วิกฤติศตวรรษที่ 21 | วิกฤตินิเวศกับโควิด-19

วิกฤตินิเวศ สงครามกับการระงับสงคราม (4)

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 กล่าวได้ว่าเป็นเหตุไม่คาดคิด

เกิดขึ้นนอกจอของการสังเกตของผู้คนจำนวนมาก

ขณะที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนนับพันล้านในโลก

ก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจนับสิบล้านล้านดอลลาร์

จนคล้ายกับว่าโลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปนับแต่นี้

ในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาและนักสิ่งแวดล้อมจำนวนหนึ่งเห็นว่า การระบาดใหญ่ทั่วโลกของเชื้อไวรัสเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้น อยู่ที่ว่าเมื่อใดและเชื้อแบบไหนเท่านั้น ชี้ว่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 ขึ้นมาได้เกิดโรคอุบัติใหม่จากไวรัสระบาดหลายครั้ง ที่สำคัญได้แก่

ก) การระบาดของไข้หวัดซาร์สในช่วงปี 2002-2003 เป็นโรคระบบหายใจ เฉียบพลันรุนแรง เริ่มต้นที่มณฑลกวางตุ้งของจีน แล้วลามไปสู่เมืองใหญ่ได้แก่ ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ระบาดไปถึงกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 28 ประเทศ มีผู้ติดเชื้อกว่า 8,000 ราย เสียชีวิตเกือบ 800 คน

เป็นไวรัสกลุ่มโคโรนาไวรัส เรียกชื่อเป็นทางการว่า ซาร์ส-โคฟ ซึ่งระบาดมาจากสัตว์ และติดต่อจากคนสู่คนได้

แต่การระบาดได้สงบลงไป ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิม

ข้อเสนอของนักวิชาการจีนให้มีการกวาดล้างตลาดค้าสัตว์ป่าในประเทศให้สะอาดและถูกลักษณะ ไม่ได้มีการนำมาปฏิบัติ

แต่บทเรียนสำคัญอื่นได้แก่ การร่วมมือระหว่างประเทศ ความโปร่งใส การยกระดับทางการแพทย์ได้รับการปฏิบัติดีพอสมควร เห็นได้จากการรับมือกับโควิด-19

อนึ่ง “ซาร์ส-โคฟ” ที่สงบไป 17 ปี ได้กลายพันธุ์เป็น “ซาร์ส-โคฟ 2” ที่ก่อโรคโควิด-19 ขณะนี้ ทั้งพบว่าโควิด-19 ที่กำลังระบาดในคนหมู่มาก ก็กำลังสร้างสายพันธุ์ย่อยขึ้นมาอีกไม่น้อย

ข) ไข้หวัดนก (ไข้เอช5เอ็น1) อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ติดจากนกที่สำคัญคือไก่สู่คน แต่ไม่ได้ติดจากคนสู่คน ระบาดใหญ่ครั้งแรกในฮ่องกงปี 2003 แล้วลามไปประเทศอื่นทั่วโลก ก่อความเสียหายมากแก่อุตสาหกรรมเลี้ยงไก่ และนิสัยการกินไก่เชือดสด

ไข้หวัดนกหลังจากปักหลักในระบบนิเวศมนุษย์แล้วก็ไม่ไปไหน พร้อมที่จะกลับมาระบาดเมื่อใดก็ได้

ค) ไข้หวัดหมู บางทีเรียกไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอช1เอ็น1

เชื้อไข้หวัดนี้เกิดจากการลอยล่องหรือการเปลี่ยนทางพันธุกรรมอย่างน่าอัศจรรย์ของไวรัสจากหลายเชื้อและหลายพื้นที่ด้วยกัน

เป็นการผสมสารพันธุกรรมของไข้หวัดใหญ่ที่พบในคน ไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช1เอ็น1 และไข้หวัดหมูที่พบในสหรัฐและยูเรเซีย (ทวีปยุโรปและเอเชีย)

ระบาดใหญ่ครั้งแรกในปี 2009 ที่เม็กซิโก แต่มีบางรายงานว่าพบเชื้อนี้ครั้งแรกในสหรัฐ

ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาและสิ่งแวดล้อมหลายคนเห็นว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เนื่องด้วยการทำลายป่าและระบบนิเวศโลก นั่นคือการทำลายป่าและถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเพื่อการหักล้างถางพง การเลี้ยงปศุสัตว์ การหาแหล่งทรัพยากร

ทำให้มนุษย์เข้าไปชิดใกล้กับเชื้อโรคที่โดยปกติไม่ได้ออกจากถิ่นที่อยู่อาศัยและตัวสัตว์เหล่านั้น

เมื่อมนุษย์ที่อยู่อย่างแออัดเข้าใกล้ชิดสัตว์ป่า ก็เท่ากับไปใกล้ชิดกับไวรัสใหม่ๆ ด้วย

นอกจากนี้ ปศุสัตว์ของมนุษย์ยังได้เข้าล่วงล้ำถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าด้วย

ในศตวรรษที่ผ่านมา ป่าเขตร้อนที่เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในโลกราวสองในสามถูกทำลายลงไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศทั้งหมด โดยเฉพาะในด้านการติดเชื้อ นั่นคือเมื่อสัตว์ที่เป็นผู้บริโภคขั้นสูงสุดถูกทำลาย ก็จะเหลือสัตว์ที่อยู่ที่ฐานของห่วงโซ่อาหารขยายพันธุ์ขึ้นมาแทน ได้แก่ หนูชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อโรคมากกว่า

ทั้งนี้เพราะสัตว์ชนิดต่างๆ มีบทบาทต่างกันในระบบนิเวศ

บางทีเมื่อเกิดมีสัตว์ชนิดใหม่มาแทนที่ก็จะเกิดภัยจากโรคติดต่อเพิ่มขึ้น

การเปลี่ยนแปลงทางถิ่นที่อยู่อาศัยยังบังคับให้สัตว์และเชื้อโรคที่ติดตัวมาต้องอพยพย้ายถิ่น รวมทั้งไปอยู่ใกล้พื้นที่ที่มีมนุษย์อาศัยหนาแน่น

เช่นกรณีไวรัสนิปาห์ที่ระบาดในมาเลเซียในช่วงทศวรรษ 1990 เนื่องจากมีการตัดไม้ทำลายป่า ค้างคาวผลไม้จึงได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานตามต้นมะม่วงในฟาร์มสุกร ค้างคาวมักมีเชื้อไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่งที่ไม่เป็นอันตรายแก่มัน แต่เมื่อมันถ่ายของเสียลง ไวรัสนั้นก็สามารถเข้าไปสู่สุกร เกิดการกลายพันธุ์ ติดต่อมายังผู้เลี้ยงหมูได้ (ดูบทรายงานของ Charli Shield ชื่อ Coronavirus pandemic linked to destruction of wildlife and world”s ecosystems ใน dw.com 14/04/2020

นอกจากนี้ ดร.แอรอน เบิร์นสตีน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ อยู่ในแนวหน้าของการต่อสู้ไวรัสนี้ให้ทัศนะว่า ภาวะโลกร้อนมีส่วนสำคัญที่ทำให้เราเปลี่ยนความสัมพันธ์กับสปีชีส์อื่นในโลกนี้ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของเราและความเสี่ยงในการติดเชื้อ

เช่น เมื่อโลกร้อนขึ้น สัตว์ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก อยู่บนแผ่นดินหรือในทะเล ก็จะอพยพขึ้นไปทางเหนือเพื่อให้พ้นจากความร้อน

ทำให้สัตว์ที่ก่อนนี้อยู่ห่างกันได้มาอยู่ใกล้ชิดสัมผัสกัน สร้างเงื่อนไขที่เชื้อไวรัสจะย้ายเรือนใหม่

การทำฟาร์มสัตว์ขนาดใหญ่ต้องมีการโค่นล้างป่าจำนวนมาก บีบให้สัตว์ป่าต้องมาอยู่ใกล้กับสัตว์อื่นและมนุษย์ และการทำฟาร์มขนาดใหญ่ก็เป็นแหล่งให้เชื้อจากสัตว์แพร่มาสู่คน

นอกจากนั้น มลพิษทางอากาศเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ ก่อความเสี่ยงให้ผู้คนต้องเป็นโรคปอดอักเสบ เมื่อติดเชื้อโควิดก็จะมีอาการรุนแรง (ดูบทตอบปัญหาของ ดร.Arron Bernstein ชื่อ Coronavirus, climate change, and the environment ใน ehn.org 20/03/2020)

ธุรกิจการเกษตรกับโควิด-19

มีนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก ได้ชี้ให้เห็นว่าการแปรการเกษตรให้เป็นเชิงธุรกิจ แทนที่จะเป็นการผลิตอาหารสำหรับผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ และพื้นฐานทางวัฒนธรรมของสังคม เป็นเหตุปัจจัยสำคัญในการระบาดของไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่

ธุรกิจการเกษตรนี้ที่สำคัญ คือการทำฟาร์มขนาดใหญ่ การเลี้ยงสัตว์แบบโรงงาน สัตว์อยู่กันอย่างแออัด ถึงขั้นทุกข์ทรมาน เพื่อความประหยัดและมีประสิทธิภาพ สามารถสนองอาหารราคาถูกแก่ผู้คน การมีตลาดสัตว์ป่า นำสัตว์ที่ป่วย ตกใจ และเครียดหลายชนิดมาอยู่รวมกัน เป็นแหล่งแพร่เชื้อระหว่างสปีชีส์สัตว์ต่างๆ

แต่งานเขียนและการเคลื่อนไหวเหล่านี้มักชี้ให้เห็นเป็นส่วนๆ

นักวิชาการที่บูรณาการประเด็นเหล่านี้ทั้งหมดเข้าด้วยกันให้เป็นเรื่องเดียว อย่างน่าสนใจคนหนึ่งคือ ร็อบ วอลเลซ

เขาเป็นนักชีววิทยาวิวัฒนาการและวิวัฒนาการเชิงภูมิศาสตร์ ศึกษาเรื่องนี้มากว่า 25 ปี

เขาเผยแพร่หนังสือชื่อ “ฟาร์มใหญ่กับการระบาดใหญ่ของไวรัส” (ปี 2016) เป็นการรวมปะติดปะต่อข้อเขียนจากบล็อกของเขาชื่อ “การทำฟาร์มเชื้อโรค” (Farmingpathogens.wordspress.com) งานร่างทางวิชาการ และข้อเขียนที่ตีพิมพ์แล้ว เป็นการมองแบบรู้รอบรู้ลึก เห็นความสัมพันธ์ระหว่างไข้หวัดใหญ่ธุรกิจการเกษตร และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีด้านการเกษตร และรู้ไกลมองคาดเดาในอนาคต และเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อเอาชนะปัญหานี้

หนังสือนี้ชี้ว่าธุรกิจการเกษตรที่เฟื่องฟูขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มีลักษณะรวมศูนย์ภายใต้ร่มเงาของบรรษัทใหญ่ทางการเกษตรไม่กี่บริษัท ได้เติบโตจนกลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ครอบงำทั่วโลก

มีผู้ปริทัศน์หนังสือนี้ วิเคราะห์เนื้อหาหลักของหนังสือมีอยู่ 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

1) การทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบโรงงานเป็นเงื่อนไขดีเยี่ยมในการเพาะเชื้อโรค ทำให้เชื้อโรคพวกไวรัสสามารถกลายพันธุ์ได้อย่างสูง เขากล่าวว่า “บรรษัทอาหารใหญ่ได้สร้างพันธมิตรทางยุทธศาสตร์กับไข้หวัดใหญ่” และว่า ธุรกิจการเกษตร “กำลังทำงานกับไข้หวัดใหญ่เท่าๆ ทำงานต่อต้านมัน”

2) ค่าใช้จ่ายในการทำฟาร์มถูกนำไว้นอกบัญชีต้นทุน-กำไร นั่นคือยกให้ธรรมชาติและสังคมแบกรับ ได้แก่ คนงานที่ได้ค่าแรงต่ำ และผู้บริโภคได้อาหารที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ก็ได้อาหารที่ไม่เหมาะแก่สุขลักษณะ และเสี่ยงต่อโรคระบาด

3) ประเด็นด้านประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ ช่วยให้สามารถศึกษา และกำหนดพื้นที่การวิวัฒนาการของเชื้อโรคและการแพร่กระจายได้ชัดเจน และให้พื้นที่ที่เป็นแหล่งต้นตอระบาดมีความรับผิดชอบ ประวัติความเป็นมาชี้ให้เห็นขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง เช่น การเลี้ยงเป็ดในนาข้าว มีการพัฒนาหลายขั้น กว่าจะเป็นการเลี้ยงเป็ดแบบเข้มข้นในนาข้าวที่เน้นการได้เป็ดในปัจจุบัน เป็นการชุมนุมพืชผล สัตว์และมนุษย์เข้าด้วยกัน สร้างเงื่อนไขในการวิวัฒนาการของเชื้อไข้หวัดใหญ่หลายชนิด

4) ไข้หวัดใหญ่มีลักษณะหลายมิติ และมนุษย์เอาชนะยาก นั่นคือไม่ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรจะเพียรพยายามในการต่อสู้กับไวรัสเพียงใด ก็ยิ่งพบว่ามันมีวิวัฒนาการเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาเชื้อเอช1เอ็น1 ในหมูเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงแห่งการแปรการเลี้ยงหมูจากรายย่อยไปสู่การเลี้ยงเป็นจำนวนมาก

5) เราจำเป็นต้องเปลี่ยนตัวแบบการเกษตรเสียใหม่ จากธุรกิจการเกษตรสู่การเกษตรนิเวศ ใช้สหกรณ์การเกษตร (ที่เป็นของจริง ไม่ใช่ของปลอม จัดตั้งจากข้างบนลงล่าง โดยเกษตรกรไม่ได้มีส่วนร่วมจริงจัง) เป็นพื้นฐานในการสร้างความหลากหลายในการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่อันหลากหลาย (ดูบทปริทัศน์ของ Jonathan Everts ชื่อ Big Farms Make Big Flu : Dispatches on Influenza, Agribusiness and the Nature of Science ใน antipodeonline.org 22/03/2019)

งานของวอลเลซและคณะมีจุดเด่นอยู่ที่เปิดเผยประเด็นพื้นฐานที่จะต้องศึกษาวิจัยและทบทวนการปฏิบัติ นั่นคือการบริหารจัดการและตัวแบบที่เหมาะในการผลิตอาหารของมนุษย์ว่าควรเป็นเช่นใด และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องลงมือทำ โควิด-19 ได้แสดงให้เห็นชัดว่าไวรัสและไข้หวัดใหญ่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสงครามกับไวรัส