มนัส สัตยารักษ์ : เลิกช่วยตัวเอง

อันที่จริงผู้บังคับบัญชาทุกระดับของหน่วยงานราชการต่างๆ โดยทั่วไปย่อมเป็นห่วงเป็นใยสวัสดิการของผู้ใต้บังคับบัญชาในสังกัดทั้งนั้นแหละ

เสียแต่ว่าตำรวจในยุคที่ผมเริ่มรับราชการเป็น ว่าที่ ร.ต.ต. นั้นโชคไม่ดีที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงสุดไม่ได้เป็นตำรวจ ท่านจึงมองข้ามเรื่องสวัสดิการของตำรวจชั้นผู้น้อยไปอย่างไม่ไยดี

เพื่อให้เข้าใจง่าย ผมขอเล่าเรื่อง “ค่าเช่าบ้าน” ของข้าราชการเป็นตัวอย่างก็แล้วกัน…

ค่าเช่าบ้านนี้คงมีกฎเกณฑ์หรือธรรมเนียมมาจากโบราณกาล (ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ว่า “ข้าราชการไม่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านในภูมิลำเนาของตนเอง”

ฝ่ายการเงินที่ต้องการแสดงฝีมือผลงานการประหยัดเงินหลวง หรืออยากกันท่าข้าราชการใหม่ก็ตีความว่า “บรรจุครั้งแรกที่จังหวัดไหน ถือว่าจังหวัดนั้นเป็นภูมิลำเนาเดิม”

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แก้ปัญหานี้ด้วยการออกคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการใหม่ไปยังอำเภอใดอำเภอหนึ่งก่อน แล้วจึงตามมาด้วยคำสั่ง “ย้าย” ไปยังอำเภอที่จะบรรจุจริงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงคำว่า “ภูมิลำเนาเดิม” อย่างง่ายๆ

จะว่าเป็นกโลบายหรือเป็นวิเทโศบายก็ตาม นับว่าชาญฉลาดอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำที่เอาใจใส่ดูแลผู้น้อย ทั้งนี้ โดยไม่ต้องประกอบการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นผู้ออกคำสั่ง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ หรือตัวข้าราชการใหม่ก็ตาม

อธิบดีกรมตำรวจยุคนั้นเป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงมหาดไทยด้วย แต่ท่านก็ไม่ได้คิดจะทำตามอย่างอธิบดีกรมการปกครองแม้แต่น้อย เพราะท่านไม่เห็นหรือรู้สึกว่าตำรวจเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของท่าน

ส่วนผู้บังคับบัญชาระดับรองอธิบดีลงมานั้นเล่า ท่านคงอ้างสุภาษิตจีน “หรี่ตาเสียข้างหนึ่ง” ปล่อยให้ลูกน้องช่วยตัวเองเพื่อความอยู่รอดแบบ “ตัวใครตัวมัน”

การช่วยตัวเองแม้จะกระทำโดยแนบเนียนอย่างไรก็ยากจะหนีความผิดทำนองคลองธรรมไปได้ ตำรวจใหม่หลังจากนั้นจึงกลายเป็นข้าราชการที่เคยชินกับพฤติกรรมทุจริต เห็นเป็นเรื่องที่ “ใครๆ เขาก็ทำกัน” มาแต่บัดนั้น

ส่วนที่ไม่ได้ทุจริตไปกับเขาก็พลอยมีภาพพจน์เป็นคนทุจริตติดตัวไปด้วย

 

เป็นเวลากว่า 15 ปีที่นายตำรวจรุ่นผมเป็น “นายร้อย” ที่ชินชากับคำปฏิเสธในการเรียกร้องขอความเป็นธรรมหรือเพื่อความอยู่รอดอย่างมีศักดิ์ศรี คำปฏิเสธที่ได้ยินแล้วได้ยินอีกก็คือ

“ตำรวจไม่ใช่ทหาร จะเลื่อนยศ กินเงินเดือนแบบทหารไม่ได้”

“ตำรวจเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรมก็จริง แต่ตำรวจก็ไม่ใช่อัยการหรือศาล”

งานตำรวจไม่ใช่งานแบบเช้าไปเย็นกลับ นายตำรวจระดับรองสารวัตรหรือผู้บังคับหมวดประจำโรงพักมีเพียง 2-4 นาย ผมกับเพื่อนตำรวจส่วนใหญ่จึงต่างทำงานกันเกินกว่า 8 ชั่วโมงในหนึ่งวัน และโดยไม่มีวันหยุดเทศกาลหรือเสาร์-อาทิตย์

ที่สำคัญก็คือเสี่ยงกับความผิดพลาดบกพร่องอย่างมาก เพราะงานท่วมท้นล้นมือจนสุดปัญญาจะคลี่คลายออกได้

ขอบันทึกไว้ตรงนี้ว่า เพื่อน นรต. รุ่นเดียวกับผมคนหนึ่ง ไม่พูดไม่จากับเพื่อนเป็นปี จนในที่สุดเส้นประสาทขาดและก็ถึงแก่ความตายไปด้วยความเครียด

เราไม่เคยรู้จักคำว่า “เงินล่วงเวลา” เราจึงรับเงินเดือนน้อยกว่าพนักงานระดับล่างสุดของบริษัทเอกชนที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินล่วงเวลา

 

หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผ่านไปและเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมตำรวจคนใหม่เป็น พล.ต.อ.ประจวบ สุนทรางกูร ผู้ช่วยอธิบดี พล.ต.ท.วิทูรย์ ยะสวัสดิ์ แม้ทั้งสองท่านจะมาจากทหารแต่รับฟังความคิดเห็นและความต้องการของตำรวจ

ผมซึ่งเป็นเป็นแค่สารวัตร ยศ ร.ต.อ. กับเพื่อนนายตำรวจหนุ่มไฟแรงหลายนายได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการ หรือคณะทำงานที่คล้ายกับการปฏิรูปตำรวจอยู่ด้วย 2-3 เรื่อง

โครงการที่น่าจดจำชื่อคล้ายๆ กับว่า “การสำรวจปริมาณงาน เพื่อวิเคราะห์ตำแหน่ง” หรืออะไรทำนองนี้แหละครับ

เป้าหมายก็เพื่อกำหนดจำนวนคนทำงานให้สอดคล้องกับปริมาณงาน อันเป็นปัญหาหลักของตำรวจชั้นผู้น้อยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

เริ่มต้นคณะทำงานเข้ารับการอบรมความรู้เรื่อง “ระบบซี” จากอาจารย์ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการ ก.พ. ต่อมาจึงรับทราบวิธีการสำรวจปริมาณงาน และสุดท้ายเรียนรู้กระบวนการวิเคราะห์ตำแหน่ง จาก บัญชา เนตินันท์ (พล.ต.อ.)

คณะทำงานมีจำนวนหลายสิบคน เพราะต้องแยกย้ายกันออกสุ่มตัวอย่างจากโรงพักหลายประเภท หลายลักษณะ ซึ่งปัจจัย เครื่องมือเครื่องใช้ และสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน

กลุ่มของผมถูกจัดไป สน.พญาไท ซึ่งเป็นโรงพักใหญ่เกรดเอ นายตำรวจที่เติบโตไปจาก สน. นี้มีชื่อเสียงโด่งดังและตำแหน่งสูงหลายท่าน ขณะเดียวกันก็มีที่เสียผู้เสียคนไปอย่างน่าเสียดายก็ไม่น้อย

หลังจากสำรวจปริมาณงานตามที่ได้รับมอบหมายครบถ้วนแล้ว เราประชุมร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง เสียดายที่ผมลืมตัวเลขว่า จำนวนคนที่มีอยู่จริงกับจำนวนคนที่ต้องเพิ่มตามที่วิเคราะห์นั้นแตกต่างกันเท่าไร จำได้แค่ว่าถ้าจะให้สมดุลกับงานตามหลักแรงงานสากล เราต้องเพิ่ม “รองสารวัตร” อีก 4 เท่าตัว!

ทุกกลุ่มสรุปด้วยความทึ่งเหมือนกันว่า “เราอยู่กันมาได้ยังไงหว่า?” (ฮา)

จนเวลาผ่านไปผมจึงได้คำตอบว่า ตำรวจเราผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้เพราะเราเสียสละอย่างสูง

อีกด้านหนึ่ง เรายอมประพฤติผิดทำนองคลองธรรม ปัดเป่าคดี ไม่รับแจ้งความ และหมกสำนวน

อีกด้านหนึ่ง ทุจริต “อย่างที่ใครๆ เขาก็ทำกัน” หนักเข้าก็เรียกรับหรือแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบ

 

ที่เล่ามาทั้งหมดมิได้เป็นการแก้ตัวแทนตำรวจหรือยุยงให้ตำรวจเลี่ยงงานและทุจริต แต่เป็นการบอกเล่าถึงสภาวะของตำรวจในยุคที่อธิบดีกรมตำรวจไม่ได้เป็นตำรวจ

เป็นยุคที่ร้อยเวรเมื่อออกเวรแล้วต้องตรวจท้องที่โดยต้องเติมน้ำมันรถยนต์เอง

แต่ในปัจจุบันนี้เป็นยุคที่มี “เงินเพิ่มพิเศษ” ต่างๆ ตามสมควร แม้จะไม่มากแต่ก็เป็นประโยชน์ที่ “ควรได้”

เป็นยุคที่ตำรวจต้องไม่รับ “ประโยชน์มิควรได้” อย่างเด็ดขาด ผู้บังคับบัญชาก็ไม่มีสิทธิ์หลับตา และถึงแม้จะแกล้งหลับตาเสียทั้งสองข้าง แต่สื่อโซเชียลเขาจะไม่มีวันหลับ

จะสังเกตเห็นได้ว่าในกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและปืนพก GLOCK 19 ให้แก่นายตำรวจใหม่ที่สำเร็จการศึกษาออกรับราชการ ก็ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง

ทั้งที่คอมพิวเตอร์และปืนพกเป็นสิ่งจำเป็นของอาชีพตำรวจ เป็นสมบัติของทางราชการหรือเป็นของหลวง