้งของอธิบดีศาล

วงค์ ตาวัน

จะโควิดหรือไม่โควิด ในทุกปีนับจากปี 2553 เป็นต้นมา เมื่อถึงช่วงเวลาระหว่างวันที่ 10 เมษายน ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นช่วงของการสลายม็อบเสื้อแดงด้วย “กระสุนจริง” เป็นเวลายาวนานกว่า 1 เดือน จนมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ทั้งสิ้น 99 คน บาดเจ็บอีกหลายพัน

จะมีการจัดกิจกรรมรำลึก เรียกร้องความเป็นธรรม และทวงถามความจริงในทุกๆ ปี

ดังนั้น ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พยายามจะกล่าวถึงกระแสเรียกร้องเรื่องนี้ ทำนองว่าอย่าเอามาสร้างปัญหาในช่วงที่รัฐบาลกำลังช่วยเหลือประชาชนกรณีโควิด

“จึงเป็นคนละเรื่องเดียวกัน”

ความที่ปีนี้ เหตุการณ์ 99 ศพ ผ่านมาครบ 10 ปีพอดี ได้เกิดกระแสร้อนแรง “#ตามหาความจริง” ผ่านการยิงแสงเลเซอร์ไปตามจุดสำคัญๆ ที่เกิดเหตุนองเลือดดังกล่าว

ทำให้คนในรัฐบาล คนในกระทรวงกลาโหม และคนในพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาตอบโต้อย่างเข้มข้น ส่งผลให้กลายเป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กว้างขวางมากขึ้น ทั้งยังขึ้นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ประเทศไทยด้วย

นายทหารชั้นผู้ใหญ่ถึงกับกล่าวว่า อาจจะเข้าข่ายสร้างความขัดแย้งแตกแยก ทั้งยังอ้างว่า การตามหาความจริงในเรื่องนี้กระทำกันอยู่แล้วผ่านกระบวนการยุติธรรมที่กำลังดำเนินการอยู่

ทั้งที่ในข้อเท็จจริง คดีที่มีการทำให้คนตาย 99 คนทั้งหมดได้ตกไปจากกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยไปแล้ว ยังไม่มีการพิสูจน์ความจริง ยังไม่มีบทสรุปว่าใครถูกใครผิด

“ประชาชน แกนนำ นปช. ญาติมิตร 99 ศพ และนักการเมืองตัวแทนคนรุ่นใหม่ จึงต้องออกมาตามหาความจริงกันต่อไป”

หรือที่คนในพรรคประชาธิปัตย์พยายามปกป้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายกฯ และรองนายกฯ ขณะนั้นว่า ไม่เคยหนีคดี ไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรม ยอมเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จน ป.ป.ช.และศาลได้ชี้แล้วว่าไม่มีความผิด

อย่ามาฟื้นฝอยหาตะเข็บ โยนบาปให้คนที่ไม่ได้ทำ

แต่ข้อเท็จจริงของคดีในส่วนนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพนั้นได้ตกไปจากศาลอาญา ด้วยเหตุผลที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพยื่นต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมายว่า คดีนี้เป็นคดีในอำนาจของ ป.ป.ช. จนสุดท้ายศาลอาญามีคำสั่งว่า คดีนี้เกินขอบเขตอำนาจของศาลอาญา ให้เป็นอำนาจไต่สวนของ ป.ป.ช. ซึ่งหากมีมูล จึงส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

“คดีตกไปจากศาลอาญา ด้วยประเด็นการต่อสู้ทางข้อกฎหมาย ยังไม่ได้มีการสืบพยาน เพื่อพิสูจน์ความจริงในกระบวนการศาลแต่อย่างใด!?”

ไม่ได้หนีคดีจริงๆ แต่ก็ต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมาย จนสุดท้ายคดีก็ไม่ได้พิสูจน์ความจริงกันในกระบวนการศาล ไม่ได้นิรโทษกรรมจริง แต่คดีนี้ก็ยังไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการศาลได้เลย

เป็นเช่นนี้ ก็เลยมีการทวงถามความจริงกันไม่สิ้นสุด ไม่ใช่การขุดเรื่องเก่าที่จบไปแล้ว แต่เพราะเรื่องยังไม่จบ

นับจากคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมเสื้อแดงกับเจ้าหน้าที่ทหาร จนเกิดเสียงปืน เสียงระเบิดดังระงม นำมาสู่การล้มตายกว่า 20 ศพในคืนแรกของความรุนแรงนั้น จากนั้นฝ่าย ศอฉ.ก็ยังระดมเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธสงครามและกระสุนจริงเข้าปฏิบัติการ ไปจนถึงในหน่วยสไนเปอร์ซุ่มยิงระยะไกลด้วย

ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่การอ้างเลื่อนลอย แต่มีภาพถ่ายวิดีโอเป็นหลักฐานชัดเจน

ความรุนแรงดำเนินมาจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เมื่อ ศอฉ.สั่งให้ทหารเข้ายึดพื้นที่การชุมนุมทั้งหมด แกนนำเสื้อแดงทั้งหมดได้เข้ามอบตัวกับตำรวจ และถูกควบคุมตัวดำเนินคดีตั้งแต่บัดนั้น

“ฝ่ายแกนนำม็อบติดคุกกันไปแล้วหลายรอบ คดียังคาราคาซังอยู่จนถึงวันนี้ ส่วนคนตาย 99 คน ก็ยังไม่มีใครได้รับความเป็นธรรม แต่อีกฝ่ายทั้งผู้นำรัฐบาลและผู้นำกองทัพ ไม่เคยมีใครโดนดำเนินคดีในชั้นศาลเลย”

อันที่จริงหลังเกิดเหตุไม่นานนัก เมื่อพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้เลือกตั้ง ทำให้พรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล คดี 99 ศพจึงเริ่มสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ต่อมามีการทำสำนวนคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพคนตาย นำขึ้นพิจารณาในศาล และศาลได้ชี้ผลไปแล้ว 17 ศพว่าตายด้วยปืนของเจ้าหน้าที่ ศอฉ.

จึงมีการนำผลสำนวนไต่สวนชันสูตรศพที่ศาลชี้แล้วดังกล่าว นำไปดำเนินคดีฟ้องต่อศาลอาญา กล่าวหานายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ นายกฯ และรองนายกฯ ขณะนั้น ในความผิดก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่น

นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพยื่นคำร้องต่อสู้ประเด็นข้อกฎหมายว่า จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะนายกฯ และรองนายกฯ จึงเป็นการฟ้องผิดประเด็น ควรจะต้องฟ้องในเรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งจะต้องให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ไต่สวน และหากมีมูลต้องฟ้องในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ในที่สุดศาลอาญาพิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้วเห็นว่าคดีนี้ไม่ใช่ขอบเขตอำนาจของศาลอาญา จึงให้ยกฟ้อง โดยให้เป็นขั้นตอนของ ป.ป.ช. และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทน จากนั้นศาลอุทธรณ์และฎีกาเห็นพ้องกับศาลอาญาในประเด็นเดียวกัน

“คดี 99 ศพ จึงตกไปจากกระบวนศาลอย่างสิ้นเชิง”

แต่ที่สร้างความฮือฮาก็คือ ในคำพิจารณาของศาลอาญานั้น นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาขณะนั้น ได้มีความเห็นแย้งไว้ในสำนวนคดีนี้ด้วย โดยยืนยันว่าไม่เห็นชอบกับคำพิพากษานี้ เพราะการฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลอาญาในความผิดดังกล่าวนั้นถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นอำนาจของศาลอาญาที่จะพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวได้

อธิบดีศาลอาญาได้ชี้ว่า หาก ป.ป.ช.เห็นว่าความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการไม่มีมูล ก็ย่อมทำให้ความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่นยุติไปด้วย หากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับ ป.ป.ช.ทำหน้าที่ศาลในเวลาเดียวกันด้วย ซึ่งไม่ใช่ความมุ่งหมายของกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 66 นอกจากนั้น ยังเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายซึ่งเป็นญาติผู้ตาย ตาม ป.วิอาญา มาตรา 150 วรรค 10 อีกด้วย หากอำนาจชี้ขาดไปอยู่ที่ ป.ป.ช. ตามคำพิพากษาขององค์คณะที่วินิจฉัยมา ย่อมเป็นการตัดสิทธิของผู้เสียหาย จะเป็นการแปลความกฎหมายที่ปราศจากความยุติธรรมและขัดต่อหลักกฎหมาย

“ความเห็นของอธิบดีศาลอาญา ยังระบุด้วยว่า เมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด ก็ควรเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้คดีถึงที่สิ้นสุด เพื่อให้ยุติธรรมทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตัดสิทธิฟ้องของโจทก์และผู้เสียหายเช่นนี้”

ทั้งหมดนี้เป็นข้อเท็จจริงที่บ่งบอกว่า การพ้นคดีของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพในการต่อสู้คดีนี้ในชั้นศาล เป็นการพ้นคดีด้วยประเด็นข้อกฎหมาย ทำให้คดีนี้ตกไป โดยที่ยังไม่ทันได้สืบพยาน ไม่ทันได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงตามกระบวนการ

ถ้าเป็นมวยก็คือ แค่ขึ้นเวที แต่นักมวยฝ่ายหนึ่งร้องเรียนว่าจัดชกผิดเวที สุดท้ายกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเช่นนั้น

จึงให้เลิกแข่งขัน แพ้-ชนะแบบฟาวล์

หลังจากคดีไม่สามารถพิจารณาในศาลได้ แกนนำเสื้อแดง ญาติ 99 ศพ จึงเข้ายื่นร้องขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีนี้ โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าว แต่ต่อมา ป.ป.ช.ก็มีมติไม่รื้อฟื้นคดี อ้างว่าได้เคยมีมติไปแล้ว

ประเด็นนี้ไง จึงเป็นข้อยืนยันว่า วันนี้ไม่มีช่องทางไหนเหลืออีกแล้วในการพิสูจน์ความจริง 99 ศพ

“การทวงถามความเป็นธรรมจึงเกิดขึ้นทุกปี และในปีนี้ได้กลายเป็นกระแส #ตามหาความจริง”

ที่น่าคิด ทำไมฝ่ายเสื้อแดงที่ถูกกล่าวหาว่ามีชายชุดดำมีผู้ก่อการร้ายปะปนอยู่ จึงดิ้นรนทุกทางเพื่อให้มีการพิสูจน์คดี วันนี้ก็ยังต่อสู้ให้พิสูจน์ความจริงไม่เลิก

แต่ฝ่ายรัฐบาลและผู้นำกองทัพ ไม่เคยแสดงท่าทีจะเปิดให้พิสูจน์ความจริงกันตามกระบวนการเลย

ย้อนไปอ่านคำแย้งของอธิบดีศาลอาญาท่านนั้น เขียนไว้ให้ต้องคิดว่า

เมื่อจำเลยทั้งสอง (นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ) ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด ก็ควรเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้คดีถึงที่สิ้นสุด เพื่อให้ยุติธรรมทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตัดสิทธิฟ้องของโจทก์และผู้เสียหายเช่นนี้!