เทศมองไทย : “บิลล์ เอลล์วูด ไฮเน็ค” กับ สถานการณ์ไทยในยุคโควิด

วิลเลียม “บิลล์” ไฮเน็ค เป็นคนอเมริกันแท้ๆ ตอนที่เดินทางเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองไทยเป็นครั้งแรกพร้อมครอบครัวเมื่ออายุเพียง 14 ปี

วันนี้ อายุ 70 ปี บิลล์ไม่เพียงกลายเป็นบุคคลสัญชาติไทยไปแล้วเท่านั้น ยังเป็นประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของไมเนอร์กรุ๊ป ที่มีกิจการในเครืออยู่มากกว่า 30 บริษัท

หลายบริษัทเหล่านั้นไม่เพียงเป็นที่รู้จักกันดีในเมืองไทยเท่านั้น ยังเป็นแบรนด์ดังระดับอินเตอร์อีกต่างหาก มีตั้งแต่ธุรกิจบริการ อย่างโรงแรมเครืออนันตรา, โฟร์ซีซั่นส์, แมริออท, แดรี่ควีน, ซิซเลอร์, เบอร์เกอร์คิง ไปจนถึงแบรนด์เสื้อผ้าสำเร็จรูป อย่าง เอสปรี, แกป, บอสซินี เป็นอาทิ

ผมพูดถึงคุณบิลล์ขึ้นมาเพราะกัลยาณมิตรที่ซีเอ็นบีซีส่งรายละเอียดคำให้สัมภาษณ์ของมหาเศรษฐีคนหนึ่งของไทยรายนี้มาให้

รายละเอียดความคิดความอ่านของบิลล์ ไฮเน็ค น่าสนใจในหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะในยามที่โควิด-19 กำลังคุกคามทุกธุรกิจอยู่ในเวลานี้

จนอดไม่ได้ต้องหยิบมาเล่าสู่กันฟัง

 

บิลล์ ไฮเน็ค ให้สัมภาษณ์คริสตีน ตัน เจ้าของรายการ “เมเนจจิ้ง เอเชีย” ในฐานะประธานของไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ไว้เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมานี่เอง เริ่มต้นด้วยการสะท้อนความคิดเห็นต่อวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ไว้ว่า เป็นวิกฤตที่ “ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เราเคยพบเห็นกันมา” บอกโดยพื้นๆ ก็คือทุกอย่างปิดตายไปทั้งหมด

“โรงแรมในเครือทั้งหมด ยกเว้นอนันตรา สยาม ต้องปิดดำเนินการ ภัตตาคารของเราก็ปิดหมด ยกเว้นที่บริการส่งถึงบ้าน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น”

คุณบิลล์บอกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจในเครือนั้น “ใหญ่โตมากชนิดที่จนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้” แต่ยืนยันว่า สิ่งที่สำคัญจริงๆ เป็นเรื่องของการฟื้นตัว “ถ้ามองจากขั้นตอนต่างๆ ไม่เพียงที่รัฐบาลไทยดำเนินการ แต่ที่ทุกๆ ประเทศรอบโลกดำเนินการ ก็น่าเชื่อได้ว่าการฟื้นตัวน่าจะเร็ว”

ก่อนที่จะย้ำว่า ที่ว่าเร็วนั้นหมายถึงตอนสิ้นปี ที่น่าจะได้เห็นการฟื้นตัว “บางส่วน” ไม่น่าจะเป็นในไตรมาส 2 หรือ 3

บิลล์ ไฮเน็ค ประเมินว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เราต้องเผชิญก็คือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือดีเพรสชั่น มากกว่าที่จะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วไป ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่า เศรษฐกิจจะเปิดดำเนินการได้อีกเมื่อใด ดังนั้น ถึงได้ออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ดำเนินการอย่างฉับไว

“ซึ่งรัฐบาลก็ทำ เหมือนๆ กับที่รัฐบาลประเทศอื่นๆ ก็ทำ ผมคิดว่าเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งยวดก็คือ เราต้องดำเนินการเปิดกิจกรรมใหม่อีกครั้งอย่างเป็นเหตุเป็นผลอีกด้วย”

 

ต่อด้วยความคิดเห็นที่ชวนคิดอย่างมากว่า

“ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือเราต้องไม่แตกตื่น เราต้องมุ่งโฟกัสไปที่ปัญหาในมือ เราต้องทำให้แน่ใจว่า เราปฏิบัติต่อวิกฤตครั้งนี้เสมือนหนึ่งเป็นประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้

“ทุกวิกฤตการณ์ทั้งหลายที่เราพบพานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นซาร์ส หรือเป็นสึนามิ เราถือว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้ เราจะเรียนรู้อะไรๆ ได้เยอะมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดขนานใหญ่ครั้งนี้ และเราจำเป็นต้องพร้อมในการรับมือกับวิกฤตครั้งต่อๆ ไป ซึ่งพูดไม่ได้ว่าจะไม่มีอีกแล้ว”

บทเรียนของบิลล์ ไฮเน็ค ทำให้เข้าใจได้ว่าในยามวิกฤตเช่นนี้ “เงินสด” ที่ถือพร้อมอยู่ในมือสำคัญที่สุด

ดังนั้น ไมเนอร์กรุ๊ปถึงได้เปิดเครดิตไลน์ไว้เสร็จสรรพ เพื่อให้มีเงินสดเพียงพอต่อการต่อกรกับวิกฤตในระยะยาว

“เราคาดไม่ถึงว่าจุดเริ่มของการเปิดเมืองไทยจะเกิดขึ้นเร็ว เหมือนอย่างในเดือนพฤษภาคมนี้ แล้วผมก็พอใจที่ได้เห็นการฟื้นฟูเกิดขึ้นในตลาดอื่นๆ ของเราแล้ว อย่างเช่น จีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ซึ่งน่าจะส่งผลในทางที่ดีอย่างมากและช่วยให้สถานการณ์ทั้งหมดดีขึ้นได้เร็วทีเดียว”

 

บิลล์ ไฮเน็ค ยอมรับว่าจำเป็นต้องพักงานพนักงานเป็นจำนวนมากในเครือ แต่ก็จะเตรียมแผนไว้ให้พร้อมในการดึงกลับมาทันทีที่เปิดกิจการได้อีกครั้ง และแสดงความเห็นด้วยกับมาตรการค่อยๆ ทยอยเปิดกิจการทางเศรษฐกิจ โดยหวังว่าตัวเลขการแพร่ระบาดจะไม่กลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง เพราะ

“นี่คือไวรัสที่มองไม่เห็นและจะคงอยู่กับเราเป็นเวลานาน แต่เราหยุดเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศไว้เพื่อรอให้มีวัคซีนหรือรอให้ไวรัสหมดไปไม่ได้ กว่าทุกอย่างจะดีขึ้นคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ผมคิดว่าทุกคนเริ่มตระหนักในเรื่องนี้กันแล้ว”

เมื่อถูกถามว่า คาดว่าจะใช้เวลากี่ปี การเดินทางท่องเที่ยวถึงจะกลับมาอย่างเต็มที่ ไฮเน็คตอบว่า

“ผมไม่คิดว่าจะเป็นปีๆ นะ ผมเชื่อว่าในราวกันยายน ตุลาคมนี้ เราก็จะเริ่มเห็นการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับการรับมือของแต่ละประเทศว่าเป็นอย่างไร และการเดินทางจะสามารถทำให้อยู่ในระดับปลอดภัยได้หรือไม่”

 

สําหรับคำบอกต่อผู้ทำหน้าที่เป็นพนักงานเป็นลูกจ้างทั้งหลาย ไม่เพียงแต่คนของไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เท่านั้น คุณไฮเน็คบอกว่า

“จงเชื่อมั่น คิดบวกเข้าไว้ เพราะเราจะฝ่าฟันผ่านพายุนี้ไปได้ เราจะกลับมาใหม่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม แต่ทั้งหมดต้องอดทน เราต้องก้าวไปอย่างช้าๆ เพราะเดิมพันคือสุขภาพ ไม่มีใครอยากตัดสินใจแล้วกลายเป็นปัญหาสาธารณสุข หรือความปลอดภัย หรืออาจทำให้ใครตายแน่นอน”

นี่แหละครับ วิลเลียม เอลล์วูด ไฮเน็ค คนไทยเชื้อสายสหรัฐอเมริกา!