คนมองหนัง | รู้จัก “เจี๊ยบ ประชากุล” ศิลปินไทยผู้คว้ารางวัลจิตรกรรมใหญ่ระดับโลก

“กุลธิดา ประชากุล” หรือ “เจี๊ยบ” คือศิลปินหญิงชาวไทยที่เพิ่งสร้างชื่อคว้ารางวัลชนะเลิศจากงานประกวดผลงานจิตรกรรมแนวภาพเหมือนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลก ซึ่งจัดโดย “เนชั่นแนล พอร์เทรต แกลเลอรี่” (หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ) แห่งสหราชอาณาจักร

โดยภาพวาดสีน้ำมันของเจี๊ยบซึ่งมีชื่อว่า “Night Talk” ได้รับการตัดสินจากคณะกรรมการให้คว้ารางวัลชนะเลิศ “บีพี พอร์เทรต อวอร์ด” ประจำปี 2020 ไปครอง พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 3.5 หมื่นปอนด์ (ราว 1.4 ล้านบาท)

ท่ามกลางผลงานจิตรกรรมที่ถูกส่งเข้าร่วมประกวดจำนวน 1,981 ชิ้น จากฝีมือศิลปินนานาชาติรวม 69 ประเทศ

ในผลงานชิ้นนี้ เจี๊ยบได้วาดภาพเหมือนของเพื่อนสนิทสองคน คนหนึ่งเป็นดีไซเนอร์ชาวเกาหลี และอีกคนเป็นนักแต่งเพลงชาวญี่ปุ่น ซึ่งมาพบปะสนทนากัน ณ บาร์ที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

“Night Talk” ได้ทำการสำรวจตรวจสอบแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคล และพิจารณาถึงวิถีทางที่ความเข้าใจในเรื่องตัวตนของคนเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เมื่อวันเวลาผันแปร

เจี๊ยบมีความเห็นว่าแม้ “อัตลักษณ์” จะเป็นสิ่งที่กำหนดควบคุมตัวตนของคนเราเมื่อยามแรกเกิด แต่เมื่อทุกคนเติบโตขึ้น “อัตลักษณ์” กลับหมายถึงสิ่งที่เราเลือกจะเป็นอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน กลุ่มเพื่อนที่เราเลือกคบหาก็ย่อมมีส่วนในการประกอบสร้างตัวตนของเราขึ้นมาอีกด้วย

ศิลปินชาวไทยระบุว่า ทั้งเธอและเพื่อนชาวเกาหลี-ญี่ปุ่นสองคนนี้ ต่างมีสถานะเป็นคนนอก คือเป็นศิลปินเอเชียที่อาศัยอยู่ในต่างแดน และมิตรภาพอันลึกซึ้งที่ทั้งคู่มอบให้เธอ ก็กลายเป็นฐานที่มั่นซึ่งช่วยให้เธอสามารถหยัดยืนและโอบกอดอัตลักษณ์ของตนเองเอาไว้ได้

ขณะที่คณะกรรมการตัดสินรางวัลได้บรรยายถึงคุณลักษณะของผลงานชิ้นดังกล่าวเอาไว้ว่า นี่เป็นภาพเหมือนที่ชวนให้นึกถึงความทรงจำอันน่าประทับใจของห้วงเวลาชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งช่วยให้ผู้ชมได้มองเห็นชีวิตของมนุษย์คนอื่นๆ ที่ทั้งงดงาม ลึกลับ และเปี่ยมชีวิตชีวา

นอกจากตัวผลงานภาพวาดที่คว้ารางวัลใหญ่แล้ว ตัวตนของศิลปินชื่อ “เจี๊ยบ ประชากุล” ก็น่าสนใจไม่น้อย

จิตรกรหญิงชาวนครพนม ผู้เพิ่งมีชื่อเข้าชิงรางวัล “บีพี พอร์เทรต อวอร์ด” เป็นครั้งแรก

ไม่ได้เล่าเรียนมาทางศิลปะโดยตรง แต่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาภาพยนตร์ จากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลังเรียนจบ เจี๊ยบทำงานในบริษัทผลิตภาพยนตร์โฆษณาอยู่ระยะหนึ่ง โดยมีภาระความรับผิดชอบหลักทางด้าน “แคสติ้ง” (คัดเลือกนักแสดง)

เธอตัดสินใจย้ายไปแสวงหาความท้าทายใหม่ๆ และมองหาลู่ทางในการประกอบอาชีพ “ศิลปิน” ที่ทวีปยุโรป เมื่อ 14 ปีก่อน

ปลายทางแรกของเจี๊ยบคือลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งการมีโอกาสเข้าชมนิทรรศการจัดแสดงผลงานภาพวาดของ “เดวิด ฮ็อกนีย์” ได้ปลุกเร้าเธอให้มุ่งมั่นที่จะทำงานจิตรกรรมอย่างจริงจัง

เจี๊ยบเริ่มต้นวาดภาพผ่านกระบวนการศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยพึ่งพาหนังสือ-สื่อออนไลน์ และค้นหาแรงบันดาลใจจากผลงานของศิลปินชื่อดังรายอื่นๆ ผนวกด้วยทักษะด้านการวาดเขียนที่สั่งสมมาแต่เยาว์วัยเพราะใจรัก

เจ้าของรางวัล “บีพี พอร์เทรต อวอร์ด” เล่าว่า สมัยเรียนมัธยมปลายสายวิทย์-คณิต ที่จังหวัดนครพนมบ้านเกิด ด้วยความที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียนวิชาศิลปะในโรงเรียนมากนัก เธอจึงมาฝึกวาดรูปในเวลาว่าง

และหนึ่งในคนที่สอนเรื่องพวกนี้ให้เธอ ก็คือพี่ชายผู้มีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักศึกษาสถาปัตย์ ชื่อ “เกียรตินคร ประชากุล”

หลายคนอาจรู้จัก “เกียรตินคร” ในนาม “แนท วาสนา” นักร้อง-นักแต่งเพลงฝีมือดี ผู้มีความโดดเด่นในการแต่งเพลงแนวโจ๊ะๆ พร้อมลีลาการใช้ถ้อยคำที่เปี่ยมลูกเล่นแพรวพราว ซึ่งเคยทำงานกับทั้งค่ายแกรมมี่และอาร์เอส และเขียนเพลงได้ทั้งแนวป๊อป ร็อก รวมถึงลูกทุ่ง

จากลอนดอน ศิลปินหญิงชาวไทยเลือกจะย้ายไปใช้ชีวิตที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งเธอเปรียบเทียบเอาไว้อย่างน่าคิดว่านี่คือเมืองที่มีศิลปินเยอะแยะมากมาย จนแทบจะรวมกันได้เป็นภูเขาหนึ่งลูก

ที่นั่น เจี๊ยบได้ตระหนักว่าตัวเธอเองไม่ใช่ “จิตรกรกระแสหลัก” ที่จบการศึกษาจากสถาบันศิลปะต่างๆ โดยตรง

ด้วยเหตุนี้ โอกาสในการจัดแสดงผลงานในแกลเลอรี่ใหญ่ๆ จึงไม่ได้เปิดกว้างเป็นทางสะดวก

นอกจากจะค่อยๆ พยายามสร้างฐานผู้เสพผลงานกลุ่มเล็กๆ ของตนเอง เจี๊ยบก็เริ่มทำงานแขนงอื่นๆ เพิ่มเติม นั่นคือ การริเริ่มแบรนด์สินค้าแฟชั่นยี่ห้อ “JIAB” ซึ่งเป็นการนำภาพวาดของเธอมาผลิตซ้ำลงบนเสื้อผ้า เครื่องประดับ และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ

เจี๊ยบยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่างานแขนงนี้กลายเป็นแหล่งรายได้หลักของเธอตลอดหลายปีที่ผ่านมา

กระทั่งเมื่อสองปีก่อน นักวาดภาพจากนครพนมก็ตัดสินใจโยกย้ายถิ่นฐานอีกหน คราวนี้บ้านแห่งใหม่ของเธอคือ ลียง ประเทศฝรั่งเศส

ถึงปัจจุบัน เจี๊ยบระบุว่าเธอทำงานเป็น “ศิลปินเต็มเวลา” ขณะเดียวกัน ก็ยังมีหน้าร้านออนไลน์สำหรับสินค้าแฟชั่นที่ตัวเองก่อตั้งขึ้น

แนวคิดหลักที่ “เจี๊ยบ ประชากุล” มักใช้อธิบายผลงานของตนเองอยู่บ่อยๆ ก็คือ แนวคิดเรื่อง “อัตลักษณ์”

เจี๊ยบอธิบายว่า ในฐานะคนทำงานศิลปะ เธอจำเป็นจะต้องจริงใจกับตัวเอง ต้องเข้าใจตัวเองโดยไม่เสแสร้ง และต้องเข้าใจ “อัตลักษณ์” ของตัวเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเธอเดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน มีคู่ชีวิตที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร ทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับการผสมผสานทางอัตลักษณ์ที่หลากหลาย

“เจี๊ยบคือใคร เจี๊ยบพูดภาษาอะไรได้บ้าง ทำไมเจี๊ยบถึงทำตัวอย่างนี้ ทำไมเจี๊ยบชอบใส่เสื้อผ้าอย่างนี้ ทำไมเจี๊ยบชอบอาหารแบบนี้ คือทุกอย่างมันมาจากอัตลักษณ์หลายๆ อย่างที่มันมารวมกันเป็นตัวเจี๊ยบ เจี๊ยบรู้สึกว่าเจี๊ยบต้องคลี่ออกมา แล้วเข้าใจมัน”

จิตรกรฝีมือดีเชื่อว่า ถ้าเราเข้าใจตัวเองดีพอ ก็จะไม่รู้สึกเก็บกด-กดดัน เมื่อต้องไปใช้ชีวิตร่วมกับผู้มีอัตลักษณ์แบบอื่นๆ ในต่างบ้านต่างเมือง

อีกด้านหนึ่ง เจี๊ยบก็มีความเชื่อว่าอัตลักษณ์ของมนุษย์นั้นเกิดจากรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ตามประสบการณ์ของแต่ละคน

เช่น คนไทยอย่างเธอก็เคยพยายามมองหาสิ่งคุ้นชินบางอย่างด้วยชุดประสบการณ์เก่าๆ จากบ้านเกิด ยามเมื่อต้องไปใช้ชีวิตที่ลอนดอน ครั้นเมื่อเดินทางต่อไปเยอรมนี เธอก็พยายามมองหาประสบการณ์แบบลอนดอนที่เบอร์ลิน…

ยิ่งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เหล่านี้มีความซับซ้อนมากขึ้น คนเราก็จะยิ่งสับสน ดังการยกตัวอย่างของศิลปินหญิงที่ว่า “หม้อแกงอย่างเดียวไม่ชอบแล้ว ไม่อร่อยพอ ต้องมีเค้กด้วย เค้กไม่พอ ต้องมีสโคน”

เจี๊ยบได้ข้อสรุปว่า ถ้าเราไม่เข้าใจภาวะสลับซับซ้อนดังกล่าว เราก็จะไม่สามารถเข้าใจ “ตัวตนแท้จริง” ของตัวเองและคนอื่นๆ ได้

เพราะสำหรับเธอ ชีวิตมนุษย์ควรดำเนินไปด้วยความเข้าใจ ว่าเราลงมือทำสิ่งนู้นสิ่งนี้ไปทำไม ไม่ใช่ดำเนินไปด้วยความเคยชิน หรือเป็นพฤติกรรมที่ติดมาจากคนอื่นๆ

อัตลักษณ์และการกระทำควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจาก “การเลือกเอง” ของแต่ละบุคคล

นี่คือประเด็นสำคัญที่ศิลปินระดับโลกชื่อ “เจี๊ยบ ประชากุล” ตอกย้ำ

ข้อมูลจาก

สัมภาษณ์พิเศษ “กุลธิดา ประชากุล” ทางวิดีโอคอล (12 พฤษภาคม 2563)

https://www.theguardian.com/artanddesign/2020/may/05/self-taught-artist-jiab-prachakul-wins-bp-portrait-award

https://jiabprachakul.com/about.html

https://www.npg.org.uk/whatson/bp-portrait-award-2020/prize-winners/

ภาพประกอบจาก

https://www.facebook.com/jiab.eu/

https://www.instagram.com/jiab_prachakul/