ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | การบินไทย : อวสานของธุรกิจการเมืองแบบอภิสิทธิ์ชน

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

การบินไทยเป็นปัญหาของประเทศที่ทำให้คนไทยรำคาญใจมานาน

เพราะนอกจากจะขาดทุนต่อเนื่องหลายปีจนมีแต่ข่าวแบมือขอเงินรัฐบาล

สหภาพการบินไทยยังเป็นปฏิปักษ์กับประชาชนอย่างเต็มที่ในช่วงล้มเลือกตั้งปี 2557 และหลังการยึดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยปกตินั้นสหภาพแรงงานเป็นการรวมกลุ่มซึ่งเป็นพื้นฐานของการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ผู้นำสหภาพการบินไทยใกล้ชิดกลุ่มพันธมิตรฯ จนเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2551 โดยบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิจนประเทศไทยเสียหายอย่างรุนแรง

นอกจากสหภาพจะเล่นการเมืองแบบเหยียบหัวประชาชนมาสิบกว่าปี

การบินไทยในแง่องค์กรก็หนุนรัฐประหารมาตลอด

ผู้บริหารการบินไทยถึงขั้นเปิดสำนักงานใหญ่แล้วขนพนักงานมาต้อนรับคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และม็อบ กปปส.อย่างหรูหราในปี 2557 ทั้งที่ไม่เคยปฏิบัติกับลูกค้าที่ซื้อตั๋วแบบนี้เลย

ไม่กี่ปีหลังจากเกิดรัฐประหาร คสช. พนักงานการบินไทยบางส่วนอวย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะไปเยี่ยมชมกิจการการบินไทยด้วยภาษาที่ฟังแล้วพะอืดพะอม

ส่วนปี 2562 ก็เกิดเหตุผู้บริหารขู่ลงโทษพนักงานที่ถ่ายรูปคู่กับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทั้งที่การอวยประยุทธ์หรือต้อนรับสุเทพไม่เคยถูกตำหนิแม้แต่ครั้งเดียว

จริงอยู่ การแสดงออกทางการเมืองคือเสรีภาพของประชาชน แต่ในกรณีการบินไทยนั้น ผู้บริหารและสหภาพได้ก้าวข้ามไปสู่การสนับสนุนขบวนการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยให้ล้มล้างประชาธิปไตย มากว่าหนึ่งทศวรรษ

ภาพลักษณ์ของการบินไทยจึงเป็นองค์กรที่อยู่ตรงข้ามประชาชนตลอดมา

แน่นอนว่าบทบาทสหภาพและผู้บริหารไม่ได้สะท้อนทิศทางองค์กรหรือทัศนคติของพนักงานทุกคน

แต่สิ่งที่สหภาพและผู้บริหารการบินไทยทำนั้นทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าการบินไทยเป็น “สายการบินแห่งชาติ” รวมทั้งยิ่งไม่ใช่สายการบินที่เป็นของประชาชนคนไทยทุกคน

อันที่จริงการถกเถียงว่าการบินไทยเป็นหรือไม่เป็น “สายการบินแห่งชาติ” ไม่ใช่เรื่องที่มีความหมายกับใครเลย

คนส่วนใหญ่ในประเทศไม่เคยขึ้นการบินไทย และพฤติกรรมของสหภาพกับผู้บริหารก็ทำให้คนในประเทศรู้สึกว่าการบินไทยไม่ใช่ของคนไทยทุกคนมานานเหลือเกิน

“สายการบินแห่งชาติ” เป็นวาทกรรมซึ่งสร้างขึ้นในยุคที่การบินไทยผูกขาดอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย

และพูดตรงๆ ก็เป็นวาทกรรมหลงยุคจากโลกยุคที่คิดว่า “รัฐ” ต้องมีบทบาททางเศรษฐกิจในกิจการที่ถือเป็น “กิจการแห่งชาติ” ทั้งด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงหรือเพ้อเจ้อไปเอง

ธุรกิจหลักของการบินไทยคือขายตั๋วให้คนเดินทางไปจุดหมายต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศไทย ถัดจากนั้นก็คือขายเบเกอรี่และสินค้าข้างเคียง, ขนส่งสินค้า หรือซ่อมบำรุงอากาศยานอื่นๆ

ซึ่งล้วนไม่มีธุรกิจไหนที่บอกได้เต็มปากเต็มคำว่าการบินไทยควรเป็น “สายการบินแห่งชาติ” แม้แต่นิดเดียว

ถ้าบอกว่าการบินไทยต้องเป็น “สายการบินแห่งชาติ” เพราะการเดินทางทางอากาศสำคัญ ถ้าอย่างนั้นการเดินทางทางถนนก็สำคัญจน ขสมก. ควรถูกถือว่าเป็น “รถเมล์แห่งชาติ” เช่นเดียวกับเรือด่วนเจ้าพระยาควรเป็น “เรือด่วนแห่งชาติ” และ MRT ควรเป็น “รถไฟใต้ดินแห่งชาติ” ด้วยเหมือนกัน

หากอ้างว่าการเดินทางทางอากาศสำคัญต่อความมั่นคง สายการบินอื่นที่ทำธุรกิจนี้ก็มีความสำคัญต่อความมั่นคงไม่น้อยกว่าการบินไทย

ข้ออ้างเรื่องการบินไทยเป็น “สายการบินแห่งชาติ” มาจากโลกที่เคยคร่ำครึว่าประเทศต้องมี “การบินแห่งชาติ” ทั้งที่การบินคือธุรกิจการเดินทางไม่ต่างจากรถทัวร์

ในอดีตที่รัฐเป็น “ผู้เล่น” ที่ใหญ่ที่สุดทั้งในระบบเศรษฐกิจและการเมือง รัฐผูกขาดอำนาจในการกำหนดว่ากิจการอะไรเป็น “กิจการแห่งชาติ” จนต้องมีผู้ประกอบธุรกิจบางรายเป็นเจ้าของ “ธุรกิจแห่งชาติ” ซึ่งหลายครั้งเลอะเทอะจนเหลือเชื่อ เช่น ไม้ขีดไฟ, ฟอกหนัง, การตัดไม้, โรงกลึง ฯลฯ

ตรงกันข้ามกับความเข้าใจผิดว่าอะไรที่ห้อยท้ายด้วยคำว่า “แห่งชาติ” คือกิจการที่สำคัญต่อชาติจนต้องมีผู้ผูกขาดกิจการเพียงรายเดียว บ่อยครั้งที่การอุปโลกน์ “กิจการแห่งชาติ” เป็นไปเพื่อช่วยให้บางคนเป็นเจ้าของ “สายการบินแห่งชาติ”, “ไม้ขีดไฟแห่งชาติ”, “ยาสูบแห่งชาติ” ฯลฯ เท่านั้นเอง

คำอวดอ้างว่าการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติคือ “วาทกรรม” ที่มุ่งล่อให้ประชาชนคิดว่าการบินไทยคือสมบัติของชาติ จึงสมเหตุสมผลที่ผู้บริหารจะกร่าง พนักงานจะเป็นเทวดา ส่วนประชาชนมีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูปูเสื่อการบินไทยไม่รู้จบ ทั้งที่การบินไทยคือธุรกิจชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง

มองในแง่นี้ วาทกรรมการบินเป็นอุตสาหกรรมที่ควรมี “กิจการแห่งชาติ” จนควรมีการบินไทยเป็น “สายการบินแห่งชาติ” คือมรดกบาปของระบอบการปกครองที่รัฐเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจนกำหนดว่าอะไรเป็น “แห่งชาติ”

เพื่อควบคุมและผูกขาดการจัดสรรทรัพยากรตลอดเวลา

คนที่เชื่อว่าการบินไทยเป็น “สายการบินแห่งชาติ” มักอ้างเป็นตุเป็นตะว่ารัฐมีหน้าที่ต้องอุปถัมภ์การบินไทย แต่อย่างที่บอกไปว่าความเป็น “แห่งชาติ” คือมรดกบาปของระบอบการปกครอง คำว่า “สายการบินแห่งชาติ” จึงไม่มีสถานะทางกฎหมายรองรับ และไม่มีสิทธิจะเรียกร้องอะไรจากใคร

การบินไทยก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ คือธุรกิจผูกขาดที่ใช้คำว่า “สายการบินแห่งชาติ” สกัดไม่ให้ผู้ประกอบการรายอื่นแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการบิน ตัวอย่างเช่น การออกระเบียบห้ามสายการบินอื่นบินไปเชียงใหม่-หาดใหญ่-ภูเก็ต หรือแม้แต่จะบินไปเมืองรองๆ ก็ต้องขายตั๋วผ่านการบินไทย

ภายใต้ข้ออ้างเรื่อง “สายการบินแห่งชาติ” การบินไทยกลายเป็นกิจการอภิสิทธิ์ที่เอาใครที่ไหนมาคุมก็ได้ ใครอยากไปเชียงใหม่หรือหาดใหญ่ก็ต้องซื้อตั๋วการบินไทย จะตั้งราคาตั๋วแพงอย่างไรก็ได้

ทำอย่างไรก็ได้กำไร ต่อให้เอาลิงอุรังอุตังหรือรูปปั้นเจ้าจำปีมาเป็นผู้บริหารก็ตาม

การบินไทยถดถอยเหมือนธุรกิจผูกขาดอื่นๆ ที่ถดถอยในยุคของการค้าเสรี

แต่ที่น่าสังเกตคือการแก้ปัญหาโดยแบมือขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลประยุทธ์ในปี 2563 พร้อมข้ออ้างเรื่อง “สายการบินแห่งชาติ” กลับกลายเป็นเรื่องที่ถูกสังคมโจมตีมากที่สุดในปัจจุบัน

บทบาทของผู้บริหารกับสหภาพทำให้คนมองการบินไทยเป็น “เครือข่าย” ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย และถ้าถือว่าชาติคือประชาชน คนของการบินไทยก็แสดงถึงการไม่เห็นหัวประชาชนโดยทำลายประชาธิปไตยมาต่อเนื่อง

ประชาชนจึงไม่มีเหตุให้รู้สึกว่าการบินไทยเป็น “ของชาติ” แม้แต่นิดเดียว

ความถดถอยของการบินไทยสะท้อน “การเคลื่อนตัว” ของสังคมไทยว่ามาถึงจุดที่รัฐไม่ได้เสียงดังที่สุดในการนิยามว่าอะไรคือ “สายการบินแห่งชาติ” เอกชนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น และ “ประชาชน” ก็เสียงดังมากขึ้นจนอะไรที่ลงด้วยคำว่า “แห่งชาติ” กลายเป็นฝอยน้ำลายที่ไม่มีใครฟัง

ในโลกทัศน์ของประชาชน การบินไทยคือกิจการในตลาดหุ้นที่ผู้บริหารห่วยจนบริษัทขาดทุนซ้ำซากขั้นหกปีเจ๊ง 53,000 ล้าน บริษัทที่พังพินาศแบบนี้แสดงถึงความไม่สามารถแข่งขันทางธุรกิจ ความไร้ประสิทธิภาพของฝ่ายบริหาร ฯลฯ ซึ่งไม่ว่าจะเกิดกับบริษัทไหนก็สมควรเจ๊งหรือล้มละลาย

ในมุมมองของประชาชน ถ้าบริษัทเหล็กหรือรับเหมาก่อสร้างเจ๊งได้ การบินไทยก็เจ๊งได้ รัฐจึงไม่มีความจำเป็นต้องอุ้มหรือช่วยไม่รู้จบ เพราะการอุ้มธุรกิจที่เจ๊งคือการปล่อยเงินให้ผู้บริหารชุดเดิมล้างผลาญจนเดินหน้าเจ๊งต่อไป คนไทยจึงไม่ได้อะไร

มีแต่เจ้าหนี้และการบินไทยได้อยู่ฝ่ายเดียว

การบินไทยเป็นธุรกิจในระบบผูกขาดที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการแข่งขันเสรี โลกของการบินไทยคือโลกแห่งการเข้าหาผู้มีอำนาจเพื่อผลักดันกติกาการค้าที่เป็นประโยชน์กับการบินไทยมากที่สุด ไม่อย่างนั้นก็คือการขอให้รัฐค้ำประกันในด้านต่างๆ หรือแม้แต่การแบมือขอเงินอุดหนุนตลอดกาล

การบินไทยคือซากตกค้างของระบบอุปถัมภ์ และธรรมชาติของระบบอุปถัมภ์คือ “ผู้น้อย” ต้องให้อะไรบางอย่างจน “ผู้ใหญ่” ออกนโยบายตามที่ผู้น้อยประสงค์ แต่การบินไทยตอนนี้อ่อนแอ ให้อะไรใครไม่ได้ ธุรกิจเจ๊งเกือบหกหมื่นล้าน สหภาพไร้ความน่าเชื่อถือ จึงไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลย

การบินไทยโจมตีอดีตนายกฯ ทักษิณเพื่อเอาใจ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ผลจากการโจมตีแบบโง่ๆ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ถูกเปิดโปงว่าทำให้การบินไทยขาดทุนถึง 53,000 ล้าน วิธีการที่ พล.อ.ประยุทธ์เล่นข่าวการบินไทยแสดงถึงความไม่ต้องการอุ้มการบินไทยต่อไปอีกแล้ว แต่การบินไทยยังไม่เข้าใจ

วันชื่นคืนสุขของการบินไทยผ่านไปเหมือนตะวันตกดินในธุรกิจที่ถดถอยอื่นๆ ไม่มีทางที่ พล.อ.ประยุทธ์จะทำทุกอย่างที่การบินไทยต้องการ การกระทำแบบนั้นจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นศัตรูกับคนทั้งประเทศที่เอือมระอาการบินไทย ส่วนการบินไทยก็ไม่มีอะไรให้ พล.อ.ประยุทธ์แม้แต่นิดเดียว

อวสานของการบินไทยคือสัญลักษณ์ของการอวสานของระบบอุปถัมภ์ ซึ่งในที่สุดไม่มีวันอยู่รอดได้ในระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบเปิดที่เป็นทางเลือกเพียงทางเดียวของสังคมไทย ต่อให้ผู้มีอำนาจจะเตะถ่วงแค่ไหนก็ตาม