จัตวา กลิ่นสุนทร : การเมือง / อำนาจ / ผลประโยชน์ ไม่ (เคย) เปลี่ยนแปลง?

การเมืองเริ่มเคลื่อนไหวแบ่งขั้ว แบ่งข้าง หาทางเปลี่ยนแปลงอำนาจ หรือเปลี่ยนเสิร์ฟบ้าง กลุ่มที่มีเก้าอี้รองรับอยู่แล้วย่อมต้องยื้อเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

ซีกที่มีเสียงสนับสนุนน้อยกว่าจึงต้องเร่งระดมสรรพกำลัง จับมือกับหัวหน้ากลุ่มก๊วนที่มี ส.ส.อยู่ในมือเพื่อโต้กลับพร้อมคิดประดิษฐ์คำเท่ๆ ซื้อเวลาหาแนวร่วมว่า “เวลานี้ยังไม่ควรเล่นการเมือง”

โดยเอาวิกฤตของชาติเรื่องไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ระบาด ขึ้นมาเป็นเกราะกำบัง

ย้อนคิดถึงการเมืองในหลายทศวรรษที่ผ่าน ดูเหมือนจะไม่มีอะไรแตกต่าง พรรคการเมืองล้วนต้องการเป็นรัฐบาล เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ใครๆ ก็ต้องการมีตำแหน่ง

โดยเฉพาะกับตำแหน่ง “รัฐมนตรี”

 

รัฐบาลผสม 12 พรรคซึ่งเรียกกันว่า รัฐบาล “สหพรรค” แต่มีสื่อหนังสือพิมพ์แอบเรียกว่ารัฐบาล “ร้อยพ่อพันแม่” โดยท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (ถึงแก่อสัญกรรม) หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาเพียง 18 เสียงแต่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และท่านได้รับการเลือกเป็น “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 13)

รัฐบาลสหพรรคบริหารประเทศอยู่เพียง 9 เดือนเศษ จึงได้ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน โดยนายกรัฐมนตรีได้แถลงว่า เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสมด้วยพรรคการเมืองจำนวนมาก จึงทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ มีการแสวงหาผลประโยชน์และการแย่งชิงตำแหน่งกันตลอดเวลา ไม่ต้องการให้ขาดเสถียรภาพในหมู่คนไทยจนกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ—

นอกจากเป็นการแย่งชิงตำแหน่งกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ในแต่ละพรรคก็แย่งชิงกันเอง “แรกทีเดียวมาวิ่งขอตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ เมื่อไม่มีโควต้ายังขอลดลงมาเป็นรัฐมนตรีช่วยก็ได้ บางท่านไม่ได้กระทรวงเกรดเอ ก็น้อยใจขอเปลี่ยนใหม่” ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีย้อนรำลึกถึงเวลาที่ผ่านเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ให้ฟังบ่อยๆ

เมื่อทุกตำแหน่งเต็มหมดยังไม่ลดละพยายาม ขอตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีก็ได้ อาจารย์คึกฤทธิ์เล่าต่อไปอีกว่า “บางคนพยายามมาขอพบที่บ้านทุกวัน เอาของฝากหลายสิ่งหลายอย่างมาให้ กระทั่งแกงของชาวเหนือที่เรียกแกงฮังเล เพราะท่านเป็นผู้แทนจังหวัดภาคเหนือ อ้อนวอนขอตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงไหนก็ได้ทั้งนั้น เพื่อจะได้เป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลสักครั้งหนึ่ง เสร็จแล้วจะปลดออกจะไม่ว่าอะไร”

ปลายๆ อายุรัฐบาล ท่านทวิช กลิ่นประทุม (เสียชีวิต) หัวหน้าพรรคธรรมสังคม ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงถึง 45 เสียง พยายามเรียกร้องตำแหน่ง “รองนายกรัฐมนตรี” ตามแรงผลักดันนายทหารใหญ่ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้การสนับสนุน

หัวหน้ารัฐบาลซึ่งพอจะประเมินความรู้ความสามารถได้ว่าเหมาะสมหรือไม่ แต่ก็ไม่อาจทัดทานจึงจำต้องเสนอชื่อขึ้นไปจนได้รับการโปรดเกล้าฯ ก่อนจะมาปลดออกจากตำแหน่งในเดือนเดียวกัน อาจารย์คึกฤทธิ์เล่าให้ฟังว่า เขาขอเพื่อเป็นเกียรติยศต่อวงศ์ตระกูล

หลังจากนั้นอีกไม่นาน รัฐบาลสหพรรคจึงได้ยุบสภาให้ประชาชนเลือกตั้งกันใหม่ เพื่อรักษาประชาธิปไตยเอาไว้

 

ประวัติศาสตร์การเมืองไทย นายทหารจากกองทัพยกกำลังแบกปืนเดินเข้ามาฉีก “รัฐธรรมนูญ” (ดีไม่ดีต้องยกเลิกไป) ก่อนจะจัดทำขึ้นใหม่เพื่อจะสืบทอดอำนาจ แต่เท่าที่ติดตามดูล้วนแล้วไม่ประสบความสำเร็จก่อนลงจากเวทีโดยเหลือทิ้งไว้แต่ความบอบช้ำ ประชาชนของประเทศยังยากจน ลืมตาอ้าปากไม่ได้สักที ต้องออกมาถามหาประชาธิปไตย เรียกร้องรัฐธรรมนูญกันใหม่

นายทหารที่เข้าสู่อำนาจโดยการ “ปฏิวัติรัฐประหาร” สุดท้ายไม่เคยเห็นประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศ แก้ปัญหาต่างๆ คืนความสุขสมบูรณ์ประชาชน ส่วนมากจะหาทางลงปิดฉากตัวเองแบบไม่ค่อยจะราบรื่นสวยงาม

มีเพียง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (ถึงแก่อสัญกรรม) อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งดูเหมือนจะได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายรวมทั้งกองทัพ กระทั่งอยู่ในตำแหน่งได้ถึง 8 ปีเศษ บริหารบ้านเมืองสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจได้เข้ารูปเข้ารอยพอสมควร เพราะความซื่อสัตย์สุจริต สุขุมรอบคอบ พร้อมทีมงานที่มีความสามารถ จึงอยู่ในตำแหน่งนานกว่านายทหารท่านอื่นๆ

แต่ยังไม่สามารถสร้างความพอใจให้กับกลุ่มนายทหารหนุ่ม (ยังเติร์ก) จึงเข็นรถถังขนทหารออกมา “ปฏิวัติ” แต่ไม่สำเร็จทั้งๆ ที่มีกำลังจำนวนมากให้การสนับสนุน

แต่ พล.อ.เปรมท่านหลีกหลบเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎรได้หลายครั้งหลายหน จากการร่วมมือร่วมใจของทีมนายทหารคนสนิทฝ่ายทหารเสนาธิการของท่านดำเนินการเดินงานวางแผน

แต่จริงๆ แล้วหนีไม่พ้นกลุ่มทุนของประเทศที่ให้การสนับสนุนปัจจัยสำหรับดำเนินการรักษารัฐบาลเอาไว้ เพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรีลาออก

 

ประเทศไทยไม่เคยมีประชาธิปไตยเต็มใบ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งล้มลุกคลุกคลานตลอดเวลา ส่วนมากจะสลับด้วยทหารนำกำลังออกมาทำการรัฐประหารสลับกันไปตลอดทาง ไม่มีรัฐบาลยุคสมัยใดที่อยู่บริหารประเทศได้จนครบเทอม (4 ปี)

มีช่วงเวลาหลัง “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516” ที่เรียกว่าประชาธิปไตยเบ่งบาน แต่ก็เพียงชั่วประเดี๋ยวเดียว เรียกว่าไม่ทันกะพริบตา เผด็จการก็คืนกลับมาพร้อมเกิดการเข่นฆ่านิสิต นักศึกษาอย่างโหดร้ายทารุณในปี พ.ศ.2519 ของเดือนตุลาคมเช่นเดียวกัน

บ้านเรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (หัวหน้าพรรคชาติไทย-ถึงแก่อสัญกรรม) เป็นนายกรัฐมนตรี (คนที่ 17 ในปี พ.ศ.2531 แต่เกิดการคอร์รัปชั่น เกิดการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล จนกระทั่งเรียกกันว่าเป็นรัฐบาล “บุฟเฟ่ต์คาบิเน็ต” ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) รัฐประหารในปี พ.ศ.2534

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ก่อตั้งพรรค “สามัคคีธรรม” เพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยใช้ทั้งอิทธิพลอำนาจเงินกวาดต้อนเอานักการเมืองจากพรรคต่างๆ มารวมอยู่ด้วยกัน แต่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันได้ว่าเม็ดเงินลงทุนมาจากกลุ่มทุนไหน?

สุดท้ายไปไม่รอดจบลงด้วยเวลาอันรวดเร็วพร้อมการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ที่เรียกว่า “พฤษภาทมิฬ”

 

หลังการปฏิรูปการเมืองในปี พ.ศ.2539-2540 มีการเลือกตั้ง “สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ” (สสร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญ จนเสร็จเรียบร้อยประกาศใช้ปี พ.ศ.2540

ดร.ทักษิณ ชินวัตร ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งในปี พ.ศ.2544 ได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมาก จึงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศชาติได้ครบเทอมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ (พ.ศ.2544-2548)

ทหารทำรัฐประหาร “ยึดอำนาจ” ในเดือนกันยายน ปี พ.ศ.2549 ทักษิณได้เดินทางกลับมาจูบแผ่นดินไทยได้ครั้งหนึ่ง ก่อนที่ต้องออกจากประเทศไทยไปจนกระทั่งถึงปัจจุบันนับเวลาได้กว่า 10 ปี

การรัฐประหารรัฐบาลคราวนั้นว่ากันว่าเป็นการ “เสียของ–” และเป็นที่มาของการ “ยึดอำนาจ” ในปี พ.ศ.2557 ของทหารที่เรียกว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญนานหลายปี เพื่อวางแผนในการสืบทอดอำนาจ ก่อนจะประกาศใช้ในปี พ.ศ.2560

โดยจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2562

 

ก่อตั้งพรรค “พลังประชารัฐ” (พปชร.) รูปแบบวิธีการไม่แตกต่างจากพรรค “สามัคคีธรรม” แม้กระทั่งกลุ่มนายทุนของพรรค กวาดต้อนนักการเมืองกลุ่มต่างๆ หน้าเก่าๆ เอาผลประโยชน์เข้าล่อ บังคับข่มขู่ บีบคั้น และช่วยเหลือ แล้วก็ได้นักการเมืองอย่างที่ได้เห็นหน้าเห็นตากันทุกวันนี้มารวมกันในพรรคการเมืองนี้ ซึ่งดูเหมือนจะรวมตัวกันแบบหลวมๆ อยู่บน “ผลประโยชน์”

วันนี้เราเริ่มได้เห็นอิทธิฤทธิ์และบทบาทของนักการเมืองพวกนี้กำลังแก่งแย่งอำนาจ เพื่อจะได้มีตำแหน่ง และสุดท้ายก็มาลงตรงการแสวงหาผลประโยชน์

เชื่อเถอะว่า “ความแตกแยก” กำลังคืบคลานเข้ามา เพียงรอเวลาวิกฤตไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) คลี่คลาย

การเมือง “น้ำเน่า” กำลังหวนกลับคืนมา