ปรากฏการณ์ ‘ตู้ปันสุข’ ในสังคมที่เหลื่อมล้ำ รุมด่าประณาม คนกวาดของในตู้ ภาพสะท้อนสังคมไทย ช่องว่าง ห่างกัน ฟ้ากับเหว

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ตู้ปันสุขขึ้นทั่วประเทศไทย

เข้าใจอย่างง่ายๆ คือ เป็นการเปิดพื้นที่ตู้คล้ายๆ กับตู้กับข้าวในที่สาธารณะ ให้ผู้ที่อยากจะบริจาคนำสิ่งของมาวางในตู้ เพื่อแบ่งปันผู้ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19

มีทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง ขนม เสื้อผ้า รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันตัวช่วงโควิด ที่หลายคนมาร่วมกันแบ่งปัน

ลักษณะของตู้ก็แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ และผู้ริเริ่มบางคนซื้อตู้กับข้าวใหม่มาตั้ง บางคนนำตู้กับข้าวเก่ามาตั้ง หรือบางคนจะดัดแปลงใช้ตู้เย็นมาตั้งก็มี

นายสุภกฤษ กุลชาติวิจิตร ตัวแทนกลุ่มอิฐน้อย คนแรกๆ ที่ริเริ่มโครงการตู้ปันสุข เล่าให้สื่อมวลชนฟังว่า เขาและเพื่อนๆ เริ่มทำโครงการนี้โดยเห็นตัวอย่างในต่างประเทศ

นำแนวคิดมาจากสหรัฐที่หญิงคนหนึ่งสร้างตู้ในชุมชนนำเครื่องกระป๋อง ขนมปัง แยม ที่ยังไม่ได้กินและยังไม่ได้ใช้มาใส่ตู้ แบ่งให้คนอื่นๆ ในชุมชนที่ไม่มีอาหารได้มาหยิบไป

เขาจึงเริ่มนำตู้กับข้าวแบบไทยๆ มาตั้งที่ตลาดบางคอแหลม ก่อนจะเพิ่มขึ้นมาอีก 4 จุด คือซอยวิภาวดีรังสิต 60 สุขุมวิท 71 เพชรเกษม 54 และหน้าโครงการสกายวิลเลจ บ้านแลง จ.ระยอง

และตั้งแต่ได้โพสต์คลิปไวรัลตู้ปันสุขในเพจเมื่อวันพฤหัสที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เป็นที่สนใจของผู้คนจำนวนมาก

ไม่กี่วันหลังตู้ปันสุขได้รับการเผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชนและสื่อโซเชียล เกิดตู้ปันสุขขึ้นราวดอกเห็ดทั่วประเทศไทย

นับถึงปัจจุบันตามที่มีในรายงานข่าว พบมีตู้ปันสุขเกือบ 700 ตู้ ทั่วทั้ง 77 จังหวัด

หากสังเกตในช่วงแรก จะเป็นการเริ่มดำเนินการโดยประชาชน อาสาสมัครกลุ่มเล็กๆ ที่จัดตั้งกลุ่มกันเองระดมกันมาผ่านโซเชียล

ในแต่ละพื้นที่ต่างๆ จำนวนไม่น้อยเป็นคนที่พอมีอันจะกิน เจ้าของห้างร้านกิจการก็นำมาตั้งหน้าร้าน

แต่ในช่วงหลัง หน่วยงานรัฐเริ่มเข้ามาร่วมกิจกรรมดังกล่าวอย่างจริงจังเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจหรือฝ่ายปกครอง

หรือล่าสุดคือสายศาล และอย่างที่รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดเปิดเผยว่าเตรียมจัดตั้งตู้ปันสุขเช่นกัน

ขณะที่คนจำนวนไม่น้อยกำลังรู้สึกมีความสุขกับข่าวตู้ปันสุข ว่าเป็นการแสดงน้ำใจและมีเมตตาของเพื่อนมนุษย์ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ในยามวิกฤต

ก็เกิดข่าวดราม่าขึ้น

เริ่มจากกรณีทวิตเตอร์ ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เผยแพร่ภาพชุดตู้ปันสุขทั่วประเทศ ที่มีโลโก้ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรีชัดเจนพร้อมติดแฮชแท็ก #ตู้ปันสุข #คนไทยไม่ทิ้งกัน

ช่วงเช้าวานนี้ (11 พฤษภาคม) ทำให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากเกิดข้อสงสัยว่าโครงการตู้ปันสุขนั้นเป็นโครงการของรัฐบาลหรือไม่ รวมทั้งเป็นการเคลมผลงานให้ตัวเองหรือไม่

หรือกรณีมีการเผยแพร่ภาพคนยากจนเข้ามาหยิบของแจก และเอากลับไปเป็นจำนวนมากจนเกินพอดี มีการนำคลิปกล้องวงจรปิดเผยแพร่เหตุการณ์กลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่มีลักษณะอาการไม่พอใจเมื่อของแจกในตู้ปันสุขหมด เจ้าของตู้นำมาโพสต์จนกลายเป็นข่าวดัง หรือจะเป็นกรณีข่าวประชาชนในพื้นที่เข้าไปรุมแย่งชิงสิ่งของในตู้ปันสุข หมดภายในเวลาอันรวดเร็ว

จะเป็นเหตุการณ์ในจังหวัดหนึ่ง ที่เจ้าของตู้นำของแจกไปวางไว้ในตู้ไม่ถึง 2 นาที ก็มีแก๊งมอเตอร์ไซค์ซ้อนกันมา 3 คัน มีการเตรียมถุงมาอย่างดี ลงไปหยิบของแจกจนหมดเกลี้ยงแล้วขับออกไปอย่างรวดเร็ว เกิดการประณามขึ้นอย่างหนักต่อพฤติกรรมดังกล่าว

คนจำนวนมากเริ่มผิดหวัง ภาพในเมืองไทยไม่เห็นเหมือนที่เกิดขึ้นในชาติตะวันตก ดินแดนที่กำเนิดแนวคิดนี้

ร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุม ครม. ระบุว่า ชื่นชมโครงการตู้ปันสุข และขอให้มีเพิ่มถ้าทำได้ แต่ทุกคนต้องมีจิตสำนึก ภาพที่ออกมาที่ประชาชนไปแย่งของกัน ตนรับไม่ได้ ถ้าทำแบบนั้นจะไม่มีใครมาบริจาคให้อีก จึงขอให้ห้ามปรามกัน โดยขอฝากไปยังทั้งผู้รับและผู้ให้

“บางคนก็เกินไป ไม่สวยงาม เอาของไปเยอะแยะ คนอื่นก็ไม่ได้แบ่งปัน ขอให้เอาเท่าที่จำเป็น พรุ่งนี้ก็ไปรับใหม่ได้ ถ้าทุกคนได้เห็นก็อยากบริจาคเฉลี่ยกันไป เขาถึงได้เรียกว่าตู้แบ่งปัน ถ้าเอาไปคนเดียวแบบนี้เป็นการเห็นแก่ตัว ไม่ใช่การแบ่งปัน อย่ามาอ้างอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ ต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน นายกฯ ก็คิดทุกวันว่าจะทำอะไรให้กับประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยมีอยู่จำนวนมาก ก็ขอให้ช่วยกันปรับตัวเอง”

วันเดียวกันนายกรัฐมนตรีถึงกับกล่าวแนะนำว่า ต้องติดกล้องวงจรปิดจับตาพฤติกรรมคนที่หยิบของในตู้ ยืนยันไม่ใช่การติดเพื่อลงโทษใคร แต่ต้องควบคุมให้นำของไปพอดี

นึกถึงคนอื่นบ้าง

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นหนึ่งคนที่รับไม่ได้กับตรรกะ การให้ติดกล้องวงจรปิดเพื่อจับตาพฤติกรรมของประชาชนที่มาหยิบของ ระบุว่าความคิดดังกล่าวถือเป็นการดูถูกประชาชนและสะท้อนว่านายกรัฐมนตรีไม่เคยมองย้อนกลับไปดูการบริหารจัดการของตนเองว่ามีปัญหาเลย ถึงแม้รัฐบาลจะไม่สามารถบริหารเงินเยียวยา 5,000 บาทอย่างมีประสิทธิภาพได้ แต่อย่างน้อยควรทำโครงการธนาคารอาหาร หรือ food bank เพื่อให้ประชาชนมีทางออก ไม่อดตาย

“เพราะประเทศไทยที่อุดมสมบูรณ์ขนาดนี้ ไม่สมควรต้องมีคนมากมายต้องหิวโหย ได้เคยเสนอให้รัฐบาลทำตั้งแต่เดือนเมษายนแล้ว แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนต้องมองหาวิธีการช่วยเหลือดูแลกันเอง และหากต้องเป็นอย่างนี้ทุกครั้งก็ไม่รู้ว่าจะมีรัฐบาลแบบนี้ไว้ทำไม” นายพิธากล่าว

หากจะว่ากันด้วยหลักการ ทรัพยากรของมนุษย์บนโลกก็เพียงพอสำหรับมนุษย์ทุกคนในการเป็นปัจจัย 4 ดำรงชีวิต

หากจะมีมนุษย์คนใดขาดแคลน นั่นก็เพราะระบบที่มนุษย์ยึดถือในการจัดสรรทรัพยากร ไม่มีประสิทธิภาพหรือเกิดช่องว่าง

ไม่ต่างกันกับระบบเยียวยาช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤต ถ้าระบบถูกออกแบบมาอย่างดี ประชาชนก็จะได้รับปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิต โอกาสในการก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคม ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรมก็จะลดน้อยลงตามมา

ไม่ต้องทะเลาะกันให้วุ่นวายแบบนี้

วิกฤตที่เกิดขึ้นตอนนี้ได้เปิดให้เห็นบาดแผลของความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นความผิดพลาดส่วนหนึ่งของระบบที่ครอบงำอยู่ทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างชัดเจน

ถามว่าเหลื่อมล้ำแค่ไหน

นิตยสารฟอร์บส์ ไทยแลนด์ บอกไว้ให้แล้ว เพราะในการจัดอันดับอภิมหาเศรษฐีไทยประจำปี 2563 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤต เศรษฐกิจสังคมรุมล้อมทั้งในประเทศและทั่วโลก ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีไทยแค่ไม่กี่อันดับรวมกัน

ก็มากกว่างบประมาณประเทศทั้งปีแล้ว