เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | เพชรผกายอำไพพริ้ง บังหับหิ้งบ่หันเห็น

กรุงเทพฯ ปิดเมืองนี่แล้วจึงได้เห็นฟ้างามอร่ามทององค์พระเจดีย์ ปรางค์ปราสาทอุโบสถวัดพระแก้วประดุจ “เพชรผกายอำไพพริ้ง” สมวรรคทองนิราศนรินทร์ ที่ว่า

อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ

สิงหาสน์ปรางค์รัตนบรร- เจิดหล้า

บุญเพรงพระหากสวรรค์ ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ

บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง ฯ

วัดพระแก้วนี่แหละเป็น “ใจเมือง”

สมควร “เบิกหิ้ง” ให้เห็น “เพชรผกาย” ที่ซ่อนอยู่หลังม่าน “ฝุ่นบ้า-ห่าพิษ” วันนี้

นี่คือสิ่งซึ่งธำรงอยู่ ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง พระราชนิพนธ์ ร.1 จากนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง

ตั้งใจจะอุปถัมภก

ยอยกพระพุทธศาสนา

ป้องกันขอบขัณฑสีมา

ไพร่ฟ้าประชาชนและมนตรี

จาก ร.1 เริ่มตั้งกรุง พ.ศ.2325 ถึงปัจจุบันคือความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย ถ้าเปรียบเป็นคนคนหนึ่งก็คือแต่ละช่วงวัยของการเจริญเติบโตนั่นเอง

ช่วง ร.1 คือเริ่มตั้งไข่จากทารก เตรียมลุกขึ้นยืนเพื่อจะก้าวเดินต่อไป นี่คือชีวิตเมืองหรือชีวิตชาติที่เพิ่งจะผ่านพ้นภัยจากศึกสงคราม

ช่วง ร.2 เริ่มบำรุงตนตั้งตนจากความอุดมสมบูรณ์ทางภูมิปัญญาและทรัพยากรของแผ่นดิน ดังการฟื้นฟูทั้งศิลปวัฒนธรรมและอารยธรรมที่ตกทอดถึงวันนี้ เปรียบทารกคือการเริ่มผลัดวัย ดังพิธีโสกันต์คือโกนจุกของชาวบ้านนั่นเอง

ช่วง ร.3 เริ่มติดต่อต่างชาติโดยเฉพาะจีน และการค้าฝั่งทะเลอันดามัน เสมือนทารกเริ่มสู่วัยรุ่น

ช่วง ร.4 เป็นวัยศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ ทั้งที่มีอยู่และจากที่อื่น ดังทรงแตกฉานในภูมิธรรมพร้อมรับวิทยาการสมัยใหม่จากโลกตะวันตก

ช่วง ร.5 เปรียบเป็นวัยฉกรรจ์พร้อมผจญโลกอย่างเป็นตัวของตัวเองที่ไม่ค้อมหัวและไม่ข่มหัวใคร

ช่วง ร.6 เป็นช่วงปรับตัวและปลุกตัวเตรียมสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรี

ช่วง ร.7 เสมือนช่วงเปลี่ยนอาชีพ เข้าสู่การงานการประกอบอาชีพอย่างจริงจัง

ช่วง ร.8 ตั้งสติหาทิศทางและหนทางที่แท้จริง

ช่วง ร.9 เริ่มตั้งตัวฟื้นฟูกำลัง เดินหน้าเต็มที่ซึ่งอาจล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่ยังยืนหยัดก้าวเดินด้วยสติเตือนให้ตระหนักในวิถีพอเพียง และเป็นตัวของตัวเอง

ช่วง ร.10 คือช่วงนี้ที่ต้องประมวลสรรพกำลังความสามารถและความดีที่มีอยู่ทั้งอดีตและปัจจุบัน เพื่อเผชิญโลกใหม่ตามเป็นจริงให้ดีที่สุด

สิบแผ่นดินนี่แหละคือพัฒนาการชีวิตประเทศของเรา

สิ่งดีงามที่เรามี เรามักได้แต่เทิดทูนเทินไว้บนหิ้งบูชา เหมือนไม่เคยยกลงมา “สรงน้ำ” ปัดกวาดหิ้งที่เขรอะคร่ำนั้นเลย

สิ่งดีก็คือ ศักยภาพบรรดามี อันเรามีอยู่เต็มแผ่นดิน เสมือนภูมิปราชญ์หรือภูมิบ้านภูมิเมือง

สิ่งงามก็คือ อารยธรรมอันเป็นอลังการของสังคมซึ่งโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่เรามักไม่สนใจจะใส่ใจรู้เห็น เข้าทำนอง “นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ”

สิ่งดี คือ ศักย์ หรือศักยะ หรือศักติ

สิ่งงาม คือ ศรี หรือศิริ

รวมแล้วก็คือสิ่งที่เรียกว่า “ศักดิ์ศรี” นี่เอง

ศักดิ์คือความสามารถหรือความดี ศรีคือความงาม ศักดิ์ศรีจึงเป็นความดีงามโดยแท้

ไม่ใช่ศักดิ์ศรีที่เรานำมาอวดโอ่อหังการกันอยู่นี่ นั่นเป็นศักดิ์ศรีจอมปลอม

แม้รัฐธรรมนูญจะมีบัญญัติถึง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” นั้นคือการเน้นถึงความดีงามที่มนุษย์มีอยู่หรือพึงมีนั่นเอง

สิบแผ่นดินนี่แหละคือชีวิตของคนไทยหรือความเป็นไทยโดยรวมที่เราต้องมองให้เห็น ไม่ใช่ไทยในลักษณะ “รักชาติ” หรือ “ชังชาติ” แบบจอมปลอม ที่รังแต่จะก่อกิเลสให้เกิดทัศนะ “ล้าหลังคลั่งชาติ” ดังยุคเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์นั้น

องค์เจดีย์ทรงลังกาสีทองเปล่งปลั่งจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของ “ใจเมือง” ดังนี้

หกส่วนสำคัญมี

หนึ่ง ฐานบัทม์ คือฐานบัวล่างสุด เป็นฐานรองรับทั้งหมดขององค์เจดีย์ ต้องกว้างสุดอยู่ติดพื้นที่สุด ความหมายคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติ

สอง องค์ระฆัง คือสัญลักษณ์ของการสั่งสมความดีงามทั้งหมดของแผ่นดินไว้ในองค์ระฆังนี้

สาม บัลลังก์สี่เหลี่ยมเหนือองค์ระฆัง คือสัญลักษณ์ของการสั่งสม-ศึกษา-สืบสาน-สร้างสรรค์ สี่ฐานสี่ทิศพอดี

สี่ ปล้องไฉน คือการเคี่ยวคั้นกลั่นกรองสรรพความดีความงามทั้งหมดที่มีประมวลเป็นองค์เอกภาพ

ห้า ปลี คือยอดปลายแหลมชี้ เป็นดั่งองค์เอกภาพหรือแก่นแกนแห่งองค์เจดีย์นี้เอง

หก เม็ดน้ำค้างหรือลูกแก้วสถิตเหนือยอดปลี เป็นยอดสุดขององค์เจดีย์ ที่เป็นดั่ง “ทิพย์จักษุ” ส่องฉายประกายแห่งภูมิธรรมของแผ่นดินนี้ประเทศนี้

อันเรามีอยู่เห็นอยู่ แต่ไม่ใส่ใจที่จะดูให้รู้

บัดนี้ถึงเวลาที่เราจะต้องรวมใจเพื่อรู้จักตัวเราเองที่แท้จริง มิใช่ตัวปลอมๆ ดังเป็นอยู่ คือตัวที่เขาให้เราเป็น หรือตัวที่เราคิดว่าเราเป็น ดังเป็นกันอยู่เวลานี้

สรรพกำลังและอำนาจบรรดามีต้องมุ่งมาที่จุดนี้เป็นหลัก คือการรู้จักตัวของตัวเองจริงๆ

เจ้าวายร้ายไวรัสนี่แหละกำลังเป็นตัวการปฏิรูปโลกวันนี้

ตัวที่มีศักดิ์และมีศรีแท้จริงนี่แหละจะอยู่รอด

ด้วยสรรพกำลังที่เรามี ด้วยบารมีที่ทำให้เราเป็นเราในวันนี้ได้ เราจะเอาชนะได้

ทุกโหงห่าสารพัดพิษ

พระปณิธาน

แตกกรุง แล้ว ตั้งกรุง

อำรุงรักษ์ แก้วจักกรี

ไพร่ฟ้า ประชาชี

แลยอยก พระศาสนา

จากไพร่ราบ เป็นราษฎร

เป็นพลเมือง เปรื่องประชา-

-ธิปไตยในอาณา

แท้ โลกาธิปไตย

มรดก แห่งแผ่นดิน

ล้วนสินทรัพย์อสงไขย

รู้ทำ และรู้ใช้

ก็จะเป็น ประโยชน์จริง

กรุงเทพทวารา-

-วดีเมืองอมรมิ่ง

เพชรผกาย อำไพพริ้ง

บังหับหิ้ง บ่หันเห็น

จงเจียระไนเพชร

ผกายเก็จ ผกาเพ็ญ

เสกสมความร่มเย็น

พระปณิธาน สถาปนา ฯ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์