คำ ผกา | อย่าให้การริบอำนาจของประชาชน เป็น New Normal

คำ ผกา

ถามว่าประเทศไทยและรัฐบาลไทยประสบความสำเร็จในการ “สกัด” การระบาดของโควิด-19 ไหม?

ถ้าดูเฉพาะตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และผู้ตายเพียงอย่างเดียวก็ต้องบอกว่าประสบความสำเร็จมาก

แต่ถ้าถามว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการ “รับมือ” กับโควิด-19 ไหม?

คำถามนี้ยังต้องการการอภิปรายต่อในหลายมิติ

เพราะหากพูดถึงการรับมือ ตัวชี้วัดความสำเร็จจะไม่ใช่แค่จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และผู้ตายจากโควิดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเอา “คุณภาพชีวิต” ของประชาชน รวมทั้งต้องประเมินด้วยว่าจากมาตรการ “สกัด” โควิด ที่มุ่งหวังเพียงตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย ผู้ตายลดลงเรื่อยๆ เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถสะท้อนคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมได้

ตัวอย่างที่เข้าใจง่ายและใกล้ตัวที่สุด (ที่ฉันทั้งเขียนและพูดซ้ำๆ) คือ มาตรการ “ปิดเมือง” นั้น จะปิดเมืองได้ยาวนานเท่าไหร่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการลดลงของตัวเลขผู้ป่วยจากโควิด-19 เพียงอย่างเดียว เพราะรัฐบาลต้องประเมินศักยภาพว่าตนเองและงบฯ ที่ตนมีสามารถ “ชดเชย” รายได้ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองได้นานที่สุดเท่าไหร่?

ถ้าเราเป็นประเทศหรือรัฐบาลที่มีความมั่นคงทางการเงินสูง เราอาจจะสามารถปิดเมืองได้สามเดือนรอจนโควิด-19 หายไปแบบสะเด็ดน้ำเลยก็ได้ เพราะรัฐบาลมีเงินชดเชยให้ประชาชนที่ต้องหยุดงาน, ตกงาน, มีเงินชดเชย หรือเงินกู้ไร้ดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ, สามารถให้บริการโครงสร้างพื้นฐานแก่ประชาชนที่ต้องทำงานจากบ้าน หรือสามารถดูแลสภาพจิตใจประชาชนจากภาวะความเครียด ความกดดันที่เกิดขึ้นจากการปิดเมือง สามารถดูแลคนไร้บ้าน ไปจนถึงผู้คนที่เผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว

ถ้ารัฐบาลมองว่าดูแลได้ทุกเรื่องเหล่านี้อย่างไม่มีขาดตกบกพร่องไปได้อย่างน้อยสามเดือน – โอเค แบบนี้อาจใช้มาตรการยาแรงปิดเมืองไปสามเดือน ชิลๆ

แต่ถ้ารัฐบาลประเมินแล้วว่า สายป่านเราไม่มี ไม่ยาวพอขนาดนั้น คำนวณจากความสามารถที่จะชดเชยรายได้และเยียวยาความรู้สึกของผู้คนและพลเมืองแล้ว ทำได้อย่างมากไม่เกิน 3 เดือน

ถ้าเป็นอย่างนี้รัฐบาลต้องบริหารโควิด-19 โดยมีตัวเลขชดเชยรายได้ 3 เดือนเป็นตัวตั้ง ดังนั้น เคาะออกมาแล้วเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็ปิดเมืองได้ไม่เกิน 1 เดือนนะจ๊ะ (ปิดเมือง 1 เดือน ชดเชยรายได้ 3 เดือน)

นั่นแปลว่ารัฐบาลต้อง “ชดเชย” รายได้ให้ประชาชนไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างในระบบ นอกระบบ นายจ้าง เจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการ เกษตรกร คนชายขอบที่ไร้เอกสารยืนยันตัวตนอย่างถ้วนหน้าโดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ “ความจน/ความลำบาก เพราะกระบวนการพิสูจน์นั้นยิ่งสิ้นเปลืองและเสียเวลา (อย่าลืมว่าสิ่งที่แพงที่สุดคือเวลา)

พูดง่ายๆ คือ รัฐบาลไม่มีหน้าที่มากลัวว่าจะมีประชาชนที่ไม่เดือดร้อนจริงมาหลอกเอาเงินของรัฐบาล (ที่เป็นภาษีประชาชน) แต่รัฐบาลต้องทำใจไปเลยว่า จะชั่วจะดี เงินนี้มันก็จะกลับไปหมุนในตลาด กระตุ้นเศรษฐกิจ กลายมาเป็นรายได้กลับเข้ารัฐโดยทางอ้อมอยู่นั่นเอง

เพราะคงไม่มีใครได้เงินแล้วเอาไปฝังตุ่ม เขาจะเอาไปเสริมนม เสริมจมูกง่อยๆ ก็คิดเสียว่ายังไงเงินก็หมุนเวียนอยู่ในตลาดนั่นแหละ

เมื่อรัฐบาลรู้ว่าด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจของเราปิดเมืองได้ 1 เดือน รัฐบาลจะได้มีกรอบการบริหารโควิด-19 ที่ไม่ใช่การลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว เพราะประเด็นไม่ใช่แค่ตัวเลขที่ลดลงเรื่อยๆ ทว่าโฟกัสที่แท้จริงคือบริหาร “ความปลอดภัย”

เมื่อโฟกัสที่ความปลอดภัย รัฐบาลก็จะเรียงลำดับความสำคัญหรือน้ำหนักของการดูปัญหานี้ได้ เช่น ระดับความเข้มข้นของการ isolation การกักตัว การแยกตัว การงดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

อาจจะไปเข้มระดับสูงสุดที่ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ บลา บลา, ผู้สูงอายุที่ไม่มีโรคประจำตัว, คนที่ยังไม่สูงวัย แต่มีโรคประจำตัว

ค่อยๆ ไล่มาถึงคนทั่วไปที่มีระดับการระวังตัวที่ขั้นพื้นฐาน กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใส่หน้ากาก หรือที่กันหน้า

แต่ถ้าจะมีใครอยากป้องกันตนเองให้มากจนถึงระดับสูงสุด ก็ไม่มีใครว่าอยู่แล้ว ยิ่งดีด้วยซ้ำ

จากนั้นรัฐบาลควรโฟกัสการระงับกิจกรรมเฉพาะกิจกรรมที่เสี่ยงจริงๆ เช่น คอนเสิร์ต การแข่งกีฬาที่คนต้องไปแออัด ตะโกนเชียร์เสียงดังแบบลืมตัว กีฬาที่มีการตะลุมบอนคลุกฝุ่น ถึงเนื้อถึงตัวกัน เช่น มวยปล้ำ

จากนั้นก็โฟกัสไปเฉพาะที่เป็นจังหวัดที่มีระดับการแพร่เชื้อ ติดเชื้อ มีคลัสเตอร์ของการติดเชื้อ แล้วไปใช้มาตรการระดับเข้มข้นเฉพาะพื้นที่จังหวัด หรืออำเภอที่ต้องเฝ้าระวัง

ถ้ารัฐบาลเรียงลำดับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างเป็นระบบ รัฐบาลก็จะบริหารได้ว่าภายในเวลา 1 เดือนนี้จะมีการปิดอย่างเข้มงวดที่กิจกรรมไหนและพื้นที่ไหน จะซอฟต์ๆ ได้ที่ไหน และสามารถทำทุกอย่างได้ประมาณ 90% ของชีวิตปกติได้ในพื้นที่ไหนบ้าง

ถ้าทำได้เช่นนี้ ก็เท่ากับรัฐบาลกำลังบริหารทั้งสองส่วนคือ บริหารการระบาดของโรค และบริหารคุณภาพชีวิตอันหมายถึงความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและสินทรัพย์ของประชาชนได้อย่างสมดุล

เมื่อรัฐบาลบริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยเอาความปลอดภัยและความมั่นคงในคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นตัวตั้ง

มาตรการต่างๆ ที่ออกมาก็จะมีความ sensitive ละเอียดลออ ไม่หว่านแห ไม่เหมารวมทั่วประเทศมาตรการเดียว

ที่สำคัญ รัฐบาลและสังคมก็จะไม่ต้องแพนิกหรือพารานอยด์กับตัวเลขผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยมากนัก

ที่สำคัญ เราต้องดูตัวเลขเหล่านี้อย่างละเอียดด้วย เช่น ผู้ที่ติดเชื้อนั้นกลายเป็นผู้ป่วยกี่คน ด้วยเหตุปัจจัยใดจึงไม่ป่วย ด้วยเหตุปัจจัยใดจึงป่วย

ถ้าเกิดว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นมาก แต่กลับมีคนป่วยน้อย และสามารถอธิบายได้ว่า เหตุใดจึงป่วยน้อย ก็อาจทำให้สังคมลดความวิตกจริต รัฐบาลก็จะได้รู้ว่า สามารถบริหารสถานการณ์โดยไม่ให้กระทบชีวิต รายได้ของผู้คน ที่ปลายทางมันคือเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมด

นอกจากนี้ รัฐบาลก็ต้องแยกระหว่าง “การระบาดระลอกสอง” กับ “การเกิดคลัสเตอร์ใหม่”

เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว เราไม่มีวันรู้ว่า การระบาดใหม่หรือการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อหลังจากที่ตัวเลขเคยลดลง คือการระบาดระลอกไหน? และสามารถนับการระบาดเป็นระลอกๆ เป๊ะๆ ได้จริงหรือ ในเมื่อเชื้อโรคคือสิ่งที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

แต่สิ่งที่เรารู้ได้แน่ๆ คือ การเกิดขึ้นของคลัสเตอร์การติดเชื้อ เช่นของไทย คลัสเตอร์แรกคือผับที่ทองหล่อ คลัสเตอร์ที่สองคือสนามมวย ในกรณีของกรุงเทพฯ ส่วนกรณีภูเก็ต ยะลา ก็ต้องโฟกัสที่คลัสเตอร์ของพื้นที่นั้นๆ

เพราะฉะนั้น การเรียกร้องเรื่องไม่ให้การ์ดตกนั้น ควรเป็นการเรียกร้องที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล ไม่ใช่รัฐบาลมีต่อประชาชน แปลว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือกวดขัน ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ หรือมีซูเปอร์สเปรดเดอร์ รวมไปถึงมาตรการของการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศในทุกกรณี

แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลและประชาชนไม่ควรจะวิตกจริตประสาทรับประทานเกินไปกับการจะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย ที่ขึ้นๆ ลงๆ อย่างไม่มีนัยสำคัญที่บางทีบอกว่ามีการแพร่ขยายของเชื้อโรคตัวนี้อย่างเกินจะป้องกัน

ดังนั้น curve กราฟ ไม่ใช่เรื่องการดูให้มันลงๆๆๆๆๆๆๆๆ อย่างไม่มีวันขึ้น แต่สิ่งที่ปกติ ตราบเท่าที่ยังไม่วัคซีนคือ มันขึ้นบ้าง ลงบ้าง แต่ไม่พุ่งทะยาน และการขึ้นบ้างลงบ้างนี้ก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงของสาธารณสุขที่จะรับไหว

มองและบริหารให้รอบด้านเช่นนี้ก็จะทำให้เราไม่จำเป็นต้องปิดเมืองแบบปิดตั้งแต่แม่สายยันสุไหงโก-ลกแบบไม่ต้องดูบริบท

มองและบริหารให้รอบด้านเช่นนี้เราก็จะสามารถผ่อนคลาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่น ไม่จำเป็นต้องใช้พร้อมกันทั่วประเทศ แต่โฟกัสเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหา ที่สำคัญเราไม่จำเป็นต้องมีเคอร์ฟิว

และสมมุติว่ารัฐบาลประเมินจากงบฯ ว่าไม่มีสายป่านยาวพอที่จะปิดเมืองเกิน 1 เดือน การบริหารสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งต้องบริหารแบบดูบริบท ไม่ใช่ใช้มาตรการเดียวเหมารวมกันไปทั้งประเทศ อีกทั้งต้องบริหารให้มีความยืดหยุ่น ที่ไม่ได้แปลว่า ประมาท เพิกเฉย

ตรงกันข้าม ฉันเห็นว่าการมีมาตรการเดียว เหมาใช้ไปทั่วประเทศต่างหากคือความมักง่าย ขี้เกียจ ไม่ sensitive และอิงการใช้อำนาจแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ

คิดได้เรื่องเดียวคือจะให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยต่ำจนเหลือศูนย์ แล้วตัวเองจะได้ประกาศชัยชนะบนความพ่ายแพ้ของคนค่อนประเทศ ที่สูญเสียกิจการ สูญเสียงาน สูญเสียรายได้ ที่สำคัญสูญเสียโอกาสในชีวิต

นี่ก็เดือนที่ห้าของปีแล้ว สถานการณ์การระบาดเริ่มทรงตัว แม้จะพบการเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ แต่นั่นเป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการควบคุม มันยังไม่ใช่ห่าลงที่มีคนตายคืนละร้อยคืนละพันในชั่วพริบตา

คนไทยต้องตระหนักว่า เราไม่อาจแบกรับการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ และไม่มีความฟุ่มเฟือยในชีวิตมากพอที่จะแบกรับปัญหาสังคมที่เป็นผลพวงมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว ปัญหาเด็กและเยาวชนที่ต้องโตมาในช่วงเวลาที่ไปโรงเรียนไม่ได้ ไม่มีกิจกรรมทางสังคม ไม่มีกิจกรรมกีฬา สันทนาการ หรือโตในช่วงที่พ่อ-แม่ตกระกำลำบาก ล้มละลาย ฯลฯ

คนไทยต้องเข้าใจได้แล้วว่า เราไม่ได้อยู่ในสังคมและรัฐที่มีความฟุ่มเฟือย มีศักยภาพจะแบกรับปัญหาเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากเรายังไม่กลับคืนสู่ความเป็นสามัญของชีวิต กิจกรรม และการทำมาหากินในเร็ววัน

รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐต้องประเมินกำลังตัวเอง เช่น กระทรวงศึกษาฯ ควรประเมินตัวเองว่าสามารถจัดการการศึกษาออนไลน์ ออนแอร์ได้จริงหรือไม่ ได้แค่ไหน ได้กี่เปอร์เซ็นต์ มีองค์ความรู้ มีโนว์ฮาวอะไรอยู่ในมือ

ถ้าไม่มี ต้องยอมรับว่าตัวเองไม่มี แล้วพบกันครึ่งทาง ด้วยการให้เปิดเรียนตามปกติ พร้อมกับการทำ New Normal ของสถานศึกษาให้โรงเรียนทุกประเภททุกระดับได้แล้ว

อีกทั้งควรใช้โอกาสนี้สนับสนุน ส่งเสริมการเรียนแบบโฮมสกูลของผู้ปกครองที่พร้อม หรือผู้ปกครองที่ไม่สบายใจพอที่จะให้ลูกไปโรงเรียน กระทรวงศึกษาฯ ก็ควรถือโอกาสนี้ส่งเสริมศักยภาพของ กศน. สนับสนุนโฮมสกูล แทนที่จะสั่งดีเลย์การเปิดเรียน หรือดีเลย์การไปโรงเรียนของเด็กนักเรียนอย่างไร้ทิศทาง เพราะมันยังมีหลายเรื่องที่ยังไม่มีคำตอบได้ว่าจะทำอย่างไร เช่น การสอบวัดผล การสอบโอเน็ต เอเน็ต การวัดผลครู การสอบเข้ามหาวิทยาลัย การสอบของครูฝึกสอน ที่ต้องได้ไป “สอน”

ไม่ต้องพูดถึงความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยที่จะส่งผลให้คนจนยิ่งเจ็บปวดและยิ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบสูงสุดจากการขาดโอกาสการศึกษาครั้งนี้

คนไทยต้องปรับชีวิตกับสิ่งที่เป็น New Normal ของโลกที่มีโรคระบาดใหม่ ซึ่งนั่นแปลว่า รัฐต้องปรับระดับการบริหารให้เข้าสู่ความเป็น normal อย่างรอบคอบ ละเอียดอ่อน

คำนึงถึงคุณภาพชีวิตประชาชนมากกว่า “ตัวเลข” ที่ใช้วัดชัยชนะของตนเอง

อันดับแรกต้องยกเลิกเคอร์ฟิว บทบาทของศูนย์บริหารโควิดต้องคืนให้กระทรวงสาธารณสุขและแพทย์สังกัดกรมควบคุมโรค ตามมาด้วยการยุติศูนย์บริหารโควิดเพื่อคืนอำนาจให้สภา

อย่าลืมว่า New Normal ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการยินยอมให้ใครคนใดคนหนึ่งมีอำนาจไปเรื่อยๆ อย่างไร้ขอบเขตและเดดไลน์

New Normal ไม่ได้หมายถึงการทำให้การปล้นอำนาจของประชาชนเป็นเรื่องธรรมดา