คุยกับทูต ‘ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี’ สานสัมพันธ์ไทย-อิหร่าน มิตรเก่าในยุคใหม่ (2)

คุยกับทูต ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี สานสัมพันธ์ไทย-อิหร่าน มิตรเก่าในยุคใหม่ (2)

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเปอร์เซีย ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มีมาตั้งแต่โบราณกว่า 400 ปี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ค.ศ.1590-1605) เมื่อเรือสำเภาบรรทุกสินค้าของ ชีกอะหมัด กูมี และน้องชายคือ มะหะหมัด ซาอิด ได้เข้ามาเทียบท่าที่ป้อมเพชร ตำบลท้ายคู

และในจดหมายเหตุประถมวงศ์สกุลบุนนาค ระบุว่า “เข้ามาตั้งห้างค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยาสยามประเทศ เมื่อจุลศักราช 964 ปีขาล จัตวาศก” ซึ่งตรงกับ ค.ศ.1602

อิหร่านเป็นประเทศที่อยู่ในตะวันออกกลาง มีประวัติความเป็นมายาวนานมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกกว่า 5,000 ปี และเป็นที่ตั้งของอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

วัฒนธรรมจึงหลากหลาย เพราะมีกลุ่มชาติพันธุ์และภาษาต่างๆ มากมาย โดยเปอร์เซียเป็นชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด

อาณาจักรเปอร์เซียอันยิ่งใหญ่มีราชวงศ์หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนการมีอำนาจมาเรื่อย จนกระทั่งมาถึงราชวงศ์ปาห์เลวี ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของอิหร่าน

ประเทศอิหร่านเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเปลี่ยนชื่อจากประเทศเปอร์เซียมาเป็นอิหร่านเมื่อปี ค.ศ.1920 และสถาปนาเป็น “สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน” เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1979

ท่านทูตซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) มารับหน้าที่เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา และยังได้เข้าสู่กระบวนการกักตัวสองสัปดาห์ด้วย

ท่านทูตตอบคำถามในประเด็นผลกระทบที่เกิดจากการการคว่ำบาตรของสหรัฐ

“ปัจจุบัน เราถูกกดดันและได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังสามารถบริหารจัดการได้ ถึงแม้ว่ามีบางประเทศไม่อาจซื้อน้ำมันจากเรา ทั้งนี้เพราะประเทศอิหร่านมีความมั่นคง ประชาชนอยู่ในความสงบ ประชาชนนี้รวมทั้งชาวยิว ชาวคริสต์ และอื่นๆ เราอยู่ด้วยกันได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ต่างมีผู้แทนอยู่ในรัฐสภาเช่นกัน”

สหรัฐและอิหร่านมีความขัดแย้งกันมาอย่างยาวนาน โดยสหรัฐมีเป้าหมายใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันรัฐบาลอิหร่าน แต่การคว่ำบาตรได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของชาวอิหร่านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา อิหร่านถูกคว่ำบาตรแล้ว 4 ครั้ง จากหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐกับพันธมิตร

สหรัฐเริ่มใช้มาตรการคว่ำบาตรครั้งแรก ค.ศ.1979 สมัยประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ กรณีนักศึกษากลุ่มหัวรุนแรงอิหร่านบุกสถานทูตสหรัฐประจำกรุงเตหะราน พร้อมจับเจ้าหน้าที่ทูตหลายสิบคนเป็นตัวประกัน

ครั้งที่ 2 ค.ศ.1987 ในยุคประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน สหรัฐอ้างว่า อิหร่านต่อต้านสหรัฐและเส้นทางการเดินเรือในอ่าวเปอร์เซีย รวมถึงสนับสนุนผู้ก่อการร้าย

ครั้งที่ 3 ค.ศ.2006 สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช กรณีอิหร่านไม่ยอมปฏิบัติตามมติ 1696 ของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น ซึ่งต้องการให้อิหร่านหยุดพัฒนาโครงการนิวเคลียร์

ครั้งที่ 4 ค.ศ.2018 ยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐต้องการให้อิหร่านเปลี่ยนนโยบายในภูมิภาครวมถึงให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธต่างๆ และพัฒนาขีปนาวุธวิถีโค้ง

ตามข่าวว่า หากจะมีการคว่ำบาตรครั้งใหม่ เป้าหมายจะอยู่ที่ทรัพย์สินของผู้คนที่อยู่รายล้อมผู้นำสูงสุดของอิหร่าน

โดยสหรัฐเลือกใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างเข้มข้นต่ออิหร่าน แทนที่จะใช้กำลังทหารตอบโต้

“พวกเขาทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ พวกเราก็ทำตามหน้าที่ของเราที่เราต้องทำเช่นกัน อย่างที่ทราบกันว่าสหรัฐมีค่าใช้จ่ายมหาศาลในอิรักมากกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมทั้งการสร้างข่าวและการโฆษณาชวนเชื่อมากมายเกี่ยวกับอิหร่าน แต่มาถึงตอนนี้ ผู้ที่อยู่ในอิรักคือ เรา ไม่ใช่สหรัฐ โดยเราไม่ได้ใช้เงินและไม่ได้ใช้การโฆษณาชวนเชื่อกับประเทศอื่น” ท่านทูตชี้แจง

“ศาสนาประจำชาติของเราคือ อิสลาม ดังนั้น เราไม่กดขี่ข่มเหงผู้คน เราไม่ไปครอบครองดินแดนของผู้อื่น แต่มีผู้คนจากที่อื่นมาหาเรา ทั้งจากซีเรีย อิรัก และเยเมน เมื่อใดที่มีการโฆษณาชวนเชื่อให้ร้ายอิหร่าน ก็ปรากฏในความจริงต่อมาว่า เป็นอีกอย่างหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐที่ห้ามผู้คนไปเที่ยวในอิหร่าน ทำให้รัฐบาลอิหร่านผ่อนคลายมาตรการ เพื่อให้ชาวต่างชาติเข้าไปท่องเที่ยวในอิหร่านได้ง่ายยิ่งขึ้น

“สภาพอากาศในอิหร่านไม่ได้ร้อนทั้งปี เพราะมี 4 ฤดูกาล นักท่องเที่ยวสามารถไปท่องเที่ยวได้ทุกฤดู ในเดือนมีนาคม-เมษายน เป็นฤดูใบไม้ผลิ และเทศกาลปีใหม่ นูรูซ (Nowruz) ของอิหร่านก็อยู่ในเดือนมีนาคม”

“ส่วนพฤษภาคม-กันยายน เป็นฤดูร้อน, ตุลาคม-พฤศจิกายน เป็นฤดูใบไม้ร่วง และธันวาคม-กุมภาพันธ์ เป็นฤดูหนาวที่หิมะตก อิหร่านจึงมีสกีรีสอร์ตชั้นนำหลายแห่ง ที่ใหญ่ที่สุดในอิหร่านคือ Dizin Ski Resort แถบเทือกเขาอัลบอร์ซ (Alborz) และ Tochan Ski Resort ในกรุงเตหะราน”

“ตอนนี้ เราคาดว่า อิหร่านเริ่มเป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวไทยที่สนใจเที่ยวแนวศิลปวัฒนธรรม เพราะระยะทางบินไม่ได้ไกลมาก ด้วยราคาที่ไม่สูงนักเช่นกัน โดยมีสายการบินมาฮาน (Mahan Air) ของอิหร่านบินตรงกรุงเทพฯ-เตหะราน 5 เที่ยวบินโดยเฉลี่ยต่อสัปดาห์”

ปัจจุบัน ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกของประเทศอิหร่านทั้งสิ้น 24 แหล่ง เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม 22 แหล่ง และมรดกโลกทางธรรมชาติอีก 2 แหล่ง อิหร่านมีนักท่องเที่ยวต่อปีราว 5 ล้านคน โดยตั้งใจที่จะผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของอิหร่านให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าจะต้องถึง 20 ล้านคนภายในปี ค.ศ.2025

 

“นอกเหนือจากความร่วมมือด้านวิชาการซึ่งต้องดำเนินการในระยะยาวแล้ว สิ่งที่น่าจะเห็นได้ต่อไปคือ ความร่วมมือทางด้านภาพยนตร์ เพราะภาพยนตร์อิหร่านได้รับการยอมรับในระดับโลก มีการวางแผนจะจัดเทศกาลภาพยนตร์ในทั้งสองประเทศ เพื่อนำภาพยนตร์มาแลกเปลี่ยนกันจัดฉาย แต่ช่วงนี้ต้องหยุดชะงักเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19”

แม้ไทยและอิหร่านจะมีความสัมพันธ์ระหว่างกันยาวนานมากว่า 400 ปี แต่เพิ่งมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ.1955 ซึ่งครบรอบ 65 ปีในปีนี้

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างกันก่อนหน้านี้ในหลายๆ เรื่องที่ค่อยๆ ลดระดับลงนั้น ตอนนี้ทั้งสองฝ่ายต่างหันมาสานสัมพันธ์กันใหม่ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

“เราพยายามที่จะขยายขอบเขตในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทยทุกด้านทั้งการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนระหว่างผู้นำทั้งสองฝ่าย”

“อิหร่านที่ทันสมัยวันนี้ ยังคงยึดถือประเพณีความเท่าเทียมทางการค้าสำคัญที่เชื่อมโยงกันในภูมิภาค เพราะอิหร่านเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดและเป็นประตูการค้าที่สำคัญของภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งมีประชากรมากกว่า 500 ล้านคนใน 15 ประเทศเพื่อนบ้าน”

ด้วยเหตุที่ทั้งไทยและอิหร่านต่างก็เป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยไทยสามารถเป็นความมั่นคงด้านอาหารและเป็นประตูสู่ตลาดกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) และอาเซียน (ASEAN) ซึ่งมีจำนวนประชากรกว่า 600 ล้านคน ให้กับอิหร่าน

ขณะที่อิหร่านสามารถเป็นความมั่นคงด้านพลังงานและเป็นประตูสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคเครือรัฐเอกราช (CIS) ซึ่งไม่มีทางออกทะเลที่มีประชากรกว่า 500 ล้านคน

“การสร้างความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อยู่บนพื้นฐานที่ประชาชนต้องมีความสัมพันธ์กันทางด้านวัฒนธรรม และทำความรู้จักกันให้มากขึ้น ในขณะที่ชาวอิหร่านรู้จักวัฒนธรรมไทยดีขึ้นแล้ว เพราะในแต่ละปี เดินทางมาไทยมากกว่า 110,000 คน แต่คนไทยยังรู้จักเกี่ยวกับอิหร่านน้อยกว่ามากเพราะจำนวนคนไทยที่เดินทางไปอิหร่านยังไม่มากนัก”

“ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เรามีแผนเชิญบริษัทท่องเที่ยวในอิหร่านมาที่นี่ เพื่อปรึกษาและพูดคุยกับหุ้นส่วนชาวไทยเพื่อพยายามหาลู่ทางขยายความร่วมมือด้านนี้ให้มากขึ้น”

ก่อนอำลา ท่านทูตซัยยิด เรซ่า โนบัคตี ฝากบอกว่า

“เพียงสองเดือนที่ผมมาประจำ ก็ได้พบแล้วว่า คนไทยมีจิตใจดี มีความอดทน ไม่ย่อท้อ ผมจึงรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสมาทำงานร่วมกับคนไทยที่นี่”

ประวัติ

มร. ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี

เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทย

เกิด : วันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ.1961 ที่เมืองคาชาน (Kashan) อิหร่าน

การศึกษา : ปริญญาโทสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิหม่าม ซาดิค (University of Imam Sadiq) อิหร่าน

สถานภาพ : สมรส บุตร-ธิดา 4 คน

ประสบการณ์ :

1990-1991: เจ้าหน้าที่ชำนาญงานด้านการเมือง กรมแอฟริกา

1991-1995 : อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตอิหร่าน ในกรุงลูซากา แซมเบียร์ และกรุงวอร์ซอ โปแลนด์

1995-1996 : อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตอิหร่าน กรุงวอร์ซอ โปแลนด์

1996-2000 : เจ้าหน้าที่ชำนาญงานด้านการเมือง กองยุโรปกลางและเหนือ

2000-2004 : ที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตอิหร่าน ในกรุงดามัสกัส และสตอกโฮล์ม

2004-2010 : รองผู้อำนวยการ กองสื่อมวลชนสำหรับประเทศอาหรับและแอฟริกา

2010-2014 : เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไอวอรีโคสต์

2014-2017 : ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส แผนกกิจการอาหรับและแอฟริกา

2017- 2020 : ผู้อำนวยการ กรมการกงสุล