ปริศนาโบราณคดี | 18 พฤษภา วันพิพิธภัณฑ์สากล 19 พฤษภา วันฆ่าคนที่ราชประสงค์

เพ็ญสุภา สุขคตะ

สภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างประเทศ หรือ ICOM (International Council of Museums) กำหนดให้วันที่ 18 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวัน “พิพิธภัณฑ์สากล” มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1977 (พ.ศ.2520) เพื่อให้ความสำคัญกับสถานที่เก็บรวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สืบทอดจากบรรพบุรุษสู่คนรุ่นปัจจุบันของแต่ละประเทศ

18 พฤษภาคม พิพิธภัณฑ์ส่วนมากจึงเปิดให้คนเข้าชมฟรี หลายแห่งจัดกิจกรรมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนเสวนา

จำได้ดีว่าเมื่อสองปีก่อนหน้าที่ดิฉันจะเออรี่รีไทร์ ยังทำงานอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ได้เตรียมแผนจัดกิจกรรมสัมมนาด้านโบราณคดีในวันพิพิธภัณฑ์สากล มีผู้สนใจลงทะเบียนมากกว่า 250 คน แต่แล้วจู่ๆ เช้าวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 รัฐบาลฆาตกร อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ออกคำสั่งในนาม “ศอฉ.” ห้ามไม่ให้ประชาชนไม่ว่าภาครัฐ เอกชน หรือชาวบ้าน ทำการชุมนุมใดๆ ทั้งสิ้นเกินกว่า 5 คน นับแต่วันนั้นเป็นต้นไปโดยไม่มีกำหนด

ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานที่ทำหน้าที่บริการสังคมด้านวิชาการวัฒนธรรม กิจกรรมวันพิพิธภัณฑ์สากลของดิฉันจึงถูกเลื่อนออกไปอย่างไร้กาลเวลา ความไม่พอใจรัฐบาลไม่ได้หนุนเนื่องมาจากการถูกเลื่อนวันจัดกิจกรรม

ทว่า เกิดจากการที่รัฐบาลทำการ “กระชับพื้นที่” สังหารคนที่เข้าชุมนุมอย่างเลือดเย็น ขณะที่พวกเขาเรียกร้องประชาธิปไตย ณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ในวันที่ 19 พฤษภาคม

ซึ่งชาวพิพิธภัณฑ์ได้เคยถูกภาครัฐบังคับให้ยกเลิกหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมทำนองนี้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 อันตรงกับวันพิพิธภัณฑ์ไทย

เป็นวันที่คณะ คมช. ได้กระทำรัฐประหารลบล้างประชาธิปไตยด้วยฝุ่นใต้ฝ่าเท้าของมหาอำมาตย์

สรุปแล้วไม่ว่าวันพิพิธภัณฑ์ไทยหรือพิพิธภัณฑ์สากล คนพิพิธภัณฑ์ต่างก็เคยถูกบังคับให้ระงับการจัดประชุมสัมมนาที่มีคนเข้าร่วมเกินกว่า 5 คนมาแล้วทั้งสองหน

เวรกรรมแท้ๆ งบประมาณหลายหมื่นบาท ใจคอจะให้เชิญคนมาร่วมงานเพียงแค่ 4 คน!

ความสะเทือนใจซ้ำซาก ช่วยกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจยื่นใบลาออกจากระบบราชการก่อนกำหนด อย่างแน่นหนักโดยไม่มีทางเลือกอื่น

ลาแล้ว ขอลาออกจากความเป็น “ข้า-ราช-การ” เพื่อมายืนอยู่อย่าง “ข้า-ราษฎร” เต็มขั้น!

และถือเป็นการโบกมืออำลา บทบาทของแม่งานที่จัดกิจกรรมวันพิพิธภัณฑ์สากล-วันพิพิธภัณฑ์ไทยเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต ท่ามกลางการถูกจ้องจับผิดอย่างทุลักทุเล

ยังมิทันครบรอบสองปีเต็มแห่งการ “กระชับพื้นที่” 19 พฤษภาคม ข่าวความตายของ “อากง” ก็เดินทางมาถึงก่อนกาล

18 พฤษภาคม ประเทศเครือข่ายสมาชิก ICOM ทั่วโลก ป่านนี้คงเตรียมแผนจัดกิจกรรมวันพิพิธภัณฑ์สากลกันอย่างไม่รู้หนาวรู้ร้อนตามปฏิทินรอบปี

แต่… พิพิธภัณฑ์จะมีความหมายอันใด หอจดหมายเหตุ หอสมุด จะมีคุณค่าอะไรหรือ หากไม่มีการบันทึกความจริงทางประวัติศาสตร์

ในทางสากล พิพิธภัณฑ์คือสถานที่ที่ให้คนไปเสาะค้นหลักฐาน “ข้อเท็จ-จริง” ไม่ว่ามันจะเป็นความจริงอันขมขื่น ชวนสลดหดหู่ ยิ่งใหญ่ หรือเล็กกระจ้อยร่อยก็ตาม หากมันเกี่ยวข้องกับความเป็นหรือตายของผู้คน

แต่หอสมุด หอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทย กลับกลายเป็นสถานที่ที่เก็บรวบรวมแต่ “ข้อจริง (เท็จ)” ของสถาบันชั้นสูงที่ถูกสร้างขึ้นจากนโยบายชาติ กำหนดให้สถานที่เหล่านั้นเลือกสรรที่จะเก็บรักษาบางเรื่องราวที่เป็นบวก และจงใจที่จะทำลายหลายเหตุการณ์ที่อาจสร้างความมัวหมองให้แก่ราชวงศ์หรือบุคคล (ที่คิดว่า) สำคัญ

เราจึงจมปลักอยู่กับการสั่งสมซากโบราณวัตถุจอมปลอมของสถาบันหลัก มากกว่าที่จะสร้างความกระจ่างให้คนเข้าใจรากเหง้า ความเคลื่อนไหว และความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ ตามที่มันเกิดขึ้นจริง

ในฐานะคนที่เคยเป็น “ภัณฑารักษ์” มาหนึ่งทศวรรษเต็ม (2543-2553) แน่นอนว่าชั่วชีวิตนี้ย่อมไม่ลืมวันที่ 19 กันยายน และ 18 พฤษภาคม ไปได้ง่ายๆ

แต่วันที่ 18+1 ในปีสุดท้ายของชีวิตราชการนั้นเล่า จักไม่ยิ่งฝังแน่นอยู่ในความทรงจำชั่วนิรันดร์ยิ่งกว่าวันที่ 18 พฤษภาคม วันพิพิธภัณฑ์สากลดอกล่ะหรือ

เพราะมันคือวันที่ศักดิ์ศรีและเสรีภาพของความเป็นคนนับแสนนับล้านถูกทำลายลงอย่างสะบั้น เป็นวันที่มีการสังหารโหดประชาชนบนท้องถนนด้วยคำสั่งของ “มือที่มองไม่เห็น” เกือบ 100 ศพ เป็นวันที่วีรชนถูกสาดโคลนว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย”

เนื้อหา เรื่องราว ใบหน้าคนตาย ของผู้อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับอำนาจนิยม จักไม่มีวันถูกบันทึกไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติใดๆ ในประเทศนี้อย่างแน่นอน

อาจไม่มีแม้แต่อนุสาวรีย์เล็กๆ ให้รำลึกถึงด้วยซ้ำ

ทั้งๆ ที่ทศวรรษที่ผ่านมา ถือว่าเกิดปรากฏการณ์ใหม่ในวงการพิพิธภัณฑ์ หลายแห่งปรับปรุงรูปโฉมให้ดูทันสมัยไม่คร่ำครึ พิพิธภัณฑ์ไม่น้อยเลยที่รื้อสคริปต์บทเดิมๆ ประเภทกว้าง ยาว สูง ทำด้วยหินดินทรายทิ้งไป แล้วเพิ่มเติมมิติชีวิตที่มีเลือดเนื้อทดแทน ภาพรวมของพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศกำลังค่อยๆ ดูดีน่าเข้าชม ห่างไกลจากสภาพของ “ปู่โสม-ย่าโสมเฝ้าทรัพย์”

เกิดกระแสการสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นอย่างคึกคักชนิดไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา นับแต่พิพิธภัณฑ์ปูมเมืองหรือ City Museum พิพิธภัณฑ์วัด พิพิธภัณฑ์ชุมชนของเทศบาล พิพิธภัณฑ์หอศิลป์ร่วมสมัย พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ พิพิธภัณฑ์ผ้าทอ พิพิธภัณฑ์ตามธนาคาร โรงเรียน มหาวิทยาลัยต่างๆ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานสงครามโลก รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งเกจิอาจารย์ชื่อดัง ก็เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดในยุคสมัยของเรา

ในขณะที่ด้านหนึ่งนั้นความหลากหลายรุ่มรวย “ประเภทของพิพิธภัณฑ์” ได้ก้าวข้ามพ้น “ตัวโบราณวัตถุ” ไปไกลลิบ ส่วนหนึ่งเกิดมาจากเสียงเรียกร้องของชุมชน แน่นอนว่าอีกส่วนหนึ่งยังคงเป็นเรื่องของค่านิยมที่เชื่อว่าการสร้างพิพิธภัณฑ์นั้นจะช่วยยกระดับสังคมให้ดูดีมีรสนิยมวิไล ทำให้ประเทศของเรามีพิพิธภัณฑ์ทางเลือกมากขึ้น

แต่จะมีสักแห่งไหม ที่พิพิธภัณฑ์เหล่านั้นจักกล้านำเสนอ “ความจริงอันเร้นลับ” “ประวัติศาสตร์ที่ถูกปกปิด” หรือที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์นอกกระแส” มากกว่าการสร้างพิพิธภัณฑ์ไปตามขนบจารีต เน้นประวัติศาสตร์ของชนชั้นปกครอง การยกยอเฉลิมพระเกียรติ

จะมีภัณฑารักษ์คนใดไหมกล้าเปิดเปลือย “ข้อจริง-เท็จ” สู่ “ข้อเท็จ-จริง” อย่างล่อนจ้อน

โดยกล้าฝ่าด่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ “ระดับชาติ” ที่คอยจ้องจะรื้อสคริปต์ที่ตรงไปตรงมานั้นทิ้ง ภายใต้คำพูดที่ฟังดูดีว่า “อย่านำเสนอสิ่งที่ทำให้บ้านเมืองเกิดความแตกแยก” “เราต้องสมานฉันท์ ปรองดองกันเข้าไว้” “อะไรที่ทำให้เกิดการยั่วยุต้องลบทิ้ง”

แต่ก็แปลกเหมือนกันที่คำพูดเหล่านี้ไม่เคยถูกนำไปใช้กับ คำใส่ร้ายหรือบทเพลง บทกวีที่เร่งเร้าให้เกิดความเกลียดชังผู้เข้าชุมนุม 19 พฤษภาคม ของอีกฝ่ายหนึ่งที่รวมหัวกันพิมพ์บทกวีชื่อ “เพลิงพฤษภา”

พิพิธภัณฑ์ ศิลปะ วรรณกรรม จึงกลายเป็นเครื่องมือรับใช้เผด็จการฝ่ายเดียว ทำหน้าที่ปกป้องฆาตกรอำมหิตให้พ้นจากความผิด โดยเหวี่ยงขว้างเสียงเพรียกของประชาชนให้ออกไปยืนไกลๆ นอกเขตรั้วสถานที่ราชการอันทรงเกียรติ

…ต่อไป พื้นที่เสมือนในสังคมออนไลน์ จะกลับกลายเป็น พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต หรือ Living Museum ที่จักช่วยปลุกความทรงจำผู้คนไม่ให้ลืมเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม, 10 เมษายน หรือ 6 ตุลาคม 2519

และคนเล็กๆ ที่ถูกบีฑากุมเหงด้วยอำนาจอธรรมคนเหล่านี้จักกลายเป็นโบราณวัตถุหรือปูชนียบุคคลที่ลูกหลานภายหน้าต้องต่อแถวกันยาวเหยียดเข้าไปรำลึกศึกษาในพิพิธภัณฑ์