จิตต์สุภา ฉิน : ฝึกรับมือ การล่วงละเมิดทางเพศผ่าน VR

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

อ่านข่าวครูข่มขืนนักเรียนในคดีล่าสุดแล้วก็เกิดความรู้สึกที่ทั้งสลดใจ ทั้งขยะแขยงไปพร้อมๆ กัน

สลดใจที่เราไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยในยามที่นักเรียนอยู่ในเขตรั้วของสถาบันการศึกษาได้

ขยะแขยงพฤติกรรมของกลุ่มผู้ก่อเหตุ

ขยะแขยงการให้ความเห็นของเพื่อนผู้ก่อเหตุที่ช่วยกันสรรเสริญเยินยอว่าผู้ก่อเหตุแต่ละคนล้วนเป็นคนดี รักครอบครัว เรียบร้อย

ขยะแขยงคำพูดของบางคนที่บอกว่าน้องผู้หญิงขายตัว

สุดท้ายก็คือขยะแขยงสื่อบางสำนักของไทยที่ฉวยโอกาสนี้ในการนำเสนอแบบเน้นดราม่าเพื่อเรียกเรตติ้ง

และต้องประณามสถานีโทรทัศน์ช่องที่ทำแอนิเมชั่นแจกแจงฉากเด็กสาวถูกข่มขืนทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต้องทำเลย

น่าละอายนะคะ

การล่วงละเมิดทางเพศเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเพศหรือวัยไหน

นึกย้อนกลับไปตอนที่ยังอายุน้อยกว่านี้ก็รู้สึกว่าตัวเองตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ของการถูกล่วงละเมิดมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แม้ว่าจะเป็นในระดับที่อยู่เพียงแค่คำพูด ยังไม่ถึงขั้นการกระทำ

แต่น่าเสียดายก็ตรงที่ ในตอนที่เราเด็กกว่านี้ เราแทบไม่รู้เลยว่านั่นคือการล่วงละเมิด

และคนคนนั้นไม่มีสิทธิจะพูดแบบนี้กับเราเลย

ไม่ว่าจะเป็นการเป่าปากวี้ดวิ้วตอนเดินผ่าน การแซวแบบถึงพริกถึงขิง หรือคำที่ติดปากผู้ชายไทยเวลาแซวผู้หญิง อย่างการพูดว่า “น่าปล้ำจัง” หรือ “แต่งตัวแบบนี้เดี๋ยวก็ปล้ำเสียหรอก” ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้หญิงเจอมากับตัวบ้างไม่มากก็น้อย

แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์จริง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเรามักจะตัวแข็ง ไม่รู้ว่าต้องตอบโต้อย่างไร ต้องแสดงออกแบบไหน

ยิ่งเป็นคนที่ไม่สู้คน ทำได้อย่างมากก็อาจจะแค่ยิ้มแหยๆ หรือแสร้งหัวเราะตามไปด้วย

ทั้งหมดนี้ก็เพราะเราไม่เคยรู้เลยว่านี่คือสิทธิเหนือร่างกายเราที่คนอื่นไม่อาจจะล่วงล้ำเข้ามาได้ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือการสัมผัสก็ตาม

 

วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับเหตุการณ์แบบนี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็คือการต้องฝึกซ้อมเตรียมไว้ก่อน

คล้ายๆ กับการฝึกซ้อมกีฬาก่อนลงสนามแข่งจริง

หรือเหมือนกับตอนที่ฉันไปลงคอร์สขับรถอย่างปลอดภัยที่ครูผู้ฝึกต้องให้เราขับหลายๆ แบบ อย่างการขับมาด้วยความเร็วแล้วกระทืบเบรกกะทันหัน การหักพวงมาลัยเพื่อหลบอย่างถูกวิธี หรือขับสลาลมเพื่อให้ชินกับการบังคับรถ

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่หากวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นจริงๆ สมองและร่างกายของฉันจะมีความคุ้นเคยว่าเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วและรับมือได้ทันด้วยวิธีที่ถูกต้อง

แนวคิดนี้ทำให้เกิดโปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า Girl, Talk

โดยเป็นโปรเจ็กต์ของผู้หญิง 4 คน จากมหาวิทยาลัย Nanyang Technological University ที่ทำขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้หญิงได้ตระเตรียมความพร้อมในกรณีที่เหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นกับตัวเองจริงๆ

โดยใช้เทคโนโลยี Virutal Reality หรือความจริงเสมือนมาจำลองสถานการณ์ให้เหมือนกับสิ่งนั้นเกิดขึ้นจริงๆ และค่อยๆ เรียนรู้วิธีการโต้ตอบไปทีละขั้นๆ

เมื่อสวมแว่นตาแสดงภาพเสมือนจริงเข้าไป สิ่งที่ผู้หญิงจะทดลองฝึกคือการจำลองสถานการณ์ของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยเป็นสถานการณ์ที่ผู้ก่อตั้งโครงการนำข้อมูลมาจากการสัมภาษณ์เหยื่อในคดีล่วงละเมิด ทำให้ได้รู้คำ ประโยค บทสนทนาที่เกิดขึ้น เรื่องราวเบื้องหลังของแต่ละคดี แล้วนำมาจำลองเป็นสถานการณ์ 5 แบบ

โดยได้ขอให้เพื่อนผู้ชายมาช่วยเป็นนักแสดงในแต่ละสถานการณ์

 

เหตุการณ์ที่จำลองมาก็อย่างเช่น ผู้ชายพูดทักทายว่า “ว้าว เสื้อเชิ้ตของเธอซีทรูมากเลยนะ วันนี้ใส่ชุดชั้นในสีที่เข้ากันมาด้วยเปล่าเนี่ย”

เมื่อพูดจบ ขวามือก็จะมีโจทย์โผล่ขึ้นมาว่า “คุณจะตอบว่าอย่างไร” พร้อมตัวเลือกคือ 1. เอ่อ เหรอ? ฮ่าฮ่า 2. ไม่ใช่ธุระกงการอะไรของเธอ 3. พูดแบบนี้ไม่เหมาะสมเลยนะ หรือ 4. “ใช่” และคุยต่อตามปกติ

เมื่อเลือกคำตอบแล้ว ตัวแสดงเพศชายก็จะมีปฏิกิริยาตอบกลับด้วยเช่นกัน

อย่างเช่น ตอบว่า “เฮ้ย ผมขอโทษ สิ่งที่ผมพูดออกไปมันไม่เหมาะสมจริงๆ ด้วย”

และหากมองไปทางซ้ายมือก็จะพบข้อความที่แนะนำว่า หากสถานการณ์ยังดำเนินต่อไปและคุณรู้สึกไม่ปลอดภัย ให้เล่าให้เพื่อนที่ไว้ใจหรือบุคลากรในโรงเรียนได้รู้

เพื่อที่จะได้ลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยดูแลความปลอดภัยให้คุณ

สถานการณ์อื่นๆ ก็อย่างเช่น ผู้ชายหันมาพูดว่า “ทำไมวันนี้ใส่กางเกงคับจัง ชอบกางเกงคับๆ เหรอ เห็นแล้วอยากบีบก้นเลยแฮะ” เป็นต้น

ดูผิวเผิน การฝึกด้วย VR แบบนี้ก็เหมือนจะไม่ได้ช่วยอะไร แต่อันที่จริงแล้วการผ่านการฝึก กับไม่ผ่านการฝึก ผลลัพธ์ค่อนข้างแตกต่างกันมากเลยทีเดียว

ถ้าหากไม่เคยผ่านการจำลองสถานการณ์มาก่อนและมีคนมาพูดแบบนี้ มีแนวโน้มสูงมากที่ผู้หญิงไม่รู้จะรับมืออย่างไรนอกจากจะหัวเราะกลบเกลื่อนและทำเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ก็จะยิ่งทำให้ผู้พูดไม่ได้เรียนรู้ว่าคำพูดของตัวเองละลาบละล้วงและอาจจะทำมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การล่วงละเมิดที่รุนแรงกว่านั้น

บางคนที่อาจจะเคยคิดเอาไว้ในหัวว่า ถ้ามีใครมาพูดอะไรแบบนี้ก็จะเผชิญหน้ากลับไปตรงๆ แต่เมื่อถึงเวลาจริงกลับคิดอะไรไม่ออกเลยก็ได้

 

โปรเจ็กต์นี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานของจิตแพทย์ในสหรัฐที่ได้พัฒนาโปรแกรม VR ขึ้นมาเพื่อรับมือกับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศหลังจากที่พบว่าผู้หญิงมีอารมณ์ร่วมกับการจำลองสถานการณ์แบบ VR หรือเสมือนจริง มากกว่าการเล่นบทบาทสมมุติที่ทำกันมาโดยตลอด

อันนี้เข้าใจได้มากๆ ฉันว่าคนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยอินกับการเล่นบทบาทสมมุติไม่ว่าจะเป็นการจำลองสถานการณ์อะไรก็ตาม

ความสมจริงมันห่างไกลกับการใช้ VR มากนัก

เมื่อเคยผ่านการจำลองสถานการณ์มาแล้ว ผู้หญิงเหล่านี้จะมีความพร้อมทางอารมณ์มากขึ้น และจะรู้ว่าขั้นตอนต่อไปที่จะต้องทำคืออะไร

อย่างเช่น การเล่าให้เพื่อนฟัง หรือการขอความช่วยเหลือจากคนที่เหมาะสม เราจะรู้และแยกแยะได้มากขึ้นว่าสิ่งที่คนรอบตัวเราพูดกับเรานั้นแบบไหนเหมาะสม แบบไหนไม่เหมาะสม และควรจะตอบกลับอย่างไรให้ผู้พูดได้เข้าใจในความไม่เหมาะสมนั้นๆ

อันที่จริงไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่จะได้รับประโยชน์จากการฝึกผ่าน VR แบบนี้ หากผู้ชายได้มาลองอยู่ในสถานการณ์จำลองบ้าง ก็อาจจะได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองเคยพูดออกจากปากไปโดยที่ในใจคิดว่าเป็นการแซวเล่นสนุกๆ นั้น แท้ที่จริงแล้วถือว่าเข้าข่ายการละเมิดทางเพศ

โปรเจ็กต์นี้สามารถช่วยปรับทัศนคติใหม่และทำให้พวกเขาระมัดระวังการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวมากกว่าเดิมต่อไปในอนาคต ซึ่งกลุ่มคนที่น่าจะได้ประโยชน์จากการซ้อมเสมือนจริงแบบนี้ก็น่าจะเริ่มต้นตั้งแต่ในสถานศึกษาเลย

หวังว่าต่อไปก็จะมีการปรับปรุงและพัฒนาสถานการณ์จำลองต่างๆ ให้หลากหลายมากขึ้น เพิ่มระดับความรุนแรงไปเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้สวมใส่ได้ฝึกฝนเตรียมความพร้อมไว้ในทุกระดับให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

และหวังที่สุดก็คือหวังให้นี่เป็นสิ่งที่นักเรียนนักศึกษาในไทยเข้าถึงได้ง่ายๆ และได้ใช้งานโดยเท่าเทียมกัน