วิเคราะห์ : วิวาทะ “แม่น้ำโขง” ลุกลามเป็นประเด็นนอกภูมิภาค

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ความเดิมกล่าวถึงผลการศึกษาว่าด้วยเขื่อนจีนและผลกระทบต่อลุ่มน้ำโขงตอนล่างของบริษัทอเมริกันซึ่งออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 เมษายน สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศนำผลการศึกษาชิ้นนี้ไปตีพิมพ์พร้อมกับพาดหัวข่าวว่าเขื่อนจีนควบคุมการปล่อยน้ำ เกิดผลกระทบกับแม่น้ำโขงตอนล่างที่ไหลผ่านไทย ลาว เขมรและเวียดนาม

จีนแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบผลการศึกษาของบริษัทอเมริกันอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อนผ่านเว็บไซต์ของสถานทูตจีนในไทย พร้อมกับปฏิเสธข้อกล่าวหาเขื่อนจีนกักเก็บน้ำและควบคุมการปล่อยน้ำ

ให้หลังไม่กี่วัน นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เขียนบทความในชื่อ รักษ์แม่โขง : สายโลหิตทางเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงทั้งภูมิภาค ตีพิมพ์ในสื่อไทย

และนำไปเผยแพร่ซ้ำในเว็บไซต์ของสถานทูตอเมริกัน

 

เนื้อหาในบทความของนายดีซอมบรี เปรียบให้เห็นบทบาทของลุ่มน้ำโขงที่มีต่อขนบธรรมเนียมประเพณีเฉกเช่นแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ ซึ่งนายดีซอมบรีเกิดและเติบโตใกล้แม่น้ำสายดังกล่าว

นายดีซอมบรีอ้างว่า ในภาษาของชนพื้นเมืองอเมริกันที่ตั้งชื่อแม่น้ำสายนี้ “มิสซิสซิปปี้” หมายถึง “บิดาแห่งสายน้ำ” ส่วนคำว่า “แม่น้ำ” ในภาษาไทย หมายถึง “มารดาแห่งสายน้ำ” สะท้อนถึงสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสหรัฐ

แม่น้ำโขงไม่ใช่สมบัติของประเทศใดประเทศหนึ่ง แม่น้ำโขงไหลผ่านจีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ทั้งยังนำมาซึ่งธาตุอาหารแหล่งดำรงชีวิต

ตะกอนในแม่น้ำโขงหล่อเลี้ยงปลาในท้องน้ำ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินริมฝั่งแม่น้ำ ฝูงปลาและผืนดินนั้นเองก็หล่อเลี้ยงผู้คนจำนวน 70 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในแถบลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

เมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่างประสบภัยแล้งเลวร้ายที่สุดในรอบทศวรรษ แม้ว่าภัยแล้งดังกล่าวอาจเกิดจากหลายปัจจัย แต่การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้แสดงให้เห็นว่า แม่น้ำโขงเผชิญกับการสร้างเขื่อนจำนวนมากที่ตอนบน ขัดขวางการไหลของกระแสน้ำมายังลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

นอกจากนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังถึงจุดต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ มาตรวัดน้ำในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย บันทึกระดับน้ำต่ำสุดเท่าที่เคยมีมาเอาไว้เมื่อปีที่แล้ว

ข้อมูลจากดาวเทียมบ่งชี้ว่าปริมาณน้ำบริเวณต้นน้ำในจีนมีอยู่เหลือเฟือ ทำให้เกิดข้อกังขาสำคัญๆ รวมทั้งคำถามที่ว่าเหตุใดจึงไม่มีน้ำในปริมาณที่มากกว่านี้ไหลมาจากจีน ขณะที่ประเทศในลุ่มน้ำโขงประสบกับความขาดแคลนอย่างมาก

บทความของเอกอัครราชทูตสหรัฐอ้างถึงความกังวลขององค์กรภาคประชาสังคมไทยที่มีต่อความพยายามของจีนในการสร้างเขื่อนและระเบิดแก่งแม่น้ำโขงระหว่างไทยและลาว

ขณะเดียวกันชื่นชมสนับสนุนรัฐบาลไทยที่สั่งให้หยุดแผนการระเบิดแก่งและขุดลอกแม่น้ำโขงบางส่วนที่ฝั่งชายแดนไทย

เนื้อหาบทความยังสะท้อนให้เห็นว่า แม่น้ำโขงมิใช่เป็นเพียงสายน้ำ หากยังเป็นเส้นทางสำคัญในการลักลอบค้าสัตว์ป่า ยาเสพติดและค้ามนุษย์ สหรัฐจึงจัดหาทุนสนับสนุนไทยปราบปรามการค้ายาเสพติดและการศึกษาผลกระทบของลุ่มน้ำโขง

โดยสรุปบทความของนายดีซอมบรีต้องการตอบโต้จีนที่กล่าวว่าสหรัฐเป็นประเทศนอกภูมิภาค ทำไมแส่ยุ่งกับเรื่องแม่น้ำโขง พร้อมกับเชิดชูไทยเป็นมิตรสหายที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากว่า 200 ปี

 

ลุ่มน้ำโขงจึงกลายเป็นอีกเวทีบ่งบอกถึงความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐ ลุกลามบานปลายนอกเหนือจากข้อพิพาททางเศรษฐกิจ การเมือง การทหารและการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ความขัดแย้งในศึกแม่น้ำโขงของสองมหาอำนาจโลกจะจบลงตรงไหนยังไม่รู้

รู้เพียงว่า ขณะนี้แม่น้ำโขงตอนล่างในช่วงหน้าแล้งเหือดแห้งอย่างหนัก และเมื่อถึงฤดูฝนน้ำเอ่อล้นทะลัก

ตามปกติ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะเพิ่มสูงสุดหรือลดลงต่ำสุดใช้เวลาระหว่าง 3-4 เดือน

แต่ปัจจุบันระดับน้ำกลับมีความผันผวนขึ้นๆ ลงๆ ทุก 2-3 วันตลอดทั้งปี และเป็นมาอย่างนี้หลายปีแล้ว

คุณเพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าวบีบีซีว่า ในบรรดา 11 เขื่อนของจีน เขื่อนจิงหงสำคัญสุด

เขื่อนจิงหงตั้งอยู่ในเมืองเชียงรุ้ง ดินแดนสิบสองปันนา เป็นเขื่อนตอนล่างสุดและใกล้ชายแดนไทยมากที่สุด ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน ราว 340 กิโลเมตร

“เขื่อนบนแม่น้ำโขงในจีนสามารถควบคุมระดับน้ำ ส่งผลกระทบให้ระดับในแม่น้ำโขงท้ายน้ำ บริเวณพรมแดนไทย-ลาว ผันผวนขึ้นลงตามการใช้งานของเขื่อนผลิตไฟฟ้าในจีน” คุณเพียรพรบอก

คุณเพียรพรยังโต้แย้งคำชี้แจงของสถานทูตจีนที่ระบุหลักการของจีนคือการเพิ่มปริมาณน้ำในฤดูแล้งและลดปริมาณน้ำในฤดูฝนว่า เป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ

“แม่น้ำโขงมีวงจรน้ำขึ้นน้ำลงตามฤดูกาล ในฤดูฝน น้ำจะขึ้นตามลำน้ำสาขาต่างๆ น้ำจะท่วมไปถึงที่ราบน้ำท่วมถึงป่าบุ่ง ป่าทามและพื้นที่ชุ่มน้ำ พวกตะกอนดินหรือน้ำฝนใหม่จะเป็นตัวส่งสัญญาณไปให้ปลาชนิดต่างๆ อพยพขึ้นมาตอนบนเพื่อวางไข่ ขยายพันธุ์ พอถึงปลายฝนก็ค่อยๆ ลดตามฤดูกาล น้ำในช่วงหน้าแล้งก็จะลดลงเป็นหาดทราย เกาะแก่ง นี่เป็นระบบนิเวศของแม่น้ำ วงจรเป็นแบบน้ำ” คุณเพียรพรอธิบาย

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงแห่งแรกในปี 2539 ตอนนี้สร้างเสร็จไปแล้ว 11 แห่ง 9 แห่งในจีน และ 2 แห่งในลาวที่ไซยะบุรีและดอนสะโฮง เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น-ลงผิดธรรมชาติ”

คุณเพียรพรอธิบายเพิ่มเติม

 

คําอธิบายของคุณเพียรพรสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ว่า ปัจจัยที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างมากเป็นประวัติการณ์ เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาน้อยกว่าปกติทั้งในจีน ลาว และไทย

ปัจจัยต่อมา ได้แก่ เขื่อนจิงหงลดระดับการระบายน้ำ ซึ่งทางการจีนได้แจ้งอย่างเป็นทางการมายังไทยว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงการระบายน้ำในช่วงวันที่ 9-18 กรกฎาคม 2562 เนื่องจากการดำเนินการบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ

ปัจจัยสุดท้ายที่กระทบแม่น้ำโขงในภาคอีสานโดยตรงคือ การทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรี

นักวิจัยในสิงคโปร์ศึกษาปรากฏการณ์ของลุ่มน้ำโขงแสดงความหวั่นวิตกว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนและห่วงโซ่อาหารของประเทศที่มีอาณาบริเวณติดกับแม่น้ำโขง

ระดับแม่น้ำโขงลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เกิดผลกระทบกับการส่งออกข้าวของเวียดนามอย่างหนักหน่วง

รัฐบาลเวียดนามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 5 จังหวัดบริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวใหญ่สุด มีผลผลิตข้าวมากกว่าครึ่งของผลผลิตทั้งประเทศ คาดการณ์กันว่าผลผลิตข้าวเวียดนามจะลดลงราว 3.3 เปอร์เซ็นต์

ส่วนการประมงในโตนเลสาบ ประเทศเขมรซึ่งเป็นทะเลสาบใหญ่สุดในอาเซียน คาดกันว่าปีนี้ชาวประมงจะจับปลาได้น้อยลงกว่าเดิมราว 1 แสนตัน จากเดิมเมื่อปีที่แล้วเคยจับได้ 360,000 ตัน

 

ฤดูแล้งผ่านไปแล้ว ต่อจากนี้ประเทศต่างๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขงทั้ง 4 ประเทศคงต้องจับตาดูว่า ในฤดูฝนที่กำลังจะมา ปริมาณฝนในพื้นที่เหนือลุ่มน้ำโขงตอนบนมีมากขนาดไหน เขื่อนจีนอุ้มน้ำไว้หรือเอาไม่อยู่จนต้องระบายน้ำทิ้งลงใต้เขื่อนทำให้เกิดน้ำท่วมล้นทะลักหรือไม่

ถ้าน้ำเอ่อล้นในปริมาณมากจนผิดธรรมชาติที่เคยเป็น บรรดากลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงคงต้องเชิญ “จีน” ในฐานะผู้คุมเขื่อนเหนือลำน้ำโขงมาคุยหาทางออก ไม่ให้เกิดวิกฤติ “แล้งท่วม” ซ้ำซาก