ฉัตรสุมาลย์ : จากใจสู่ใจ เราจะฝ่าฟันไปด้วยกัน

ช่วงปิดเมือง ชาวบ้านโดยเฉพาะที่หาเช้ากินค่ำได้รับความยากลำบากโดยทั่วถึง คนทำงานจำนวนมากได้รับผลกระทบ ที่แน่ๆ คือความไม่แน่นอน บริษัทจะอยู่ได้ไหม ตัดเงินเดือน ร้อยละ 30 ร้อยละ 50 ไปจนถึงให้เว้นระยะไปโดยไม่ได้รับเงินเดือน มนุษย์เงินเดือนก็ยังมีที่ได้ออมไว้บ้าง ตอนนี้ก็ยังอยู่ได้ แต่ต้องอยู่อย่างประหยัด

บางคนโวยวาย เพราะเราอยู่กันอย่างสุขสบายมานาน ผู้เขียนเลยเล่าให้ฟังว่า ที่เรียกว่าลำบากนั้น ภาวะสงครามโลกครั้งที่สองนั้นหนักหนากว่านี้มาก

เคยได้ยินไหม ไข่ต้มฟองหนึ่งกินกัน 4 คน ที่มาทำเป็นวิดีโอ กินข้าวต้มแล้วเงยหน้ามองปลาเค็มที่แขวนไว้ ก็ประมาณนั้น คือกินข้าวต้มกับจินตนาการว่ากินกับปลาเค็ม

เล่าให้หลานฟัง เขาก็สงสัยว่าทำไมต้องข้าวต้ม ข้าวสารมันมีน้อย จึงต้องหุงข้าวต้ม ใส่น้ำมากๆ ซดน้ำข้าวให้รู้สึกอิ่มท้องไปเพียงมื้อนั้น ถ้าอยู่ต่างจังหวัดก็ออกไปขุดดินหาเผือกหามันมาใส่ในข้าวต้มเพื่อให้มีเนื้อมากขึ้น

ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยในปัจจุบันมาไกลจากตอนสงครามโลกครั้งที่สองมาก ผู้เขียนจึงพูดเสมอว่า ที่เราว่าลำบากนั้น เพราะเราไม่เคยเห็นความยากลำบากจริงๆ มาก่อน

ตอนนี้เราย้ายมาอยู่ในกรุง บริบทสังคมต่างไป ไม่รู้จะไปขุดหาเผือกหามันที่ไหน เวลาอดก็อดจะตายเองจริงๆ

 

เส้นทางที่พระภิกษุณีออกไปรับบาตรในเวลาปกติ ก็มีคนงานที่ทิ้งนามาหางานทำในเมือง เช่าห้องแถวเล็กๆ เดือนละ 1,000 บาท พอปิดเมืองก็ตกงานทันที แรงงานวันละ 350 บาทนั้นต้องส่งไปให้ย่า-ยายที่เลี้ยงหลานที่บ้านในชนบท ตัวเองก็มีพอซื้อกินไปในแต่ละวัน เมื่อไม่มีงาน ก็ไม่มีเงินจริงๆ

พระภิกษุณีพร้อมญาติโยมที่เข้าใจปัญหาของชาวบ้านใกล้วัตรจึงรวบรวมเงินจัดหาข้าวสารอาหารแห้งที่จำเป็น ออกไปตั้งโรงทานที่หน้าวัตร

เราต้องระมัดระวังรักษาระยะห่าง 2 เมตรไว้ พระ-เณรที่ออกไปหน้างานก็ใส่ทั้งแมสก์และ face shield แผ่นพลาสติกที่คลุมใบหน้าด้วย

เราตั้งโต๊ะ วางข้าวสาร น้ำซีอิ๊ว น้ำมัน ฯลฯ ท่านธัมมนันทาขนเอาจานกระเบื้องออกมาสมทบให้คนละสองใบ มีถ้วยกาแฟ (mug) และถ้วยชาที่มีจานรอง มีปิ่นโต 5 เถา กระติกน้ำ ฯลฯ มาสมทบแจก

จังหวะที่ผู้รับของแจกเดินแถวเข้ามานั้น เป็นระเบียบมาก เริ่มต้นจากรับเจลล้างมือ รับถุงใส่ของ แล้วเดินไปหยิบของจากแต่ละโต๊ะที่จัดวางไว้ หลวงพี่ที่ประจำโต๊ะจะใช้ภาษากายบอกว่า สำหรับบะหมี่สำเร็จรูป คนละ 4 ซอง ทำนิ้วประกอบ แก้วน้ำคนละ 2 ใบ ทำนิ้ว 2 นิ้วประกอบ

คนที่รับของจะยืนในหมายกำหนดที่เป็นกากบาทที่พื้น ทิ้งระยะห่างคนละ 2 เมตร ทั้งระยะระหว่างผู้รับเองและผู้ให้ การใช้ภาษากายประกอบ ช่วยให้ไม่อื้ออึง เพราะวัตรเราอยู่ริมถนนเพชรเกษมที่มีรถวิ่งตลอดเวลา ตั้งแต่รถเก๋งไปจนถึงรถ 10 ล้อ ฯลฯ

ผู้ที่มารับของ ไม่มีการกรูกันเข้ามา เพราะโควิด-19 สอนให้เราเว้นระยะห่างนั่นเอง

 

คําถามที่ท่านผู้อ่านจะถามว่า ผู้รับมาจากไหน เป็นคนพื้นบ้านในละแวกรอบๆ วัตร เรียกว่าสายที่พระเดินรับบาตรนั่นเอง เวลาชาวบ้านเดือดร้อน พระก็ได้ดูแลกัน

มีมอเตอร์ไซค์เป็นผู้เดินสายบอกกล่าว เราจัดโรงทานแบบนี้ ทุกวันศุกร์เวลาบ่ายสี่โมง พอแดดร่มลงหน่อย

พระ-เณรทยอยเอาโต๊ะไปตั้ง จัดของขึ้นโต๊ะเสร็จ ชาวบ้านก็ทยอยกันเข้ามา

เมื่อแจกไป 3 ครั้ง ข้าวสารของวัตรหมด จึงต้องออกไปซื้อข้าวสารเพิ่ม กะว่าน่าจะให้ได้คนละ 2 ก.ก. เมื่อข้าวสารมาถึงก็ต้องตักแบ่งเป็นถุงเล็กๆ ช่วยกันตัก ช่วยกันมัดปากถุง พระเณรที่มาช่วยกันนั้นล้วนอายุ 75 ขึ้น 3 รูป สนุกสนานด้วยการทำงานด้วยกัน

รูปที่ท่านธัมมนันทาอยู่บนท้ายรถกระบะ กำลังตักข้าวสารนั้น ออกไปในเฟซบุ๊ก มีคนเข้ามาดูอย่างเร็วมาก หลายคนสาธุ ว่าอยากเห็นพระทำงานอย่างนี้มานานแล้ว

แต่ท่านหนึ่งที่เห็นแล้ว บอกว่าทนไม่ได้แล้ว วันรุ่งขึ้นขับรถกระบะมา ท้ายรถบรรทุกข้าวสารมาถวายวัตร 600 ก.ก. เป็นข้าวสารที่มาจากจังหวัดยโสธร ข้าวหอมมะลิค่ะ แยกเป็นถุงย่อยแล้ว ถุงละ 5 ก.ก. ภิกษุณีจะได้ไม่ต้องตักข้าวสารเอง

พระน้ำตาไหลเลยด้วยความปีติ ว่าในความยากลำบากของประชาชนนี้ เราก็มีพี่น้องที่พร้อมจะยื่นมือมาช่วยกันตามกำลัง คุณโยมท่านว่า “เห็นหลวงแม่ออกมาตักข้าวสารเองแบบนี้ ทนไม่ไหวแล้ว”

พระบาลีว่า มหาปุริสภาวัสสะ ลักขณัง กรุณา สโห

เพิ่งสอนหลวงพี่ในชั้นเรียนค่ะ แปลว่า ลักษณะที่เห็นคนได้ทุกข์แล้วทนไม่ได้ ต้องออกมาช่วยเหลือ เป็นลักษณะของมหาบุรุษ

ปรากฏเป็นรูปธรรมให้เราเห็นจริงๆ

 

ขณะเดียวกันในหน้าหนังสือพิมพ์ก็มีข่าวเรื่องการเยียวยา 5,000 บาทที่รัฐบาลยื่นมือออกมาช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 จริงๆ

มีคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริง แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลืออีกมาก ด้วยไม่สามารถตอบสนองเงื่อนไขของทางการ

เรื่องที่ให้กรอกคำร้อง ปรากฏว่ามีการกรอกคำร้องไปในคำร้องปลอมที่มิจฉาชีพทำขึ้นเพื่อดักเอาข้อมูลส่วนตัว เมื่อคำร้องไม่ถึงทางการ ก็ไม่สามารถรับเงินได้

บางคนก็จน ไม่มีบ้าน ไม่มีที่อยู่ที่ทางการจะติดต่อช่วยเหลือได้ แต่มีชีวิตอยู่จริงด้วยความยากลำบาก

บางคนก็ไม่รู้จะกรอกเอกสารอย่างไร เพราะไม่มีเครื่องมือสื่อสาร

ฯลฯ

ทางวัตรทรงธรรมกัลยาณีจึงจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือ โดยขอเพียงบัตรประจำตัวประชาชน และบัญชีธนาคาร

ฟังดูง่ายจัง เอาเข้าจริงๆ ไม่ง่ายค่ะ

คุณป้าที่เข้าข่ายที่เราอยากช่วยนี้ ไม่มีแม้บัญชีธนาคาร ก็ไม่เคยมีพอจะกินน่ะ

ขอโทษไม่มีบัญชีธนาคาร ให้ทำอย่างไร

เราจึงต้องมีอาสาสมัครและคนแนะนำเข้ามาช่วยเหลือกรณีเหล่านี้ โดยอาสาสมัครและคนเดินเรื่องแทนนี้เป็นคนที่ทางวัตรรู้จัก และไว้ใจได้

 

โครงการนี้เรียกว่าโครงการเยียวยาใจจากภิกษุณี รัฐบาลให้เท่าไร โครงการนี้ก็ให้เท่านั้น รัฐบาลยังไม่แน่ใจว่าจะให้ 3 เดือนได้หรือไม่ แต่โครงการนี้รับปากว่าจะจัดสรรให้ตลอด 3 เดือน

โครงการนี้ผู้ขอความช่วยเหลือไม่มีแม้แต่บัตรประจำตัวประชาชน แต่มีคนเห็น คนรู้จัก อาสาสมัครที่เราเรียกว่าหน่วยสอดแนม เรียกให้ตื่นเต้นค่ะ ไปเยี่ยมถึงตัวเลย ส่งเงินสดให้กับมือ ให้แน่ใจว่ามีเงินซื้อข้าวกินจริงๆ

โครงการนี้มีสมาชิกที่ขอมาทั้งชาวไทยและมุสลิม พระอัลเลาะห์เลือกที่จะให้ความช่วยเหลือผ่านมือภิกษุณี ประมาณนั้น

มีชาวมุสลิมที่เข้ามาทำงานเย็นถวายแรงกายกับท่านธัมมนันทา เหงื่อแตกซก เสร็จงานก็ลากลับ ถามเธอว่า ทำไมเลือกมาทำงานกับวัตรภิกษุณี ทั้งที่เป็นวัดพุทธ เธอว่า เธอสบายใจ และเธอรู้สึกว่า พระอัลเลาะห์ให้มา

มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่แม่ฮ่องสอน ลงมาภาคกลาง นนทบุรี นครปฐม ทางตะวันออก มีทั้งขอนแก่น อุดรธานี ลงใต้ตั้งแต่ยะลา กระบี่ สงขลา นี่คืออิทธิพลของเฟซบุ๊ก

ในส่วนของผู้ให้ทุน เห็นภาพชัดเจนว่า ผู้หญิงจะเป็นผู้แบกรับภาระของครอบครัว ผู้ขอการสนับสนุนส่วนใหญ่ต้องดูแลแม่ที่อยู่ในสภาวะติดเตียง ดูแลลูกที่พิการ ดูแลหลานที่แม่ตกงานเพราะพิษโควิด-19 เอามาฝากไว้ ฯลฯ

บางครั้งผู้รับทุนไม่ได้เป็นผู้ขอทุนเอง แต่คนรุ่นใหม่ที่ใช้เฟซบุ๊ก ติดต่อเข้ามาถามว่า ป้าขายส้มตำอยู่ที่หน้าปากซอย จะขอทุนได้ไหม เพราะตอนนี้เศรษฐกิจซบเซา ป้าขายส้มตำได้วันละครกเดียว ลำบากมากๆ

แล้วน้องก็วิ่งไปเก็บข้อมูลจากคุณป้าให้ กลับเข้ามาในเฟซบุ๊กใหม่ เรียกว่าเป็นผู้จัดการให้แทนผู้ที่สมควรจะได้รับการเยียวยา

ประทับใจมากๆ

พอคุณป้าขายส้มตำได้เข้าเป็นสมาชิกของโครงการแล้ว น้องคนนี้ก็ยังอุตส่าห์ทำบุญสมทบเข้ามาในโครงการอีกด้วย

ทั้งหมดที่เล่ามานี้ เกิดขึ้นในเวลาเพียงชั่วโมงเดียวค่ะ

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีการเกื้อหนุนกันแบบนี้ เราจะฝ่าฟันช่วงแห่งความยากลำบากนี้ไปด้วยกันค่ะ