ถึงเวลาเปิดสภายุคโควิด ฝ่ายค้านจ่อชำแหละเงินกู้ 1.9 ล้านล้าน จับตาศึกพรรคร่วม-พรรคหลัก

วันเวลาผ่านไป จากวิกฤตโควิด ได้กลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจเข้ามาแทนที่

จากมาตรการล็อกดาวน์ ปิดเมือง ได้ทำให้ตัวเลขอันเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจ คนว่างงานพุ่งสูงขึ้น สวนทางกับสถานการณ์ของการแพร่ระบาดที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดน้อยลงไปเรื่อยๆ

แม้จะเริ่มคลายล็อกบ้าง แต่ยังยืนยันสุขภาพมาเหนือสิ่งอื่นใด

รัฐบาล โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ประกาศคงการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมไปถึงมาตรการเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกจากเคหสถานช่วงเวลา 4 ทุ่มถึงตี 4 ออกไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม

ระหว่างการบังคับใช้มาตรการเข้ม ได้ประกาศแผนฟื้นฟูผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ด้วยการออก พ.ร.ก.มาจำนวน 3 ฉบับ วงเงินสูงถึง 1.9 ล้านล้านบาทออกมา

แบ่งเป็น พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยา และดูแลฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้สำหรับดูแลภาคธุรกิจ พิจารณาทำสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท และอีก 4 แสนล้านบาทไว้สำหรับตั้งกองทุนรับซื้อตราสารหนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ


ทั้งนี้ รัฐบาลโดยเฉพาะท่าที “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อาจจะมองว่า จะช้าหรือเร็ว ถึงอย่างไรเมื่อเปิดประชุมสภา พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับก็คงต้องเข้าสู่สภาทันที ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดอยู่แล้ว

และยังมองสภาอันเป็นกลไกของผู้แทนประชาชนเป็นเรื่องเสียเวลา

อย่างที่มี ส.ว.บางคนระบุว่า “การพยายามใช้ช่วงเวลาแห่งการสงบปากสงบคำ การเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมาใช้เวทีสภาเพื่อพูดจาโจมตี กระแหนะกระแหนรัฐบาล จึงเป็นเรื่องที่ทำให้ประเทศเสียเวลาในการแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ”

ทำให้หลายเดือนมานี้ปรากฏแต่ภาพ พล.อ.ประยุทธ์รับฟังข้อเสนอของเหล่าเจ้าสัว มหาเศรษฐี นายแบงก์ ส่วนราชการต่างๆ สมาคมโรงแรมไทย โดยไม่เปิดทางให้สภาเข้ามามีส่วนร่วมเลย

แม้ล่าสุดจะมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา โดยตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม จะเริ่มต้นสมัยสามัญประจำปี 2563 แล้ว

แม้จะเหลือเวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์เท่านั้น

แต่ฟากฝ่ายค้านยังไม่ลดละความพยายาม กดดันให้มีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ด้วยการนำชื่อ 209 ส.ส.เข้ายื่นต่อนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแสดงความจำนง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 123 แม้จะมีเสียง ส.ส.ไม่ถึง 1 ใน 3 ที่จะเพียงพอต่อการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญก็ตาม

ยืนยัน เปิดเร็วขึ้นเพียงวันเดียวก็ถือว่ามีประโยชน์

“ควรใช้เวลาในการพิจารณาและให้ความเห็นต่อแนวทางการใช้งบประมาณ เพื่อป้องกันการตีเช็คเปล่า ให้รัฐบาลใช้เงินตามอำเภอใจ หากช้าออกไปทำให้เหลือเวลาไม่มาก และยังเป็นการสะท้อนว่า รัฐบาลกำลังกลัวการถูกวิจารณ์ กลัวการถูกตรวจสอบ” นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุ

ทว่าแม้จะขอให้สำนักงานเลขาฯ สภาผู้แทนฯ เป็นตัวกลาง แต่ด้วยเวลาเพียง 2 สัปดาห์ที่เหลือ ทำให้แม้แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งที่เคยสนับสนุนต่างก็ปฏิเสธร่วมลงชื่อ

เพราะกว่ากระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ ส.ส.จะแล้วเสร็จ ก็ถึงวันเปิดประชุมสมัยสามัญพอดี

จึงอยากให้ฝ่ายค้านอดทนรออีกนิด ใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์ลงพื้นที่ เก็บข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชนมาอภิปราย

เพราะเมื่อเปิดประชุมวันแรก รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับต้องเป็นลำดับวาระแรกของการพิจารณาอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า เมื่อถึงวันที่ 27 พฤษภาคม วันแรกของคิวเปิดสภา ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ต้องกรำศึกใหญ่

เพราะไม่เพียง พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ 1.9 ล้านล้านบาทเท่านั้น แต่ยังมีกฎหมายสำคัญอันเป็นงบฯ แก้ไขวิกฤตโควิดอีก

นั่นคือ ร่าง พ.ร.บ.การโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงินล่าสุด 8.8 หมื่นล้านบาท

และที่สำคัญที่สุด คือร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ที่ขณะนี้สำนักงบประมาณอยู่ระหว่างการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ในการใช้จ่ายของประเทศหลังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

แม้ว่าวงเงินทั้งหมดที่ตั้งไว้สำหรับแก้ไขวิกฤตเที่ยวนี้จะมีสภาพรวมศูนย์ ไร้บทบาทของพรรคการเมือง แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลก็ตาม แต่ด้วยตัวเลขที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ และเป็นหนี้ผูกพันที่คนไทยทุกคนต้องร่วมชำระ

ดังนั้น รายละเอียดของแผนการกู้เงินและใช้จ่ายงบประมาณ จึงควรเป็นไปด้วยความเปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ อย่างที่ 13 ส.ส.ซีกรัฐบาลได้ออกมาเคลื่อนไหวให้รัฐบาลชี้แจงก่อนหน้านี้

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการยื่นญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญติดตามการตรวจสอบการใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาภายใต้วิกฤตการระบาดของโคโรนา 2019 เพื่อเป็นกลไกติดตามเรื่องสถานการณ์ความทุกข์ร้อนของประชาชน มาตรการเยียวยาประชาชน และการใช้งบประมาณของรัฐบาล ตามที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยสมาชิกพรรคร่วมกันเสนอ

แม้ญัตติด่วนดังกล่าวจะถูกซีกรัฐบาลปรามาสว่า ถึงอย่างไรรัฐบาลก็คงไม่มีวันให้เกิดขึ้น เหมือนๆ กับกรณีที่ไม่ยอมให้มีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ

แต่ในระหว่างรอการตอบรับว่าถูกจัดลำดับให้เป็นเรื่องด่วนหรือไม่ ได้เริ่มมีความเคลื่อนไหวจาก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่เริ่มมีการถกเถียงเรื่องนี้

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี เผยว่า ส.ส.ของพรรคมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เมื่อใกล้เข้าสู่การพิจารณาของสภา ที่ประชุมคงหาข้อยุติกันเพื่อนำท่าทีไปหารือกับวิปรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม แม้ผลจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ได้ลบสภาพอันเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำไปแล้ว แต่ผลจากการเมืองเรื่องโควิดในสภาที่กำลังจะเกิดขึ้นภายหลังการเปิดสมัยประชุม จะมีสภาพเป็นอย่างไร จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ

เมื่อสภาเปิด ส.ส.มานั่งกันพร้อมหน้า การเมืองในระบบที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้รวบอำนาจ หยุดเอาไว้ชั่วคราวด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะกลับมาคึกคัก กลับมาเป็นประเด็น

โดยเฉพาะเรื่องราวความขัดแย้งแตกแยกก่อน และระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

เพราะไม่เพียง “ศึกนอก” จากฝ่ายค้าน และม็อบนิสิต-นักศึกษาเท่านั้น แต่ยังมี “ศึกใน” ในทุกระดับที่รอการปะทุอีก

ไล่เรียงตั้งแต่ศึกพรรคร่วม โดยเฉพาะครหาในเรื่องการกักตุนหน้ากากอนามัย ที่มีตัวละครจาก 3 พรรคใหญ่เข้าไปเกี่ยวพัน การปรับ ครม. รวมไปถึงศึกชิงการนำภายในพรรคพลังประชารัฐเองด้วย

“ป้อมค่ายย่อมถูกตีแตกจากภายในป้อม”

ยังถือวลีคลาสสิคที่บ่งบอกปัญหาใหญ่และหนักสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับจากนี้