ที่มาของ “อนุสาวรีย์สามกษัตริย์” และ “ตำนานพญามังราย”

พญามังรายเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์มังราย ประสูติปีกุนเอกศกจุลศักราช 601 ตรงกับพุทธศักราช 1781

พระองค์สร้างความรุ่งเรืองให้กับอาณาจักรล้านนาเป็นอเนกประการ

โดยทรงสร้างเมืองเอกในแว่นแคว้นถึง 3 เมืองได้แก่ เมืองเชียงราย เมืองกุมกาม (ปัจจุบันคืออำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่) และเมืองเชียงใหม่

พญามังรายมีสัมพันธไมตรีอันดีกับกษัตริย์แห่งแคว้นพะเยาและอาณาจักรสุโขทัย คือ พญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

โดยทั้งสามพระองค์ เป็นพระสหายร่วมสาบานกัน

เมื่อครั้งพญามังรายจะสถาปนาอาณาจักรล้านนาที่เมืองเชียงใหม่นั้น ได้ปรึกษากับพระสหายทั้งสอง

พ่อขุนรามคำแหงแนะนำว่า ควรลดขนาดเมืองลงครึ่งหนึ่งจากเดิมวางผังให้ยาวด้านละสองพันวา เพราะเมื่อเกิดศึกสงครามในอนาคต กำลังพลที่ไม่มากพอ จะไม่อาจปกปักรักษาบ้านเมืองที่กว้างขวางถึงเพียงนั้นได้

พญามังรายก็เห็นชอบ

และด้วยความที่ทั้ง 3 เป็นสหายร่วมสาบานกัน ทำให้สามารถขยายดินแดนได้โดยไม่ต้องมีความกังวล

จึงเป็นที่มาของอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ที่ตั้งอยู่ที่ศาลาว่าการจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน

ความปรีชาสามารถในด้านการปกครองอีกเรื่องหนึ่งของพญามังราย คือการวางระเบียบการปกครองหรือกฎหมายที่ตราขึ้นไว้ เป็นพระธรรมศาสตร์ใช้ในการปกครองแผ่นดิน เรียกว่า “กฎหมายมังรายศาสตร์” เพื่อให้ลูกขุนใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาพิพากษาผู้กระทำผิดสมควรแก่โทษานุโทษโดยมิให้เลือกเห็นแก่หน้าว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ผู้น้อย หัวหมู่ หรือไพร่น้อย เมื่อกระทำผิด ย่อมต้องได้รับโทษเช่นเดียวกัน

ร้อยกว่าปีมานี้ ปรากฏคำว่า เม็งราย ปะปนอยู่กับนามเดิม คือ มังราย ทำให้ผู้คนสับสนว่า แท้จริงแล้ว นามใดจะถูกต้อง

ซึ่งตามเอกสารโบราณ ศิลาจารึก พงศาวดาร ล้วนพบคำว่า พร(ะ)ญามังราย

แต่อาจมีคำนำหน้านามและสร้อยต่อท้ายบ้างเล็กน้อย อาทิ ศิลาจารึกวัดพระยืน ใช้ “พรญามงงรายหลวง” จารึกวัดสุวรรณมหาวิหาร เขียน “มังราย”, ตำนานมูลศาสนา ใช้ “พรยามังราย”, ชินกาลมาลีปกรณ์ ใช้ “มังรายราช” โคลงนิราศหริภุญไชย ใช้ทั้ง “มังรายราช” “มังรายเจ้า” และ “พระเมืองมังรายราช”, ศิลาจารึกวัดเชียงมั่น ใช้ “พรญามังรายเจ้า” ประชุมกฎหมายมังรายศาสตร์ ใช้ “พรญามังรายเจ้า”

มีเพียงพงศาวดารโยนก เป็นหลักฐานเพียงชิ้นเดียวที่ใช้คำว่า “เม็งราย”

ต่อมาพงศาวดารเล่มนี้ได้นำมาใช้เป็นต้นแบบในการเรียบเรียงหนังสือประวัติศาสตร์สยามให้แก่คนไทยทั้งประเทศ

จึงทำให้คำว่า “เม็งราย” เป็นที่รู้จักแพร่หลายยิ่งกว่าคำว่า “มังราย” จึงทำให้มีการชี้แจงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจกันใหม่ว่านามที่ถูกต้องคือ “มังราย”

ไม่ใช่ เม็งราย